“พรรคพลังประชารัฐ”เร่งเก็บข้อมูลพื้นที่ขับเคลื่อน 3 พันธกิจหลัก
วิเคราะห์ 6 กลุ่มอาชีพเป้าหมายสร้างหลักประกันให้คนไทยอยู่ดีกินดี
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ ทีมโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการทั้ง 3 ชุดขึ้นมา เพื่อขับเคลื่อน 3 พันธกิจหลัก ได้แก่ 1. คณะกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการประชารัฐ : ขจัดความเหลื่อมล้ำ มี นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นประธาน 2. เศรษฐกิจประชารัฐ : สร้างความสามารถและโอกาสที่เท่าเทียม มี นายพรชัย ตระกูล วรานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นประธาน และ 3. สังคมประชารัฐ : สงบสุข เข้มแข็ง ที่มีนายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยเมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการเพื่อการขับเคลื่อน 3 พันธกิจ ได้ติดตามความคืบหน้าในการจัดทำนโยบายพรรค โดยมีคณะกรรมการทั้ง 3 คณะเข้าร่วมประชุม อาทิ นายชวน ชูจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายสุทา ประทีป ณ ถลาง ส.ส. ภูเก็ต เขต1 นายกองตรีอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ส.ส. นครศรีธรรมราช เขต3 เป็นต้น
ทั้งนี้ที่ประชุมคณะทำงานได้หารือและศึกษา ถึงแนวทางในการกำหนดและวางกรอบนโยบายเพื่อขับเคลื่อน 3 พันธกิจ ทั้ง 3 ด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจประชารัฐ ได้มีการวิเคราะห์ หาจุดแข็งและจุดอ่อนของนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อนำมาสู่การวางยุทธศาสตร์ และกำหนดนโยบายของพรรค โดยจัดเป็น 6 กลุ่ม อาชีพเป้าหมายหลักซึ่งคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประชารัฐ จะเร่งทำการศึกษาและเก็บข้อมูลเพิ่มเติมใน 6 กลุ่มอาชีพและจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 30 พ.ย.นี้
สำหรับ 6 กลุ่มอาชีพประกอบด้วย 1. กลุ่มเกษตรกร ได้ศึกษาข้อดีและข้อเสียของนโยบายจำนำข้าวและประกันราคาข้าว ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของประชาชน โดยจะให้ความสำคัญกับ 8 ชนิดพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์ม เป็นต้น รวมถึงกลุ่มปศุสัตว์ต่างๆ กลุ่มอาชีพประมงพื้นบ้าน เพื่อกำหนดเนื้อหาและศึกษาถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ
2. กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางหรือกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงกลุ่มกิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) และกลุ่มสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นกลุ่มที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งกำหนดกรอบนโยบายในการสร้างกลุ่มยูนิคอร์นของไทย ให้เห็นถึงความสำเร็จของกลุ่มสตาร์ทอัพ ที่ไปสร้างชื่อเสียงให้กับเศรษฐกิจไทยในเวทีระดับโลก
3. กลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เนื่องจากซัพพลายเชนของอุตสาหรกรรมท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับจำนวนคนเป็นจำนวนมาก ทั้งภาคการท่องเที่ยวกลางวันและภาคการท่องเที่ยวกลางคืน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในการกำหนดนโยบายที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญและช่วยเหลือ ทั้งนี้ ก่อนการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากกว่า 40 ล้านคน และคาดว่าในปี 66 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทย 23.5 ล้านคน ซึ่งสถานการณ์อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นกลับไปอยู่จุดเดิม ดังนั้นจึงต้องมีนโยบายช่วยเหลือ
4. ส่งเสริมและผลักดันให้อาหารไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารโลก เพราะที่ผ่านมาอาหารไทยถือว่าประสบความสำเร็จในเวทีการประชุมเอเปค และยังเป็นหนึ่งในซอฟ์ทพาวเวอร์ รวมถึงการผลักดันให้เกิดฟิวเจอร์ฟู้ดที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาหารไทยได้มากยิ่งขึ้น พร้อมทั่งยกระดัยสตรีทฟู้ดของไทยให้เป็นซอฟ์ทพาวเวอร์ของไทยอีกแขนงหนึ่ง
5. กลุ่มการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียว ที่ให้สอดคล้องกับแนวทาง BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ -เศรษฐกิจหมุนเวียน- เศรษฐกิจสีเขียว) โดยเฉพาะพลังงานสะอาดที่ได้จากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่จะผลักดันให้สามารถเข้าถึงภาคครัวเรือนมากขึ้น
6. กลุ่มอุตสาหกรรมเอ็นเตอร์เทนเม้นท์และมีเดีย เพื่อส่งเสริมให้บุคคลในวงการอุตสาหกรรมเอ็นเตอร์เทนเม้นท์และมีเดีย อาทิ ศิลปิน ดารา นักร้อง เอ็นฟลูเอ็นเซอร์ ให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง
ในส่วนของพันธกิจสังคมประชารัฐ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูลจากพื้นที่ต่างๆ เพื่อนำมาเป็นฐานในการวิเคราะห์ความต้องการของประชาชน ให้สอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งจะต้องเข้าไปช่วยเหลือและสนับสนุนประชาชนในแต่ละพื้นที่ให้สอดรับกับบริบท เพราะแต่ละภูมิภาคก็มีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะการสร้างระบบอีโค่ซิสเต็มส์ ที่สามารถลดภาระด้านต้นทุนในการประกอบอาชีพ โดยมีภาครัฐให้การสนับสนุนและส่งเสริมด้านการตลาด ซึ่งเป็นการวางกรอบของกลุ่มสังคมประชารัฐ เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายของพรรคในอนาคต
“ในเรื่องของสวัสดิการประชารัฐ ได้มีการวางแนวทางในการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงนโยบายที่ภาครัฐให้การสนับสนุนในรูปแบบใหม่ โดยการหาแนวทางอำนวยความสะดวก และเข้าถึงการสร้างรายได้ที่มั่นคง เพราะมีหลายอาชีพที่เป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพของประชาชน เช่น ภาคพลังงานที่ยังมีเงื่อนไขและข้อกำหนดต่างๆ ที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการรับประโยชน์จากการผลิตพลังงาน รวมถึงการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานโซลาร์ในราคาต่ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านต้นทุนต่ำในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม” นางสาวเกณิกา กล่าว
ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 29 พฤศจิกายน 2565