โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

วัน: 24 พฤศจิกายน 2021

“รมว.ดีอีเอส” ปรับบริการ 1212 สู่ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์

,

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอีเอสได้ปรับโฉมบริการโทร 1212 OCC สู่ “ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์” เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค และประชาชนผู้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพและกลโกงทางออนไลน์ ให้เข้าถึงกระบวนการช่วยเหลือเยียวยาได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยขยายขอบเขตการรับเรื่องร้องเรียนไปถึงปัญหาอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ปัญหาการฉ้อโกง เว็บไซต์ผิดกฎหมาย และแชร์ลูกโซ่ พร้อมบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ให้มากขึ้น

โดยครอบคลุมทั้ง ขยายการทำงานในการป้องกันและจัดการปัญหาออนไลน์ไปยังภาครัฐ ได้แก่ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่จะทำให้การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดเป็นไปได้เร็วขึ้น, ภาคเอกชน ที่เป็นบริษัทด้านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม กูเกิล และยูทูบ, ภาคประชาสังคม เช่น สภาองค์กรของผู้บริโภค

นายชัยวุฒิกล่าวว่านอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและจัดการปัญหาและข้อร้องเรียนหรือภัยที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางออนไลน์ ที่บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การป้องกัน จัดการ และแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนมีประสิทธิภาพมากที่สุด ตลอดจนขยายช่องทางการรับแจ้งเรื่อง ของศูนย์ผ่านช่องทาง Line และสำนักงานสถิติจังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้มีจุดรับเรื่องร้องเรียนเพิ่มขึ้น เป็นต้น

ขณะที่ ล่าสุดเตรียมจัดตั้งศูนย์ปราบปรามมิจฉาชีพทางออนไลน์ เพิ่มประสิทธิภาพทำงานร่วมกันกับตำรวจ ธนาคาร ผู้ให้บริการโทรคมนาคม แพลตฟอร์มโซเชียล และ กสทช. มุ่งพันธกิจในการเร่งรัดติดตามการป้องกันปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์ บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดติดตามดำเนินคดีผู้กระทำผิด ลดอุปสรรคความล่าช้าในกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานและแกะรอยเส้นทางการเงินของบัญชีมิจฉาชีพ ตลอดจนหาแนวทางดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุให้รวดเร็วที่สุด

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า จากการประชุมวานนี้ (23 พ.ย. 64) ร่วมกับตัวแทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ข้อสรุปหลักๆ เพื่อจัดทำแนวทางแก้ปัญหา ได้แก่ จะมีการหารือกับสมาคมธนาคารไทย และแบงก์ชาติ เพื่อพิจารณาแนวทางการป้องกันในการเปิดบัญชีแทนผู้อื่น และบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายกับการรับจ้างเปิดบัญชี (บัญชีม้า) ซึ่งถือเป็นต้นตอร้ายแรงของปัญหามิจฉาชีพและกลโกงทางออนไลน์ในปัจจุบัน

“เรื่องการเปิดบัญชีแทนผู้อื่น อาจกำหนดโทษที่เพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่นำบัญชีไปจะนำไปใช้ในการกระทำความผิด เจ้าของบัญชีจะมีความผิดฐานฟอกเงิน ต้องระวางโทษจำคุก 1 – 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

ขณะที่นายณภัทร ชุ่มจิตตรี หรือคิง ก่อนบ่าย กล่าวว่า เชื่อว่ากระบวนการทำงานของศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ ซึ่งทางกระทรวงดิจิทัลฯ ผลักดันให้เกิดขึ้นครั้งนี้ จะช่วยแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี เพราะโดยส่วนตัวซึ่งเป็นหนึ่งในเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ ไม่อยากให้มีประชาชนตกเป็นเหยื่อขบวนการเหล่านี้อีกต่อไป พร้อมกันนี้อยากเสนอแนะให้มีการพัฒนาเป็นแอปพลิเคชั่น เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงศูนย์ร้องเรียนได้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้น

สำหรับกรณีของตนเองซึ่งมีบุคคลในครอบครัวถูกหลอกลวงทางออนไลน์ก่อนหน้านี้ จากการติดตามความคืบหน้ากับตำรวจเพื่อติดตามตัวผู้กระทำผิด ทำให้รับทราบปัญหาด้านกระบวนการในการติดตามเส้นทางบัญชีโอนเงิน เนื่องจากธนาคารกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่าใช้เวลาราว 2 เดือนต่อ 1 บัญชี ขณะที่ขบวนการมิจฉาชีพมีการโอนต่อไปยังหลายบัญชี ดังนั้นกว่าจะได้ข้อมูลเพื่อประกอบพยานหลักฐานยื่นศาลต้องใช้เวลาเกินปี ไม่ทันการณ์สำหรับการสกัดกั้นการไหลออกของเงิน และการติดตามเงินคืนผู้เสียหาย เพราะส่วนใหญ่หัวหน้าขบวนการอยู่ในต่างประเทศ

