โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

วัน: 12 พฤศจิกายน 2021

“ส.ส.ทัศนาพร” แจกถุงยังชีพต่อเนื่อง บรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยน้ำท่วม-โควิด-19

, ,

“ส.ส.ทัศนาพร” แจกถุงยังชีพต่อเนื่อง บรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยน้ำท่วม-โควิด-19 ให้ชาวโคราช

นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.จังหวัดนครราชสีมา เขต 8 พรรคพลังประชารัฐ ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม ใน ต.ทองหลาง (4 หมู่บ้าน) อ.จักราช จ.นครราชสีมา พร้อมนำถุงยังชีพไปมอบให้ จำนวน 800 ชุด เพื่อให้ความช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และได้รับความเดือดร้อนการแพร่ระบาดโควิด-19 พื้นที่ นอกจากนี้ได้มอบหมวก เพื่อเป็นของที่ระลึก ให้กับเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อเป็นกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่

อย่างไรก็ตามจะเร่งมอบถุงยังชีพ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เพื่อสร้างกำลังใจให้ประชาชนในพื้นที่ให้ก้าวผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้
ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรค ได้เห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้ประสบภัยน้ำท่วมจึงมอบหมายให้ ส.ส.ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด และนำถุงยังชีพที่พรรคสนับสนุนไปมอบให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

ที่มา : facebook.com/PPRPThailand/
เมื่อวันที่ : 12 พฤศจิกายน 2564

“ส.ส.กรณิศ” รายงานผลการพิจารณาอนุกรรมาธิการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย

,

“ส.ส.กรณิศ” รายงานผลการพิจารณาอนุกรรมาธิการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้ท้องถิ่นพัฒนาที่ดินรกร้างให้สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่ พร้อมปลดล็อกข้อจำกัดในการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐในการเข้าร่วมพัฒนาเพื่อคนในชุมชน

นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา กรุงเทพมหานคร เขต 4 พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการแก้กฎหมายพื้นที่ที่ประชาชนใช้สอยร่วมกัน ได้รายงานผลการพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร กรณีการแก้กฎหมายให้หน่วยงานของรัฐสามารถนำงบประมาณเข้ามาพัฒนาพื้นที่ที่ประชาชนใช้สอยร่วมกัน ที่ถูกทิ้งร้างและไม่ได้พัฒนาจนเกิดปัญหาเรื้อรังด้านสาธารณูปโภค ทั้งปัญหาน้ำท่วมขัง ขาดแคลนไฟฟ้าส่องสว่าง ถนนชำรุด

นางกรณิศ กล่าวว่า ตนเองในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถพัฒนาทรัพย์สินที่ประชาชนทั่วไปใช้สอยร่วมกัน เพื่อการพิจารณาศึกษาปัญหาการบังคับข้อกฎหมาย และหามาตรการแก้ไขปัญหาการบำรุงรักษาที่ดิน การพัฒนาทรัพย์สินที่ประชาชนทั่วไปใช้สอยร่วมกั้นในพื้นที่ส่วนบุคคลและพื้นที่เอกชนทั่วประเทศ พร้อมปลดล็อกอุปสรรคและข้อจำกัดของภาครัฐในการนำงบประมาณเข้าไปพัฒนาพื้นที่ส่วนกลางต่างๆ ในเมืองที่ประชาชนใช้สอยประโยชน์ร่วมกัน

ที่มา : facebook.com/PPRPThailand/
เมื่อวันที่ : 12 พฤศจิกายน 2564

“ตรีนุช” สนับสนุนยุทธศาสตร์ยูเนสโก ว่าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา

,

“ตรีนุช” สนับสนุนยุทธศาสตร์ยูเนสโก

รัฐมนตรีศึกษาฯ ร่วมประชุมสมัยสามัญยูเนสโก ที่กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส สนับสนุนยุทธศาสตร์ฯ ว่าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา ปี 2565 – 2568 สร้างสังคมยุติธรรม-เสมอภาค-สงบสุข-ยั่งยืน ลั่นปี 2565 ประเทศไทย พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีศึกษาภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 41 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-24 พฤศจิกายน 2564 ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส ตอนหนึ่งว่า ขอแสดงความยินดีกับ Madam Audrey Azoulay ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก ที่ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกอีกวาระหนึ่ง และขอชื่นชมยูเนสโกที่ปรับวิธีการทำงานได้ดีในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งส่งผลให้การดำเนินงานของยูเนสโกเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

นางสาวตรีนุช กล่าวต่อไปว่า การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นในห้วงเวลาครบรอบทศวรรษ เพื่อทบทวนการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของแห่งสหประชาชาติ (SDGs) ซึ่งยูเนสโกได้นำมาเป็นเป็นพื้นฐานสำหรับจัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนงานและงบประมาณฉบับใหม่ของยูเนสโก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 – 2566 ประเทศไทยเชื่อมั่นว่า แผนงานที่ประเทศสมาชิกร่วมกันจัดทำขึ้นมาในครั้งนี้ จะช่วยผลักดันความร่วมมือภายในองค์กร ตลอดจนพันธมิตรอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหาระดับโลก

“ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยได้พยายามเปิดเรียนตามปกติ โดยสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านสุขภาพของนักเรียนและครูเป็นหลัก ดังนั้น การฉีดวัคซีนให้แก่นักเรียนและครูจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน ขณะเดียวกัน ได้คำนึงถึงการให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่ครอบคลุมเพื่อลดจำนวนเด็กตกหล่น โดยบุคลากรทางการศึกษาได้ทำงานเชิงรุกเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการเข้าถึงการศึกษาตามสิทธิพื้นฐาน อย่างเท่าเทียม และทั่วถึงของทุกคน “ รมว.ศธ. กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามแม้จะมีการนำเทคโนโลยีทางการศึกษามาใช้มากมาย แต่ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาก็เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนเช่นกัน ประเทศไทยจึงสนับสนุนยุทธศาสตร์ของยูเนสโกว่าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา ปีพ.ศ.2565 -2568 เพื่อสร้างสังคมที่ยุติธรรม เสมอภาค สงบสุข และยั่งยืน นอกจากนี้ ยังให้การสนับสนุน Recommendation on Open Science ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเอาชนะความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยีในการเข้าถึงข้อมูลความรู้ระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและยังไม่พัฒนา

