“พัชรวาท” มอบโล่ผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก ปิดเวที TCAC 2023 ปลื้มทุกภาคส่วนตอบรับร่วมขับเคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
วันนี้ (7 ตุลาคม 2566) เวลา 11.00 น. พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ องค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก (Climate Action Leading Organization: CALO) จำนวน 15 องค์กร และ ผู้นำเยาวชนและภาคประชาสังคม จำนวน 5 ราย ในการปิดเวทีการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2 หรือ Thailand Climate Action Conference: TCAC 2023 ภายใต้แนวคิด “สานพลัง เสริมภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยมี นายนพดล พลเสน เลขานุการ รมว.ทส. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ผู้แทนภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เยาวชน และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ
การจัดประชุม TCAC 2023 ตลอด 2 วันที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 3,700 คน จาก 48 ประเทศ โดยการประชุมในวันที่ 2 นี้ เปิดเวทีด้วยการเสวนาในหัวข้อ การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Long Term Climate Resilience) โดย ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย นายศุภกร ชินวรรโณ นักวิชาการอิสระ และนายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการรับฟังเสียงสะท้อน เพื่ออนาคตไทย (Climate Action We Want) จากภาคประชาชนและเยาวชน ได้แก่ นายจิระภัทร ศรีทะวงษ์ ผู้แทนเยาวชน Net – Zero Thailand: ACE Youth Ideathon Camp นางสาวโทโมโกะ อิคุตะ ผู้แทนเยาวชนไทยที่เข้าร่วมการประชุม COP27 นายณัฐชนน ไตรธรรม ผู้แทนเครือข่ายเยาวชนระดับโลกเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพประจำประเทศไทย (Global Youth Biodiversity Network: GYBN Thailand) นางสาวประไพ เรืองฤทธิ์ กรรมการและเลขานุการเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) จ.ระนอง และนายสาคร สงมา ประธานสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
นอกจากนี้ ยังมีการแถลงข่าวสรุปผลการจัดประชุม TCAC 2023 โดยมีการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดงานระหว่างวันที่ 6 – 7 ตุลาคม 2566 ซึ่งคำนวณจากข้อมูลการเดินทางเข้าร่วมงาน การใช้พลังงานไฟฟ้าในการจัดงาน ปริมาณขยะที่เกิดขึ้น และการจัดเลี้ยงอาหารว่างและเครื่องดื่ม พบว่า มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวม 3,200 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และได้มีการนำคาร์บอนเครดิตจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ T-VER ประเภทการผลิตพลังงานทดแทนจากเชื้อเพลิงชีวมวลมาชดเชย เพื่อให้เวทีการประชุม TCAC 2023 มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Carbon Neutral Event และผลจากการประชุมในครั้งนี้ จะถูกนำไปเสนอในช่วงสมัยประชุมสมัชชารัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 28 (COP28) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน -12 ธันวาคม 2566 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังและความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนที่จะนำพาประเทศไทยให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 7 ตุลาคม 2566