“ส.ส.วีระกร” เสนอสภาพัฒน์ฯปรับปรุงแผนพัฒนาศก.ฉบับ13 เน้นพัฒนาตรงจุด สร้างแหล่งน้ำ-ผลิตปุ๋ยเพื่อส่งเสริมเกษตรให้แข็งแรง
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวตอนหนึ่งในการให้เสนอข้อคิดเห็น (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ว่า ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยเฉพาะ เรื่องบริบทการพัฒนาประเทศในมติด้านเศรษฐกิจ แต่การพัฒนาหรือการจัดสรรงบประมาณในแผนพัฒนาเศรษฐกิจในฉบีบก่อนหน้าที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ไม่ได้มีการนำงบประมาณมาจัดสรรทรัพยากรของประเทศให้เกิดความเหมาะสม เห็นว่าควรพิจารณาบรรจุการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น โดยเฉพาะระบบชลประทานในระดับต้นๆ เพราะความต้องการใช้น้ำของประชากรยังมีอยู่มาก และหลายพื้นที่ขาดแคลน ทั้งที่มีระบบฐานข้อมูลที่ชี้ชัดอยู่แล้ว
นายวีระกร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ระบบชลประทานที่มีข้อมูลอยู่แล้ว โดยเฉพาะในภาคกลางทั้งหมดเกิดการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปีละกว่า 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แม้จะมีระบบชลประทาน แต่ไม่มีน้ำต้นทุน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีโครงการผันน้ำยวม เพื่อเติมน้ำต้นทุนได้ปีละกว่า 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยที่มีบริษัทรัฐบาลจีนเข้ามาลงทุนให้ ด้วยงบลงทุนกว่า 40,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังร่วมถึงปัญหาเรื่องปุ๋ยทางการเกษตร ที่มีความต้องการใช้ เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร แต่ประเทศไทยกลับไม่มีโรงงานปุ๋ย ทั้งที่ประเทศไทยมีทรัพยากรที่พร้อมทุกด้าน ทั้งโปแตสเซียม กว่า 4 แสนล้านตันที่มีผู้ได้รับสัมปทานอยู่ในจังหวัดอุดรธานี และชัยภูมิ แต่ประเทศกลับไม่มีความมั่นคงทางปุ๋ยเคมี จึงทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากราคาปุ๋ยราคาแพงในทุกปี
นายวีระกร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ยังรวมถึงการลดงบประมาณด้านพัฒนาสายพันธุ์ข้าวต่างๆ ที่ประเทศไทยมีกว่า 20,000 สายพันธุ์ ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาในระดับโลกได้ เห็นได้จากค่าจีดีพีไตรมาสที่ 1 โตเพียง 2.3 ไตมาสที่ 2 โต 2.5 ในขณะที่เวียดนาม ไตรมาสที่ 1 โต 5.1 และไตรมาส 2 7.7 % มาเลเซีย ไตรมาสที่ 1 8.9 นั่นเท่ากับว่าเราด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านทั้งที่เรามีทรัพยากรมากกว่าประเทศเหล่านี้ ดังนั้นจึงขอให้สภาพัฒน์ฯ มองปัญหาที่แท้จริงของประเทศ ไม่ใช่มองบนแค่พื้นฐานทั่วไป แต่ไม่ได้มองว่าประเทศไทยจะใช้ทรัพยากรอย่างไร
ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 25 สิงหาคม 2565