รมว.ศธ. กล่าวด้วยว่า ในปี 2565 ประเทศไทยโดยความร่วมมือกับสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีศึกษาภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Education Ministers Conference) ซึ่งการประชุมดังกล่าวจะเป็นโอกาสดีในการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย SDG4 และประเทศไทยก็มีความเข้มแข็งที่จะส่งเสริมการศึกษาที่ครอบคลุมและมีคุณภาพ ซึ่งเป็นการสานต่อที่ประเทศไทยได้ริเริ่มปฏิญญาจอมเทียน ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ได้สนับสนุนโครงการริเริ่มต่าง ๆ ของยูเนสโก ที่ส่งเสริมแนวคิดในการเผชิญหน้ากับปัญหาท้าทายของโลกในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการมองอนาคตไปข้างหน้า และข้อเสนอแนะด้านจริยธรรมของ AI (Recommendation on the Ethics of Artificial Intelligence) เป็นต้น และขอขอบคุณสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ที่ให้การสนับสนุนประเทศไทยและประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิกอย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด ยืนยันว่าจะให้ความร่วมมือเต็มกำลังเพื่อส่งเสริมให้ยูเนสโกบรรลุความสำเร็จตามพันธกิจ

ที่มา : facebook.com/PPRPThailand/
เมื่อวันที่ : 12 พฤศจิกายน 2564

“พล.อ.ประวิตร” สั่งปรับแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี เพิ่มแหล่งเก็บน้ำชุมชน

,

“พล.อ.ประวิตร” สั่งปรับแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี เพิ่มแหล่งเก็บน้ำชุมชน แก้น้ำท่วม-แล้งอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่ทำเนียบรัฐบาล เข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Video Conference) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2564 โดยมี
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค เป็นต้น เข้าร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ทั้ง 6 ด้าน ให้บรรลุผลตามเป้าหมาย เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยผลการดำเนินงานและผลสัมฤทธิ์ตามแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน มีแผนงานโครงการที่มีความก้าวหน้าการดำเนินงานเกิน 80% ของแผน อาทิ การพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ชะลอน้ำ 13 แห่ง คิดเป็น 100%

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าการเพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้าน 4,675 แห่ง คิดเป็น 85% และมีแผนงานโครงการที่มีความก้าวหน้าเกิน 30% อาทิ การพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 118 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 64% การพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำ อาคารบังคับน้ำ ระบบส่งน้ำใหม่ 393 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 34% และลดการชะล้างพังทลายของดิน ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ 80,308 ไร่ คิดเป็น 33% และในพื้นที่เกษตรนอกพื้นที่อนุรักษ์ 367,900 ไร่ คิดเป็น 37%
พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า การดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่ามีแผนงานที่ยังมีความล่าช้า เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพแหล่งน้ำ ระบบส่งน้ำเดิม การอนุรักษ์ฟื้นฟูพัฒนาแหล่งน้ำพื้นที่เกษตรน้ำฝน ระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง เป็นต้น โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางในการปรับปรุงขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี และให้ สทนช. ดำเนินการผ่านคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ น้ำ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาและทบทวน ปรับปรุงแนวทางการดำเนินงาน เป้าหมาย ตัวชี้วัดที่จะดำเนินการในระยะต่อไป รวมถึงใช้ระบบติดตามประเมินผลด้านน้ำของประเทศไทย (Thai Water Assessment :TWA) เป็นเครื่องมือในการติดตามประเมินผลโครงการด้านทรัพยากรน้ำ โดยให้หน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เริ่มรายงานผลการดำเนินงานและผลสัมฤทธิ์ของโครงการด้านแหล่งน้ำผ่านระบบตั้งแต่เดือน ธ.ค. 64 เป็นต้นไป

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับปรุงกรอบแนวทางแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี ช่วงปี 2566-2580 โดยเฉพาะแหล่งน้ำตามครัวเรือน เพื่อสำรองน้ำใช้ในฤดูแล้ง บูรณาการการพัฒนาแหล่งน้ำกับแผนที่เกษตร (Agri-Map) พัฒนาโคกหนองนาโมเดล เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรอง และใช้กักเก็บน้ำเพื่อลดปัญหาอุทกภัย รวมถึงเร่งศึกษาวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อประกอบการปรับปรุงแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยที่ประชุมมอบหมายให้หน่วยงานรายงานปัญหาอุปสรรคการดำเนินการขับเคลื่อนที่ผ่านมาให้ สทนช. ทราบ ภายในเดือน ธ.ค. 64 รวมทั้งให้ทุกหน่วยงานสนับสนุนข้อมูลในการปรับปรุงแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี เพื่อให้มีความครบถ้วน และครอบคลุมทุกมิติ

ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้ติดตามการดำเนินงานตามข้อสั่งการของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชน และการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน การดำเนินการเตรียมการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำเสีย และการสำรวจพื้นที่แหล่งน้ำบาดาลสะอาดที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี โดยเร็วด้วย โดยรองนายกฯ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินการตามข้อสั่งการมายัง สทนช. และรายงานต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ต่อไป

ที่มา : facebook.com/PPRPThailand/
เมื่อวันที่ : 12 พฤศจิกายน 2564