โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

วัน: 13 กันยายน 2023

“สันติ รมช.สธ.” ร่วมประชุมจัดทำแผนขับเคลื่อนนโยบายด้านสาธารณสุข

,

“สันติ รมช.สธ.” ร่วมประชุมจัดทำแผนขับเคลื่อนนโยบายด้านสาธารณสุข

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ เข้าร่วมประชุมจัดทำแผนขับเคลื่อนนโยบายด้านสาธารณสุข ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 9 ตึกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข กับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และ อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก เข้าร่วมประชุม พร้อมรับฟังการนำเสนอ (ร่าง) แผนขับเคลื่อนนโยบายด้านสาธารณสุข เพื่อระดมความคิดเห็นประสบการณ์ นำมาวิเคราะห์และวางแผนให้ครอบคลุมทั้ง 13 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ประเด็น โครงการพระราชดำริฯ โครงการเฉลิมพระเกียรติและโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับ พระบรมวงศานุวงศ์ 2.ประเด็น รพ. กทม. 50 เขต 50 รพ. และปริมณฑล 3.ประเด็น สุขภาพจิต / ยาเสพติด 4.ประเด็น มะเร็งครบวงจร 5.ประเด็น สร้างขวัญกำลังใจบุคลากร 6.ประเด็น การแพทย์ปฐมภูมิ 7.ประเด็น สาธารณสุขชายแดน และพื้นที่เฉพาะ 8.ประเด็น สถานชีวาภิบาล 9.ประเด็น พัฒนา รพช.แม่ข่าย 10.ประเด็น ดิจิทัลสุขภาพ 11. ประเด็น ส่งเสริมการมีบุตร 12.ประเด็น เศรษฐกิจสุขภาพ 13.ประเด็น นักท่องเที่ยวปลอดภัย

นายสันติ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ30 ปี ที่ได้ทำงานในพื้นที่ ได้รับทราบความต้องการของพี่น้องประชาชนมาโดยตลอดว่าในชนบนมีความเดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากบ้านไปยังโรงพยาบาลในอำเภอ และโรงพยาบาลในจังหวัด ที่สูงมาก เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย หรือ หมอนัดต้องออกจากบ้าน เวลา 04.00 น. เพื่อไปรับบัตรคิวที่โรงพยาบาล และเข้ารับการตรวจรักษาเสร็จสิ้นในเวลา13.00น.-14.00น. ซึ่งเวลาเหล่านี้ทำให้เกิดต้นทุนให้กับพี่น้องประชาชน

“อยากสะท้อนความรู้สึกที่กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาไปอย่างเข้มแข็งและรวดเร็ว แต่เรื่องบุคลากรทางการแพทย์ ที่ยังขาดแคลนอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด จึงอยากฝากว่า จะทำอย่างไรเราจะผลักดันรัฐบาลให้นำงบประมาณส่วนหนึ่งมาผลิตแพทย์ให้ได้ ”

เมื่อหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ประกาศให้อนามัยประจำตำบลเป็นโรงพยาบาลแพทย์ คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ตั้งแต่วันนี้ถึงวันนี้ ยังไม่มีแพทย์ประจำ ซึ่งถ้าสามารถผลิตแพทย์ประจำ รพ.สต. หรือตำบลละ 3 คน ก็จะทำให้พี่น้องประชาชนประหยัดการเดินทางและสามารถช่วยเหลือรักษาโรคระยะเบื้องต้นได้

นายสันติ กล่าวว่า การจะผลิตแพทย์ไปส่งแต่ละ รพ.สต.ต้องผลิตจำนวนมาก เพราะมี รพ.สต.รวมทั้ง กทม.ประมาณ 8,000 แห่ง ต้องใช้แพทย์ 20,000 กว่าคน ถ้าเริ่มตั้งแต่วันนี้ อีก 5-6 ปี ถึงจะได้ใช้งาน สิ่งนี้คือความจำเป็น การรับสมัครแพทย์ จะรับสมัครในแต่ละจังหวัดแต่ละอำเภอ เมื่อได้แพทย์เหล่านี้มาเขาจะมีภูมิลำเนาในจังหวัดนั้นๆ ก็จะเป็นแพทย์ที่มาดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่ของตัวเอง

