“พล.อ.ประวิตร”ติดตามแผนรับมวลน้ำเข้าพื้นที่จ.สระบุรี
ระดมทุกหน่วยป้องกันอุทกภัย- พร้อมแผนเตือนภัย ปชช.
“พล.อ.ประวิตร” เร่งหน่วยงาน จ.สระบุรี รับมือปริมาณฝนสัปดาห์หน้า ติดตามสภาพอากาศแจ้งเตือนประชาชน ดึงแผน 13 มาตรการ ป้องกันผลกระทบอุทกภัยในระยะสั้น พร้อมเดินหน้าวางระบบจัดการน้ำ ในระยะยาวแก้ภัยแล้ง – อุทกภัยซ้ำซาก ในพื้นที่ เร่งโครงการเสริมคันดิน พร้อมแผนระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบชุมชนท้ายน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ กทม.และปริมณฑลริมแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก
วันที่ 15 สิงหาคม 2565 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอํานวยการน้ําแห่งชาติ (กอนช.) พร้อมด้วยชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ลงพื้นที่ตรวจราชการเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคกลาง ณ จังหวัดสระบุรี โดยมี ส.ส.พรรคประชารัฐ อาทิ น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี นายประทวน สุทธิอำนวยเดช ส.ส.ลพบุรี ร่วมลงพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมกับสถานการณ์และแนวโน้มปริมาณฝนที่จะเพิ่มขึ้นตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ในสัปดาห์นี้จะมีฝนตกหนักต่อเนื่อง หลังเมื่อสัปดาห์ที่แล้วหลายจังหวัดของภาคเหนือ ได้รับผลกระทบน้ำท่วมฉับพลันจากพายุโซนร้อนมู่หลาน ทำให้ปริมาณน้ำสูง
พล.อ.ประวิตร’ ได้สั่งการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช. )ร่วมกับ กรมชลประทาน รวมทั้ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และฝ่ายปกครองระดับจังหวัด ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนรับมือฤดูฝน 13 มาตรการ โดยให้ปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เนื่องจากมีฝนตกหนักสะสมต่อเนื่องจากมรสุมในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลพื้นที่หลายจังหวัดมีน้ำท่วมขังสูง โดยเฉพาะพื้นที่ริมลำน้ำสายหลักยังคงต้องเฝ้าระวัง และติดตามสภาพอากาศแจ้งเตือนประชาชนให้ทันกับสถานการณ์ รวมทั้งให้การช่วยเหลือประชาชนทันที เน้นการมีส่วนร่วมมากขึ้น
ทั้งนี้ได้นำแผนการจัดการในระยะสั้นตาม 13 มาตรการรับมือฝน รวมทั้งแผนบริหารจัดการน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อระบายน้ำจากฝั่งตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยาให้ได้มากที่สุด เพื่อควบคุมไม่ให้เกินขีดจำกัดที่รับน้ำได้ เพื่อรับมือน้ำต่อเนื่องในภาคเหนือ-ใต้-ออก-ตก ที่ทำการเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล และการซ่อมคันกั้นน้ำบริเวณ 23 ขวา คลองชัยนาท-ป่าสัก โครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษาเริงราง ในการรองรับปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ยังได้ติดตามการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำป่าสักในเขต จ.สระบุรี ซึ่งเป็นแผนระยะยาว ที่จะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดสระบุรี และภาคกลางทั้งหมด ด้วยการบูรณาการทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า จ.สระบุรี เป็นหนึ่งในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยของพายุเตี้ยนหมู่ เมื่อปี 2564 ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ และเกิดความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สิน และในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2565 คาดว่าจะมีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลาง จ.สระบุรี จึงอาจจะได้รับผลกระทบซ้ำอีก จึงขอสั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งบูรณาการให้วางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบด้วยการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อเตรียมความจุในการรองรับน้ำฝน พร้อมทั้งเร่งซ่อมแซมคันกั้นน้ำทั้งหมดที่ได้รับความเสียหายจากปีที่แล้วที่ปริมาณฝนมากจนดินอุ้มน้ำเกิดการกัดเซาะจนพังทลาย โดยทราบว่าเบื้องต้นใช้งบประมาณกว่า 3 ล้านบาท ในการซ่อมแซมระยะสั้น ส่วนในระยะยาวที่จะต้องปรับปรุงประตูระบายน้ำทั้งสองฝั่ง ที่จะต้องใช้งบประมาณกว่า 145 ล้านบาท จะนำเรื่องเข้าพิจารณาว่าจะใช้งบใดได้บ้าง เนื่องจากจะทำให้การจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง รวมถึงการพิจารณาก่อสร้างเขื่อนริมน้ำป่าสัก เพื่อลดการพังทลายของตลิ่ง
โดยในระยะสั้นจะต้องเป็นไปตามแผนรับมือ 13 มาตรการอย่างเคร่งครัด ส่วนในระยะยาวทุกหน่วยงาน จะต้องเร่งดำเนินการตาม 9 แผนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ควบคู่ไปกับกลไกการบริหารให้มีความเหมาะสมเพื่อประสิทธิภาพในการจัดหารบริหารน้ำให้ดีที่สุด พร้อมสร้างการตระหนักรู้และความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ภายหลังจากที่ได้รับรายงาน และได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจความคืบหน้าการซ่อมแซมซ่อมแซมคันกั้นน้ำบริเวณ 23 ขวา คลองชัยนาท-ป่าสัก โครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษาเริงราง อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี ได้กำชับให้ดำเนินการปรับปรุงอย่างเร่งด่วน ให้ทันสถานการณ์ฝนที่อาจตกหนักในช่วงวันที่ 20 ส.ค.นี้ รวมทั้งดูการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำป่าสัก พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณวัดเชิงราก อ.เสาไห้ ซึ่งเป็นแผนจัดการน้ำท่วมระยะยาว ที่หากเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำป่าสักฯ เสร็จเรียบร้อย ก็จะเป็นพื้นที่ที่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ได้อย่างเป็นระบบ
โดยขณะลงพื้นที่ มีประชาชนมาคอยให้กำลังใจ และพูดคุยถึงปัญหาต่างๆ ซึ่งเบื้องต้นพล.อ.ประวิตร ก็ได้พูดกับประชาชนว่าการลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อมาตรวจโครงการต่างๆ ว่ามีความก้าวหน้าไปอย่างไรบ้าง เนื่องจากทราบว่าชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย และภัยแล้ง ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญและเร่งแก้ไขให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซาก ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพทางการเกษตรได้อย่างยั่งยืน เกิดการกินดีอยู่ดีของประชาชน เพราะน้ำคือชีวิต และเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตของทุกคน
เมื่อวันที่ : 15 สิงหาคม 2565