โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

หมวดหมู่: กิจกรรม ส.ส ตรีนุช เทียนทอง

“พล.อ.ประวิตร”ชื่นมื่น คณะกก.บห.-สส.พปชร.ยกทัพอวยพรปีใหม่ กำชับให้สส. ลงพื้นที่ทุ่มเททำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน

,

“พล.อ.ประวิตร”ชื่นมื่น คณะกก.บห.-สส.พปชร.ยกทัพอวยพรปีใหม่
กำชับให้สส. ลงพื้นที่ทุ่มเททำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน

26 ธันวาคม 2566. กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ( สส.)ของพรรค ได้เข้าพบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เพื่อกราบสวัสดีปีใหม่ 2567 นำโดย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฯ และประธานยุทธศาสตร์พรรค ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ เลขาธิการพรรค นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรองหัวหน้าพรรค นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรค นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รองหัวหน้าพรรค นายวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรค นายวราเทพ รัตนากร กรรมการนโยบายฝ่ายอำนวยการพรรคพลังประชารัฐ พร้อมด้วยคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค อดีตผู้สมัครพปชร. และบุคลากร ทีมงานของพรรคที่เข้ามาร่วมอวยพรอย่างพร้อมเพรียง ที่บ้านป่ารอยต่อ ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น ทั้งนี้พล.อ.ประวิตร กล่าวทักทายสมาชิกด้วยสีหน้ายิ้มแย้มสดใส เปี่ยมไปด้วยความร่าเริงอย่างเป็นกันเอง

“พล.อ.ประวิตร ยังได้อวยพรปีใหม่ให้ ผู้บริหารพรรค สส.พปชร.ทุกคน พร้อมขอขอบคุณที่มาอวยพรในวันนี้ โดยกล่าวกับสมาชิกพรรคทุกคน ขอฝากพรรคไว้กับทุกคน ช่วยกันดูแลพรรคให้มีความเข้มแข็ง เพราะเราอยากจะพัฒนาเป็นสถาบันการเมือง ที่เดินหน้าดูแลพี่น้องประชาชน และประเทศชาติต่อไป และพรที่ทุกคนให้มา ขอส่งกลับไปให้กับผู้บริหาร และสส.ทุกคน ให้ได้ร้อยเท่าพันทวี มีสุขภาพแข็งแรงเป็นหลักชัยให้พรรคพลังประชารัฐ ทำเพื่อพี่น้องประชาชนต่อไป”

ที่สำคัญขอให้ทุกคนลงพื้นที่เพื่อดูแลประชาชนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะขณะนี้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.นราธิวาส ที่กำลังประสบภัยน้ำท่วมต่อเนื่อง ขอให้มีการติดตามและดูแลประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้พล.ต.อ.พัชรวาท ได้เป็นตัวแทนมอบพวงมาลัย และกล่าวคำอวยพร ให้กับพล.อ.ประวิตร เป็นกำลังใจของพวกเราทุกคน และขอให้มีสุขภาพแข็งแรง โดยมี ร.อ.ธรรมนัส และผู้บริหารพรรค สส. ทุกคนร่วมอวยพร และยังได้แสดงพลังความพร้อมเพรียง ร้องไชโยร่วมกัน 3 คร้ัง

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 26 ธันวาคม 2566

“พล.อ.ประวิตร”ร่วมพิธีพุทธาภิเษก และครุฑธาภิเษก วัดครุฑธาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

,

“พล.อ.ประวิตร”ร่วมพิธีพุทธาภิเษก และครุฑธาภิเษก วัดครุฑธาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วันนี้ (24 ธ.ค.66) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, น.ส.ตรีนุช เทียนทอง สส.สระแก้ว อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ, พล.อ.กฤษณ์โยธิน ศศิพัฒนวงษ์ นายทะเบียนสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ, นายโชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ สส.สิงห์บุรี และสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ร่วมพิธีมหาพุทธาภิเษกและครุฑธาภิเษก ในฐานะประธานฝ่ายฆราวาส ณ มณฑลพิธี วัดครุฑธาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โดย พล.อ.ประวิตร ได้จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย พร้อมถวายเครื่องปัจจัยไทยธรรมแด่พระเถราจารย์นั่งปรก และพระพิธีธรรม และร่วมกรวดน้ำและรับพรจากพระภิกษุสงฆ์ โดยมีพระพรหมวัชรเมธี เจ้าคณะภาค9 วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร เป็นประธานพิธีฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยพระเกจิคณาจารย์ จำนวน 36 รูปจากทั่วประเทศ ร่วมเมตตานั่งปรกอธิษฐานจิตปลุกเสกวัตถุมงคลในครั้งนี้

สำหรับวัตถุมงคลพญาครุฑ รุ่น “สมบัติแผ่นดิน 140 ปี ไปรษณีย์ไทย” จัดทำขึ้นเพื่อสืบสานตำนานศิลป์ปฐมบท “ครุฑยุดแตรงอน” สัญลักษณ์ของกรมไปรษณีย์โทรเลข ซึ่งจำลองมาจากประติมากรรมที่ประดับบนอาคารไปรษณีย์กลาง ที่ได้รับการออกแบบโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ได้รับการขนามนามว่าเป็นบิดาแห่งวงการศิลปะ

สำหรับ บรรยากาศบริเวณพิธีเต็มไปด้วยผู้มีจิตศรัทธา ผู้ว่าราชการจังหวัดอยุธยา ข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน และสาธุชนที่มาให้การต้อนรับ พล.อ.ประวิตร และคณะ ได้เข้าร่วมพิธีสร้างบุญกุศลเพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นจำนวนมาก

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 24 ธันวาคม 2566

“สส. ตรีนุช” เผย “พล.อ.ประวิตร” เตรียมลงพื้นที่รับฟังปัญหาและข้อร้องเรียนของ ปชช.ที่ จ.เพชรบูรณ์-หนองคาย วันที่ 8 และ 12 ม.ค.67

