โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

วัน: 29 พฤศจิกายน 2022

“พรรคพลังประชารัฐ”เร่งเก็บข้อมูลพื้นที่ขับเคลื่อน 3 พันธกิจหลัก วิเคราะห์ 6 กลุ่มอาชีพเป้าหมายสร้างหลักประกันให้คนไทยอยู่ดีกินดี

,

“พรรคพลังประชารัฐ”เร่งเก็บข้อมูลพื้นที่ขับเคลื่อน 3 พันธกิจหลัก
วิเคราะห์ 6 กลุ่มอาชีพเป้าหมายสร้างหลักประกันให้คนไทยอยู่ดีกินดี

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ ทีมโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการทั้ง 3 ชุดขึ้นมา เพื่อขับเคลื่อน 3 พันธกิจหลัก ได้แก่ 1. คณะกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการประชารัฐ : ขจัดความเหลื่อมล้ำ มี นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นประธาน 2. เศรษฐกิจประชารัฐ : สร้างความสามารถและโอกาสที่เท่าเทียม มี นายพรชัย ตระกูล วรานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นประธาน และ 3. สังคมประชารัฐ : สงบสุข เข้มแข็ง ที่มีนายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยเมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการเพื่อการขับเคลื่อน 3 พันธกิจ ได้ติดตามความคืบหน้าในการจัดทำนโยบายพรรค โดยมีคณะกรรมการทั้ง 3 คณะเข้าร่วมประชุม อาทิ นายชวน ชูจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายสุทา ประทีป ณ ถลาง ส.ส. ภูเก็ต เขต1 นายกองตรีอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ส.ส. นครศรีธรรมราช เขต3 เป็นต้น

ทั้งนี้ที่ประชุมคณะทำงานได้หารือและศึกษา ถึงแนวทางในการกำหนดและวางกรอบนโยบายเพื่อขับเคลื่อน 3 พันธกิจ ทั้ง 3 ด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจประชารัฐ ได้มีการวิเคราะห์ หาจุดแข็งและจุดอ่อนของนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อนำมาสู่การวางยุทธศาสตร์ และกำหนดนโยบายของพรรค โดยจัดเป็น 6 กลุ่ม อาชีพเป้าหมายหลักซึ่งคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประชารัฐ จะเร่งทำการศึกษาและเก็บข้อมูลเพิ่มเติมใน 6 กลุ่มอาชีพและจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 30 พ.ย.นี้

สำหรับ 6 กลุ่มอาชีพประกอบด้วย 1. กลุ่มเกษตรกร ได้ศึกษาข้อดีและข้อเสียของนโยบายจำนำข้าวและประกันราคาข้าว ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของประชาชน โดยจะให้ความสำคัญกับ 8 ชนิดพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์ม เป็นต้น รวมถึงกลุ่มปศุสัตว์ต่างๆ กลุ่มอาชีพประมงพื้นบ้าน เพื่อกำหนดเนื้อหาและศึกษาถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ

2. กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางหรือกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงกลุ่มกิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) และกลุ่มสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นกลุ่มที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งกำหนดกรอบนโยบายในการสร้างกลุ่มยูนิคอร์นของไทย ให้เห็นถึงความสำเร็จของกลุ่มสตาร์ทอัพ ที่ไปสร้างชื่อเสียงให้กับเศรษฐกิจไทยในเวทีระดับโลก

3. กลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เนื่องจากซัพพลายเชนของอุตสาหรกรรมท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับจำนวนคนเป็นจำนวนมาก ทั้งภาคการท่องเที่ยวกลางวันและภาคการท่องเที่ยวกลางคืน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในการกำหนดนโยบายที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญและช่วยเหลือ ทั้งนี้ ก่อนการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากกว่า 40 ล้านคน และคาดว่าในปี 66 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทย 23.5 ล้านคน ซึ่งสถานการณ์อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นกลับไปอยู่จุดเดิม ดังนั้นจึงต้องมีนโยบายช่วยเหลือ

