โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

ป้ายกำกับ: ข่าวกิจกรรมพรรค

“ดร.นฤมล” ผนึกทีม ส.ส.กรณิศ เดินหน้าช่วยเหลือชาวคลองเตย-วัฒนา

, ,

“ดร.นฤมล” ผนึกทีม ส.ส.กรณิศเดินหน้าช่วยเหลือชาวคลองเตย-วัฒนา เปิดโฉมว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. พร้อมทำงานเข้าพื้นที่แก้ปัญหาชุมชนตรงจุด

“ดร.นฤมล” พร้อมทีมงาน ลงพื้นที่ฟังเสียงสะท้อนประชาชนเขตคลองเตย-วัฒนา เพื่อแก้ปัญหาปากท้องให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวบรวมข้อมูลทุกประเด็น สู่การวางนโยบาย ยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชน พร้อมฝากตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. เข้ามาทำงาน ดูแลประชาชนในพื้นที่

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะตัวแทนของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ,ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมด้วยนางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.กรุงเทพฯ เขตคลองเตย-วัฒนา พรรคพลังประชารัฐ ได้ลงพื้นที่พร้อมกับนายต่อศักดิ์ ใหลสุวรรณ ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตคลองเตย และ นาย พลศักดิ์ แดงบัว ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.)เขตวัฒนาพบปะประชาชนพูดคุย และรับฟังปัญหาความเดือดร้อนเรื่องปากท้องประชาชนซึ่งส่วนใหญ่ในพื้นที่ดังกล่าว เป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย หาเช้ากินค่ำ และผู้ด้อยโอกาส ที่ต้องการความช่วยเหลือและการสนับสนุนด้านระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ซึ่งจำเป็นต้องแก้ปัญหาแบบบูรณาการทุกภาคส่วน ด้วยการผลักดันให้เป็นนโยบายเพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างตรงตามเป้าหมายที่ชาวชุมชนต้องการ

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ส.ส.ในพื้นที่ได้ดำเนินการด้านการส่งเสริมอาชีพ ควบคู่ไปกับการสร้างงานและการสร้างรายได้ผ่านช่องทางออนไลน์ ในช่วงสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับโควิด 19 และยังดูแลด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จึงเข้าไปดำเนินการติดตั้งไฟส่องสว่าง ใช้ระบบโซล่าร์เซลล์ตามตรอกซอกซอยต่างๆ และ ยังช่วยเหลือการเข้าถึงระบบด้านสาธารณสุขในช่วงการแพร่ระบาด ด้วยการจัดหารถวีลแชร์ และบริการรถฉุกเฉินรับส่งผู้ป่วย เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น

ศ.ดร.นฤมล กล่าวด้วยว่า ในอนาคตเชื่อว่าพรรคพลังประชารัฐจะสามารถเข้าถึงปัญหา และรับใช้ประชาชนได้มากขึ้นเพราะ ขณะนี้ พรรคอยู่ระหว่างการจัดทัพ เพื่อที่จะมีการวางตัว ส.ก. โดยผู้สมัครทุกเขต พรรคล้วนแต่คัดสรรบุคลากร ที่มีทั้งความรู้ ความสามารถ และมีความตั้งใจจริงที่จะเข้ามาดูแลประชาชนและพัฒนาชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ ในพรรคได้มีการหารือ ร่วมกับ สส ทั้ง 12 คน ที่ต้องการให้มีการสนับสนุนผู้สมัคร สก และคนรุ่นใหม่ ที่มีความประสงค์จะเข้ามาทำงาน โดยจะเสนอไปยังพล.อ ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพปชร เพื่อนำไปสู่แผนการจัดทีมผู้สมัครในทุกเขต ผ่านการสนับสนุนของสส.และว่าที่สส. เพื่อจัดทีมการทำงานให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม และมั่นใจว่า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. จะได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในพื้นที่

นอกจากนี้ยังได้มอบถุงยังชีพ “เราจะไม่ทิ้งกัน” ให้กับชุมชนในพื้นที่ ประกอบด้วยเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ซึ่งแทนความห่วงใยจาก พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่มอบหมายให้ตนเองและคณะทีมงานเป็นตัวแทนในการมอบให้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

