โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

วัน: 23 กุมภาพันธ์ 2022

สภาฯผ่านฉลุย พ.ร.บ.ป้องผิดซ้ำคดีเกี่ยวกับเพศ-ความรุนแรงฯ มติเห็นด้วย 320 เสียง

,

สภาฯผ่านฉลุย พ.ร.บ.ป้องผิดซ้ำคดีเกี่ยวกับเพศ-ความรุนแรงฯ “พัชรินทร์” ขอบคุณเพื่อนสมาชิก ร่วมทำคลอดกฎหมายป้องกันการกระทำผิดซ้ำ ดันใช้มาตรการทางการแพทย์ ในผู้กระทำผิดซ้ำ เช่น ฉีดให้ฝ่อ

ดร.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม.เขต 2 ปทุมวัน บางรัก สาทร และโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ขอบคุณเพื่อนสมาชิก ที่ได้ร่วมลงมติเห็นด้วย 320 เสียง ผ่าน “ร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. ….” ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวาระที่ 2 และ 3 ที่กระทรวงยุติธรรม โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รวมถึงตน และสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้เสนอ ซึ่งจะเป็นกฎหมายในการคุ้มครองความปลอดภัย ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันการกระทำผิดซ้ำที่ร้ายแรง โดยเฉพาะเรื่องเพศ ตามนโยบายหลักของพรรคพลังประชารัฐ ที่มุ่งส่งเสริมความปลอดภัยในทุกมิติ

และที่สำคัญ ตนต้องขอขอบคุณ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ให้ความสำคัญกับกฎหมายดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งท่านได้เข้าประชุม และทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมในทุกนัด เพื่อเร่งขับเคลื่อน ให้สามารถผลักดันให้เกิดกฎหมายฉบับนี้โดยเร็ว

ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าว จะเป็นการเปิดหน้าการดำเนินความผิดในผู้กระทำผิดซ้ำในคดีที่มีความรุนแรง ทั้งในเด็กเยาวชน ผู้หญิง ผู้สูงอายุ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ฯลฯ สอดคล้องกับการป้องกันภัยคุกคามทางเพศ และความรุนแรง ที่มาพร้อมกับพลวัตรสังคม ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการใช้หลักทางจิตวิทยา และมาตรการทางการแพทย์ เพื่อเข้ามามีส่วนในการป้องกันในผู้ต้องหาที่ได้กระทำผิดซ้ำ เช่น การใช้ยา, การฉีดฮอร์โมนลดความต้องการทางเพศ หรือฉีดให้ฝ่อ โดยมาตรการทางการแพทย์ที่ศาลมีคำสั่งให้ดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอย่างน้อย 2 คน มีความเห็นพ้องต้องกันโดยจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้กระทำความผิดด้วย ควบคู่กับมาตรการทางกฎหมาย เช่น ให้พักอาศัยในสถานที่ที่ศาลกำหนด, ห้ามออกนอกประเทศ, ต้องแจ้งเมื่อมีการเปลี่ยนสถานที่ทำงาน, ห้ามทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด,ใส่อุปกรณ์ติดตามตัว เป็นต้น

ที่มา : facebook.com/PPRPThailand/
เมื่อวันที่ : 23 กุมภาพันธ์ 2565

พล.อ.ประวิตร จัดเตรียมประชุมร่วม ไทย-อเมริกาต้านค้ามนุษย์ปราบปรามผู้กระทำผิด

,

“พล.อ.ประวิตร” จัดเตรียมประชุมร่วม ไทย-อเมริกาต้านค้ามนุษย์ เดินหน้าทำหลักสูตรเพิ่มประสิทธิภาพเจ้าหน้าที่ปราบปรามผู้กระทำผิด

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยปัญหาค้ามนุษย์ และมุ่งหวังดัน ประเทศไทยกลับขึ้นสู่ สถานะ เทียร์ 2 ในการจัดลำดับ ตามรายงานสถานการณ์การต่อต้านการค้ามนุษย์ (TIP Report) จึงได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเต็มที่ พร้อมได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการร่วมว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ ไทย – สหรัฐอเมริกา (ฝ่ายไทย) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทย ร่วมกับ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ Mr. Adam West รักษาการที่ปรึกษาด้านการเมือง (Acting Political Counselor) สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย พร้อมด้วย Ms. Angeline Bickner (Political Affairs Associate) และคณะ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการจัดทำรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) เพื่อหารือความคืบหน้าการดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ฉบับปี 2564 และรายงานฉบับเพิ่มเติม ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 2565
พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งดำเนินคดีค้ามนุษย์ โดยเพิ่มประสิทธิภาพการสืบสวนสอบสวนช่องทางออนไลน์ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ในปี 2564 ดำเนินคดีค้ามนุษย์ได้ถึง 186 คดี เพิ่มจากปี 2563 ร้อยละ 39.84 รวมทั้งขยายผลดำเนินคดีอาญาและทางวินัยกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ มีจำนวนเพิ่มขึ้น 17 ราย และเร่งรัดดำเนินการทางวินัยอีก 15 ราย นอกจากนี้ ได้ช่วยเหลือคนไทยที่โดนหลอกไปทำงานที่กัมพูชา 536 คน ซึ่งเข้าข่ายคดีค้ามนุษย์ 239 คน และมีผู้ต้องหา 43 คน จับกุมได้แล้ว 18 คน

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยขับเคลื่อนการดำเนินการตามข้อเสนอแนะใน TIP Report ของสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่เป็นโครงการสำคัญ หรือ Flagship อาทิ จัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (ดอนเมือง) เพื่อใช้เป็นสถานที่คัดกรองและคัดแยกผู้ที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าอาจเข้าข่ายเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จัดทำขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติ (SOP) ในการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการบังคับใช้แรงงาน กลไกการส่งต่อผู้เสียหายระดับชาติ (National Referral Mechanism) และกิจกรรมช่วงระยะเวลาฟื้นฟูไตร่ตรอง (Reflection Period) แก่บุคคลที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า เป็นผู้เสียหายจากการกระทำผิดฐานค้ามนุษย์ เพื่อยกระดับให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และสอดคล้องกับอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ (ACTIP) และแผนปฏิบัติอาเซียน (APA)

นอกจากนี้ ได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพผู้ปฏิบัติงาน ได้แก่ การอบรมพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ทีมสหวิชาชีพให้เป็นผู้ชำนาญการ/ เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ให้เป็นผู้สนับสนุนการปฏิบัติในพื้นที่ พัฒนาครูฝึกสอนด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (IDC) โดยความร่วมมือกับ FBI และสถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศ ILEA Bangkok จัดทำหลักสูตรพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยร่วมมือกับโครงการ ASEAN-ACT และมูลนิธิ IJM เพื่อสร้างมาตรฐานและแนวปฏิบัติในการดำเนินงานให้เป็นสากล และพัฒนาไปสู่การจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมแห่งความเป็นเลิศในการต่อต้านการค้ามนุษย์ของภูมิภาค (Center of Excellence for Combating Trafficking in Person) รวมถึงส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับเด็ก (Child Safe Friendly Tourism)

ที่มา : facebook.com/PPRPThailand/
เมื่อวันที่ : 23 กุมภาพันธ์ 2565