โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

วัน: 9 พฤศจิกายน 2023

“รมว.ธรรมนัส” ลงพื้นที่อุตรดิตถ์ติดตามความคืบหน้าโครงการเขื่อนผาจุก เร่งแก้ไขปัญหา สร้างความมั่นคงด้ายน้ำยั่งยืนให้พี่น้องประชาชน

,

“รมว.ธรรมนัส” ลงพื้นที่อุตรดิตถ์ติดตามความคืบหน้าโครงการเขื่อนผาจุก เร่งแก้ไขปัญหา สร้างความมั่นคงด้ายน้ำยั่งยืนให้พี่น้องประชาชน

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามความก้าวหน้าโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ ต.ผาจุก อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำน่านตอนล่างให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ครอบคลุมพื้นที่อ.เมืองอุตรดิตถ์ อ.ลับแล อ.ตรอน อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ อ.พรหมพิราม และอ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก เพื่อพัฒนาระบบชลประทาน ประมาณ 481,400 ไร่ (พัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝนที่มีศักยภาพให้เป็นพื้นที่ชลประทานประมาณ 304,000 ไร่ และส่งน้ำสนับสนุนและปรับเปลี่ยนระบบส่งน้ำจากเดิมโดยการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า เป็นระบบส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วงประมาณ 134,800ไร่ และพื้นที่โครงการชลประทานน้ำริด จังหวัดอุตรดิตถ์ ประมาณ 42,600 ไร่)

ทั้งนี้โครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก ตั้งอยู่ในแม่น้ำน่าน บริเวณบ้านคลองนาพง หมู่ 7 ต.ผาจุก อ.เมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำน่าน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำน่านตอนล่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ปัจจุบันได้สร้างเขื่อนทดน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการก่อสร้างระบบส่งน้ำ พร้อมอาคารประกอบ หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถส่งน้ำได้ครอบคลุมพื้นที่อ.เมืองอุตรดิตถ์ อ.ลับแล อ.ตรอน และอ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ อ.พรหมพิราม และอ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก รวมพื้นที่กว่า 481,400 ไร่
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน จะเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างระบบส่งน้ำ และระบบระบายน้ำพร้อมอาคารประกอบให้แล้วเสร็จ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับลุ่มน้ำน่าน เพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนให้กับพี่น้องชาวอุตรดิตถ์ ได้มีน้ำไว้ใช้ในการอุปโภค บริโภค และการเกษตร อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทวงเกษตรและสหกรณ์
ทั้งนี้ จ.อุตรดิตถ์ มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 447,618 ไร่ มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ คือ เขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสนับสนุนการใช้น้ำให้กับจังหวัดต่าง ๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวม 22 จังหวัด ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯประมาณ 6,102 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือร้อยละ 64 ของความจุอ่างฯ

“วันนี้ตั้งใจมารับฟังปัญหาของพี่น้องประชาชน และได้มอบหมายกรมชลประทานเร่งแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องอย่างเร่งด่วน ปัญหาใดที่สามารถแก้ไขได้ให้ทำทันที ปัญหาไหนที่ยังทำไม่ได้ จะต้องกลับไปศึกษาและหาแนวทางแก้ไข รวมถึงให้บรรจุแผนดำเนินการในปีงบประมาณต่อไป” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 9 พฤศจิกายน 2566

“สันติ” รมช.สธ.ส่งเสริมอาหารไทย กินเป็นยาเสริมสุขภาพสร้างศก.ท้องถิ่น

,

“สันติ” รมช.สธ.ส่งเสริมอาหารไทย กินเป็นยาเสริมสุขภาพสร้างศก.ท้องถิ่น

หนุนกรมการแพทย์แผนไทยฯวิจัยสรรพคุณพืชสมุนไพรทุกภูมิภาค

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานเสวนาทางวิชาการและนิทรรศการอาหารเป็นยาครั้งที่ 1/2566 ภายใต้แนวคิด “อาหารไทยถิ่น กินเป็นยา” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-12 พฤศจิกายน 2566 โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดงานในครั้งนี้ขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการนำอาหารไทย สมุนไพรไทย มาช่วยสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ อีกทั้งยังเป็นการสร้างกระแสให้ประชาชนหันมาใส่ใจการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น บริเวณลาน MBK Avenue A ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ กรุงเทพมหานคร