นางกรณิศ งามสุคณธ์รัตนา ส.ส. เขตคลองเตย -วัฒนา พปชร. กล่าวว่า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. ทั้งสองคนพร้อมที่จะเข้ามาดูแลประชาชนทั้งสองเขต ไม่ว่าจะเป็นความเดือดร้อนในเรื่องต่างๆ ทั้งด้านความเป็นอยู่ และ ด้านสุขอนามัย ซึ่งพร้อมทำงานเป็นทีม เพื่อดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ เห็นว่าการทำงานระดับชาติ และท้องถิ่นควรเป็นทีมเดียวกัน เวลาประชาชนร้องเรียนขอความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆจะได้มีการประสานในทีมเดียว จากท้องถิ่นไปสู่ระดับชาติ เพราะรู้ว่า ชุมชน ใน 2 เขต นี้ต้องการอะไร มีเรื่องเดือดร้อน พร้อม แก้ไขปัญหาและสนับสนุนให้ชุมชน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“ขอขอบคุณหัวหน้าพรรคในการสนับสนุนถุงยังชีพ ถุงปันสุข ให้กับชุมชนเทพประทาน 1,000 ชุด ในครั้งนี้ เป็นการแบ่งเบาภาระให้กับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งชุมชนดังกล่าวมีทั้งผู้ติดเชื้อ และ ผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งเรายังทำงานอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สมัย เป็น สก. มา 2 สมัย”

ที่มา : facebook.com/PPRPThailand/
เมื่อวันที่ : 8 พฤศจิกายน 2564

“ตรีนุช” สนับสนุนยุทธศาสตร์ยูเนสโก ว่าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา

,

“ตรีนุช” สนับสนุนยุทธศาสตร์ยูเนสโก

รัฐมนตรีศึกษาฯ ร่วมประชุมสมัยสามัญยูเนสโก ที่กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส สนับสนุนยุทธศาสตร์ฯ ว่าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา ปี 2565 – 2568 สร้างสังคมยุติธรรม-เสมอภาค-สงบสุข-ยั่งยืน ลั่นปี 2565 ประเทศไทย พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีศึกษาภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 41 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-24 พฤศจิกายน 2564 ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส ตอนหนึ่งว่า ขอแสดงความยินดีกับ Madam Audrey Azoulay ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก ที่ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกอีกวาระหนึ่ง และขอชื่นชมยูเนสโกที่ปรับวิธีการทำงานได้ดีในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งส่งผลให้การดำเนินงานของยูเนสโกเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

นางสาวตรีนุช กล่าวต่อไปว่า การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นในห้วงเวลาครบรอบทศวรรษ เพื่อทบทวนการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของแห่งสหประชาชาติ (SDGs) ซึ่งยูเนสโกได้นำมาเป็นเป็นพื้นฐานสำหรับจัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนงานและงบประมาณฉบับใหม่ของยูเนสโก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 – 2566 ประเทศไทยเชื่อมั่นว่า แผนงานที่ประเทศสมาชิกร่วมกันจัดทำขึ้นมาในครั้งนี้ จะช่วยผลักดันความร่วมมือภายในองค์กร ตลอดจนพันธมิตรอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหาระดับโลก

“ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยได้พยายามเปิดเรียนตามปกติ โดยสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านสุขภาพของนักเรียนและครูเป็นหลัก ดังนั้น การฉีดวัคซีนให้แก่นักเรียนและครูจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน ขณะเดียวกัน ได้คำนึงถึงการให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่ครอบคลุมเพื่อลดจำนวนเด็กตกหล่น โดยบุคลากรทางการศึกษาได้ทำงานเชิงรุกเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการเข้าถึงการศึกษาตามสิทธิพื้นฐาน อย่างเท่าเทียม และทั่วถึงของทุกคน “ รมว.ศธ. กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามแม้จะมีการนำเทคโนโลยีทางการศึกษามาใช้มากมาย แต่ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาก็เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนเช่นกัน ประเทศไทยจึงสนับสนุนยุทธศาสตร์ของยูเนสโกว่าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา ปีพ.ศ.2565 -2568 เพื่อสร้างสังคมที่ยุติธรรม เสมอภาค สงบสุข และยั่งยืน นอกจากนี้ ยังให้การสนับสนุน Recommendation on Open Science ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเอาชนะความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยีในการเข้าถึงข้อมูลความรู้ระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและยังไม่พัฒนา

