โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

วัน: 5 ตุลาคม 2022

รมต.อนุชา เยือนเกาหลีใต้ ร่วมเวทีบริหารจัดการน้ำ MKWF ครั้งแรก สานความร่วมมือน้ำโขง-น้ำฮันเร่งฟื้นฟูความสมบูรณ์ลุ่มน้ำในภูมิภาค

,

รมต.อนุชา เยือนเกาหลีใต้ ร่วมเวทีบริหารจัดการน้ำ MKWF ครั้งแรก สานความร่วมมือน้ำโขง-น้ำฮันเร่งฟื้นฟูความสมบูรณ์ลุ่มน้ำในภูมิภาค

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายจาก พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นำคณะ ประกอบด้วย ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายธัชชญาณ์ณัช เจียรธนัทกานนท์ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะทำงาน เข้าร่วมการประชุม Mekong-Korea Water Forum (MKWF) ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 5-6 ตุลาคม 2565 ณ สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)

การประชุมครั้งนี้เป็นผลจากการที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี (Mekong-ROK Summit) ที่สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเป็นการประชุมคู่ขนานกับการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ในระดับ ระดับผู้นําของอาเซียนกับประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี ในโอกาสครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งประเทศไทยและเกาหลีใต้ได้พัฒนาความร่วมมือความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์หลายด้าน โดยเฉพาะด้านทรัพยากรน้ำ มีการรับรองปฏิญญาแม่น้ำโขง–แม่น้ำฮัน เป็นเอกสารผลลัพธ์สำคัญของการประชุม ซึ่งได้กำหนดทิศทางความร่วมมือลุ่มน้ำโขง–สาธารณรัฐเกาหลี ในอนาคต

ทั้งนี้ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ไทยและเกาหลีใต้ได้กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินการด้านทรัพยากรน้ำร่วมกัน 3 ด้าน (3 Partnerships หรือ 3Ps) ได้แก่ หุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจสีเขียว หุ้นส่วนด้านอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และหุ้นส่วนด้านสาธารณสุข รวมถึงความร่วมมือที่ใกล้ชิดในกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ทั้งในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาค

โอกาสนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความยินดีที่ประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ได้ประสานความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำเป็นอย่างดีมาโดยตลอด ซึ่งการประชุมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครั้งนี้จะมีส่วนช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน

“สำหรับประเทศไทย แม่น้ำโขงเป็นเส้นเลือดใหญ่สำคัญที่หล่อเลี้ยงประชากรที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ใน 8 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ 28 อำเภอ 100 ตำบล ตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา ประชาชนริมน้ำโขงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทั้งปัจจัยทางธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ ส่งผลต่อความแปรปรวนของปริมาณน้ำ คุณภาพน้ำและระบบทางนิเวศ ซึ่งสิ่งนี้เป็นความท้าทายประเทศที่อาศัยแม่น้ำโขงในการดำรงชีวิต โดยต้องร่วมมือกันฟื้นฟูและรักษาคุณภาพทรัพยากรน้ำให้กลับมาสมบูรณ์ มีความมั่นคงทางทรัพยากรน้ำ อาหาร พลังงาน เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและคณะได้เข้าร่วมการประชุมระดับสูง(High Level Dialogue) โดยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ร่วมอภิปรายเรื่องความร่วมมือด้านน้ำในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และธรรมาภิบาลด้านการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำโขงภายใต้ความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งพบปะหารือกับผู้บริหาร K-Water เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะและส่งเสริมความร่วมมือด้านน้ำระหว่างไทยกับ K-Water และเยี่ยมชมโครงการบริหารจัดการน้ำของเกาหลีใต้ อาทิ สถานีโรงงานไฟฟ้าพลังงานน้ำขึ้นน้ำลงซีฮวา และสถานีผลิตน้ำสะอาดฮวาซอง เป็นต้น

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 5 ตุลาคม 2565