“จักรัตน์ สส.พปชร.“เสนอญัตติแก้ไขปัญหายาสูบและยาเส้นราคาตกต่ำ ให้ กมธ. การเงิน การคลัง พิจารณาใน 90 วัน เร่งหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรยาสูบ
ในที่ประชุมสภาผูัแทนราษฎร ได้มีการเสนอญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหายาสูบและยาเส้นราคาตกต่ำ โดยนายจักรัตน์ พั้วช่วย สส.เพชรบูรณ์ เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)กล่าวอภิปรายในฐานะผู้เสนอญัตติว่า เหตุผลของญัตตินี้คือ ยาสูบเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญประเภทหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่นิยมปลูกยาสูบกันเป็นจำนวนมาก เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตบุหรี่
นายจักรัตน์ กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบกลับต้องประสบปัญหาราคายาสูบ และยาเส้นตกต่ำ เนื่องจากการลดปริมาณรับซื้อยาเป็นอย่างมาก และมาตรการด้านสุขภาพ รวมถึงการปรับโครงสร้าง ภาษีกรมสรรพสามิตยาสูบใหม่ และการปรับขึ้นภาษี อย่างต่อเนื่องซึ่ง มาตรการดังกล่าวส่งผลให้ ราคาบุหรี่ปรับตัวสูงขึ้น มีการลักลอบนำเข้าบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้แพร่หลายเป็นจำนวนมาก จากปัญหาราคายาสูบและยาเส้นตกต่ำ ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูก ที่ยึดถืออาชีพในการปลูกยาสูบมาอย่างยาวนาน ได้รับความเดือดร้อน มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และต้องแบกรับภาระหนี้สินอีกครั้ง
“เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ ดั้งเดิมยังไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น เพื่อทดแทนอาชีพเดิมได้ จึงเป็นปัญหาที่เกษตรกร ผู้ปลูกยาสูบต้องเผชิญ และมีแนวโน้มที่จะก่อปัญหาให้เกิด ดังนั้นหากมีการพิจารณาศึกษาปัญหาดังกล่าว เพื่อให้มีการแก้สภาพปัญหาที่เกิดขึ้น และแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน ครบถ้วนในทุกมิติ จะเป็นการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอในการดำรงชีวิตและมีแนวทางการประกอบอาชีพที่เหมาะสม และยั่งยืนต่อไปในอนาคต”
นายจักรัตน์ กล่าวต่อว่า ปัญหายาสูบและยาเส้นที่เกิดขึ้นปฎิเสธไม่ได้เลยว่า เกิดจากการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ตั้งแต่ปี 2560 ก็คือเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2560 กระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวงกำหนด โครงสร้างภาษีบุหรี่ แบบผสมโดยคิดภาษีตามปริมาณ 1.20 บาทต่อมวล บวกกับภาษีมูลค่า 2 อัตราได้แก่ บุหรี่ที่มีราคาเกิน 60 บาทต่อซอง คิดอัตรา 20% และบุหรี่ที่มีราคาเกิน 60 บาท ต่อซองคิดอัตรา 40% พร้อมกันนั้น เริ่มเก็บภาษีเพิ่มมหาดไทย จากสินค้ายาสูบ ในอัตรา 10% ของภาษีกรมสรรพสามิต ทำให้ต้องปรับเพิ่มราคาของบุหรี่อย่างสูงมาก และไม่เคยมีปรากฏมาก่อน
ส่วนรอบที่ 2 ในการปรับโครงสร้างภาษี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 รัฐบาลได้ปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ 2 อัตราเช่นเดียวกัน แต่คิดภาษีตามปริมาณ 1.25 บาทต่อม้วน และภาษีตามมูลค่า ก็คือปรับเป็น บุหรี่ที่ราคาไม่เกิน 72 บาทต่อซอง คิดอัตราเพิ่มจาก 20% เป็น 25% และบุหรี่ที่เกิน 72 บาทต่อซอง คิดอัตรา จาก 40% เป็น 42% การปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ทั้ง 2 อัตรา ทำให้บุหรี่มีราคา ที่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้การยาสูบมีกำไรลดลงอย่างน่าตกใจ ส่งผลให้กระทบต่อชาวไร่ยาสูบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโควต้าการปลูกยาสูบ และที่สำคัญก็คือ เรื่องของราคา
“ที่ผ่านมาก่อนปี 60 การยาสูบไม่เคยขอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเลย แต่หลังจากปี 60 ที่มีการปรับภาษี รัฐบาลต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรไร่ยาสูบ ต้องขอบคุณ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งตอนนั้นท่านเป็นรองนายก ที่ได้ช่วยเหลือผลักดันมาตรการนี้ให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวไร่ยาสูบทั่วประเทศ ทั้งนี้ก็ขอให้กรรมาธิการที่เรากำลังช่วยกันพิจารณา ช่วยปรับตัวเลขให้สอดคล้องกับความเป็นอยู่จริง เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตยาเส้นรายย่อยตามที่อยู่ต่างจังหวัดที่มีกำลังเงินกำลังทุนน้อยให้อยู่ได้ ก็คือ ปรับเป็นไม่เกิน 50,000 กิโลกรัมเสียภาษี 0.025 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนที่เกิน 50,000 กิโลกรัมเสียภาษี 0.1 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเหตุผลที่วันนี้ผมยื่นญัตติเพื่อให้ท่านกรรมการสามัญเพื่อทำการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหายาสูบ”
ทั้งนี้ เนื่องจากญัตติดังกล่าวนั้น เริ่มต้นเป็นการเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ แต่นายจักรัตน์ผู้เสนอญัตติเห็นสมควรให้ส่งไปยังคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน ซึ่งการอภิปรายของสมาชิกต่างมีความเห็นไปในแนวทางเดียวกัน ดังนั้น ประธานฯ ในที่ประชุมจึงอาศัยอำนาจตามข้อบังคับการประชุมฯ ข้อ 88 ในการถามมติว่าจะส่งญัตตินี้ไปให้คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาตามที่ผู้เสนอญัตติได้เสนอ ซึ่งไม่มีสมาชิกฯ ท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่น
จึงถือว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ส่งญัตติไปยังคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน พิจารณา กำหนดระยะเวลาในการพิจารณา 90 วัน
ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 19 ตุลาคม 2566