,

“สส. ตรีนุช” เผย “พล.อ.ประวิตร” เตรียมลงพื้นที่รับฟังปัญหาและข้อร้องเรียนของ ปชช.ที่ จ.เพชรบูรณ์-หนองคาย วันที่ 8 และ 12 ม.ค.67

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง สส.สระแก้ว รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมการด้านกิจกรรมสัมพันธ์ กล่าวว่า พรรคมีแนวคิดในการจัดพรรคสัญจร เพื่อลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาต่างๆ ของประชาชนในแต่ละพื้นที่ โดยในวันที่ 8 ม.ค.67 จะลงพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ มอบโฉนดที่ดิน โดย พล.อ.ประวิตรและพรรคจะไปดูเรื่องน้ำและที่ดินทำกิน ซึ่งพรรคพลังประชารัฐได้ทำมาตลอด และ พล.อ.ประวิตรให้ความสำคัญตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง และนับตั้งแต่เดือน ม.ค.67 จะมีการขับเคลื่อนเรื่องแปลง ส.ป.ก. เป็นโฉนด หัวหน้าพรรคจึงต้องการลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหา อุปสรรค และข้อร้องเรียน โดย จ.เพชรบูรณ์ มีเรื่องร้องเรียนค่อนข้างมาก

“พล.อ.ประวิตร ต้องการไปรับฟังปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้การทำงานในรัฐบาลที่ดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างราบรื่น และในวันที่ 12 ม.ค.67 จะลงพื้นที่ จ.หนองคาย เพื่อไปติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ ด้วย”

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 19 ธันวาคม 2566

“ตรีนุช” มั่นใจจังหวัดสระแก้วสร้างนวัตกรรมการศึกษาตอบโจทย์พื้นที่ พร้อมดึงทุกภาคส่วนวางระบบศึกษาสอดรับความต้องการในพื้นที่

,

“ตรีนุช” มั่นใจจังหวัดสระแก้วสร้างนวัตกรรมการศึกษาตอบโจทย์พื้นที่ พร้อมดึงทุกภาคส่วนวางระบบศึกษาสอดรับความต้องการในพื้นที่

วันนี้ (23 ก.พ. 66) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวเปิดประชุม “การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสระแก้ว สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ว่า จังหวัดสระแก้วเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่จะต้องการปฏิรูปการบริหารการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา สร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ให้คนไทยได้เรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของพื้นที่ ตั้งเป้าให้พื้นที่หรือจังหวัดจัดระบบการศึกษาด้วยตนเอง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และมุ่งหวังให้โรงเรียนพัฒนาตนเอง ยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง พร้อมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมทั้ง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม เพื่อนำร่องการกระจายอำนาจ และ ให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษา เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และพัฒนาคุณภาพการศึกษา อย่างมีประสิทธิภาพ

รมว.ศธ. กล่าวอีกว่า จังหวัดสระแก้วได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสระแก้ว โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีสถานศึกษาจากทุกสังกัด จำนวน 73 แห่ง หรือ เท่ากับ 1 ใน 4 ของสถานศึกษาทั้งหมดในจังหวัดสระแก้ว สมัครเข้าเป็นสถานศึกษานำร่อง ซึ่งตนขอชื่นชมสถานศึกษาทุกแห่งที่สมัครเข้าเป็นสถานศึกษานำร่องนับเป็นความท้าทายต่อตัวเอง และเป็นความกล้าหาญ ที่พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาให้เกิดขึ้น โดยที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัด ทีมงานการศึกษาในพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ได้ริเริ่มสิ่งดีๆ ด้านการศึกษาให้แก่จังหวัดมากมาย มีการขับเคลื่อนการศึกษา เช่น โครงการพาน้องกลับมาเรียน รวมถึงการดำเนินจัดการศึกษาช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างโดดเด่น และการที่จังหวัดสระแก้วได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ก็ถือเป็นโอกาสทองของจังหวัดที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ให้ทุกภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและยกระดับคุณภาพการศึกษาจังหวัด

“อย่างไรก็ตามช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การกระจายอำนาจทางการศึกษา ให้อิสระกับหน่วยงานในพื้นที่ โดยไม่มีข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอาจต้องพบเจอปัญหา อุปสรรคการดำเนินงาน และอาจมีข้อคิดเห็นที่ไม่ตรงกันเกิดขึ้น จึงอยากให้ทุกฝ่ายมองเห็นถึงเป้าหมายทางการศึกษาร่วมกัน คือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับเด็กๆ มีการเปิดกว้างทางความคิด มีความเป็นผู้นำ สร้างเอกภาพ เป็นทีมเวิร์ค เพื่อดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย และขอฝากให้คณะกรรมการขับเคลื่อนของจังหวัดสระแก้ว ใช้ประสบการณ์ที่มีร่วมกับประสบการณ์ในการทำงานของพื้นที่นวัตกรรมรุ่นแรกของทีมส่วนกลาง ทำให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของสระแก้วสามารถสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ของพื้นที่และขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างก้าวกระโดด และความสำเร็จในการยกระดับคุณภาพศึกษาของจังหวัดสระแก้ว จะนำมาขยายผลเพื่อเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศได้ต่อไป” นางสาวตรีนุช กล่าว.

