“พล.อ.ประวิตร” ลงพื้นที่คลองระบายน้ำ D9ปึกเตียน ติดตามความสำเร็จการแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองเพชรบุรี
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี ติดตามการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการก่อสร้างคลองระบายน้ำ D9 ณ ประตูระบายน้ำคลอง D9 ต.ปึกเตียน อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี โดยมี นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวต้อนรับ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รายงานภาพรวมแผนพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำจังหวัดเพชรบุรี นายสันต์ จรเจริญ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการก่อสร้างคลองระบายน้ำ D9 พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานราชการ เอกชน และท้องถิ่น ให้การต้อนรับ และพบปะประชาชนในพื้นที่
การลงพื้นที่ในวันนี้เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และผลสัมฤทธิ์ของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ ที่รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้อย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการก่อสร้างคลองระบายน้ำ D9 ที่เป็นความสำเร็จจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการผันน้ำจากเขื่อนเพชรบุรีออกสู่ทะเลได้ในปริมาณ 100 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้ในปี 2563 และ 2564 จ.เพชรบุรี รอดพ้นจากวิกฤติภัยน้ำท่วม สามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้กับบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่การเกษตรได้หลายพันไร่
สำหรับความสำเร็จโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ จ.เพชรบุรี ผลการดำเนินงานในปี 61-64 รัฐบาลได้บูรณาการขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการรวม 728 แห่ง สามารถเพิ่มความจุน้ำได้ 6.84 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 43,192 ไร่ประชาชนได้รับประโยชน์ 75,856 ครัวเรือน ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งยาว 11,742 เมตร อาทิ แผนงานที่อยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน ได้แก่ การก่อสร้างประตูระบายน้ำกลางคลองระบายน้ำ D9 (ปตร.กะจิว) ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ การก่อสร้างประตูระบายน้ำกลางคลองระบายน้ำ D9 (ปตร.มาบปลาเค้า) ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ และการก่อสร้างระบบส่งน้ำพร้อมอาคารประกอบโครงการจัดหาน้ำเพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ ต.แก่งกระจาน และ ต.วังจันทร์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมทั้งการวางท่อขยายเขตจำหน่ายน้ำ ต.ดอนยาง อ.เมือง ของการประปาส่วนภูมิภาค และการปรับปรุงฟื้นฟูระบบบำบัดน้ำเสียเทศบาลเมืองชะอำ ขององค์การจัดการน้ำเสีย เป็นต้น
ความสามารถในการผันน้ำจากเขื่อนเพชรบุรีออกสู่ทะเลได้ในปริมาณ 100 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้ในปี 2563 และ 2564 จ.เพชรบุรี รอดพ้นจากวิกฤติภัยน้ำท่วม สามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้กับบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่การเกษตรได้หลายพันไร่ และได้กล่าวว่ารัฐบาลมีความห่วงใยและมุ่งหวังให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมมุ่งมั่นขับเคลื่อนโครงการ พัฒนา ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ที่จำเป็นให้ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องน้ำ ที่ต้องบูรณาการทุกหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เกิดแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ และให้เกิดความมั่นคงด้านน้ำได้อย่างยั่งยืนโดยเร็วต่อไป
ที่มา : facebook.com/PPRPThailand/
เมื่อวันที่ : 18 กุมภาพันธ์ 2565