รมว.ศธ. กล่าวด้วยว่า ในปี 2565 ประเทศไทยโดยความร่วมมือกับสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีศึกษาภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Education Ministers Conference) ซึ่งการประชุมดังกล่าวจะเป็นโอกาสดีในการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย SDG4 และประเทศไทยก็มีความเข้มแข็งที่จะส่งเสริมการศึกษาที่ครอบคลุมและมีคุณภาพ ซึ่งเป็นการสานต่อที่ประเทศไทยได้ริเริ่มปฏิญญาจอมเทียน ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ได้สนับสนุนโครงการริเริ่มต่าง ๆ ของยูเนสโก ที่ส่งเสริมแนวคิดในการเผชิญหน้ากับปัญหาท้าทายของโลกในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการมองอนาคตไปข้างหน้า และข้อเสนอแนะด้านจริยธรรมของ AI (Recommendation on the Ethics of Artificial Intelligence) เป็นต้น และขอขอบคุณสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ที่ให้การสนับสนุนประเทศไทยและประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิกอย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด ยืนยันว่าจะให้ความร่วมมือเต็มกำลังเพื่อส่งเสริมให้ยูเนสโกบรรลุความสำเร็จตามพันธกิจ

ที่มา : facebook.com/PPRPThailand/
เมื่อวันที่ : 12 พฤศจิกายน 2564

“พล.อ.ประวิตร” สั่งปรับแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี เพิ่มแหล่งเก็บน้ำชุมชน

,

“พล.อ.ประวิตร” สั่งปรับแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี เพิ่มแหล่งเก็บน้ำชุมชน แก้น้ำท่วม-แล้งอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่ทำเนียบรัฐบาล เข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Video Conference) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2564 โดยมี
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค เป็นต้น เข้าร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ทั้ง 6 ด้าน ให้บรรลุผลตามเป้าหมาย เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยผลการดำเนินงานและผลสัมฤทธิ์ตามแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน มีแผนงานโครงการที่มีความก้าวหน้าการดำเนินงานเกิน 80% ของแผน อาทิ การพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ชะลอน้ำ 13 แห่ง คิดเป็น 100%

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าการเพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้าน 4,675 แห่ง คิดเป็น 85% และมีแผนงานโครงการที่มีความก้าวหน้าเกิน 30% อาทิ การพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 118 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 64% การพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำ อาคารบังคับน้ำ ระบบส่งน้ำใหม่ 393 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 34% และลดการชะล้างพังทลายของดิน ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ 80,308 ไร่ คิดเป็น 33% และในพื้นที่เกษตรนอกพื้นที่อนุรักษ์ 367,900 ไร่ คิดเป็น 37%
พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า การดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่ามีแผนงานที่ยังมีความล่าช้า เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพแหล่งน้ำ ระบบส่งน้ำเดิม การอนุรักษ์ฟื้นฟูพัฒนาแหล่งน้ำพื้นที่เกษตรน้ำฝน ระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง เป็นต้น โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางในการปรับปรุงขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี และให้ สทนช. ดำเนินการผ่านคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ น้ำ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาและทบทวน ปรับปรุงแนวทางการดำเนินงาน เป้าหมาย ตัวชี้วัดที่จะดำเนินการในระยะต่อไป รวมถึงใช้ระบบติดตามประเมินผลด้านน้ำของประเทศไทย (Thai Water Assessment :TWA) เป็นเครื่องมือในการติดตามประเมินผลโครงการด้านทรัพยากรน้ำ โดยให้หน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เริ่มรายงานผลการดำเนินงานและผลสัมฤทธิ์ของโครงการด้านแหล่งน้ำผ่านระบบตั้งแต่เดือน ธ.ค. 64 เป็นต้นไป