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 13 กันยายน 2566

สส.ใต้ พปชร.-ปชป.-สว. เสนอรัฐบาล ถอดนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีสัตว์สงวน เชื่อเพิ่มโอกาสสร้างอาชีพเพาะพันธ์ุนก รักษางานศิลป์ผลิตกรง ชูอัตลักษณ์คนใต้

,

สส.ใต้ พปชร.-ปชป.-สว. เสนอรัฐบาล ถอดนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีสัตว์สงวน เชื่อเพิ่มโอกาสสร้างอาชีพเพาะพันธ์ุนก รักษางานศิลป์ผลิตกรง ชูอัตลักษณ์คนใต้

นายชนนพัฒน์ นาคสั้ว สส.สงขลา เขต4 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า กลุ่ม สส.ภาคใต้ ที่มี พล.ต.อ.สุรินทร์ ปานาเร่ สส.สงขลา เขต 8 พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นแกนนำและ สส.พปชร. สส.ภูมิใจไทย และวุฒิสมาชิก ภาคใต้ ประกอบด้วย นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ สส.นราธิวาส เขต 3 นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ สส.นราธิวาส เขต2 นายคอซีย์ มามุ สส.ปัตตานี เขต2 และตน รวมถึง นายซาการียา สะอิ สส.นราธิวาส เขต 4 พรรคภูมิใจไทยและ นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล วุฒิสมาชิก ได้ร่วมกันหารือถึงแนวทางที่จะผลักดันและยื่นญัติต่อสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการถอดนกกรงหัวจุก ออกจากบัญชีสัตว์สงวน เนื่องจากสถานการณ์ของนกกรงหัวจุกสามารถเพาะและขยายพันธ์ุได้แล้วในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบกับปริมาณนกในธรรมชาติ ทำให้จะสามารถส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชนภาคใต้ได้ รวมทั้งการเลี้ยงนกกรงหัวจุกยังเป็นวีถีที่สืบทอดกันมายาวนาน และได้รับความนิยมแพร่หลายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ และต่างประเทศด้วย

“ทางกลุ่ม สส.ภาคใต้เห็นว่า หากสามารถการถอดออกจากบัญชีสัตว์สงวน และส่งเสริมให้เกิดการเพาะเลี้ยง จะช่วยให้รักษาหรืออนุรักษ์นกหัวจุกในแหล่งธรรมชาติได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันผู้เพาะเลี้ยงประสบปัญหาในการขอใบอนุญาติจากหน่วยงานราชการ ทำให้เป็นอุปสรรคในการส่งเสริมอาชีพเพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุก ที่ยังมีความต้องการของตลาดอีกเป็นจำนวนมาก”

นายชนนพัฒน์ กล่าวต่อว่า การเลี้ยงนกกรงหัวจุกยังสามารถส่งเสริมให้เป็นกีฬาพื้นบ้าน ซึ่งปัจจุบันมีการจัดการแข่งขันทั้งในระดับจังหวัดไปจนถึงระดับประเทศ ทางกลุ่มจึงเห็นว่า นอกจากจะสามารถส่งเสริมเป็นอาชีพเพาะเลี้ยงแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมอาชีพหัตถกรรมของชาวบ้านในการผลิตกรงที่มีความสวยงาม และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่จะสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน และจัดเป็นซอฟเพาเวอร์อีกแขนงหนึ่งของคนไทย ในด้านอัตลักษณ์วิถีของชาวใต้ให้สืบสานต่อไป

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 13 กันยายน 2566

‘รมว.ธรรมนัส’ มอบนโยบายเคลื่อนภาคเกษตรต้องกินดีอยู่ดี ยกระดับมิสเตอร์สินค้าเกษตรทุกชนิดเพิ่มศักยภาพแข่งขัน