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2566

‘ตรีนุช’ ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์ PM 2.5 ให้อำนาจ ผอ.ตัดสินหากพบค่าฝุ่นพุ่ง สั่งหยุดเรียนออนไซต์ได้ทันที

, ,

‘ตรีนุช’ ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์ PM 2.5 ให้อำนาจ ผอ.ตัดสินหากพบค่าฝุ่นพุ่ง สั่งหยุดเรียนออนไซต์ได้ทันที

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่โรงเรียนวัดอมรินทราราม กรุงเทพมหานคร น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ว่า เนื่องจากหลายจังหวัด โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคกลาง มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินมาตรฐานหลายแห่ง ศธ.มีความเป็นห่วงนักเรียนอย่างมาก และที่ผ่านมาได้เน้นย้ำให้สถานศึกษาเป็นสถานที่ปลอดภัยต่อนักเรียนในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติด้านสุขภาพ โดย PM 2.5 ส่งผลกระทบกับร่างกายของเด็ก และครูอย่างมาก เพราะส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจโดยตรง จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม พบว่าโรงเรียนอยู่ในเขตพื้นที่สีส้ม หรือ เป็นค่าฝุ่นที่เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว ซึ่งทางโรงเรียนก็สามารถเตรียมการรับมือได้ดี เช่น ให้นักเรียนสวมหน้ากากอนามัยอยู่ตลอด กรณีที่พบเด็กมีอาการระคายเคือง ก็จะล้างจมูกให้เด็กทันที ประกอบโรงเรียนได้รับการสนับสนุนจากโรงพยาบาลศิริราชที่ให้เครื่องฟอกอากาศมาติดในห้องเรียน ทำให้มั่นใจได้ว่าเมื่อเด็กอยู่ในห้องเรียนจะไม่ได้รับผลกระทบจาก PM 2.5

น.ส.ตรีนุชกล่าวต่อว่า ศธ.ได้ประกาศมาตรการป้องกัน แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่งกำหนดมาตรการมาตรการเร่งด่วน และมาตรการระยะยาว เพื่อให้หน่วยงานและสถานศึกษาใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติเดียวกัน และตนที่จะกำชับให้แต่ละสถานศึกษาดูว่าในพื้นที่ของตนนั้น ค่าฝุ่นเป็นเช่นไร และขอให้แต่ละพื้นที่ดูแล เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อให้โรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนต่อได้ หากโรงเรียนอยู่ในพื้นที่สีแดง และสีส้ม ก็ขอให้งดกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อให้ไม่ส่งผลกระทบกับสุขภาพของนักเรียน

“แต่ละพื้นที่จะมีบริบทไม่เหมือนกัน มีความรุนแรงของ PM 2.5 ไม่เหมือนกัน ขอให้สถานศึกษาติดตามข่าวสาร และคอยอัพเดตข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ อยู่เสมอ ทั้งนี้ ศธ.ได้ให้อำนาจกับผู้อำนวยการโรงเรียน พิจารณาว่าควรจะปรับรูปแบบการเรียนการสอนหรือไม่ เช่น หากพบค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีแดง หรือ สีส้ม ก็อาจจะสั่งหยุดเรียนออนไซต์ และให้นักเรียนไปเรียนออนไลน์ เป็นต้น แต่การพิจารณาหยุดเรียน หรือปรับการเรียนการสอนนั้น ขอให้ประสานและทำงานร่วมกับฝ่ายปกครองด้วย โดยให้ดูว่าผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่ง และมีมาตรการรับมืออย่างไร และขณะนี้ ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีโรงเรียนไหนหยุดเรียนไปแล้วบ้าง” น.ส.ตรีนุช กล่าว.

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 3 กุมภาพันธ์ 2566

“ตรีนุช” จับมือฝรั่งเศส เปิดโลกอวกาศ จูงใจเด็กไทยสนใจนวัตกรรมเทคโนโลยี

,

“ตรีนุช” จับมือฝรั่งเศส เปิดโลกอวกาศ จูงใจเด็กไทยสนใจนวัตกรรมเทคโนโลยี

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2566 ที่สวนเบญจกิตติ กรุงเทพฯ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบหมายจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานเฉลิมฉลอง “ปีแห่งนวัตกรรมไทย – ฝรั่งเศส ปี 2566” (2023 Thailand – France Year of Innovation) ภายใต้หัวข้อ “อวกาศ” เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระดับทวิภาคีระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐฝรั่งเศส และสะท้อนศักยภาพทางนวัตกรรมของทั้งสองประเทศ โดยมี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสมาชิกวุฒิสภา, นายโอลิวิเย่ เบชท์ รัฐมนตรีด้านการค้าต่างประเทศของฝรั่งเศสและสังกัดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุโรปและการต่างประเทศ, นางโคลดี แอกแนร์ อดีตนักบินอวกาศหญิงคนแรกของฝรั่งเศส, พลเอก ชอง ปิแอร์ แอกแนร์ อดีตนักบินอวกาศฝรั่งเศส, นายตีแยรี มาตู เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย, นายโอลิวิเย่ ดาเก เจ้าของมูลนิธิหนังสือเจ้าชายน้อย (Le Petit Prince), เยาวชน และผู้สนใจทั่วไป เข้าร่วม

นางสาวตรีนุช เปิดเผยว่า ความร่วมมือ “ปีแห่งนวัตกรรมไทย – ฝรั่งเศส ปี 2566” มาจาก นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้เดินทางมาพบกับนายกรัฐมนตรีไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยทั้งสองประเทศได้ร่วมหารือกันจัดงานขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านนวัตกรรมระหว่างไทยกับฝรั่งเศส โดยมุ่งเน้นความร่วมมือใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านอวกาศ ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green (BCG) Economy) ด้านสุขภาพ และด้านอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง โดยประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์อันดีและมีความร่วมมือกันในหลายด้าน รวมถึงด้านการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งเสริมและปลูกฝังความคิดในการคิดค้นนวัตกรรมให้กับเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะด้าน “อวกาศ” ที่เป็นหัวข้อของงานเปิดตัวในวันนี้ เป็นหัวข้อที่เด็กและเยาวชนสนใจและสามารถสร้างแรงบันดาลใจได้ ตนเชื่อว่าความร่วมมือนี้จะช่วยให้เด็กและเยาวชนเกิดแรงจูงใจต่อการศึกษาและการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อมาสร้างอนาคตที่ดีให้กับประเทศชาติต่อไปได้

