โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

วัน: 28 กุมภาพันธ์ 2022

‘รมว ตรีนุช’ ชู วิทยาลัยการอาชีพ ปากท่อ ต้นแบบดึงเด็กกลับเข้าระบบการเรียน

,

‘รมว ตรีนุช’ ชู วิทยาลัยการอาชีพ ปากท่อ ต้นแบบดึงเด็กกลับเข้าระบบการเรียน

เสมา1 นำทีมผู้บริหาร ศธ.ลงพื้นที่ราชบุรี ติดตามโครงการ”อาชีวะ อยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” พบวิทยาลัยการอาชีพปากท่อ 2 ปี เด็กพุ่งเกิน 100% พร้อมเดินสายปลุกสถานศึกษาปลอดภัย ชี้ปัญหาส่วนใหญ่เด็กบูลลี่กัน

วันนี้( 28 ก.พ.) ที่ จังหวัดราชบุรี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วย นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการ รมว.ศธ. และผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน โครงการอาชีวะสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชน เพื่อผลิตกำลังคนของประเทศ หรือ “อาชีวะ อยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” ที่วิทยาลัยการอาชีพ (วก.) ปากท่อ และ เปิดงาน Kick-off สถานศึกษาปลอดภัยจังหวัดราชบุรี ที่โรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์ เพื่อกระตุ้นให้สถานศึกษาเป็นสถานที่ปลอดภัยของทุกคน

โดยนางสาวตรีนุช ให้สัมภาษณ์ภายหลังการตรวจเยี่ยม ว่า โครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ เป็นโครงการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญตามนโยบายเราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ผ่านมาเราประสบปัญหาเด็กตกหล่น ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเรียน-การเดินทาง ดังนั้นรัฐบาลจึงมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ดำเนินโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ เพื่อช่วยเหลือเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษามาเรียนฟรี 3 ปี และมีที่พักอาศัยให้

น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อไปว่า จากการตรวจเยี่ยมพบว่า วิทยาลัยการอาชีพปากท่อ สามารถนำเพิ่มจำนวนเด็กจาก ปีการศึกษา 2562 ที่มีประมาณ 60 คน เป็น 631 คน ในปีการศึกษา 2564 ซึ่งปริมาณผู้เรียนที่เพิ่มขึ้นมาจากการแนะแนวตามโรงเรียนชายขอบ ในพื้นที่ อ.สวนผึ้ง อ.บ้านคา อ.โป่งกระทิง และ อ.เบิกไพร เป็นอำเภอที่มีระยะทางห่างจากวิทยาลัยประมาณ 50-60 กิโลเมตร โดยวิทยาลัยมีสวัสดิการให้แก่นักเรียน อาทิ บริการรถรับ-ส่งฟรี มีบริการหอพัก ที่เป็นตึกละ 4 ชั้น แยกเป็นชาย -หญิง ที่เป็นมาตรฐานของ สอศ. ฟรีค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเทอมนอกจากนี้ยังมีงบฯเรียนฟรี 15 ปี นำมาจัดสรรเป็นชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน หนังสือเรียน ฟรี และมีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาเพื่อช่วยเหลือให้นักเรียน ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมถึงประสานงานเชื่อมโยงกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการส่งต่อเด็กด้วย

” ต้องขอชื่นชมผู้บริหารที่สามารถคิดนอกกรอบและปรับเม็ดเงินที่มีอยู่มาดำเนินการได้ ซึ่งถือเป็นต้นแบบที่ดี อย่างไรก็ตาม ดิฉันจะนำข้อดี รวมถึงปัญหาอุปสรรคที่พบมาปรับปรุงในแผนรายละเอียดการดำเนินโครงการ ซึ่งก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติในหลักการของโครงการแล้ว และ สอศ.กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอขอความเห็นชอบการใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการต่อไป ” นางสาวตรีนุช กล่าว

ทั้งนี้การดำเนินโครงการจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ซึ่ง สอศ.ได้คัดเลือกสถานศึกษาที่มีความพร้อมในการรับผู้เรียนเข้าร่วมโครงการจำนวน 87 แห่ง ทั่วประเทศ สามารถรับปริมาณนักเรียนเข้าร่วมโครงการได้ 5,200 คน ซึ่งการมาดูความพร้อมของ ส่วนระยะที่ 2 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2566 เพิ่มสถานศึกษาที่มีความพร้อมในการรับผู้เรียนเข้าร่วมโครงการให้ได้ 169 แห่งทั่วประเทศ สามารถสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชน ทั้งสิ้น 116,000 คน

รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า สำหรับการเดินสายโรดโชว์สถานศึกษาปลอดภัยจังหวัดราชบุรี เป็นจังหวัดที่ 4 ที่ ศธ.มาการสร้างการรับรู้ ซึ่งพบว่าสถานศึกษามีความตื่นตัวดี และจากการเปิดศูนย์ MOE SAFETY CENTER ได้รับเรื่องร้องเรียนมาประมาณ 100 กว่าเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องบูลลี่กัน และได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้ว เหลือประมาณ 20 เรื่องซึ่งได้เร่งประสานให้แก้ไขปัญหาโดยเร็วแล้ว

ที่มา : facebook.com/PPRPThailand/
เมื่อวันที่ : 28 กุมภาพันธ์ 2565

‘พล.อ.ประวิตร’ ห่วงปชช. ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ บูรณาการเข้าช่วยเหลือ

,

‘พล.อ.ประวิตร’ ห่วงปชช. ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ บูรณาการเข้าช่วยเหลือเร่งด่วน