โดยในการแถลงข่าวปรับโฉมบริการโทร 1212 OCC สู่ “ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์” มีดาราและ Influencer ชื่อดังมาร่วมงานแถลงข่าวครั้งนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ธันวา สุริยะจักร, ไมค์ ภัทรเดช สงวนความดี, คิง ก่อนบ่าย, เส้นด้าย พิมพ์ลดา เเววไทสง, ไวท์ ศุทธิ เรืองวิทยาโชติ, เบส อนาวิล ชาติทอง, สุระ รพีสิริรัตน์, เหม่เหม ธัญญวีร์ ชุณหสวัสดิกุล, สิงโต สกลรัตน์ พันเทศ พ.ศ. 2542 และตามประมวลกฎหมายอาญาร่วมด้วย” นายชัยวุฒิกล่าว

นอกจากนี้ เตรียมเพิ่มประสิทธิภาพในการประสานงานระหว่างหน่วยงาน โดยจะมีการจัดทำช่องทางสื่อสารกลางผ่านออนไลน์ ที่มีระบบความมั่นคงปลอดภัยระดับมาตรฐานสากล พร้อมกำหนดตัวตนของบุคคลที่จะอยู่ในเครือข่ายประสานงานการรับแจ้งความคดีด้านนี้ไว้อย่างชัดเจน เพื่อลดระยะเวลาในขั้นตอนติดตามขอข้อมูลประกอบพยานหลักฐานที่จะนำไปสู่การดำเนินคดี เพราะยิ่งฝ่ายสอบสวนสืบสวนได้รับข้อมูลล่าช้าจากธนาคารในเรื่องเส้นทางการเงินที่เหยื่อหลงเชื่อโอนไปบัญชีมิจฉาชีพ หรือจากผู้ให้บริการมือถือ ซี่งมีรายชื่อผู้ลงทะเบียนใช้บริการส่ง SMS หลอกลวง โอกาสที่จะติดตามเงินมาคืนให้กับผู้เสียหายจะยิ่งหมดไป เพราะมีการโอนกระจายต่อไปบัญชีอื่นๆ อย่างรวดเร็ว และหลายครั้งปลายทางอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ยากต่อนำผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า จำนวนประชากรที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น กิจกรรมและการทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านออนไลน์จึงเติบโตสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลการสำรวจทั้งในมุมของพฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทย และสถิติมูลค่า e-Commerce ของประเทศไทย ที่ดำเนินงานโดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลฯ พบว่า จำนวนชั่วโมงของผู้ใช้งานอิเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นทุกปี ล่าสุดเฉลี่ย อยู่ที่ 11 ชั่วโมง 25 นาทีต่อวัน

สำหรับกิจกรรมยอดนิยมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทยคือ Social media ทั้งการใช้งานด้านการทำกิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงการซื้อขายสินค้าออนไลน์ เช่น SMEs มีการใช้ช่องทางของแอปพลิเคชั่นธนาคารในการรับชำระสินค้าและบริการ อยู่ที่ 58.56% และมีการใช้ Social commerce เป็นช่องทางการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย ถึง 71.83% เป็นต้น

ขณะที่ ตัวเลขสถิติการรับเรื่องร้องเรียนผ่าน 1212 OCC ที่ผ่านมา พบว่าจำนวนเรื่องร้องเรียน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ล่าสุดในปี 2564 ได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว 49,996 ครั้ง ปัญหาที่ถูกร้องเรียนเข้ามามากที่สุด คือปัญหาการซื้อขายของทางออนไลน์ 67.11 % รองลงมาคือ ปัญหาเว็บไซต์ผิดกฎหมาย 23.06 % และหากลงรายละเอียดของปัญหาการซื้อขายของทางออนไลน์ พบว่า ส่วนใหญ่มักเป็นปัญหาการสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า หรือได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่สั่งไว้มากถึง 47% ตามมาด้วย สินค้าไม่ได้มาตรฐานตามที่โฆษณา 29% เป็นต้น

“จากตัวเลขข้างต้น เราจะเห็นว่าโลกออนไลน์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราอย่างปฏิเสธไม่ได้ และแน่นอนว่า เมื่อคนทั่วโลกหันมาทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ภัยคุกคามทางออนไลน์ ทั้ง การฉ้อโกง หลอกลวง ปัญหาในรูปแบบต่างๆ ก็เพิ่มตามมาด้วย ทำให้ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในการเข้าไปดูแลคุ้มครองผู้บริโภคกันอย่างเข้มข้นและเอาจริงเอาจังกับการเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาผู้บริโภคออนไลน์ที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่” นายชัยวุฒิกล่าว