“การจัดงานในวันนี้ มีกิจกรรมถ่ายทอดประสบการณ์ของสองอดีตนักบินอวกาศฝรั่งเศส การจัดนิทรรศการนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางอวกาศ การจัดแสดงดาวเทียม THEOS-2 ที่สร้างขึ้นโดยฝรั่งเศสและไทยเป็นเจ้าของ กิจกรรมการดูดวงจันทร์และดาวพฤหัสบดี การแสดงบินโดรน และนิทรรศการ “เจ้าชายน้อย” วรรณกรรมระดับโลก ซึ่งจะใช้เป็นตัวละครหลักในการสื่อสารในกิจกรรมนี้ตลอดทั้งปี ดิฉันหวังว่ากิจกรรมนี้จะทำให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่เกิดความสนใจและอยากเรียนรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น รวมถึงเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทั้งสองประเทศด้วย” นางสาวตรีนุช กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 27 มกราคม 2566

“ตรีนุช” รุกแผนปฏิบัติการพัฒนากําลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง เพิ่มทักษะอาชีวะรับอุตสาหกรรมใหม่มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยยั่งยืน

, ,

“ตรีนุช” รุกแผนปฏิบัติการพัฒนากําลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง
เพิ่มทักษะอาชีวะรับอุตสาหกรรมใหม่มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยยั่งยืน

วันนี้ (23 ม.ค.2566) ที่วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จ.ปทุมธานี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประชุมวิชาการปัจจุบันสู่อนาคตการผลิตและพัฒนากําลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูงเพื่อการพัฒนาประเทศ “สื่อสาร ส่งเสริม สู่การปฏิบัติ” ซึ่งเป็นการประชุมผู้บริหารระดับภูมิภาคของสถาบันการอาชีวศึกษา วิทยาลัยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ทั้งของรัฐและเอกชน ในเขตภาคกลาง ภาคตะวันออก และกรุงเทพมหานคร

โดย นางสาวตรีนุช กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสําคัญในการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย ในส่วนของอาชีวศึกษา ได้เน้นย้ำการพัฒนาคุณภาพวิชาชีพ และแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยการจัดระบบและกลไกความร่วมมือ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในรูปแบบทวิภาคีที่ชัดเจน ซึ่งเป็นการพัฒนากําลังคนให้มีทักษะ เพื่อให้การอาชีวศึกษาเป็นกลไกสําคัญในการสนับสนุน และส่งเสริมระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็ง มั่นคง ซึ่งเป็นนโยบายที่ชัดเจน และเป็นแนวทางปฏิบัติที่ต้องยึดถือในการสร้าง คุณภาพทางการศึกษา

“ดิฉันขอชื่นชมในวิสัยทัศน์ ‘ผลิตและพัฒนากําลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง เพื่อการพัฒนาประเทศ ซึ่ง สอศ. ได้กําหนดเป้าหมายเพิ่มจํานวนผู้เรียนในหลักสูตรการเรียนการสอนทวิภาคี ให้ได้ร้อยละ 50 ของผู้เรียนทั้งหมด หรือ จํานวน 511,177 คน ในปี 2568 จึงนับเป็นความท้าทายของผู้บริหารการศึกษาทุกท่าน หากสามารถร่วมมือกันทําได้สําเร็จไม่เพียงจะส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียน ยังเป็นการเสริมสร้างรากฐานของชุมชน และสังคมได้ อย่างเข้มแข็ง นอกจากนี้การเดินหน้าสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาในโครงการอาชีวะ อยู่ประจํา เรียนฟรี มีอาชีพ, การปฏิรูปและยกระดับ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั้ง 48 แห่ง ภายใต้แนวคิด 1 ฟาร์ม 1 วิทยาลัย, การผลิตและพัฒนากําลังคนในสาขายานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการส่งเสริมความเป็นเลิศเฉพาะทางภายใต้โครงการ CVM และ Excellent Center ซึ่งเป็นโครงการขับเคลื่อนที่สําคัญในการยกระดับคุณภาพทางการศึกษา” นางสาวตรีนุช กล่าว.

อย่างไรก็ตามเป้ามายจะสำเร็จได้คือ ผู้บริหารสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมระดมความคิด เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคให้สอดรับกับบริบทขอิงแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันเพื่อให้สถานศึกษาที่อยู่ห่างไกล หรือยังต้องการความช่วยเหลือ ให้ได้มีโอกาสพัฒนาและสามารถเข้ามาฝึกงานในสถานที่ปฏิบัติงานจริง ได้ใช้เทคโนโลยีจริง ทั้งนี้ ขอขอบคุณบุคลากร สอศ.ทุกท่านที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ในการผลิตและพัฒนากําลังคนด้านวิชาชีพให้มีคุณภาพ คุณธรรมสอดคล้องกับความต้องการพัฒนาประเทศ ได้ขับเคลื่อนการดําเนินงานให้เชื่อมโยงกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐบาล นโยบายจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ สิ่งที่ทุกท่านกําลังดําเนินการอยู่ จะเป็นประโยชน์แก่ผู้เรียน ซึ่งถือเป็นการสร้างทรัพยากรบุคคลให้เป็นผู้มีความรู้ มีทักษะวิชาชีพเพื่อการมีงานทำ และพัฒนาประเทศชาติต่อไป.

