โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

วัน: 22 กุมภาพันธ์ 2022

“พล.อ.ประวิตร”ย้ำรัฐเร่งขับเคลื่อนแผนแม่บทน้ำ20ปี พร้อมเพิ่มน้ำพื้นที่ชลประทาน

,

“พล.อ.ประวิตร”ย้ำรัฐเร่งขับเคลื่อนแผนแม่บทน้ำ20ปี พร้อมเพิ่มน้ำพื้นที่ชลประทาน
ดูแลปชช.อีก18ล้านไร่

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.) และผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชาระยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงกรณีการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหา ต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) ตามที่พรรคฝ่ายค้านได้ซักถามเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำของรัฐบาล โดยทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)ได้ให้ข้อมูลว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างด้านน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทรัพยากรน้ำของประเทศเกิดความมั่นคงสูงสุดและประชาชนได้รับประโยชน์ โดยเพิ่มพื้นที่ชลประทานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันมีพื้นที่ที่พัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทานแล้ว 33.92 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 22.7 ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด และมีเป้าหมายที่จะพัฒนาพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นอีก 18 ล้านไร่ภายในปี 2580 ตามแผนแม่บทน้ำ 20 ปี

โดยตั้งแต่ปี 2561-2564 เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้แล้ว 1.17 ล้านไร่ ขณะเดียวกัน ยังปรับปรุงแหล่งน้ำธรรมชาติ ขยายระบบประปา และวางระบบการป้องกันน้ำท่วมภัยแล้ง ครอบคลุมทั่วทุกภาคของประเทศ อาทิ ภาคเหนือ การพัฒนาบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 8 หมื่นไร่ ภาคกลาง คลองระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา 1 ใน 9 แผนงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา และลดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุมน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ภาคอีสาน ที่มีโครงการแหล่งน้ำเกิดขึ้นประมาณ 78,000 แห่ง ขยายเขตประปา พัฒนาประปาเมือง/พื้นที่เศรษฐกิจ 199 แห่ง ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 525 ล้าน ลบ.ม. เป็นต้น รวมถึงภาคใต้ เช่น โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ เมื่อแล้วเสร็จจะช่วยบรรเทาน้ำท่วมพื้นที่ในเขตชุมชนและเขตเศรษฐกิจของเมือง เป็นต้น

สำหรับการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝนรัฐบาลได้มุ่งเน้นการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ พัฒนาน้ำบาดาล สระน้ำในไร่นา โคกหนองนาโมเดล เพื่อสนับสนุนการอุปโภค-บริโภค และการเกษตรอย่างต่อเนื่องเช่นกันโดยยึดหลักให้เป็นไปตามความต้องการและการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังใช้กลไกการบูรณาการหน่วยงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เพื่อขับเคลื่อนมาตรการในเชิงป้องกันและผลกระทบเมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤติด้านน้ำทั้งภัยน้ำท่วมหรือภัยแล้ง เช่น การประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม การเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วม-ภัยแล้ง อาทิ 10 มาตรการฤดูฝน ปี2564 และ 9 มาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/2565 ที่สำคัญรัฐบาลได้จัดสรรงบกลางในด้านน้ำเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉินหรือจำเป็นเท่านั้น เช่น ในปี 2563 ได้นำมาใช้แก้ไขปัญหาภัยแล้งและการป้องกันน้ำท่วม สามารถดำเนินได้ถึง 20,824 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 76 จังหวัด เพิ่มปริมาณน้ำได้ 1,057 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 7.58 ล้านไร่ เช่นเดียวกับปี 2564 ที่ผ่านมามีทั้งสิ้น 6,206 โครงการ สามารถน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้น 49.95 ล้าน ลบ.ม. ได้ปริมาณน้ำบาดาล 44 ล้าน ลบ.ม. มีครัวเรือนรับประโยชน์ 364,167 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ 507,849 ไร่ ถือเป็นการใช้งบกลางอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

