โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

วัน: 6 ตุลาคม 2023

“นายกเศรษฐา” ควงคู่ “พัชรวาท” เปิดประชุม TCAC 2023 ตั้งเป้าประสานความร่วมมือ เร่งแก้โลกร้อน-ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นรูปธรรม

,

“นายกเศรษฐา” ควงคู่ “พัชรวาท” เปิดประชุม TCAC 2023 ตั้งเป้าประสานความร่วมมือ เร่งแก้โลกร้อน-ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นรูปธรรม

วันนี้ (6 ตุลาคม 2566) พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ และคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ให้การต้อนรับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในโอกาสให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2 (Thailand Climate Action Conference: TCAC 2023) ภายใต้แนวคิด “สานพลัง เสริมภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยมีคณะรัฐมนตรี เอกอัครราชทูต องค์กรระหว่างประเทศ ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ว่าราชการจังหวัด เข้าร่วมการประชุม ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-7 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ในช่วงพิธีเปิดการประชุม พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.ทส. ได้กล่าวรายงานต่อนายกรัฐมนตรีว่า ในนามของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดงาน TCAC 2023 ซึ่งถือเป็นเวทีสำคัญในการสร้างพลังขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ในทุกระดับและทุกภาคส่วน ในการมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 และการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามที่ได้แสดงเจตจำนงไว้ต่อประชาคมโลก รวมถึงเผยแพร่ความก้าวหน้าการดำเนินงาน การถ่ายทอดเป้าหมายระดับโลก มาสู่ทิศทางการดำเนินงานในประเทศไทย เพื่อให้รู้เท่าทันสถานการณ์และร่วมกันสร้างความพร้อมในการนำไปสู่การปฏิบัติในทุกระดับ โดยเฉพาะในระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม

“การจัดประชุม TCAC 2023 เป็นหนึ่งในเวทีสำคัญของประเทศไทย ที่จะมีการนำเสนอ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความคาดหวัง เพื่อนำไปสู่การดำเนินงานที่ชัดเจน สามารถจับต้องได้ โดยผลจากการประชุมครั้งนี้จะนำไปรายงานในช่วงสมัยประชุมสมัชชารัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 28 (COP28) ซึ่งมีกำหนดจัดในระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2566 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะผลักดันประเด็นการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy transition) และการยกระดับเศรษฐกิจไปสู่การค้าการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ (Climate’s capital) ต่อไป” พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าว

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวในช่วงพิธีเปิดตอนหนึ่งว่า สำหรับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ หากปราศจากความร่วมมือจากทุกคนในสังคม ดังนั้นจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นทุกภาคส่วนมาร่วมงานในวันนี้ หวังว่าการประชุมในวันนี้จะเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิด เสริมสร้างความร่วมมือ และดำเนินงานร่วมกัน เพราะเชื่อว่าถ้าเราร่วมมือกัน เราสามารถบรรลุสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังถือเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยและภาคธุรกิจที่จะขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืน ผ่านการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ในภาคการผลิตและบริการ ซึ่งปัจจุบันองค์กรชั้นนำส่วนใหญ่มีการส่งเสริมการใช้มาตรการเพื่อความยั่งยืนด้วยแล้ว และหวังให้การประชุมในครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ โดยรัฐบาลยินดีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการประชุมในครั้งนี้ด้วย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

หลังพิธีเปิด รองนายกฯ และรมว.ทส. ยังได้นำ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยผู้นำในภาครัฐ ภาคธุรกิจ เยี่ยมชมการจัดนิทรรศการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งนิทรรศการทั้งจากภาครัฐและเอกชนในงาน Sustainability Expo 2023 (SX2023) ภายใต้แนวคิด “สมดุลที่ดี เพื่อโลกทีดีกว่า” Good Balance, Better World ซึ่งประกอบด้วย กิจกรรม และสาระมากมายให้ร่วมสนุก และเพลิดเพลินไปกับความรู้รอบตัว ทั้งเรื่่องอาหาร สุขภาพ การใช้ชีวิตประจำวัน ไปจนถึง ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ พลังงาน ความหลากหลายทางชีวภาพ บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ฯลฯ และโมเดลต้นแบบด้านความยั่งยืนมิติต่างๆ ของภาคธุรกิจ

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 6 ตุลาคม 2566

“รมว.ธรรมนัส” ผลักดันนโยบายเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนด ทันปีนี้ มอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้เกษตรกร

,

“รมว.ธรรมนัส” ผลักดันนโยบายเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนด ทันปีนี้ มอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้เกษตรกร

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมสัมมนา เรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนงานของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. ร่วมประชุมและรับฟังนโยบายฯ ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมตรัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร และผ่านระบบการประชุมทางไกล (Zoom Meetings) ว่า นโยบายรัฐบาลที่สำคัญ คือการผลักดันการเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ให้เป็นโฉนด ซึ่งเป็นเรื่องที่ตนได้ผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ ที่ดินสามารถตกถึงทายาทได้ โดยได้เน้นย้ำในที่ประชุมให้ความสำคัญกับการกำหนดแนวทางการเร่งรัดการดำเนินการให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดิน มีชีวิตที่มั่นคง และมอบหมายให้ ส.ป.ก. เร่งรัดจัดทำแนวทางการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์และเป็นไปตามคำสัญญากับประชาชนที่คาดหวังกับการมีสิทธิในที่ดิน มีชีวิตมั่นคงจากการที่รัฐได้พิจารณาเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นโฉนด เพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดให้เข้าถึงแหล่งทุนได้ ภายใน 100 วัน ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ “เกษตรกรกินดี อยู่ดี มีรายได้มีอาชีพมั่นคง สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน และภาคเกษตรไทยคือผู้นำสินค้าเกษตรในตลาดโลก”

อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาทบทวนในเรื่องของข้อกฎหมายกรอบแนวทางใดที่สามารถเปลี่ยน ส.ป.ก. ให้เป็นโฉนดภายใต้กฎหมายเพื่อให้เกิดความรอบคอบ และมีกรอบเวลาที่ชัดเจน ไม่ให้ตกไปอยู่ในกลุ่มของนายทุน และต้องนำไปใช้ในภาคเกษตรเท่านั้น โดยในวันพรุ่งนี้ (6 ต.ค.66) จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณากฎหมายและระเบียบ โดยมีเลขาธิการ ส.ป.ก. เป็นประธาน ณ ส.ป.ก. เพื่อร่วมกันพิจารณาข้อกฎหมาย รวมถึงระเบียบใดๆ ที่ยังติดขัด หลังจากนั้นคณะอนุกรรมการฯ จะนำข้อสรุปหารือกับตนอีกครั้ง ก่อนเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ต่อไป

“เรื่องกฎหมายเราจะไม่ละเมิด แต่หากมีกฎหมายข้อใดที่ทำให้เกษตรกรไม่ได้รับความสะดวกสบาย ไม่ได้รับการพัฒนา ก็อาจจะต้องกลับมาพิจารณาทบทวนกฎหมายข้อนั้นๆ หากเป็นปัญหาก็ต้องแก้ไข โดยกระทรวงเกษตรฯ จะเดินหน้าผลักดันการเปลี่ยน ส.ป.ก. ให้เป็นโฉนด เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้พี่น้องเกษตรกร และเชื่อมั่นว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จก่อนสิ้นปีนี้ โดยเตรียมหารือจังหวัดนำร่อง แล้วจะเดินหน้าขับเคลื่อนเป็นโมเดลในแต่ละจังหวัดต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า ส.ป.ก. มีภารกิจหลักในการจัดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้แก่เกษตรกร ผู้ไร้ที่ดินทำกิน และสถาบันเกษตรกร ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเกษตรกร การพัฒนาพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน และการบริหารเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ส.ป.ก. ให้ความสำคัญกับข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดแนวทางการเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนด รวมถึงนโยบายที่จะพัฒนาศูนย์บริการประชาชนภาคการเกษตร โดย ส.ป.ก. มุ่งมั่นที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของศูนย์บริการประชาชนผ่านการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้ในการพัฒนาระบบการให้บริการ และอำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 5 ตุลาคม 2566

“รมว.พัชรวาท” พร้อมร่วมมือผลักดันด้านสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในการประชุม AP Forum

,

“รมว.พัชรวาท” พร้อมร่วมมือผลักดันด้านสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในการประชุม AP Forum

วันนี้ (5 ตุลาคม 2566) พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านสิ่งแวดล้อมภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของโครงการสิ่งแวดล้อม สมัยที่ 5 (5th AP Forum) เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และกรมควบคุมมลพิษ เพื่อร่วมหารือถึงท่าทีทางด้านสิ่งแวดล้อมของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่เชื่อมโยงกับหัวข้อหลักของการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 6 หรือ UNEA 6 ที่จะจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยมุ่งเน้นการดำเนินการภายใต้กลไกพหุภาคี เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของโลก อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลพิษทางด้านสิ่งแวดล้อม

พล.ต.อ.พัชรวาท ได้กล่าวถ้อยแถลงในนามของรัฐบาลไทย แสดงความขอบคุณต่อกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาและ UNEP ที่ได้จัดการประชุมครั้งนี้ รวมทั้งได้กล่าวถึงการยกระดับการดำเนินงานของประเทศไทยในการบริหารจัดการ และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านกลไกการพัฒนานโยบายและกฎหมาย เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายของประเทศและพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ พร้อมทั้งได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยมุ่งมั่นและพร้อมที่จะร่วมมือกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และประเทศอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมให้ความร่วมมือระดับภูมิภาคมีความเข้มแข็ง ตลอดจนเร่งรัดการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นอกจากนี้ ในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของไทยต่อที่ประชุม โดยได้เน้นย้ำถึงการดำเนินงานด้านการจัดการมลพิษทางอากาศ และการลดผลกระทบจาก PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง โดยปรับปรุงการดำเนินการภายในประเทศและเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งเชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยมลพิษทางอากาศที่ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกได้รับรองในการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา สมัยที่ 7 (CED 7) ระดับรัฐมนตรี

รวมถึงให้ความสำคัญต่อปัญหามลพิษจากขยะพลาสติก และได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยเร่งดำเนินการแก้ไขอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อก้าวไปสู่สังคมเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านกลไกการผลักดันด้านกฎหมายเพื่อการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ โดยประเทศไทยสนับสนุนและมีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจาระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Negotiating Committee: INC) เพื่อจัดทำมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติก และสิ่งแวดล้อมทางทะเล อย่างเต็มที่ ทั้งยังสนับสนุนให้ UNEP และภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกันส่งเสริมและบูรณาการการความร่วมมือระดับอนุภูมิภาค เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมในการแก้ไขวิกฤติสิ่งแวดล้อมโลก และนำข้อมติสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติไปสู่การปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนของภูมิภาคต่อไป

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 5 ตุลาคม 2566