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 23 มกราคม 2566

“รมว.ตรีนุช” ชื่นชมเวทีแลกเปลี่ยนความเป็นเลิศด้านการศึกษา สพฐ. ย้ำต้องสอนให้เด็กคิดเป็น-ทำเป็นเพิ่มทักษะความเป็นผู้นำ

,

“รมว.ตรีนุช” ชื่นชมเวทีแลกเปลี่ยนความเป็นเลิศด้านการศึกษา สพฐ. ย้ำต้องสอนให้เด็กคิดเป็น-ทำเป็นเพิ่มทักษะความเป็นผู้นำ

วันนี้ (22 ธ.ค. 65) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานเปิดนิทรรศการกิจกรรมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best practices) ของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พร้อมมอบนโยบายการขับเคลื่อนการศึกษาและเยี่ยมชมผลงานแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของสถานศึกษา 13 แห่ง โดยมี ผู้บริหาร สพฐ. ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในพื้นที่ กทม. เข้าร่วม ณ ห้องประชุมอาคารนานาชาติ โรงเรียนโพธิสารพิทยากร

นางสาวตรีนุช กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขับเคลื่อนการศึกษาโดยมุ่งเน้นที่การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา และยกระดับคุณภาพทางการศึกษา ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเตรียมความพร้อมบุคคล ที่เป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศ ให้มีความสามารถที่จะเติบโตเป็นผู้นำ พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงทุกมิติที่จะเกิดขึ้นกับบริบทของสังคมในโลกศตวรรษที่ 21

“เป้าหมายทางการศึกษาต่อไป ต้องมุ่งการยกระดับคุณภาพทางการศึกษา โดยเฉพาะโครงการโรงเรียนคุณภาพที่จะช่วยสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนทรัพยากรระหว่างกันอย่างเข้มแข็ง พร้อมการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลาย ตามความถนัด ความสนใจ และเหมาะสมกับผู้เรียน โดยนำการเรียนการสอน รูปแบบ Active Learning มาใช้ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีทักษะการคิดวิเคราะห์และสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ รวมถึงเพิ่มความสำคัญในวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง โดยเรียนรู้ตามความพร้อมและเหมาะสมในแต่ละบริบทพื้นที่ ตลอดจนสนับสนุนการเรียนการสอนหลักสูตรทวิศึกษาและโครงการอาชีวะอยู่ประจำเรียนฟรีมีอาชีพ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ทักษะอาชีพมากขึ้น ทั้งนี้ ดิฉันขอบคุณทุกฝ่ายที่เป็นพลังผลักดันขับเคลื่อนงาน โดยมีเป้าหมายของการจัดการศึกษาร่วมกัน คือ เพื่อคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ” รมว.ศธ. กล่าว

นางสาวตรีนุช กล่าวต่อว่า การจัดงานนิทรรศการกิจกรรมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนี้ เป็นกิจกรรมที่ดีที่สถานศึกษาในสังกัดของ สพฐ. ที่สามารถนำนโยบายไปลงมือปฏิบัติได้เป็นอย่างดีและเหมาะสมตามสภาพบริบทของแต่ละแห่ง ซึ่งภายในงานมีการนำเสนอผลงานแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศจากสถานศึกษาต่างๆ เช่น แนวทางการจัดการศึกษาเพื่อเตรียมสู่อาชีพระดับมัธยมศึกษา โดยเตรียมความพร้อมและค้นหาความถนัดความสนใจในระดับ ม.ต้น และออกแบบ 10 แผนการเรียนเตรียมอาชีพ อาทิ แผนการเรียนเตรียมแพทย์, เตรียมเภสัช-สหเวช, เตรียมวิศวะ, เตรียมสถาปัตย์ ฯลฯ จากโรงเรียนโพธิสารพิทยากร ครูตำรวจที่สามารถมาถึงสถานศึกษาได้ภายใน 5 นาทีที่ได้รับแจ้ง จากโรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชบางเขน การจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์โดยบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับหลักสูตรสถานศึกษา พร้อมต่อยอดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สู่งานอาชีพ จากโรงเรียนดอนเมืองจาตุรจินดา การจัดทำห้องเรียนอาชีพร่วมกับวิทยาลัยสารพัดช่างพระนครเพื่อการมีงานทำ จากโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี ซึ่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้จะช่วยเปิดมุมมองในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนและยกระดับคุณภาพการศึกษาได้ต่อไป.

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 22 ธันวาคม 2565

“รมว.ตรีนุช” ลงพื้นที่หนองคาย ปลื้มผลงานขับเคลื่อนนโยบายโรงเรียนคุณภาพ-คลินิก 3R

,

“รมว.ตรีนุช” ลงพื้นที่หนองคาย ปลื้มผลงานขับเคลื่อนนโยบายโรงเรียนคุณภาพ-คลินิก 3R

วันนี้ ( 11 ต.ค.2565) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ตนได้ลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย โดยได้ตรวจเยี่ยมสถานศึกษา สังกัดสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) หนองคายเขต 2 จำนวน 2 โรงเรียน คือ ที่โรงเรียนบ้านโนนสวรรค์ สอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ถึง ม.3 เป็นโรงเรียนคุณภาพระดับประถมศึกษา มีโรงเรียนเครือข่าย จำนวน 10 โรงเรียน ทั้ง 11 โรงเรียน มีนักเรียน รวม 1,227 คน ครูและบุคลากรรวม 105 คน โดยในปีงบประมาณ 2565 ก็ได้มีการจัดสรรงบลงทุนสร้างอาคารให้ และตนก็ไม่ผิดหวังที่ได้เห็นการขับเคลื่อนนโยบายโรงเรียนคุณภาพอย่างจริงจัง มีแผนงานที่จะพัฒนาและใช้ทรัพยากรร่วมกันกับโรงเรียนเครือข่าย สามารถดึงนักเรียนที่ออกจากระบบกลับมาเรียนได้หลายคน มีการสร้างทักษะอาชีพให้นักเรียน มีการดูแลความปลอดภัยของระบบไฟฟ้า อาคาร และอุปกรณ์ต่างๆ เห็นถึงความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมจากการได้รับรางวัลของโรงเรียนและนักเรียน เห็นเพชรเม็ดงามในชนบท ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ก็จะเสนอขออนุมัติคณะรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนงบฯด้านต่างๆ เช่น ค่ารถในการนำเด็กจากโรงเรียนเครือข่ายมาเรียน และหาวิธีการขับเคลื่อนให้โรงเรียนเครือข่ายเกิดคุณภาพด้วย