4. ส่งเสริมและผลักดันให้อาหารไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารโลก เพราะที่ผ่านมาอาหารไทยถือว่าประสบความสำเร็จในเวทีการประชุมเอเปค และยังเป็นหนึ่งในซอฟ์ทพาวเวอร์ รวมถึงการผลักดันให้เกิดฟิวเจอร์ฟู้ดที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาหารไทยได้มากยิ่งขึ้น พร้อมทั่งยกระดัยสตรีทฟู้ดของไทยให้เป็นซอฟ์ทพาวเวอร์ของไทยอีกแขนงหนึ่ง

5. กลุ่มการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียว ที่ให้สอดคล้องกับแนวทาง BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ -เศรษฐกิจหมุนเวียน- เศรษฐกิจสีเขียว) โดยเฉพาะพลังงานสะอาดที่ได้จากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่จะผลักดันให้สามารถเข้าถึงภาคครัวเรือนมากขึ้น

6. กลุ่มอุตสาหกรรมเอ็นเตอร์เทนเม้นท์และมีเดีย เพื่อส่งเสริมให้บุคคลในวงการอุตสาหกรรมเอ็นเตอร์เทนเม้นท์และมีเดีย อาทิ ศิลปิน ดารา นักร้อง เอ็นฟลูเอ็นเซอร์ ให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง

ในส่วนของพันธกิจสังคมประชารัฐ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูลจากพื้นที่ต่างๆ เพื่อนำมาเป็นฐานในการวิเคราะห์ความต้องการของประชาชน ให้สอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งจะต้องเข้าไปช่วยเหลือและสนับสนุนประชาชนในแต่ละพื้นที่ให้สอดรับกับบริบท เพราะแต่ละภูมิภาคก็มีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะการสร้างระบบอีโค่ซิสเต็มส์ ที่สามารถลดภาระด้านต้นทุนในการประกอบอาชีพ โดยมีภาครัฐให้การสนับสนุนและส่งเสริมด้านการตลาด ซึ่งเป็นการวางกรอบของกลุ่มสังคมประชารัฐ เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายของพรรคในอนาคต

“ในเรื่องของสวัสดิการประชารัฐ ได้มีการวางแนวทางในการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงนโยบายที่ภาครัฐให้การสนับสนุนในรูปแบบใหม่ โดยการหาแนวทางอำนวยความสะดวก และเข้าถึงการสร้างรายได้ที่มั่นคง เพราะมีหลายอาชีพที่เป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพของประชาชน เช่น ภาคพลังงานที่ยังมีเงื่อนไขและข้อกำหนดต่างๆ ที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการรับประโยชน์จากการผลิตพลังงาน รวมถึงการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานโซลาร์ในราคาต่ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านต้นทุนต่ำในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม” นางสาวเกณิกา กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 29 พฤศจิกายน 2565

‘พล.อ.ประวิตร ’ ห่วงปชช. ตกเป็นเหยื่อโกงออนไลน์ สั่งลุยกวาดล้าง ปี 65 จับ 1,383 คดี 1,980 ราย

,

‘พล.อ.ประวิตร ’ ห่วงปชช. ตกเป็นเหยื่อโกงออนไลน์ สั่งลุยกวาดล้าง ปี 65 จับ 1,383 คดี 1,980 ราย