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับปรุงกรอบแนวทางแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี ช่วงปี 2566-2580 โดยเฉพาะแหล่งน้ำตามครัวเรือน เพื่อสำรองน้ำใช้ในฤดูแล้ง บูรณาการการพัฒนาแหล่งน้ำกับแผนที่เกษตร (Agri-Map) พัฒนาโคกหนองนาโมเดล เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรอง และใช้กักเก็บน้ำเพื่อลดปัญหาอุทกภัย รวมถึงเร่งศึกษาวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อประกอบการปรับปรุงแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยที่ประชุมมอบหมายให้หน่วยงานรายงานปัญหาอุปสรรคการดำเนินการขับเคลื่อนที่ผ่านมาให้ สทนช. ทราบ ภายในเดือน ธ.ค. 64 รวมทั้งให้ทุกหน่วยงานสนับสนุนข้อมูลในการปรับปรุงแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี เพื่อให้มีความครบถ้วน และครอบคลุมทุกมิติ

ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้ติดตามการดำเนินงานตามข้อสั่งการของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชน และการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน การดำเนินการเตรียมการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำเสีย และการสำรวจพื้นที่แหล่งน้ำบาดาลสะอาดที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี โดยเร็วด้วย โดยรองนายกฯ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินการตามข้อสั่งการมายัง สทนช. และรายงานต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ต่อไป

ที่มา : facebook.com/PPRPThailand/
เมื่อวันที่ : 12 พฤศจิกายน 2564

“ตรีนุช” เตรียมนำ 2 รมช. ศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจการศึกษาในกลุ่มจังหวัดภาคใต้

, ,

“ตรีนุช” เตรียมนำ 2 รมช.ศึกษาธิการ แบ่ง 3 สาย ลงพื้นที่ตรวจการศึกษาในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ก่อนการประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.กระบี่ กำชับตรวจราชการเรียบง่าย

​นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลกำหนดการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2564 ณ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล) ระหว่างวันที่ 15 – 16 พฤศจิกายน 2564 นั้น กระทรวงศึกษาได้แบ่งสายการตรวจราชการ ซึ่งสายแรกนำโดยตน ช่วงเช้าวันที่ 15 พ.ย.จะประชุมหัวหน้าส่วนราชการทางการศึกษาจังหวัดกระบี่ เพื่อติดตามนโยบายรัฐบาล และนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน รวมทั้งติดตามความก้าวหน้าการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาสู่ความเป็นเลิศ และการให้บริการช่วยเหลือประชาชน โดยศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix It Center) ณ วิทยาลัยเทคนิคกระบี่ อำเภอเมืองกระบี่ จากนั้นช่วงบ่ายจะเยี่ยมบ้านนักเรียน ตามโครงการปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู ของสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และตรวจติดตามการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และรับฟังปัญหาจากชุมชนโดยรอบโรงเรียนบ้านคลองม่วง อำเภอเมืองกระบี่

รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า สายที่ 2 นำโดย คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศธ.ช่วงเช้าจะลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ และศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) สาขาวิชาพาณิชยกรรมและบริการฐานวิทยาศาสตร์ สาขางานเทคโนโลยีการท่องเที่ยว เยี่ยมชมห้องเรียน ห้องสปา และห้องฟิตเนส ที่วิทยาลัยเทคนิคพังงา ส่วนช่วงบ่ายร่วมติดตามภารกิจกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

นางสาวตรีนุช กล่าวอีกว่า สายที่ 3 นำโดยนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศธ. จะลงพื้นที่ 2 วัน คือวันที่ 14 พ.ย.จะติดตามผลการขับเคลื่อนโครงการ NFE Data Map : ปักหมุดสร้างโอกาสทางการศึกษาของผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสของพื้นที่จังหวัดระนอง และติดตามผลการดำเนินงานของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.)จังหวัดระนอง ที่ กศน.อำเภอกะเปอร์ จากนั้นไปเยี่ยมบ้านผู้พิการที่จะเข้าสู่ระบบการศึกษาของ กศน.ในอำเภอสุขสำราญ จากนั้นจะไปเยี่ยมบ้านผู้พิการที่จะเข้าสู่ระบบการศึกษาของ กศน. ในจังหวัดพังงา รวมทั้งตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนโรงเรียนประจำภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ณ โรงเรียนประกอบธรรมอิสลาม อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ส่วนวันที่ 15 พ.ย. ช่วงเช้าจะติดตามการดำเนินงานตามนโยบาย และการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาสใน 5 จังหวัดกลุ่มอันดามัน ณ สำนักงาน กศน.จังหวัดกระบี่ และประชุมติดตามการจัดการศึกษาโรงเรียนเอกชน ณ โรงเรียนสังข์ทองวิทยา รวมถึงเปิดศูนย์การเรียนรู้ทุกช่วงวัยตำบลเหนือคลอง และห้องสมุดเคลื่อนที่สำหรับชาวตลาด ตามโครงการพระราชดำริฯ ณ ศูนย์การเรียนรู้ทุกช่วงวัย อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่