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน ที่ยังมีสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่และมีระดับน้ำที่เพิ่มขึ้น จึงสั่งการและเน้นย้ำให้บูรณาการหน่วยงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) อาทิ กระทรวงมหาดไทยผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่เสี่ยง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หน่วยทหาร กรมชลประทาน รวมถึง ศอ.บต.ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการเร่งด่วน พร้อมให้ทุกฝ่ายลงพื้นที่ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดี โดยเฉพาะการจัดหาอาหาร ยาและสิ่งจำเป็นอื่น ๆ สำหรับการดำเนินชีวิตประจำวัน ย้ำไม่ต้องการให้ประชาชนเดือดร้อน เป็นการทำงานที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันทำงานเพื่อประชาชนให้ดีที่สุด และให้ความช่วยเหลือไปอย่างทันท่วงที พร้อมถึงการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ฝนอย่างใกล้ชิดเพื่อแจ้งเตือนภัยในจุดเสี่ยงต่าง ๆ ได้ทันต่อสถานการณ์

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้รายงานผลการลงพื้นที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.นราธิวาส ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 17 ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภาค 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาจุดน้ำล้นข้ามพนังกั้นน้ำบริเวณหมู่ 1 บ้านมูโนะ ประมาณ 15 เซนติเมตร จากปริมาณน้ำที่ไหลจากแม่น้ำโก-ลก เข้าท่วมพื้นที่ชุมชนมูโนะ มากกว่า 500 ครัวเรือน และเข้าท่วมถนนหมายเลข 42 ทำให้ต้องปิดการจราจรช่องทางขาออกจังหวัดนราธิวาส ซึ่งกรมชลประทานได้เร่งเสริมบิ๊กแบ็ค (Big Bag) บริเวณพนังกั้นน้ำริมแม่น้ำโก-ลก ที่ต.มูโนะ เป็นการเร่งด่วน เพื่อรับมือกับมวลน้ำในแม่น้ำโก-ลก ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้เพิ่มความมั่นคงแข็งแรงให้กับพนังกั้นน้ำดังกล่าวให้มากที่สุด ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำเรือท้องแบน เข้าไปเร่งอพยพประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณดังกล่าวประมาณ 10 ครัวเรือนออกจากพื้นที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กอนช.ยังคงเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังมีฝนตกในพื้นที่ต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับน้ำที่จะเพิ่มขึ้นและไหลเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ได้แก่ จ.ยะลา บริเวณ อ.บันนังสตา อ.ยะหา และ อ.รามัน พื้นที่ จ.ปัตตานี บริเวณ อ.สายบุรี อ.ยะรัง อ.หนองจิก และ อ.เมืองปัตตานี พื้นที่ จ.นราธิวาส บริเวณ อ.แว้ง อ.สุคิริน อ.ศรีสาคร อ.สุไหงปาดี อ.ตากใบ อ.รือเสาะ อ.จะแนะ และอ.สุไหงโก-ลก ทั้งนี้ กอนช. ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือนประชนในพื้นที่เสี่ยงและลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ที่มา : facebook.com/PPRPThailand/
เมื่อวันที่ : 28 กุมภาพันธ์ 2565

“รมช.อธิรัฐ”สั่งการเร่งตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ตอนล่าง”

,

“รมช.อธิรัฐ”สั่งการเร่งตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ตอนล่าง” เด้งรับนโยบายนายกฯแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยต่อสถานการณ์อุทกภัยพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง จากประกาศศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ฉบับที่ 5 (6/2565) เรื่อง คลื่นลมแรง และฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก ส่งผลให้ช่วงวันที่ 25 – 28 ก.พ.65 เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง มีน้ำไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

ทั้งนี้ ตนได้สั่งการให้กรมเจ้าท่าเร่งตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้วจำนวน 4 ศูนย์ ได้แก่ ที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสงขลา, สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาปัตตานี, สำนักงานเจ้าท่าภาคสาขานราธิวาส และ สำนักพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่4 พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ช่วยเหลือฯ จำนวนรวม 24 นาย ความพร้อมทางรถ จำนวน 11 คัน / เรือ 7 ลำ และเมื่อวันที่ 27 ก.พ.65 ศูนย์ช่วยเหลือฯ ร่วมอำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือประชาชนแล้ว ดังนี้
• สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขานราธิวาส นำถุงยังชีพจำนวน 30 ชุด น้ำดื่ม 30 แพ็ค ไปมอบให้ผู้ประสบอุทกภัย ตำบลลูโบะสาวอ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส
• สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาปัตตานี นำถุงยังชีพ 30 ชุด น้ำดื่ม 30 แพ็ค มอบผู้ประสบอุทกภัยบริเวณ ตำบลสะเต็ง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
• สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสงขลา จัดเตรียมถุงยังชีพ จำนวน 40 ชุด น้ำดื่มจำนวน 50 แพ็ค และประสานหน่วยงานในพื้นที่ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด
• สำนักพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 4 จัดเตรียมเรือพระราชทานจำนวน 4 ลำ และรถยนต์ 8 คัน น้ำดื่มจำนวน 1,000 แพ็ค พร้อมออกปฎิบัติช่วยเหลือประชาชน

และนอกจากนี้ ตนได้เน้นย้ำให้ศูนย์ช่วยเหลือฯ ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ และเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตกหนัก ปริมาณฝนสะสมอย่างใกล้ชิด รวมถึงให้ออกประกาศแจ้งเตือนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้

ที่มา : facebook.com/PPRPThailand/
เมื่อวันที่ : 28 กุมภาพันธ์ 2565