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับโรงเรียนบ้านพระบาทนาหงส์ เป็นโรงเรียนประถมศึกษา สอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ถึง ป.6 ที่โรงเรียนนี้มีกิจกรรมเด่นๆ อาทิ กิจกรรมสภานักเรียน ส่งเสริมประชาธิปไตย ,คลินิก 3R เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้อ่านออก เขียนได้ และคิดเลขเป็นอย่างมีประสิทธิภาพ, จัดห้องสมุดมีชีวิต โดยจัดกิจกรรมอย่างหลากหลาย ซึ่งส่งผลให้ได้รับรางวัลชนะเลิศห้องสมุด 3 D และรางวัลชนะเลิศห้องสมุดส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ประจำปีการศึกษา 2565 นอกจากนี้ยังมีโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน ที่ส่งเสริมการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ มีสมรรถนะในการแก้ไขปัญหา อีกทั้งยังส่งผลถึงชุมชน ให้ผู้ปกครองและชุมชนมีแหล่งเรียนรู้ในการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ที่ สามารถนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามาผสมผสานกับงานด้านการเกษตรและแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการฟาร์มได้

“ดิฉันมาลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมโรงเรียน เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของ ศธ. ให้กำลังใจครู บุคลากร และผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งเมื่อเห็นนักเรียนมีความสุขแล้วก็หายเหนื่อย และขอชื่นชมครู และผู้บริหารโรงเรียนทุกคนที่ได้ทุ่มเททำงานต่อเนื่องหลายปี ซึ่งนักเรียนทุกคน ก็คือ ผลลัพธ์เชิงประจักษ์ในการทำงาน ดิฉันดีใจที่ได้เห็นเด็กๆได้ใช้ความรู้ที่เชื่อมโยงจากการอ่าน นำมาเป็นนิทาน และนำมาเป็นการแสดงออกต่างๆ อาทิ การฟ้อนรำนาฏศิลป์พื้นเมือง ซึ่งสอดคล้องกับนโนบาย Soft Skills ทักษะที่คนยุคใหม่ควรมี และสิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงการเรียนการสอนที่มีกลไกในการเรียนรู้แบบบูรณาการ การเรียนแบบ active learning ที่เป็นเป้าหมายของ ศธ.ซึ่งดิฉันจะนำไปเล่าให้จังหวัดอื่นๆได้ดูเป็นแบบอย่าง และขอฝากให้โรงเรียนฝึกฝนเรื่องจริยธรรม ศีลธรรม และประชาธิปไตยให้แก่เด็กๆ ซึ่งปัจจุบันบริบทของสังคมเปลี่ยนแปลงไปเด็กอยู่กับสื่อต่างๆในโลกโซเชียลเยอะ ดังนั้น ครู ต้องทำงานหนักมากขึ้นในการทำให้เด็กมีความมั่นคงและแข็งแกร่งในเรื่องของการมีจริยธรรม ศีลธรรม และ ที่สำคัญต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยในมิติต่างๆ รวมถึงการคัดกรองบุคคลเข้าออกสถานศึกษา” รมว.ศธ.กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 11 ตุลาคม 2565

“รมว.ตรีนุช” ดึงเทคโนโลยี-นวัตกรรมเสริมคุณภาพการศึกษา ปูทางเด็กไทยต่อยอดประกอบอาชีพเกษตรยุคใหม่

“รมว.ตรีนุช” ดึงเทคโนโลยี-นวัตกรรมเสริมคุณภาพการศึกษา ปูทางเด็กไทยต่อยอดประกอบอาชีพเกษตรยุคใหม่

, ,

(16 ส.ค.2565) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ตนได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี(วษท.)บุรีรัมย์ เพื่อให้กำลังใจนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี(วษท.)บุรีรัมย์ ซึ่งพบว่า ที่ วษท.บุรีรัมย์ มีการอบรมเชิงปฏิบัติการ การจัดการเรียนการสอนแบบฐานอาชีพ มีระบบดูแลเด็กนักเรียนและระบบการจัดการเรียนการสอนที่ดี โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรที่มีลักษณะเป็น block course ซึ่งสามารถเรียนและประกอบอาชีพได้ภายในหนึ่งภาคเรียน รวมถึงการอบรมครูและปรับทัศนคติของครู ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในการจัดการเรียนรู้ทางด้านเกษตร ซึ่งการทำการเกษตรในยุคใหม่จะนำนวัตกรรม smart farming มาใช้ในการลดต้นทุน ลดแรงงานในการจัดการ ผู้เรียนได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับเนื้อหาในการเรียนรู้สู่การเป็นผู้ประกอบการ มุ่งเน้นให้นักเรียน นักศึกษาอาชีวะได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง เพื่อสามารถต่อยอดในการประกอบอาชีพได้ในอนาคตด้วย

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ตนยังได้ตรวจเยี่ยมโรงงานแปรรูปนม ของ วษท.บุรีรัมย์ ซึ่งมีการผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ที่มีคุณภาพให้ได้มาตรฐาน GMP ปลอดภัยต่อผู้บริโภคทุกคน ตามหลักการอาหารปลอดภัย (Food Safety) โดยเฉพาะผู้บริโภคที่เป็นเด็กนักเรียนในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนโดยทางวิทยาลัยฯ ได้ทำข้อตกลงซื้อขายน้ำนมดิบจากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมปากช่อง โดยได้รับสิทธิ์ในการจัดสรร ในปีการศึกษา 2564 จำนวน 39,970 ถุงต่อวัน ทั้งนี้ น้ำนมดิบในช่วงเปิดภาคเรียนจะนำมาแปรรูปเป็นนมพาสเจอร์ไรส์ และจำหน่ายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อให้นักเรียนในโรงเรียนจังหวัดบุรีรัมย์ได้ดื่มนมโคสดแท้ เป็นการปลูกจิตสำนึกให้นักเรียนรักบ้านเกิด และมีสุขภาพอนามัยแข็งแรง เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนตามที่รัฐบาลวางเป้าหมายไว้

นอกจากนี้โรงงานแปรรูปนม วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ยังเป็นแหล่งศึกษาดูงาน ของนักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่สนใจ มีการรับนักเรียน นักศึกษาของวิทยาลัยฯ และสถาบันการศึกษาอื่นเข้าร่วมฝึกงาน อีกทั้งมีการต่อยอดนำรายได้จากการดำเนินงานเข้าเป็นรายได้สถานศึกษา เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนา สถานศึกษา และการจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัยฯ อีกด้วย.