ที่มา : facebook.com/PPRPThailand/
เมื่อวันที่ : 24 พฤศจิกายน 2564

“สัณหพจน์” ยก “ศาลาดินโมเดล” แก้ปัญหาผักตบชวา ลุ่มน้ำปากพนัง

,

“สัณหพจน์” ยก “ศาลาดินโมเดล” แก้ปัญหาผักตบชวา สร้างรายได้คนลุ่มน้ำปากพนัง

ส.ส.พปชร.เขต 2 นครศรีฯ จี้หน่วยงานรัฐ เร่งแก้ปัญหา “ผักตบชวา” ลุ่มแม่น้ำปากพนัง แนะใช้ “ศาลาดินโมเดล” สร้างมูลค่าผักตบชวา เป็นทางออก ช่วยลดความเดือดร้อน พร้อมสร้างรายได้ยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่

ดร.สัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.เขต 2 จ.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า จากการที่ตนได้หารือต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร กรณีปัญหาผักตบชวาในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เชียรใหญ่ อ.หัวไทร และอ.ปากพนัง เมื่อวันที่ 10 พ.ย.64

ล่าสุด ตนได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนอีกครั้ง เนื่องจากผักตบชวาที่เป็นปัญหาดังกล่าว ได้ลุกลามกลายเป็นปัญหาต่อเนื่องกระทบกับพี่น้องประชาชนในบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ทั้งในเรื่องการทำมาหากินและผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่ง

ทั้งนี้จากการที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้มอบนโยบายและกำชับ 5 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง,กรมชลประทาน,กรมเจ้าท่า,คณะทำงานฯระดับจังหวัด เร่งรัดกำจัด และแปรรูปเพิ่มมูลค่าของผักตบชวา ในพื้นที่ที่เกิดปัญหา ซึ่งพบว่า ได้ดำเนินการจัดเก็บผักตบชวารวมทั้งสิ้น 4,513,836 ล้านตันแล้วนั้น

ดังนั้นตนจึงอยากฝากไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน จ.นครศรีธรรมราช ได้เร่งดำเนินการจัดเก็บผักตบชวาในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง 3 อำเภอ ก่อนที่ปัญหาดังกล่าวจะลุกลามกระทบต่อระบบนิเวศในแม่น้ำลำคลอง รวมทั้งชายฝั่ง ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่

นอกจากนี้ ตนขอเสนอให้ มีการนำ “ศาลาดินโมเดล” มาใช้ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยการนำผักตบชวา ไปแปรรูปและใช้ประโยชน์สร้างรายได้และอาชีพให้กับประชาชน ซึ่งมีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จแล้วในพื้นที่ ต.ศาลาดิน อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม

“ศาลาดินโมเดล จ.นครปฐม โดยกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานมหาสวัสดิ์ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการแก้ไขปัญหาผักตบชวาในแหล่งน้ำลำคลอง โดยทางกลุ่มได้นำผักตบชวามาแปรรูปเป็น “ดินพร้อมปลูกผสมผักตบชวา” เพื่อส่งขายสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ที่ผ่านมากลุ่มฯ ได้รับซื้อผักตบชวาสับตากแห้งจากชาวบ้านในราคากก.ละ 20 บาท ซึ่งชาวบ้านที่ทำผักตบมาขายให้กับกลุ่มฯ จะมีรายได้ตั้งแต่ 2,000 – 6,000 บ./เดือน ปัจจุบันทราบว่า กลุ่มฯ มียอดขายดินพร้อมปลูกกว่า 5,000 ถุง/เดือน และยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด” ดร.สัณหพจน์ กล่าว

สำหรับตัวอย่างดังกล่าว สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาผักตบชวาในลุ่มน้ำปากพนังได้ โดยนอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในพื้นที่ ซึ่งกระทบต่อการทำประมงพื้นบ้าน และผลกระทบต่อระบบนิเวศในแม่น้ำลำคลองและชายฝั่งแล้ว ยังช่วยให้พี่น้องประชาชนที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำมีรายได้ที่ยั่งยืน และเป็นการสร้างแรงจูงใจให้พี่น้องประชาชนมีส่วนร่วมต่อการอนุรักษ์แหล่งน้ำได้อีกด้วย

ที่มา : facebook.com/PPRPThailand
เมื่อวันที่ : 24 พฤศจิกายน 2564