,

‘รมว.ธรรมนัส’ มอบนโยบายเคลื่อนภาคเกษตรต้องกินดีอยู่ดี
ยกระดับมิสเตอร์สินค้าเกษตรทุกชนิดเพิ่มศักยภาพแข่งขัน

วันนี้ (13 กันยายน 2566) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายขับเคลื่อนงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้เปิดการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกลออนไลน์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และทุกหน่วยงานทั้งส่วนกลางส่วนภูมิภาค และต่างประเทศ รวมกว่า 4,000 คน รับฟังอย่างทั่วถึง

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความสำคัญอย่างมากในการดูแลพี่น้องเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ให้อยู่ดีมีสุข มีรายได้อย่างมั่นคง ภาคเกษตรไทย จะต้องแข็งแกร่ง มีศักยภาพการแข่งขันที่ทัดเทียมหรือดีกว่าสินค้าเกษตรต่างประเทศ โดยมีนโยบายและงานหลักสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประการแรก คือ การขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านการเกษตร ที่นายกรัฐมนตรีได้แถลง เมื่อวันที่ 11-12 กันยายน 2566 ไปสู่การปฏิบัติให้เป็นผลสำเร็จ

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายและงานสำคัญที่จะเร่งผลักดันดำเนินการในประเด็นต่างๆ ดังนี้เน้นการสร้างวิธีการทำงานสู่การปฏิบัติ ได้แก่ 1.การจัดตั้งศูนย์บริการประชาชนภาคการเกษตร โดยเป็นศูนย์บริการร่วม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และพี่น้องเกษตรกร เพื่อให้สามารถติดต่อสอบถาม ขอทราบข้อมูล และรับเรื่องร้องเรียน คลายทุกข์ให้แก่พี่น้องเกษตรกร ณ ศูนย์บริการร่วมเพียงแห่งเดียว

2.สร้างครอบครัวเกษตร บูรณาการงานเข้มแข็ง เน้นการทำงานของทุกคนทุกหน่วยงาน ต้องทำงานเป็น Team Work ให้มีศักยภาพเพื่อการทำงานระบบทีม มีประสิทธิภาพ มุ่งมั่น ร่วมแรงร่วมใจบรรลุเป้าหมายให้สำเร็จ

3.ขับเคลื่อนภารกิจ ยกระดับ MR. สินค้าเกษตร โดยฟื้นฟู ยกระดับการทำงานของ MR. สินค้าเกษตร อีกครั้ง สินค้าเกษตรทุกชนิดต้องมีผู้รับผิดชอบ เน้นทำงานเชิงรุก สร้างกลไกการทำงานร่วมกันในทุกสินค้า แก้ปัญหาถูกจุด ทั้งด้านสินค้าล้นตลาด ราคาตกต่ำ การลักลอบนำเข้าแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางการรับมือภัยธรรมชาติ จะต้องวางแผนมาตรการต่างๆ อย่างชัดเจน รับมือตั้งแต่การป้องกัน การแก้ไข และการฟื้นฟู เมื่อประสบเหตุภัยแล้ง หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติทุกชนิด
ปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย โดยถือเป็นการประกาศสงครามสินค้าเกษตรเถื่อนอย่างจริงจัง เข้มงวดยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาผลผลิตในประเทศ เข้มงวดในการตรวจสอบสต็อกในประเทศเพื่อควบคุม ในการนำเข้า การกักตุน และเก็งกำไร โดยเฉพาะช่วงก่อนที่ผลผลิตออกสู่ตลาด
ยกระดับสินค้าเกษตร เสริมศักยภาพเกษตรกร ได้แก่ 1) ผลักดันส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร สร้าง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง เนื่องจากภาคเกษตรเป็นภาคเศรษฐกิจหลักสำคัญ มีประชากรอยู่ในภาคเกษตรจำนวนมาก แต่ยังขาดการพัฒนาที่เหมาะสม เกษตรกรบางส่วนยังทำเกษตรแบบดั้งเดิมที่จึงมีรายได้น้อย จึงเน้นแนวทางในการปรับเปลี่ยนไปสู่การปลูกพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงขึ้น 2) ส่งเสริมเกษตรกร สถาบันเกษตรกรเป็นผู้ให้บริการทางการเกษตรครบวงจร(Agricultural Service Provider) โดยเกษตรกร สถาบันเกษตรกรสามารถเป็นเจ้าของเครื่องมือ เครื่องจักรกลของตนเอง พร้อมเป็นผู้ให้บริการด้านธุรกิจเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย ซึ่งตอบโจทย์กลุ่มประชากรภาคเกษตรยุคใหม่
การจัดการทรัพยากรทางการเกษตร ทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Go Green) ด้วย BCG / Carbon Credit จะต้องทำการเกษตรที่ลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม เกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใส่ปุ๋ยที่เหมาะสม การกำจัดแมลงศัตรูพืช ที่ถูกต้อง การลดปริมาณปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง มีการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย
การอำนวยความสะดวกด้านการเกษตร ได้แก่ 1) พัฒนาระบบการประกันภัยภาคการเกษตร ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง ในนโยบายสำคัญของการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน บริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอน โดยจะเดินหน้าต่อยอด พัฒนาสร้างระบบประกันภัยให้แก่พี่น้องเกษตรกรไทย และ 2) อำนวยความสะดวก สนับสนุนให้บริการเครื่องมือทางการเกษตร ที่ให้เกษตรกรสามารถเช่า/ยืม เครื่องมือเครื่องจักรกลด้านการเกษตรที่เหมาะสมต่อการการผลิต