“รมว.ตรีนุช” ดึงเทคโนโลยี-นวัตกรรมเสริมคุณภาพการศึกษา ปูทางเด็กไทยต่อยอดประกอบอาชีพเกษตรยุคใหม่ “รมว.ตรีนุช” ดึงเทคโนโลยี-นวัตกรรมเสริมคุณภาพการศึกษา ปูทางเด็กไทยต่อยอดประกอบอาชีพเกษตรยุคใหม่ “รมว.ตรีนุช” ดึงเทคโนโลยี-นวัตกรรมเสริมคุณภาพการศึกษา ปูทางเด็กไทยต่อยอดประกอบอาชีพเกษตรยุคใหม่ “รมว.ตรีนุช” ดึงเทคโนโลยี-นวัตกรรมเสริมคุณภาพการศึกษา ปูทางเด็กไทยต่อยอดประกอบอาชีพเกษตรยุคใหม่

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 16 สิงหาคม 2565

รมว.ตรีนุช”เดินหน้านโยบายการศึกษาเสมอภาค ดึงเยาวชนไทยเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มทุกระบบ

รมว.ตรีนุช”เดินหน้านโยบายการศึกษาเสมอภาค ดึงเยาวชนไทยเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มทุกระบบ

,

วันนี้ ( 9 ส.ค. 2565 ) ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ มีการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการพลิกโฉมการศึกษา (National Consultation for Transforming Education Summit) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมี นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย นายชิเกรุ อาโอยางิ ผู้อำนวยการ องค์การยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพฯ รศ.ดร. จีระเดช อู่สวัสดิ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดร. สัมพันธ์ ศิลปะนาฏ รองประธานสายงาน FTI Academy สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ดร. ไกรยศ ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วม

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) กล่าวเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า วันนี้เป็นการหารือร่วมกันของทุกภาคส่วนเพื่อแลกเปลี่ยนและกำหนดวิสัยทัศน์อนาคตด้านการศึกษา ขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิบัติที่ทำให้บรรลุเป้าหมายวาระการพัฒนาสหประชาชาติ ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 และเป็นการเตรียมความพร้อมในการพลิกโฉมการศึกษาของประเทศไทย ที่จะนำไปสู่ข้อเสนอแนะ และแสดงแนวทางการศึกษาของไทยต่อที่ประชุม Transforming Education Summit (TES) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2565 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ได้กำหนดนโยบาย และยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาไว้อย่างชัดเจน ว่า การขับเคลื่อนด้านการศึกษาๆ ต้องมุ่งเน้นถึงการสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค โดยไม่มีใครตกหล่นจากระบบการศึกษา เด็กไทยทุกคนต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับ และเป็นการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง รวมถึงมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม

“การพลิกโฉมเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของไทย เป็นประเด็นที่ท้าทายมาก โดยเฉพาะการฟื้นฟูการศึกษาหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งระบบการศึกษาจำเป็นต้องมีการปรับตัว ให้เข้ากับสถานการณ์และโลกในยุคหลังโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลและศธ. ได้รับมือโดยให้เด็กสามารถเรียนรู้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ตามบริบทและความเหมาะสมอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การจัดการศึกษาแบบ On-Air, Online, On-Demand, On-Hand และ On-Site ซึ่งการเรียนการสอนแบบ On-Site สำคัญมากที่สุด โดยมีเป้าหมายว่าท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ทำอย่างไรเราจะมีบริบทการเรียนการสอนที่เข้าถึงนักเรียน เพื่อให้เข้าถึงกระบวนการเรียนรู้ได้มากที่สุด อีกทั้งมีการบูรณาการ ICT ในการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ และการเข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ อาทิ การเรียนรู้ทางไกลผ่านดาวเทียม หรือ DLTV การเรียนรู้แบบผสมผสานสำหรับผู้ที่อยู่ห่างไกลและยากต่อการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต มุ่งเน้นให้เด็กเข้าสู่ระบบการศึกษามากที่สุด ได้กลับสู่โรงเรียนอย่างรวดเร็วที่สุด เรียนด้วยความปลอดภัยและไม่เกิดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้” รมว.ศธ.กล่าว