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ระหว่างการเยือนประเทศกัมพูชาเมื่อ 22-24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้เจรจาขอความร่วมมือรัฐบาลกัมพูชาให้ช่วยเหลือคนไทยที่ถูกหลอกไปทำงานในแก๊งคอลเซนเตอร์ โดยให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. เข้าร่วมปฏิบัติการปราบปราบ เพื่อยุติปัญหาให้หมดสิ้นไป เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยสตช.เป็นหน่วยแกนหลักที่ต้องบูรณาการการบังคับใช้กฎหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้มอบหมาย พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.อ.สุชาติ ผ่องพุฒิ คณะทำงานรองนายกรัฐมนตรี ร่วมกับผู้แทนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน กสทช. สำนักงาน ปปง. สำนักงาน กลต. และหน่วยงานเกี่ยวข้อง หารือกำหนดมาตรการและขั้นตอนปฏิบัติในการบูรณาการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายให้เสร็จใน 3 เดือน โดยในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการแจ้งความคดีออนไลน์ จำนวน 132,747 เรื่อง แยกเป็นคดีออนไลน์ 22 ประเภท กรณีหลอกลวงซื้อขายสินค้าสูงสุด จำนวน 43,323 คดี การโอนเงินเพื่อหารายได้จากกิจกรรม จำนวน 18,143 คดี และการหลอกลวงให้กู้เงินแต่ไม่ได้รับเงิน จำนวน 15,887 คดี สามารถจับกุมอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในปี 2565 แยกเป็นพนันออนไลน์สูงสุด 697 คดี ผู้ต้องหา 1,198 คน และการหลอกลวงออนไลน์ด้านการเงิน 686 คดี ผู้ต้องหา 782 คน

รองนายกฯ ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาการฉ้อโกงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งในรูปแบบของการเงินนอกระบบ ( เช่น แชร์ลูกโซ่ การเล่นแชร์และการขายตรง ) การพนันออนไลน์ การหลอกลวงผ่านคอลเซ็นเตอร์ โดยมีมติเห็นชอบ มาตรการเร่งด่วน ในการแก้ไขปัญหาการฉ้อโกงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ 6 ด้าน ประกอบด้วย มาตรการป้องกันปราบปราม มาตรการสืบสวนปราบปราม การปรับแก้กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องและกำหนดอัตราโทษสูงขึ้น รวมทั้ง มาตรการดูแลคุ้มครองประชาชน และมาตรการสร้างความร่วมมือเชิงรุก และพิจารณาแนวทางการดำเนินการเร่งด่วน อาทิ (1) ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศ หรือข้อบังคับให้ธนาคารพาณิชย์ระงับช่องทางการทำธุรกรรมออนไลน์กับบัญชีต้องสงสัย การกำหนดให้การโอนเงิน Mobile Banking ในจำนวนที่กำหนดขึ้นไป ต้องใช้ซิมโทรศัพท์ที่ลงทะเบียนเท่านั้น

(2) กสทช. ออกมาตรการในการลงทะเบียนซิม (3) ปปง. แก้ไขกฎกระทรวง เรื่องการกำหนดจำนวนเงินสดในการทำธุรกรรมที่สถาบันการเงินต้องรายงานต่อ ปปง. และกำหนดหลักเกณฑ์ให้สถาบันการเงินต้องดำเนินการเมื่อตรวจพบบัญชีม้า นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการดำเนินการในระยะถัดไป ได้แก่ การจัดให้มีการระบุตัวตน biometrics ของผู้เปิดและใช้บัญชีตั้งแต่เริ่มแรกและต่อมาเป็นระยะๆ โดยวิธีการ National Digital ID หรือ NDID เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลถูกต้องแท้จริงและเป็นปัจจุบัน

สำหรับการประชุมวันนี้หน่วยปฏิบัติหลัก ประกอบด้วย กสทช., ธปท., ปปง., และ สตช. ร่วมพิจารณากำหนดร่างมาตรการและขั้นตอนปฏิบัติ (Work Flow) ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา การพิจารณากำหนดหรือทบทวนเป้าหมายบุคคลพฤติกรรมเสี่ยงสูง หรือต้องเฝ้าระวัง กรณีบัญชีม้า (รหัส HR-03) โดยมีระบบแจ้งเตือนผ่านทาง Mobile Banking และรณรงค์รู้เท่าทันคนร้ายช่องทาง Social Media ของธนาคารพาณิชย์

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 29 พฤศจิกายน 2565