“พล.อ.ประวิตร” ช่วยเกษตรกรชาวสวนปาล์มเร่งพัฒนา 8 ผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมันด้วยนวัตกรรมไบโอแก้ปัญหาราคาระยะยาว
วันนี้ (4 ก.พ.65) เวลา 10.30 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบประชุมทางไกล (Video Conference) โดยที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในประเทศและตลาดโลก ที่ได้รับผลกระทบจากแนวโน้มราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และไบโอดีเซล (B100) ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยกระทรวงพลังงานได้รายงานผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 65 เห็นชอบให้ปรับลดสูตรผสมน้ำมันไบโอดีเซล (B100) จากปัจจุบันมี B7 เกรดเดียว ให้เป็น B5 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. – 31 มี.ค. 65 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการต่างๆ รองรับฤดูกาลปาล์มที่จะออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ ดังนี้
โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2564 -2565 โดยกำหนดราคาเป้าหมายผลปาล์มทะลาย (อัตราน้ำมัน 18%) ณ หน้าโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม กิโลกรัมละ 4.00 บาท ใช้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 2,774 กิโลกรัม วงเงิน 7,660.00 ล้านบาท
โครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ปี 2565 โดยจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสำหรับการส่งออกเฉพาะน้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil : CPO) ในอัตรา ไม่เกิน 2.00 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อระดับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่า 300,000 ตัน และราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่าราคาตลาดโลก
มาตรการและแนวทางขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม กำหนดผลิตภัณฑ์เป้าหมายทั้งหมด 8 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1) ผลิตภัณฑ์สารหล่อลื่นพื้นฐาน (Base oil) 2) น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ (Bio-Transformer oil) 3) สารซักล้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (สารตั้งต้น MES : Methyl Ester Sulfonate) 4) น้ำมันหล่อลื่น และจาระบีชีวภาพ (Bio Lubricant and Greases) 5) พาราฟิน (Paraffin) 6) สารกำจัดศัตรูพืช/แมลง (Pesticides/Insecticides) 7) น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ กรีนดีเซล (Bio Hydrogenated Diesel: BHD) และ น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ ไบโอเจ็ต (Biojet fuels)
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า กนป. ยังคงดำเนินนโยบายและมาตรการเดิมทุกประการที่ขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 62 ถือว่าประสบความสำเร็จทำให้ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย ดันราคาปาล์มทะลายเฉลี่ยทั้งปีจาก กก.ละ 3.05 บาท ในปี 2562 เพิ่มเป็น 4.78 บาทในปี 63 และสูงถึง 6.66 บาทในปี 2564 สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ชาวสวนปาล์มเพิ่มขึ้นจาก 5 หมื่นล้านบาท จนทะลุแสนล้านบาทเมื่อปีที่ผ่านมา ตามโครงสร้างราคาจึงทำให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบและแบบบรรจุขวด รวมทั้งไบโอดีเซลมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย จึงจำเป็นต้องออกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงฤดูปาล์มที่ออกสู่ตลาดน้อยระยะสั้นๆ คาดว่าในปีนี้ ราคาปาล์มทะลายจะยังอยู่ในเกณฑ์ดีสูงกว่า กก.ละ 5 บาท โดยเฉลี่ย
ทั้งนี้ จากรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า ปี 2564 ไทยมีผลผลิตปาล์มน้ำมัน 16.79 ล้านตัน คิดเป็นผลผลิตในรูปน้ำมันปาล์มดิบ ประมาณ 3.17 ล้านตัน ในขณะที่มีความต้องการใช้ 3.00 ล้านตัน (การใช้ในประเทศ 2.38 ล้านตัน และการส่งออก 0.62 ล้านตัน) ทำให้ ณ สิ้นปี 2564 มีสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ 0.17 ล้านตัน ส่งผลทำให้ราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มปรับตัวเพิ่มขึ้น
สำหรับราคาปาล์มดิบล่าสุด ในเดือนม.ค.2565 ราคาปาล์มทะลายเฉลี่ย กก. 10.49 บาท ราคาน้ำมันปาล์มดิบเฉลี่ย กก.ละ 54.27 บาท ส่วนราคาตลาดมาเลเซีย ตันละ 5,628 ริงกิต หรือ คิดเป็น กก. ละ 45.31 บาท โดยมีสต๊อก ณ สิ้นเดือน ม.ค.นี้ อยู่ที่ 1.31 แสนตัน หากปี 2565 ผลผลิตสูงขึ้นตามคาดการณ์ของ สศก. ขณะเดียวกันความต้องการใช้ภายในประเทศมีแนวโน้มลดลงจากสัดส่วนของไบโอดีเซล จำเป็นต้องอาศัยการส่งออกให้ได้ 5 แสนตัน เพื่อดูดซับสต็อกส่วนเกินที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มาตรการต่างๆ ที่ กนป. เห็นชอบในครั้งนี้ยังคงเป็นกลไกสำคัญที่ต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการเพิ่มมูลค่า 8 ผลิตภัณฑ์เป้าหมาย ซึ่งจะเป็นทางออกที่ยั่งยืนในอนาคต คาดว่านโยบายและมาตรการของ พล.อ.ประวิตร ประธาน กนป. รวมทั้ง การบริหารจัดการเชิงบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน จะส่งผลให้ราคาปาล์มทะลายโดยเฉลี่ยทั้งปี 2565 อยู่ที่ กก.ละ 6-8 บาท สูงกว่าต้นทุนที่แท้จริง (กก.ละ 3.50 – 4.0 บาท) ของเกษตรกรชาวสวนปาล์ม รวมทั้ง ผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันทุกชนิด น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์บรรจุขวด ไบโอดีเซล (บี 100) อยู่ในระดับราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย สำหรับผู้บริโภค พลังงานทดแทน และส่งออก เพื่อผลักดันให้ปาล์มน้ำมันคงความเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคตของไทยอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป
ที่มา : facebook.com/PPRPThailand/
เมื่อวันที่ : 4 กุมภาพันธ์ 2565