“ไพบูลย์”หวั่นโพลชี้นำบางสำนัก นำเสนอให้ข้อมูลไม่ตรงข้อเท็จจริง
อาจเข้าข่ายความผิดทาง กฏหมายตาม รธน.เตือนเสี่ยงเป็นคดีความ
นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่สำนักโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในการเลือกตั้ง ซึ่งมีบางสำนักปรากฏข้อมูลในการเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนน่าจะไม่สอดรับกับความเป็นจริงว่า ตนในฐานะนักกฎหมาย มีความเป็นห่วงว่า สำนักโพลเหล่านั้นอาจจะมีปัญหาข้อกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 72 การสํารวจความคิดเห็นของประชาชนโดยมีเจตนาไม่สุจริต มีลักษณะเป็นการชี้นํา หรือมีผลต่อการตัดสินใจในการลงคะแนนเลือกหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใดจะกระทํามิได้
นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า และเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 73 ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนน ไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยวิธีการ หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง
ทั้งนี้ตามมาตรา 72 และมาตรา 73(5) กฎหมายห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งรวมถึงสำนักโพลต่างๆกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง
ดังนั้นหากสำนักโพลใดฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 (5) จะมีบทลงโทษตามมาตรา 159 ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปี ถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ของผู้นั้นมีกําหนดยี่สิบปี
นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ตนจึงแจ้งข้อห่วงใยมายังสำนักโพลต่างๆให้ระมัดระวังข้อกฎหมายในเรื่องดังกล่าวข้างต้น เพราะเชื่อว่าจะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยื่นคำร้องขอให้ กกต. ตรวจสอบสำนักโพลดังกล่าว ซึ่งสามารถยื่นคำร้องได้จนถึง 30 วันหลังจากวันเลือกตั้ง ก็อาจจะทำให้สำนักโพลบางสำนักอาจมีปัญหาทางกฎหมายได้
ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 24 เมษายน 2566