นายสันติ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวมีส่วนสนับสนุนในการสร้างรายได้ให้กับประเทศสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวที่ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานให้กับประชาชนจำนวนมาก การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้านอาหารสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศนับแสนล้านบาท และมีแนวโน้มว่าจะมีการเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ ธุรกิจด้านอาหารจึงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจ ที่มีความสำคัญยิ่งต่อการท่องเที่ยวจากข้อมูลของกรมการท่องเที่ยวจะเห็นได้ว่า รายได้จากการท่องเที่ยวในด้านอาหาร มีสัดส่วนถึง 20 % ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดของประเทศ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมากเนื่องจากอาหารเป็นสิ่งจำเป็นสามารถสอดแทรกอยู่ในทุก ๆ การท่องเที่ยว และทุกช่วงเวลา อาหารไทยได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว ทั้งในและต่างประเทศหลายรายการจนเกิดเป็นรายการอาหารประจำชาติที่นักท่องเที่ยวรู้จักอย่างแพร่หลาย

“รัฐบาลได้กำหนดรายการอาหาร ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวไว้จำนวน 6 รายการ ได้แก่ ผัดไทย ต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวาน ส้มตำ มัสมั่น และต้มข่าไก่ นอกจากนี้มีรายการอาหารที่น่าสนใจมากมายที่ควรส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักมากยิ่งขึ้น เช่น ผัดกะเพรา ผัดฉ่า เครื่องดื่มสมุนไพร ซึ่งมีสรรพคุณช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด 19 ได้ ” นายสันติ กล่าว

นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมโภชนาการอาหารไทยเพื่อสุขภาพให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ได้ตระหนักรับรู้ว่าอาหารไทย สมุนไพรไทย มีคุณค่าได้เรียนรู้วิธีการทำอาหารไทยที่ถูกต้อง สอดแทรกด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย สามารถให้คำแนะนำเมนูอาหารในการดูแลสุขภาพสำหรับนักท่องเที่ยว และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเบื้องต้นได้ เช่น ปัญหาท้องอืด ท้องเฟ้อ นอนไม่หลับ ท้องผูก ช่วยสร้างมูลค่าและคุณค่าของอาหารไทย เป็นการผสม “ศาสตร์” ความชำนาญการดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กับ “ศิลป์” ความพิถีพิถันความละเอียดอ่อนในการปรุงอาหารไทยได้เป็นอย่างดี และยังช่วยสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวหันมาสนใจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากยิ่งขึ้น

นายสันติ กล่าวต่อว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ทำงานวิจัยสรรพคุณของพืชสมุนไพรของไทยที่มีจำนวนนับหมื่นชนิดพืชพันธุ์ให้กับประชาชนไทยรับประทานเป็นอาหารและเสริมสร้างสุขภาพแล้ว ในต่างประเทศโดยเฉพาะตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกา ยังได้สั่งพืชสมุนไพร เช่น ข่า ตะไคร้ ไปทำการวิจัยเป็นยาปรุงอาหารอีกด้วย นำไปสู่การสร้างเสริมเศรษฐกิจให้กับประเทศ

“ประเทศไทยมีพืชที่เป็นสมุนไพรและนำมาใช้รักษาโรคกันเป็นนับร้อยปี เรามีสมุนไพรมากมายทั่วทุกภูมิภาคของไทย ตั้งแต่เหนือสุดยันใต้สุด ทางกระทรวงสาธารณสุขมีความตั้งใจที่จะพัฒนาพืชสมุนไพรให้เป็นที่รู้จักและไม่รู้จัก ได้วิจัยและประชาสัมพันธ์ให้รับรู้ถึงประโยชน์และสรรพคุณต่างๆ โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมีความตั้งใจที่จะพัฒนาสมุนไพรเพื่อพี่น้องประชาชนได้ทานเป็นสมุนไพรเป็นยา จึงมีนโยบายวิจัยพืชสมุนไพรแต่ละชนิด ในภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ ว่ามีสรรณคุณอย่างอย่างไร เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้กับประชาชนได้รับทราบ” นายสันติ กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 9 พฤศจิกายน 2566

“พล.ต.อ.พัชรวาท” ลงพื้นที่เชียงใหม่ระดมเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยปฏิบัติการรับมือไฟป่า แก้ปัญหาหมอกควัน-PM 2.5 “แม่นยำ รวดเร็ว ทันท่วงที มีประสิทธิภาพ”

,

“พล.ต.อ.พัชรวาท” ลงพื้นที่เชียงใหม่ระดมเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยปฏิบัติการรับมือไฟป่า
แก้ปัญหาหมอกควัน-PM 2.5 “แม่นยำ รวดเร็ว ทันท่วงที มีประสิทธิภาพ”