“ผมมีความภาคภูมิใจ ที่ได้กลับมาทำงาน และรับใช้พี่น้องเกษตรกรอีกครั้ง ซึ่งแนวทางการทำงาน และนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ผมจะขับเคลื่อนและผลักดันนั้น จะไม่ใช่มีเพียงนโยบายที่กล่าวไปข้างต้น ยังมีอีกหลายนโยบายและแนวทางปฏิบัติต่างๆ ที่จะครอบคลุม เพื่อช่วยเหลือ ช่วยแก้ปัญหาพี่น้องเกษตรกร และพัฒนาภาคเกษตร ซึ่งทุกนโยบายและทุกการทำงานจะเป็นไปอย่างจริงจัง เกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจน และต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจทำงานอย่าง บูรณาการทีมเวิร์ค แบบครอบครัวไปด้วยกัน เพื่อพี่น้องเกษตรกรกินดี อยู่ดี มีรายได้ มีอาชีพที่มั่นคง สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน และภาคเกษตรไทยคือผู้นำสินค้าเกษตรในตลาดโลก” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 13 กันยายน 2566

“พัชรวาท” รับทุกข้อห่วงใยในการอภิปรายด้าน ทส. กำชับหน่วยงานในกระทรวงทรัพย์ฯ นำไปดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

,

“พัชรวาท” รับทุกข้อห่วงใยในการอภิปรายด้าน ทส. กำชับหน่วยงานในกระทรวงทรัพย์ฯ นำไปดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ (12 กันยายน 2566) พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยภายหลังการชี้แจงต่อรัฐสภา ในการแถลงนโยบายรัฐบาลของคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่สมาชิกรัฐสภาได้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะถึงแนวทางการทำงานในหลายประเด็น ว่า ขอบคุณทุกข้อห่วงใย เข้าใจว่าทุกฝ่ายอยากเห็นประเทศพัฒนาไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมากในช่วงหลังมานี้ จึงได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายจตุพร บุรุษพัฒน์) นำทุกข้อกังวลไปกำชับหน่วยงานในสังกัด ให้รับข้อสังเกตต่าง ๆ ไปดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในเรื่องของการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่ได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ต้องมีการป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหา ร่วมกับทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ที่ต้องดำเนินมาตรการลดฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิด ทั้งยานพาหนะและโรงงานอุตสหากรรม รวมถึงการควบคุมการเผาป่า การเผาวัสดุทางการเกษตร เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนระบบการผลิตของภาคการเกษตรและการจัดการพื้นที่ป่าไม้อย่างยั่งยืน รวมถึงการสร้างมาตรการร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างจริงจัง เพื่อลดปัญหาหมอกควันข้ามแดน เพื่อสุขภาพอนามัยของพี่น้องประชาชน

