“พล.อ.ประวิตร” โชว์ผลปิดเว็ปภัยคุกคามปชช.138 เว็ป เพิ่มระดับความปลอดภัยปิดช่องหลอกลวงในโลกไซเบอร์
24 สิงหาคม 2565 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยพล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกรอง นายกรัฐมนตรี ได้รายงาน เหตุการณ์ภัยคุกคามที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-31ก.ค.65 พบว่ามี จำนวน 138 เหตุการณ์ ส่วนใหญ่ เป็นเว็บการพนัน และการหลอกลวงประชาชน ซึ่งได้ดำเนินการปิดเว็บดังกล่าวแล้ว พร้อมมีการเฝ้าระวัง อย่างต่อเนื่อง และรับทราบรายงานผลการลงนามบันทึกความเข้าใจของ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กับองค์กรภายในประเทศและต่างประเทศแล้ว ได้แก่ กองบัญชาการกองทัพไทย ,คณะอธิการบดีแห่งประเทศไทย ,สาธารณรัฐประชาชนจีน ,ประเทศอิสราเอล และบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขอชื่นชม กระทรวง ดีอีเอส ,กมช. และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการที่มีความก้าวหน้าไปมาก อย่างน่าพอใจ พร้อมกำชับให้ เลขาธิการ กมช.และผู้บริหารที่ได้รับแต่งตั้งใหม่ เร่งผลักดัน สานต่อบันทึกความร่วมมือไปสู่กิจกรรม ให้เป็นรูปธรรม มุ่งยกระดับขีดความสามารถในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ ของหน่วยงานต่างๆและของประเทศ ให้สามารถรองรับภัยคุกคามไซเบอร์ ในอนาคต ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ อย่างแน่นแฟ้นเพื่อปิดช่องว่างการคุกคามฯ และให้มีความปลอดภัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นการบริการให้กับประชาชน และประเทศชาติ ต่อไป
ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเห็นชอบ แต่งตั้ง พล.อ.ต.อมร ชมเชย รองเลขาฯขึ้นเป็นเลขาธิการ คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ แทนคนเก่า ซึ่งครบวาระ(4ปี) ตั้งแต่ 1 ต.ค.65 เป็นต้นไป พร้อม แต่งตั้งผู้บริหาร ตามที่กฎหมายกำหนด และเห็นชอบ(ร่าง)บันทึกความเข้าใจด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ระหว่าง สกมช. กับศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติประเทศอินเดีย และร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พร้อมทั้ง ร่วมกับศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN – Japan Cybersecurity Capacity Building Centre) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ระหว่างกัน ทั้งด้านการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจ ,การผลิตกำลังคนเฉพาะด้าน ,การสนับสนุนการศึกษา วิจัย และร่วมกันเฝ้าระวังความเสี่ยง จากการเกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ ทั้งนี้ เพื่อยกระดับการเสริมสร้างศักยภาพ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และการบริการดิจิทัลที่เชื่อถือได้
ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 24 สิงหาคม 2565