“พัชรินทร์” ยินดี สสส. รับรางวัล “เนลสัน แมนเดลา” จาก WHO ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ปี 64 ชื่นชมมีมาตรการเชิงรุก แนะเพิ่มตัวชี้วัดประเด็นความรุนแรง-ล่วงละเมิดทางเพศ หวังต่อยอดมิติความปลอดภัย
ดร. พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส. กทม. เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ อภิปราย อภิปรายในวาระรับทราบรายงานประจำปี 2563 ของ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. โดยขอชื่นชมการทำงานของสสส. ที่มีมาตรการเชิงรุก และประสานงานกับภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานนั้นเกิดประสิทธิผล แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การดำเนินงานต่างๆ นั้นยากขึ้น พร้อมแสดงความยินดีกับสสส. ที่ได้รับรางวัล “เนลสัน แมนเดลา จากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ” ประจำปี 2564 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจ ในการปฏิบัติภารกิจของ สสส. เพื่อสร้างเสริมสุขภาพให้สังคมไทย จนได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ
ดร.พัชรินทร์ ยกตัวอย่างผลงานเด่นของ สสส. ในเรื่องการ “สร้างต้นทุนชีวิต เสริมพลังสุขภาวะ ประชากรกลุ่มเปราะบาง” โดยเฉพาะประเด็น “หยุดความรุนแรง ตัดตอนปัญหาผู้หญิงถูกล่วงละเมิด” ที่ได้พัฒนาระบบรายงานข้อมูลจุดเสี่ยงการคุกคามทางเพศในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผ่านทางโปรแกรม Chat bot ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมเป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวังทางออนไลน์ เป็นการกระตุ้นไม่ให้เพิกเฉยต่อความรุนแรง ซึ่งตนก็ดีใจ ที่ได้มีโอกาสมีส่วนร่วมเป็นตัวกลาง ประสานกับหลายภาคส่วน เช่น กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร เป็นต้น เพื่อจะได้นำข้อมูลจุดเสี่ยงอันตรายที่ได้มานั้น ไปดำเนินการแก้ไข ให้กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัย เช่น การติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง หรือ การบำรุงรักษาเสาไฟฟ้าที่ชำรุด
เนื่องจากกว่าร้อยละ 50 ของการคุกคามทางเพศในที่สาธารณะ เกิดในพื้นที่ที่ขาดการบำรุงรักษา แสงสว่างไม่เพียงพอ และเป็นทางเปลี่ยว โดยตนหวังว่าโครงการนี้จะได้รับการพัฒนาต่อยอดขึ้นไปเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศ และความรุนแรงทุกรูปแบบต่อผู้หญิงและคนกรุงเทพในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดิฉันให้ความสนใจและพยายามผลักดันมาโดยตลอด
นอกจากนี้ ดร.พัชรินทร์ ยังได้มีข้อเสนอแนะ
ประการแรก คือ ขอแนะนำหน่วยงานที่กำลังดำเนินโครงการที่มีความสอดคล้องกับ สสส. ที่เชื่อว่าจะสามารถประสานความร่วมมือกันได้ คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันกำลังดำเนินโครงการ “Smart Safety Zone 4.0” เป็นโครงการที่มีเป้าหมายในการพัฒนารูปแบบ วิธีการป้องกันอาชญากรรมเชิงรุก โดยใช้นวัตกรรม และยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ตามแนวคิดเรื่อง “เมืองอัจฉริยะ” ดังนั้นโครงการนี้จึงเป็นการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาเป็นตัวช่วย รวมถึงการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพื่อที่จะป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่สาธารณะ ให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
ซึ่งหากมีการประสานความร่วมมือกัน ก็จะเป็นการผนึกกำลังในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยต่อประชาชนได้อย่างก้าวกระโดด
นอกจากนี้ หลังจากที่ได้อ่านรายงานประจำปี 2563 ของ สสส. ตนยังไม่พบ เป้าหมายหรือตัวชี้วัดที่เกี่ยวกับความรุนแรง และการถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยตรง แต่จะเป็นการวัดในเชิงของครอบครัวมากกว่า ซึ่งปัญหาความรุนแรง และการถูกล่วงละเมิดทางเพศนั้น เป็นเรื่องที่กระทบต่อต้นทุนความเป็นมนุษย์อย่างมาก เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อทั้งทางด้านร่างกาย และด้านจิตใจ ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ในการเยียวยารักษาผู้เสียหาย ทั้งในทางตรงและทางอ้อม ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถที่จะรับประกันได้ว่า การเยียวยารักษานั้นจะช่วยให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ โดยจากข้อมูลในรายงานของ สสส. เอง รายงานว่า องค์การอนามัยโลก พบว่า หญิงไทย อายุระหว่าง 15-49 ปี เคยมีประสบการณ์ถูกใช้ความรุนแรง หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยคนที่ไม่ใช่คู่ครอง สูงถึงร้อยละ 44 และเกิดขึ้นได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน หรือในที่สาธารณะ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ อย่างเร่งด่วน ดังนั้นหากมีการตั้งเป้าหมายหรือตัวชี้วัดเกี่ยวกับความรุนแรง และการถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยตรง ก็จะช่วยให้เห็นผลการดำเนินงาน และการพัฒนาในด้านนี้อย่างชัดเจน
#พปชร
#พลังประชารัฐ
#WHO
ที่มา : facebook.com/PPRPThailand/
เมื่อวันที่ : 10 ธันวาคม 2564