“ในวันที่ 16 พ.ย.2564 ดิฉันพร้อมด้วย 2 รมช.ศธ.จะเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรี อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2564 ณ โรงแรมโซฟิเทล กระบี่ โภคีธรากอล์ฟ แอนด์ สปา รีสอร์ท จังหวัดกระบี่ ทั้งนี้ในการลงพื้นที่ดิฉันขอให้คำนึงถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด และได้กำชับให้ส่วนราชการปฏิบัติตามนโยบายในการลงพื้นที่ตรวจราชการ 6 ข้อ คือ
1. จัดบุคลากรเข้าร่วมโดยให้มีผลกระทบต่อการเรียนการสอนน้อยที่สุด
2. การลงพื้นที่ต้องไม่เป็นภาระของหน่วยงานในการต้อนรับ
3. ดำเนินการโดยประหยัดเท่าที่จำเป็นและเรียบง่าย
4. งดแผ่นป้ายที่ไม่จำเป็นในการต้อนรับ
5. การรายงานข้อมูล/การนำเสนอข้อมูลให้กระชับและตรงประเด็น
6. ไม่ต้องจัดให้มีของฝากหรือของที่ระลึก ”
รมว.ศธ.กล่าว

ที่มา : facebook.com/PPRPThailand/
เมื่อวันที่ : 11 พฤศจิกายน 2564

“ส.ส.ทัศนียา รัตนเศรษฐ” เดินหน้าให้กำลังใจพี่น้อง อ.พิมาย รับการฉีดวัคซีนโควิด-19

, ,

“ส.ส. ทัศนียา รัตนเศรษฐ” เดินหน้าให้กำลังใจพี่น้องอำเภอพิมาย รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมทั้งมอบถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

เมื่อวันอังคาร ที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ณ โรงพยาบาลพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ส.ส. ทัศนียา
รัตนเศรษฐ เขต7 จังหวัดนครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมด้วย นายตติรัฐ รัตนเศรษฐ
ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจผู้มารับวัคซีนและบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานให้บริการฉีดวัคซีนโควิด19 แก่ประชาชน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในพื้นที่ โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่มารับบริการ จำนวน 1,200 ราย

นอกจากนี้ ส.ส. ทัศนียา พร้อมคณะดังกล่าว ยังได้ลงพื้นที่ ต.รังกาใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เพื่อไปมอบถุงยังชีพให้ผู้นำในพื้นที่มอบให้ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ และผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เพื่อช่วยในการดำรงชีพและบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น จำนวน 1,200 ชุด ตามจุดต่างๆ ดังนี้ วัดฉกาจช่องโค จำนวน 164 ชุด, วัดรังกาใหญ่ จำนวน 118 ชุด, วัดวิปัสนารังกาใหญ่ จำนวน 200 ชุด, ศาลาบ้านตะปัน (ม.5) จำนวน 196 ชุด, ศาลาบ้านตะปัน (ม.13) จำนวน 143 ชุด, วัดบ้านพุทรา จำนวน 161 ชุด, ศาลาบ้านหนองไทร จำนวน 128 ชุด และวัดนิคมสามัคคี จำนวน 90 ชุด

“เรายังจะทุ่มเททำงานต่อไป เราจะไม่ทิ้งพี่น้องชาวโคราช ด้วยความห่วงใยจากครอบครัวรัตนเศรษฐและทีมงาน”