ในส่วนของการเตรียมรับมือกับปัญหาภัยแล้ง ได้สั่งการให้กำชับกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล บริหารจัดการแหล่งน้ำต้นทุนให้เพียงพอต่อความต้องการการใช้น้ำของประชาชน เฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก สร้างความเข้าใจกับประชาชนในการวางแผนการใช้น้ำที่มีอยู่อย่างเหมาะสม และแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการติดตามสถานการณ์ในพื้นที่วิกฤต นอกจากนี้ ยังได้สั่งการเตรียมพร้อมการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและช่วยเหลือผู้ประสบภัยของกระทรวงทรัพยากรฯ เพื่อให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะการบรรเทาสถานการณ์ การจัดจุดให้บริการน้ำอุปโภค – บริโภค พร้อมทั้งเร่งรัดการดำเนินโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กว่า 47 โครงการ 48 แห่ง เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่วิกฤตภัยแล้งรุนแรงได้มีน้ำกินน้ำใช้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

สำหรับข้อกังวลถึงการรับมือกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 ขณะนี้ได้มีการจัดตั้ง กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ขึ้นมาเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานของประเทศ โดยมีแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือเป้าหมาย NDC พ.ศ. 2564 – 2573 และแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เป็นแนวทางในการสร้างภูมิคุ้มกันและรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในด้านการจัดการน้ำ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การท่องเที่ยว สาธารณสุข เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต โดยได้มีการออกระเบียบส่งเสริมให้ภาคเอกชนและชุมชนสามารถเข้าร่วมปลูกและดูแลรักษาป่า ป่าชายเลน เพื่อการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตระหว่างภาคเอกชนหรือชุมชนกับภาครัฐในสัดส่วน ร้อยละ 90 ต่อ 10 หรือตามแต่ข้อตกลง และการผลักดันกลไกภาษีคาร์บอน หรือ Carbon Tax เพื่อเป็นมาตรการจูงใจให้กับภาคเอกชน โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการปรับปรุง ร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. เพื่อเป็นกลไกให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมาย รวมถึงสร้างรายได้และโอกาสในการเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปสู่การพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ

และประเด็นข้อห่วงใยเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย ได้กำชับให้สร้างความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย ผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาขยะอย่างครอบคลุมทั้งระบบ ตั้งแต่การสร้างจิตสำนึกให้แก่ประชาชนในการจัดการและคัดแยกขยะครัวเรือน ขยะชุมชน ตั้งแต่ต้นทาง การยกระดับสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้อง 1,963 แห่ง ให้มีการจัดการที่ดี การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดการขยะในภาคอุตสาหกรรมอย่างถูกต้อง เพื่อให้มีการจัดการขยะมูลฝอยเป็นไปตามแผนแม่บทการจัดการขยะของประเทศตามที่กระทรวงทรัพยากรฯ ได้จัดทำไว้ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และการเร่งรัดการออกกฎหมายใหม่ เช่น พ.ร.บ. ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า พ.ร.บ. การจัดการบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น เพื่อให้สามารถเสนอมาตรการในการป้องกันแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยในปัจจุบันได้อย่างครอบคลุม

สุดท้ายในประเด็นของการจัดที่ดินทำกินให้ราษฎรในเขตพื้นที่ป่า ภายใต้โครงการ คทช. กระทรวงทรัพยากรฯ ได้แก้ไขปัญหาให้กับราษฎรในลักษณะแปลงรวม รวมถึงมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชนในพื้นที่ แต่ยังคงรักษามิติในการอนุรักษ์ เพื่อให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน โดยได้มีการจัดที่ดินทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยได้ดำเนินการตามกรอบมาตรการแก้ไขปัญหา ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 และการแก้ไขปัญหาให้กับราษฎรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 13 กันยายน 2566