สำหรับประเด็นข้อห่วงใยที่หลายฝ่ายมีข้อกังวลในเรื่องการจัดเก็บค่าน้ำที่จะกระทบถึงประชาชนและเกษตรกรรายย่อยนั้น สทนช.ขอชี้แจงว่า พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ใช้น้ำประเภทที่ 1 ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ อุปโภคบริโภคในครัวเรือน ทำเกษตรหรือเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ รวมถึงอุตสาหกรรมในครัวเรือน รักษาระบบนิเวศ จารีตประเพณี บรรเทาสาธารณภัย คมนาคม และการใช้น้ำในปริมาณเล็กน้อย ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตการใช้น้ำและไม่ต้องชำระค่าใช้น้ำแต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่มีการเก็บค่าน้ำจากเกษตรกรอย่างแน่นอน แต่จะเก็บเฉพาะประเภทที่ 2 คือ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม และประเภทที่ 3 การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก โดยกำหนดอัตราค่าใช้น้ำจะมีความเป็นธรรม ไม่แสวงหากำไร เป็นการดำเนินการเพื่อให้ผู้ใช้น้ำได้มีจิตสำนึกในการใช้น้ำร่วมกันอย่างประหยัดเท่านั้น
โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำร่างกฏหมายลำดับรองในการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดเก็บค่าน้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 ที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฯ ซึ่งต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ตามกฏหมายต่อไป

ที่มา : facebook.com/PPRPThailand/
เมื่อวันที่ : 22 กุมภาพันธ์ 2565

‘รมว.ชัยวุฒิ’ ผลักดันแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นวาระแห่งชาติ

,

‘รมว.ชัยวุฒิ’ ผลักดันแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นวาระแห่งชาติ เดินหน้าปราบปรามการหลอกลวงประชาชนร่วมมือเพื่อนบ้านทลายแก๊ง

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ว่า ในเรื่องปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงประชาชน ตนตั้งใจจะหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ และครม. ผลักดันปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะการหลอกลวงประชาชน โดยขอให้ทุกหน่วยงานช่วยกันแก้ปัญหาและแจ้งเตือนประชาชน อีกทั้งจะร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้ได้ ทั้งหมดเป็นแนวทางที่จะเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และครม.ในวันนี้

นายชัยวุฒิกล่าวว่า ส่วนความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นั้นล่าสุด กสทช. ยังไม่สามารถมีระบบปิดกั้นการโทรได้ เพราะเราให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชนในการติดต่อสื่อสารกัน ถ้าเราไปปิดกั้นการโทรก็จะมีปัญหาในเรื่องการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน แต่ขณะนี้กสทช. ประสานกับบริษัทมือถือทุกค่ายว่าถ้ามีการโทรผ่านอินเตอร์เน็ตที่เรียกว่าวีโอไอพีจากต่างประเทศ ให้ขึ้นเครื่องหมายบวกข้างหน้า และขึ้นรหัสประเทศนั้นๆ ซึ่งก็จะเป็นเบอร์ยาวและแปลก ดังนั้นถ้ารับโทรศัพท์ขึ้นมามีรหัสจากต่างประเทศและมีหมายเลขยาว รวมทั้งมีเครื่องหมายบวกข้างหน้า ก็จะรู้แน่นอนว่าไม่ใช่คนไทยโทรมาหาจากในประเทศ ขอให้คาดการณ์ไว้ก่อนว่าจะเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่จะมาหลอกลวง และขอให้สื่อมวลชนช่วยกันแจ้งเตือนประชาชนว่าถ้าไม่มีญาติพี่น้องอยู่ต่างประเทศก็อย่าไปรับ เพราะเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์แน่นอน

“การผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ มีหลายแนวทาง แต่ขอให้นายกรัฐมนตรีได้พูดคุยกันกับครม.ก่อน วันนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและกระทรวงดิจิทัลฯ มีแนวทางอยู่แล้ว ต้องขอบคุณสื่อมวลชนที่ช่วยเสนอข่าวนี้เรื่องดังกล่าว สิ่งสำคัญวันนี้เราต้องช่วยกันแจ้งเตือนประชาชนให้รู้เท่าทันและมีภูมิต้านทานกับสิ่งเหล่านี้”นายชัยวุฒิกล่าว

ที่มา : facebook.com/PPRPThailand/
เมื่อวันที่ : 22 กุมภาพันธ์ 2565