ที่มา : www.facebook.com/PPRPThailand/
เมื่อวันที่ : 10 พฤศจิกายน 2564

‘รองนายกฯประวิตร’ ถกกก.นโยบายประมงแห่งชาติ ย้ำเร่งแก้ปัญหาฯ

, ,

‘รองนายกฯประวิตร’ ถกกก.นโยบายประมงแห่งชาติ ย้ำเร่งแก้ปัญหาทำประมงผิดกฎหมายอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2564 และผ่านระบบวิดีโอ
คอนเฟอเรนซ์ (VDO Conference)

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า การประชุมวันนี้ เพื่อรับทราบความก้าวหน้าตามข้อสั่งการ และเนื่องจากประธานในคณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งเกษียณอายุราชการและอนุกรรมการบางรายมีการโยกย้าย จึงต้อง
แต่งตั้งใหม่ เพื่อให้ปฎิบัติงานได้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้การประมงของประเทศไทยมีความยั่งยืน ทั้งนี้ผลการประชุมในวันนี้ ขอให้อนุกรรมการที่แต่งตั้งทุกคณะเร่งรัดการดำเนินงาน และติดตามผลการปฎิบัติงาน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และรายงานผลให้ทราบเป็นระยะ ให้ทุกหน่วยงานร่วมดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบกฎหมาย และร่วมมือในการขับเคลื่อน เพื่อการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และแรงงานในภาคประมงให้เกิดความยั่งยืน พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการประมงทุกภาคส่วน

นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง แทนอธิบดีกรมประมงในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายฯ รายงานความก้าวหน้าการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม ความก้าวหน้าการดำเนินการนำเรือประมงออกนอกระบบ และการดำเนินงานด้านการบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย

นายบัญชา กล่าวว่า ขอเสนอที่ประชุมพิจารณา การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ จำนวน 2 คณะ ได้แก่
คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และคณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตาม
การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการทำประมง และแรงงานในภาคประมง เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา : facebook.com/PPRPThailand/
เมื่อวันที่ : 3 พฤศจิกายน 2564

พปชร.แจ้งข่าวดี! กู้กองทุนหมู่บ้านได้สิทธิ์พักชำระหนี้ ฝ่าวิกฤตโควิด-19

, ,

พปชร.แจ้งข่าวดี! กู้กองทุนหมู่บ้านได้สิทธิ์พักชำระหนี้ ฝ่าวิกฤตโควิด-19

“เลขาฯ พปชร.” ธรรมนัส พรหมเผ่า” เผย ที่ประชุมบอร์ดกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (สทบ.) ไฟเขียวพักชำระหนี้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ช่วยประชาชนรากหญ้าลดภาระค่าใช้จ่ายส่งเสริมการประกอบอาชีพช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ร้อยเอกธรรนนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปขร.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีข่าวดีถึงพี่น้องประชาชนรากหญ้า จากการที่พรรค พปชร.ได้ร่วมผลักดันโครงการพักชำระหนี้ในการช่วยเหลือสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดภาระค่าครองชีพ รวมถึงปัญหาหนี้นอกระบบ ให้สมาชิกฯ สามารถผ่อนคลาย และนำเงินที่เหลือจากการส่งกองทุนนำไปเป็นทุนไปประกอบอาชีพสร้างรายได้ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นั้น ล่าสุดโดยโครงการดังกล่าวได้ผ่านมติการพิจารณาเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (สทบ.) เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ที่ผ่านมาเพื่อให้เป็นไปตามที่มติของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองกำหนด

ทั้งนี้ คุณสมบัติของสมาชิกฯ ที่จะได้สิทธิ์เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องเป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนชุมชนเมืองที่มีประวัติการชำระหนี้ที่ดีและไม่ผิดนัด ที่มีความประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการลดภาระทางการเงินกับกองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนเมือง รวมถึงสมาชิกฯ ที่มีประวัติการผิดนัดชำระหนี้ แต่หากปรากฏว่ามีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดโดยสุจริต ก็สามารถเข้าร่วมร่วมโครงการฯ ได้ ซึ่งเป็นไปตามการพิจารณาเป็นรายๆ จากคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนชุมชนเมือง

สำหรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาจากผลการประกอบอาชีพของสมาชิกฯ ต้องมีอาชีพ และมีรายได้อื่นๆ ของสมาชิกฯ และครอบครัว การค้ำประกัน รวมถึงความสามารถในการชำระคืนหนี้ของสมาชิกฯ มาใช้ในการประกอบการพิจารณาตามความเหมาะสมในการผ่อนผันการชำระหนี้ของสมาชิกฯ แต่ละราย ซึ่งสามารถขอพักชำระเงินต้นเป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยเงื่อนไขให้ส่งเฉพาะดอกเบี้ย เพื่อให้กองทุนสามารถนำรายได้จากดอกเบี้ยมาใช้บริหารจัดการกองทุนรวมถึงจัดสวัสดิการต่างๆ ให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนชุมชนเมือง รวมถึงประชาชนในหมู่บ้านและชุมชน ทั้งนี้ สมาชิกฯ ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว จะต้องจัดทำแผนการออมเงินและแผนในการฟื้นฟูศักยภาพการประกอบอาชีพเสริม เช่น การเข้าร่วมโครงการกองทุนต้นไม่ร่วมพัฒนา การปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต การพัฒนาศักยภาพการประกอบอาชีพ เป็นต้น เพื่อให้เศรษฐกิจชุมชนสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้

“ที่ผ่านมา พี่น้องประชาชนที่เป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯประสบความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิดระบาด ทำให้ขาดรายได้ ซึ่งท่านพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและในฐานะหัวหน้าพรรคฯมีความห่วงใยอย่างมาก เนื่องจากได้รับทราบมาว่า ชาวบ้านหลายรายต้องไปหากู้หนี้ยืมสินนอกระบบ ที่คิดอัตราดอกเบี้ยถึงร้อยละ 10 เพื่อนำมาผ่อนชำระเงินกองทุนหมู่บ้านฯ และยังตกเป็นเหยื่อนายทุนเงินกู้อีก ทำให้เดือดร้อนซ้ำเติมในยามที่จะต้องหาเงินไปใช้หนี้เงินกู้ดังกล่าว จึงได้กำชับให้ทางพรรคฯประสานและเร่งผลักดันโครงการพักชำระหนี้ในการช่วยเหลือสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯครั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือลดภาระประชาชน ต่อไป” ร้อยเอกธรรมนัส กล่าว

ที่มา : facebook.com/PPRPThailand/
เมื่อวันที่ : 3 พฤศจิกายน 2564

“รมว.ศึกษา” เร่งหากลไกลดภาระหนี้ครู เล็งปรับ เกณฑ์ดบ.-ดึงเงินอนาคตช่วย

, ,

“รมว.ศึกษา” เร่งหากลไกลดภาระหนี้ครู เล็งปรับเกณฑ์ดบ.-ดึงเงินอนาคตช่วย

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ ว่า ที่ประชุมหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยต้องดึงสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเข้ามาช่วยเหลือ เพราะครูกว่า 60% เป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ดังนั้นสหกรณ์ออมทรัพย์ครูถือเป็นเจ้าหนี้ที่ใหญ่ที่สุด ที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี รับหน้าที่ดูแลและช่วยเหลือหนี้สินข้าราชการทั้งระบบ ซึ่งนายสุพัฒนพงษ์ จะเป็นตัวกลางที่เข้าไปพูดคุยกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครู ขณะเดียวกัน ศธ.จะกลับมาดูรายละเอียดต่างๆ เพื่อปรับหลักเกณฑ์ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ ศธ.จะเร่งแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด เพื่อให้ครูมีเงินเดือนเหลือเงินใช้ และสามารถอยู่ได้

นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมหารือถึงเครื่องมือที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู พร้อมกับวิเคราะห์ว่าจะสามารถใช้ได้จริงมากน้อยแค่ไหน เช่น การลดดอกเบี้ยเงินฝาก และดอกเบี้ยเงินกู้ หากทำการลดดอกเบี้ยแล้วจะช่วยแบ่งเบาภาระของครูได้อย่างไรบ้าง หรือนำเงินในอนาคตของครู เช่น เงินค่าหุ้นที่อยู่ในสหกรณ์ออมทรัพย์ครู เงินบำเหน็จตกทอด และเงินสะสมกองทุนบำเหน็จข้าราชการ (กบข.) เป็นต้น มานำเงินส่วนนี้มาลดยอดหนี้ได้หรือไม่ เพื่อทำให้ครูผ่อนชำระได้คล่องตัวมากขึ้นแทนที่จะมานั่งจ่ายเงินกู้จำนวนมาก และการตัดเงินเดือน จะต้องปรับเกณฑ์อย่างไรเพื่อไม่ให้ครูได้รับความเดือดร้อน เช่น อาจจะตัดเฉพาะยอดหนี้ของครู แต่ไม่ตัดยอดในส่วนอื่นๆ เป็นต้น

“รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ต้องการเร่งแก้ปัญหาหนี้สินครูให้เร็วที่สุด พร้อมกับเน้นย้ำว่าต้องรีบจัดทำมาตรการลดหนี้สิ้นครูให้มีความชัดเจน และนำเครื่องมือที่หารือกันวันนี้ หากเห็นว่าเครื่องมือไหนที่มีความพร้อม มีประสิทธิภาพ ให้รีบนำไปปฏิบัติใช้ทันที นอกจากนี้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ได้รายงานแนวทางแก้หนี้สินให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี รับทราบเป็นระยะ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี ได้ตรวจสอบและเห็นว่า ขอให้ศธ.เร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินครูโดยเร็ว” นายสิทธิชัย กล่าว

นายสิทธิชัย กล่าวต่อว่า เมื่อเร็วๆนี้ ตนได้หารือร่วมกับผู้บริหารธนาคารออมสิน เรื่องแก้ไขปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบ ซึ่งธนาคารออมสินยินดีช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยหลังจากนี้คณะทำงานแก้ไขปัญหา
หนี้สินครูฯ จะเร่งเข้าไปเจรจาหน่วยงานที่ปล่อยเงินกู้ให้ครู เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ว่าจะไปลดค่าใช้จ่ายให้อย่างไร และทางธนาคารออมสินจะเข้าไปช่วยเหลืออย่างไร เพื่อให้สหกรณ์ลดดอกเบี้ยให้ครูต่อไป ส่วนความคืบหน้าโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน ในระยะที่ 1 มานำร่งแก้ไขปัญหาครู ขณะนี้มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครู เข้ารวมโครงการ 20 แห่ง มีสมาชิกทั้งหมดเกือบ 200,000 คน และขนาดนี้อยู่ระหว่างเปิดรับสมัครสหกรณ์ออมทรัพย์ ในระยะ 2 คาดว่าจะมีสหกรณ์ออมทรัพย์ สนใจเข้าร่วมประมาณ 30-40 แห่ง คาดว่าหากมีสหกรณ์ออมทรัพย์ครู เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น ภายใน 2 เดือนนี้ จะเห็นผลการแก้ไขปัญหา เช่น ครูมีสภาพคล่องในการชำระหนี้อย่างไร ครูมียอดหนี้ลดลงมาอย่างไร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ต่อไปคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ จะเร่งทงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาหนี้สินครูต่อไป คาดว่าจะสามารถ MOU กับสหกรณ์ออมทรัพย์ในเร็วๆนี้

ที่มา : facebook.com/PPRPThailand/
เมื่อวันที่ : 2 พฤศจิกายน 2564

พล.อ.ประวิตร ย้ำจุดยืนพรรคยึดมั่นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษตริย์เป็นประมุข

, ,

พล.อ.ประวิตร ย้ำจุดยืนพรรคยึดมั่นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษตริย์เป็นประมุข
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรค พลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยถึง กรณีต่อข้อเสนอแก้กฎหมายอาญา มาตรา 112 และ มาตรา 116 เข้าไปพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ว่า พรรค พปชร. มีเป้าหมายและจุดยืนในเรื่องของการ ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่มุ่งการเดินหน้าแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง พรรคพร้อมรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนในสังคม แต่ต้องไม่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นสถาบันหลัก ธำรงไว้ ให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้า
มาจนถึงทุกวันนี้

ที่มา : facebook.com/PPRPThailand/
เมื่อวันที่ : 1 พฤศจิกายน 2564