พล.ต.อ.พัชรวาท ลงพื้นที่ กำกับ ติดตาม เตรียมความพร้อม ระดมสรรพกำลัง รับมือไฟป่า-หมอกควันภาคเหนือล่วงหน้า ย้ำให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติการด้วยความ “แม่นยำ รวดเร็ว ทันท่วงที มีประสิทธิภาพ”

วันนี้ 8 พฤศจิกายน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตรวจเยี่ยม มอบนโยบาย ติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง 17 จังหวัด เร่งรัดการดำเนินมาตรการเพื่อลดฝุ่นควัน PM2.5 ทั้งระบบให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติการด้วยความ “แม่นยำ รวดเร็ว ทันท่วงที มีประสิทธิภาพ”

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า สถานการณ์ปี 2566 เกิดฝุ่น PM2.5 และจุดความร้อนมีปริมาณสูงกว่าปีที่ผ่านมา และในปี 2567 คาดว่าปรากฏการณ์เอลนีโญ จะทำให้สถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง มีความรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าวที่จะส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน จึงได้ตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน โดยมี ตน เป็นประธาน และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานคนที่ 2 และเร่งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับพื้นที่เพื่อดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่งหมอกควันและฝุ่นละออง PM2.5

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า ทส. ได้มีการเตรียมการล่วงหน้าเพื่อรับสถานการณ์ดังกล่าว พร้อมระดมความร่วมมือจากหน่วยงาน ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง 17 จังหวัด เพื่อดำเนินมาตรการป้องกัน ลดฝุ่นควัน PM2.5 ทั้งระบบ เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นที่คาดว่าจะรุนแรงได้อย่างทันท่วงที

พล.ต.อ. พัชรวาท กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงาน ได้เน้นย้ำให้เกิดการสื่อสารในทุกระดับของภาครัฐโดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงานต้องเข้าใจแนวทางปฏิบัติที่จะควบคุมให้ลดการเผาไหม้ทั้งในพื้นที่เกษตรเผาไหม้ซ้ำซาก ในส่วนของพื้นที่ป่า จะมุ่งเป้าไปที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ ที่มีสถานการณ์ไฟป่ารุนแรงโดยเฉพาะพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ

โดยมาตรการป้องกันไฟป่า เน้นย้ำมาตรการ “ตรึงพื้นที่ ให้มีจุดเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าในทุกพื้นที่ป่า เราจะมีการจัดระเบียบการเก็บหาของป่าโดยอนุญาตเฉพาะคนในพื้นที่เท่านั้น โดยผ่านการลงทะเบียนรายบุคคลในพื้นที่และปิดป่าเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง” โดยก่อนห้วงฤดูไฟป่าให้มีการจัดการเชื้อเพลิงในห้วงเวลาที่เหมาะสม ให้ตั้งจุดเฝ้าระวังเพื่อกระจายกำลังเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าป่า โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าอนุรักษ์จะต้องมี จุดตรวจ/จุดสกัด เพื่อมิให้เกิดการลักลอบเผาป่า เมื่อเข้าห้วงสถานการณ์ฤดูไฟป่าจะต้องมีผู้บังคับบัญชาเหตุการณ์ในระดับพื้นที่ มีกำลังพล และเครื่องมือพร้อมปฏิบัติในการดับไฟป่าและสามารถสับเปลี่ยนกำลังระดมพลช่วยกันดับไฟป่าได้อย่างทันท่วงทีโดยผ่าน war room ระดับพื้นที่ และดึงหมู่บ้านเครือข่ายดับไฟป่า (อาสาสมัครพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช : อส.อส.) มาร่วมในการดับไฟป่าด้วย โดยมีเป้าลดพื้นที่ไฟไหม้ลดลง 50 % จากปี พ.ศ.2566

นอกจากนี้ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่าฝุ่นสูงจนระดับวิกฤต คือ หมอกควันข้ามแดน จึงสั่งการให้ทส.กระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ ประสานงานและเจรจาขอความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งในระดับอาเซียน และระดับพหุภาคี เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนอย่างเต็มที่ การแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นต้องทั่วถึง ทันท่วงที เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลที่รวดเร็ว ถูกต้อง

พล.ต.อ. พัชรวาท ยังได้ตรวจความพร้อมของหน่วยงานทุกหน่วยปฏิบัติการ และกล่าวขอบคุณพร้อมให้กำลังใจกำลังพลและเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ร่วมกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและ PM2.5 ซึ่งรัฐบาลกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ และยังได้แสดงความชื่นชมทุกในการเสียสละแรงกาย และแรงใจ เพื่อชาติ บ้านเมือง และประชาชน โดยเน้นย้ำว่า รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนภารกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและ PM2.5 อย่างเต็มที่

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 8 พฤศจิกายน 2566