โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

วัน: 4 ตุลาคม 2022

“ส.ส. จักรพันธ์” พปชร.รุดตรวจความแข็งแรงเขื่อนเขตบางพลัด-บางกอกน้อย เร่งรับมือมวลน้ำทุกทิศทาง มั่นใจเข้าดูแล ปชช.ทันสถานการณ์

,

“ส.ส. จักรพันธ์” พปชร.รุดตรวจความแข็งแรงเขื่อนเขตบางพลัด-บางกอกน้อย
เร่งรับมือมวลน้ำทุกทิศทาง มั่นใจเข้าดูแล ปชช.ทันสถานการณ์

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2565 นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขตบางพลัด บางกอกน้อย และหัวหน้าภาค พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) พร้อมด้วย ดร.บุณณดา สุปิยพันธุ์ ที่ปรึกษา ส.ส. ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำ และสนับสนุนการปฏิบัติการป้องกันน้ำท่วมริมเขื่อนแม่น้ำเจ้าพระยา และรับฟังข้อมูลสถานการณ์น้ำ จากสำนักการระบายน้ำ กทม. (สนน.) เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมวลน้ำที่เกิดขึ้น ทั้งมาจากภาคเหนือ,ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมามากในพื้นที่ กทม.วานนี้ และน้ำทะเลหนุนสูงสุดที่ต้องเฝ้าระวังในวันที่ 10 ตุลาคม และวันที่ 27 และ 28 ตุลาคม2565 นี้ เพื่อไม่ให้ชุมชน และพื้นที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบ

นายจักรพันธ์ กล่าวว่า การดำเนินการเป็นไปตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากการที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ลงพื้นที่ จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง และ จ.อยุธยา เพื่อติดตามการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา พร้อมกำชับให้ ส.ส.ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาประสานหน่วยงานรัฐ เพื่อขอความช่วยเหลือ และแจ้งเตือนประชาชนอย่างทันท่วงที

นายจักรพันธ์ กล่าวต่อว่า เมื่อวานถือเป็นปรากฎการณ์ 3 น้ำคือ น้ำเหนือ น้ำหนุน และน้ำฝน ถ้ามี 3 น้ำนี้ประกอบกันขึ้น บริเวณชุมชน กทม.ที่อยู่ริมเจ้าพระยา และคลองหลัก ๆ ก็จะได้รับผลกระทบ แต่จากการประเมินสถานการณ์แล้ว ขณะนี้เข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 10 ต.ค.จะเป็นช่วงที่ทะเลหนุนสูง เพราะฉะนั้นในวันนี้ ได้พาคณะลงพื้นที่เพื่อติดามว่าเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดแนวในพื้นที่บางพลัด มีความแข็งแรงที่จะรับกับสถานการณ์น้ำได้ โดยเฉพาะน้ำเหนือ กับน้ำหนุน ซึ่งเท่าที่สำรวจดูก็อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ

“ในบางจุดที่เป็นจุดเสี่ยงอยู่แล้ว ประชาชนในพื้นที่ก็รับทราบแล้ว เช่น จุดที่เป็นฟันหลอ ไม่มีเขื่อนถาวรของ กทม.จุดที่เป็นคันกั้นน้ำของเอกชน จุดเหล่านี้ ทาง กทม.ก็ได้มาเตรียมการไว้แล้ว หรืออย่างจุดท่าเรือวัดเทพากร หรือ ซอยจรัญสนิทวงศ์ 68 เขตบางพลัด ก็จะเป็นจุดที่มีเขื่อนถาวรที่สร้างมาเกือบ 30 ปีแล้ว ทางสำนักการระบายน้ำ กทม. ก็ได้มาดำเนินการเสริมความแข็งแรงของเขื่อน คืออัดฉีดน้ำปูนเข้าไปในเขื่อนเดิม เพื่อเสริมรอยรั่ว เสริมความแข็งแกร่งของเขื่อน ซึ่งประธานชุมชนบอกว่าถือว่าช่วยบรรเทาปัญหาไปได้มาก แต่ระยะยาวก็ต้องเร่งดำเนินการของบประมาณเพื่อสร้างเขื่อนถาวรซ้อนเข้าไปอีกชั้น “นายจักรพันธ์ กล่าว

นายจักรพันธ์ กล่าวด้วยว่า ในฐานะ ส.ส.ของพื้นที่ก็ได้มีการแจ้งกับชุมชนตลอด ซึ่งชาวบ้านก็เข้าใจ เพราะปกติหน้าน้ำชาวบ้านจะรับรู้ และเผชิญกับสถานการณ์แบบนี้ แต่จะน้อยจะมากก็แล้วแต่ปริมาณน้ำในช่วงนั้นตามภาวะน้ำแต่ละช่วงเวลา เพียงแต่ในขณะนี้ปริมาณน้ำเมื่อมารวมกันมีมากกว่าปกติ แต่เชื่อว่าจะไม่เกิดสถานการณ์น้ำท่วมเหมือนในปี 2554


ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 4 ตุลาคม 2565

“พล.อ.ประวิตร”เร่งยุทธศาสตร์แก้ปัญหาภัยพิบัติ จากโลกร้อน ร่วมศึกษาเปลี่ยนรถบัสขสมก.เป็นไฟฟ้าลดการก่อมลพิษในกทม.

,

“พล.อ.ประวิตร”เร่งยุทธศาสตร์แก้ปัญหาภัยพิบัติ จากโลกร้อน
ร่วมศึกษาเปลี่ยนรถบัสขสมก.เป็นไฟฟ้าลดการก่อมลพิษในกทม.

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมตรี เปิดเผยว่า ได้เรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ครั้งที่ 3 เพื่อเร่งขับเคลื่อนความร่วมมือการปฏิบัติงานรองรับ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ผ่าน ระบบ VTC ณ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมประชุมด้วย ที่ประชุมรับทราบ รายงานความก้าวหน้าโครงการเปลี่ยนรถประจำทางสาธารณะของภาคเอกชน เป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า (รถร่วมบริการ) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ที่ประชุม ได้ร่วมพิจารณาและเห็นชอบเรื่องสำคัญ ประกอบด้วย (ร่าง) การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (ร่าง) ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก็าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ ฉบับปรับปรุง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จะช่วยลดก็าซเรือนกระจกและเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2608 และช่วยสร้างโอกาสและมูลค่าเพิ่ม สำหรับการลงทุนที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ เช่น พลังงานหมุนเวียน ยานยนต์ไฟฟ้า การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน นอกจากนั้นยังช่วยให้สุขสภาวะของประชาชนดีขึ้น ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆและการจ้างงานสีเขียว รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจไทย สอดคล้องกับนโยบาย BCG

พล.อ.ประวิตร’ ได้แสดงความขอบคุณ ทส.และคณะกรรมการฯ ที่ร่วมกันเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระยะยาว และมาตรการต่างๆ รองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์’ นรม.และรมว.กห. ได้ไปลงนามความร่วมมือของไทยกับสหประชาชาติ ( COP 26 ) ทั้งนี้เพื่อการแก้ปัญหาและลดผลกระทบจากภัยพิบัติภายในประเทศที่ต้นทาง โดยขอให้นำเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบโดยเร็ว เพื่อเป็นกรอบการปฏิบัติงานร่วมกันและท่าทีเจรจาไทยกับต่างประเทศ พร้อมทั้ง ขอให้ ทส. ประสานความร่วมมือ เร่งศึกษาพิจารณาเปลี่ยนรถประจำทาง ขสมก.ให้เป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้าให้เป็นรูปธรรมไปพร้อมกัน


ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 4 ตุลาคม 2565