โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

วัน: 22 พฤศจิกายน 2023

“2 สส. นราธิวาส พปชร.เตรียมพร้อมรับมือหากเกิดน้ำท่วมหนัก อ.สุไหงโก – ลก ซ้ำรอยปี 65 ลั่น เพราะความห่วงใย มันรอไม่ได้

,

“2 สส. นราธิวาส พปชร.เตรียมพร้อมรับมือหากเกิดน้ำท่วมหนัก อ.สุไหงโก – ลก ซ้ำรอยปี 65 ลั่น เพราะความห่วงใย มันรอไม่ได้

นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ สส.นราธิวาส เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการทำบุญอุมเราะห์ ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ตนได้เดินทางกลับประเทศไทยทันที และรีบลงพื้นที่ร่วมกับ นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส เขต 2 พร้อมด้วย นายอำเภอสุไหงโก-ลก,ผอ.ชลประทาน,รองผู้การนราธิวาส และผู้กำกับ สภ.สุไหงโก-ลก เพื่อสังเกตุการณ์ระดับนํ้าในเขตพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก บ้านมูโนะ และเทศบาลตำบลบูเก๊ะตา เนื่องจากขณะนี้มีปริมาณน้ำฝนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากที่ฝนตกหนักมาหลายวัน

นายสัมพันธ์ กล่าวต่อว่า ในช่วงปลายเดือน พ.ย.ไปจนถึง ธ.ค.ของทุกปี พื้นที่หลายจังหวัดในภาคใต้จะต้องเผชิญกับมรสุมฝนตกกระหน่ำอย่างหนัก อย่างเมื่อตอนปี 65 ที่ผ่านมา ในอำเภอสุไหงโก-ลก มีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนกว่า 5,000 ครัวเรือน จำนวนประมาณ 20,000 คน ในปีนั้นน้ำท่วมบริเวณตลาดมูโนะเต็มพื้นที่หลังจากที่พนังกั้นน้ำเก่า ริมฝั่งแม่น้ำโก-ลกแตก ทำให้กระแสน้ำได้ท่วมเพิ่มสูงขึ้น และขยายวงกว้าง รวมทั้งกระแสน้ำไหลแรงและเชี่ยว บางจุดมีระดับน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร

“หากเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ พื้นที่จังหวัดนราธิวาส เป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมสูงมาก ถือเป็นความเสียหายอย่างหนักต่อพี่น้องประชาชน อีกทั้งพื้นที่แห่งนี้น้ำมีความเชี่ยวกราก ส่งผลทำให้ตลิ่งชำรุดและเกิดความเสียหาย ดังนั้น เราจึงต้องเฝ้าระวังเหตุอุทกภัย และเตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเร่งด่วน ในยามเกิดเหตุ โดยขณะนี้ก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเฝ้าสังเกตุการณ์ และเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนแล้ว เพราะความห่วงใย..มันรอไม่ได้ ”นายสัมพันธ์ กล่าว

ด้านนายอามิทร์ กล่าวว่า การลงพื้นที่วันนี้เพื่อรับฟังและบรรยายสรุปเรื่องปริมาณน้ำ รวมถึงแผนรับมือของกรมชลประทาน และการป้องกันน้ำท่วม แบริเออชั่วคราว ที่บ้านตันหยงมะลิ เพื่อการป้องกันน้ำเข้าท่วม ในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโกลก จากการที่ได้ดูและสำรวจ เบื้องต้นเชื่อว่าปีนี้มาตรการทางเทศบาลเมืองสุไหงโกลก ได้มีมาตรการป้องกันไว้อย่างรัดกุม และเชื่อว่าเราน่าจะผ่านวิกฤตน้ำท่วมในปีนี้ไปได้

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 22 พฤศจิกายน 2566

พล.ต.อ. พัชรวาท รองนายกฯ และ รมว.ทส. สั่งกรมทรัพย์สร้างความเชื่อมั่นปชช. หลังเกิดแผ่นดินไหวในภาคเหนือ เร่งศึกษานำเทคโนโลยีทันสมัยแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงภัย

,

พล.ต.อ. พัชรวาท รองนายกฯ และ รมว.ทส. สั่งกรมทรัพย์สร้างความเชื่อมั่นปชช.
หลังเกิดแผ่นดินไหวในภาคเหนือ เร่งศึกษานำเทคโนโลยีทันสมัยแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงภัย

สืบเนื่องจากแผ่นดินไหวสองครั้งที่รับรู้ได้ในประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 เวลา 08.37 น.เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.4 เกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนเชียงตุง มีจุดเหนือศูนย์เกิดอยู่บริเวณรัฐฉาน ประเทศเมียนมาและมีแผ่นดินไหวตามจำนวน 34 ครั้ง แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ สุโขทัย ลำปาง ลำพูน น่าน พะเยา อุตรดิตถ์ แม่ฮ่องสอน อุดรธานี ขอนแก่น สกลนคร นนทบุรีและอาคารสูงในกรุงเทพฯ รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว มีอาคารแตกร้าวในพื้นที่จังหวัดเชียงราย น่านเชียงใหม่ และสกลนคร และต่อมาในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2566 เวลา 03.07 น. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.0 มีจุดเหนือศูนย์เกิดอยู่บริเวณตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน แต่ไม่มีรายงานความเสียหายโดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งสองครั้ง ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความห่วงใยในความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ จึงได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรธรณีเร่งทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวและข้อปฏิบัติตนให้ปลอดภัย เพื่อลดความตระหนกของพี่น้องประชาชนให้มีความสบายใจในการอยู่อาศัยในพื้นที่ และเร่งรัดให้กรมทรัพยากรธรณีดำเนินการสำรวจศึกษา และติดตั้งเครื่องมือวัดแผ่นดินไหว พร้อมทั้งนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการจัดทำแผนที่แสดงภัยพิบัติแผ่นดินไหว และแผนที่แสดงจุดปลอดภัยสำหรับเป็นจุดรวมพลชั่วคราวและอพยพกรณีที่เกิดแผ่นดินไหว จัดทำแผนการซักซ้อมอพยพภัยแผ่นดินไหวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนประสานงานกับกรมโยธาธิการและผังเมืองให้นำแผนที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหว ไปใช้ประกอบการจัดทำ “กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564”

กรมทรัพยากรธรณีได้ศึกษารอยเลื่อนมีพลัง กำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวเพื่อใช้ในการบริหารจัดการภัยพิบัติและลดผลกระทบ ประเทศไทยมีกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังทั้งหมด 16 กลุ่มรอยเลื่อน พาดผ่าน 23 จังหวัด โดยรอยเลื่อนมีพลังและพื้นที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่สำคัญส่วนใหญ่ที่สามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดกลางที่ประชาชนรู้สึกได้ วางตัวอยู่ในภาคเหนือ เช่น กลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน กลุ่มรอยเลื่อนแม่ลาว กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา และกลุ่มรอยเลื่อนพะเยา ภาคตะวันตก อาทิ กลุ่มรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ และกลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และภาคใต้ ประกอบด้วย กลุ่มรอยเลื่อนระนอง และกลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ได้นิ่งนอนใจและมีความห่วงใยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรธรณี ดำเนินการดังต่อไปนี้

  • ติดตามข้อมูลผลกระทบจากแผ่นดินไหว พร้อมส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจ ตรวจสอบ และประเมินผลกระทบในพื้นที่ พร้อมให้คำแนะนำแก่ประชาชน และจัดทำรายงานสถานการณ์แผ่นดินไหวด่วนเสนอ ผู้บริหาร ทธ. ทส. เผยแพร่สู่เครือข่ายภาคประชาชน และสื่อมวลชนให้ทราบข้อเท็จจริง และแนะนำแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องในการรับมือ
  • มอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวของกรมทรัพยากรธรณี ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอดจนขี้แจงถึงสาเหตุและวิธีปฏิบัติตนเกี่ยวกับแผ่นดินไหวให้กับประชาชนได้เข้าใจ เพื่อสร้างการรับรู้และลดความตื่นตระหนก
  • สั่งการให้กรมทรัพยากรธรณี นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการตรวจวัดแผ่นดินไหว และติดตามการเกิดแผ่นดินไหวตาม (aftershock) เพื่อแจ้งข่าวให้กับประชาชนทราบสถานการณ์

ทั้งนี้ ได้มีข้อแนะนำให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหว ดังนี้

  • ตรวจสอบว่าพื้นที่อยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติแผ่นดินไหวระดับใด หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงสูง ต้องก่อสร้างอาคารให้แข็งแรงสามารถต้านแรงแผ่นดินไหว ตามมาตรฐานของกรมโยธาฯ และดูแลอาคารให้อยู่ในสภาพดี มั่นคงแข็งแรง
  • ศึกษาความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหว ศึกษาแผนปฏิบัติการและการซักซ้อมอพยพหนีภัยแผ่นดินไหว เข้าร่วมการซักซ้อม และหากเผชิญเหตุแผ่นดินไหวให้ปฏิบัติตนอย่างมีสติตามที่ได้รับข้อแนะนำจากกรมทรัพยากรธรณี
  • หากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ให้ติดตามข่าวสารจากทางราชการ กรมทรัพยากรธรณี กรมอุตุนิยมวิทยา และศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ อย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะได้รับการยืนยันว่าปลอดภัย จึงกลับเข้าไปยังอาคารบ้านเรือนได้

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรธรณีได้เร่งดำเนินการตามข้อสั่งการอย่างเร่งด่วนในการทำความเข้าใจกับประชาชน โดยจัดทำเอกสารเผยแพร่ในการสร้างความรู้ความเข้าใจ และเผยแพร่ผ่านทางช่องทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ของกรมทรัพยากรธรณีทั้งทางเว็บไซต์ www.dmr.go.th และเฟซบุ๊ค กรมทรัพยากรธรณี ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางสื่อสารมวลชน พร้อมทั้งได้ดำเนินการการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหวผ่านทาง Facebook Live กรมทรัพยากรธรณี ในรายการ “ธรณีชวนคุย ตอน แผ่นดินไหวเชียงตุง ว้าวุ่นถึงสกลนคร :อยู่ในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหวอย่างไรให้ปลอดภัย” เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและขอเอกสารเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัยกรมทรัพยากรธรณี หมายเลขโทรศัพท์ 02 621 9500

“อยู่ในพื้นที่เสี่ยงธรณีพิบัติภัย ทำอย่างไรให้ปลอดภัย อย่างยั่งยืน”

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 21 พฤศจิกายน 2566