นางสาวตรีนุช กล่าวด้วยว่า การศึกษาในอนาคตควรคำนึงถึงการตอบสนองต่อการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งการยกระดับคุณภาพการศึกษา การพัฒนากระบวนการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับการประกอบอาชีพในอนาคต โดยเฉพาะเด็กอาชีวะ เรารู้ว่ากลไกที่ดีที่สุดคือการที่เด็กได้ทำงานจริงกับสถานประกอบการ หรือ ภาคเอกชน เพื่อจัดการเรียนการสอนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและสาขาอาชีพที่รวดเร็ว ตลอดจน มีทักษะในการดำรงชีพ ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะของการเป็นผู้ประกอบการ สำหรับในประเด็นการสร้างโอกาสทางการศึกษา นอกจากป้องกันเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษาแล้ว ควรให้ความสำคัญต่อพัฒนาคนทุกช่วงวัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ทั้งนี้ จากการที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (การศึกษา 2030) ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการรับรองถ้อยแถลงกรุงเทพฯ 2565 สู่การฟื้นฟูการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพเพื่อปวงชนและการเปลี่ยนแปลงการศึกษาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ Bangkok Statement 2022 Towards an effective learning recovery for all and transforming education in Asia-Pacific จึงเป็นการเน้นย้ำว่า ประเทศไทยและภาคส่วนต่าง ๆ มีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนด้านการศึกษา ไม่เพียงแต่ในระดับประเทศเท่านั้น แต่เป็นการฟื้นฟูและพัฒนาการศึกษาทุกมิติตามเจตนารมณ์ของภูมิภาคและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 อย่างเข้มแข็ง และในการประชุม Transforming Education Summit เดือนกันยายนนี้ ประเทศไทยจะได้แสดงวิสัยทัศน์ นำเสนอถ้อยแถลง รวมถึงรายงานผลการหารือระดับชาติที่ครอบคลุมแนวทางปฏิบัติการทั้ง 5 หัวข้อ ได้แก่ การศึกษาที่ครอบคลุม การเรียนรู้ ทักษะชีวิตและงาน การเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล การพัฒนาครู และงบประมาณด้านการศึกษา เพื่อนำไปสู่การพลิกโฉมการศึกษาให้สอดรับกับบริบทโลกยุคปัจจุบัน รวมถึงการนำข้อเสนอไปพัฒนาในการบรรลุตามวัตถุประสงค์ในเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป.

รมว.ตรีนุช”เดินหน้านโยบายการศึกษาเสมอภาค ดึงเยาวชนไทยเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มทุกระบบ รมว.ตรีนุช”เดินหน้านโยบายการศึกษาเสมอภาค ดึงเยาวชนไทยเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มทุกระบบ รมว.ตรีนุช”เดินหน้านโยบายการศึกษาเสมอภาค ดึงเยาวชนไทยเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มทุกระบบ รมว.ตรีนุช”เดินหน้านโยบายการศึกษาเสมอภาค ดึงเยาวชนไทยเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มทุกระบบ

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 9 สิงหาคม 2565

“รมว. ตรีนุช”ออกประกาศ.ศธ สกัดนำกัญชา-กัญชงเข้าพท.โรงเรียน

, ,

“รมว. ตรีนุช”ออกประกาศ.ศธสกัดนำกัญชา-กัญชงเข้าพท.โรงเรียน

วันนี้ ( 17 มิ.ย.65) น.ส. ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ตนได้ลงนามในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงในสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)โดยที่เป็นการสมควรกำหนดมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาที่อาจเกิดจากการใช้กัญชาหรือกัญชงในนักเรียน นักศึกษา หรือบุคลากร ในสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับ ศธ. ประกอบกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 กำหนดให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่สามารถใช้และเข้าถึงกัญชาได้ ดังนั้น ศธ., สธ. และราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงในสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของ ศธ.ให้เหมาะสม โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ ศธ. พ.ศ. 2546 จึงออกประกาศแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงของสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดหรือในกำกับของ ศธ.ไว้ ดังนี้
1.สถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของศธ. ห้ามใช้กัญชาหรือกัญชงกับนักเรียน นักศึกษา หรือบุคลากรโดยเด็ดขาด เพราะอาจมีผลต่อการพัฒนาสมองของนักเรียน นักศึกษา หรือบุคลากร

2.ห้ามมิให้นักเรียน นักศึกษา หรือบุคลากร ของสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของ ศธ. ใช้กัญชาหรือกัญชง เพื่อการนันทนาการใด ๆ เพราะอาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น อาการทางจิต และระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย 3.ให้ผู้บริหารสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของ ศธ. กำกับควบคุมร้านค้าที่ จำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในบริเวณสถานศึกษา ส่วนราชการหรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของ ศธ.ให้งดจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีการผสมส่วนใดๆ ของกัญชาหรือกัญชง อีกทั้งห้ามมีให้นักเรียน นักศึกษา หรือบุคลากร ของสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของศธ. นำอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีการผสมส่วนใดๆ ของกัญชาหรือกัญชง เข้ามาบริโภคในสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของศธ. อย่างเด็ดขาด

4.ให้ผู้บริหารสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของศธ. ส่งเสริม สนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรม การจัดการเรียนการสอน การฝึกอบรม หรือการผลิตสื่อนวัตกรรมเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้กัญชาหรือกัญชง และอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชงที่ เกินปริมาณตามที่ สธ.ประกาศกำหนดให้แก่นักเรียน นักศึกษา บุคลากร ผู้ปกครองประชาชน หรือชุมชนที่อยู่หรืออาศัยบริเวณใกล้เคียงกับสถานศึกษาหรือหน่วยงาน เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดภัยจากอันตรายของกัญชาหรือกัญชง

5.การใช้กัญชาหรือกัญชงเพื่อการรักษาต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ หรือการใช้กัญชาหรือกัญชงเพื่อการศึกษาวิจัย ต้องอยู่ภายใต้การกำกับ ควบคุม และดูแลอย่างใกล้ชิดของผู้บริหารสถานศึกษา หัวหน้าส่วนราชการ หรือหัวหน้าหน่วยงานนั้น ๆ

6.นอกจากแนวทางที่กำหนดไว้ในประกาศฉบับนี้แล้ว ผู้บริหารสถานศึกษา หัวหน้าส่วนราชการ หรือหัวหน้าหน่วยงาน ของสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของศธ. อาจออกมาตรการหรือแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดจากกัญชาหรือกัญชงได้ ทั้งนี้ เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของ ศธ. นั้นๆ ได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป.

ที่มา : facebook.com/PPRPThailand/
เมื่อวันที่ : 17 มิถุนายน 2565