โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

วัน: 1 สิงหาคม 2024

“สส.จำลอง” กระทุ้งกระทรวงพาณิชย์ ประกันราคามันสำปะหลัง 3 บาทต่อกก. แจงต้นทุนเกษตรกรยังถึงจุดไม่คุ้มทุน หวั่นผู้ปลูกมันฯรายได้ติดลบกระทบอาชีพ

,

“สส.จำลอง” กระทุ้งกระทรวงพาณิชย์ ประกันราคามันสำปะหลัง 3 บาทต่อกก.
แจงต้นทุนเกษตรกรยังถึงจุดไม่คุ้มทุน หวั่นผู้ปลูกมันฯรายได้ติดลบกระทบอาชีพ

นายจำลอง ภูนวนทา สส.กาฬสินธุ์ เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)กล่าวหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรถึงสถานการณ์ปัญหามันสำปะหลังว่า ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบพบว่า ราคารับซื้อมันสำปะหลังตกต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี โดยต้นทุนการผลิตของผู้ปลูกมันสำปะหลัง ไม่คุ้มกับราคาต้นทุน ปัจจุบันจังหวัดกาฬสินธุ์ราคามันสำปะหลังอยู่ที่ 1 บาทกว่า ไม่ถึง 2 บาท ซึ่งต้นทุนการผลิต จุดคุ้มทุนอยู่ที่ 3 บาท เพราะต้องมีค่าไถ 750 บาทต่อไร่ ,ค่าพันธุ์ 500 บาทต่อไร่,ค่าปลูก 800 บาทต่อไร่,ค่าดายหญ้า 800 บาทต่อไร่,ค่าปุ๋ย ค่าแรง 1,100 บาทต่อไร่,ค่าไถกลบไถเบิก 500 บาทต่อไร่,ค่ารักษาโรคใบด่าง โรคใบหยิก 200 บาท,ค่าโดรนฉีดยาอีกไร่ละ 100 บาท,ค่าเก็บผลผลิตไร่ละ 600 บาท

นายจำลอง กล่าวต่อว่า ส่วนค่าเช่าที่ธนารักษ์สำคัญ ในพื้นที่ท้ายเขื่อนห้วยเม็กหนองกุงศรีท่าคันโท ที่อยู่ท้ายเขื่อนลำปาว ปีไหนที่น้ำหลาก เขาเก็บน้ำเยอะก็ปรากฏว่า น้ำท่วมแต่ไม่ได้รับการชดเชย เรื่องนี้อยากให้รัฐบาลตระหนักว่า ถ้าพี่น้องเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังอยู่ท้ายเขื่อนถูกน้ำท่วมก็ให้ชดเชยด้วย ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายรวมเบ็ดเสร็จอยู่ที่ 7,185. 65 บาท นี่คือต้นทุน ปัจจุบันนี้ถ้ากิโลละ 2 บาท ไร่ละประมาณ 3 ตันคิดเป็น 6,000 บาทจะติดลบอยู่ 1,185.65 บาท เกษตรกรผู้ปลูกมันสําปะหลังติดลบ ส่งผลต่อผลผลิตเสียหาย

“ผมมีวิธีแก้ไขคือ ลดต้นทุนการผลิตและขอกราบเรียนนโยบายรัฐบาลที่แพลนออกมาว่าปุ๋ยขึ้นราคา จริงๆแล้วเป็นประโยชน์ เป็นการลดต้นทุนปุ๋ย ที่ผ่านมาปุ๋ยถุงละ 60 บาท ปัจจุบันนี้ถุงละ 1,000กว่าบาท รวมถึง ประกันราคามันสำปะหลังเกษตรกรผู้ปลูกมัน 3 บาทต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ พี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่ไม่ได้รับการชดเชยในการเช่าที่ธนารักษ์ ซึ่งควรจะชดเชยให้เขา เพราะธนารักษ์เอาค่าเช่ากับเขาไปแล้ว”นายจำลอง กล่าว

นายจำลอง กล่าวต่อว่า หากย้อนไปในอดีต ปัญหาราคาสำปะหลัง ถึงขั้นมีการปิดรัฐสภาที่ถนนอู่ทองใน เพราะพี่น้องเกษตรกรเกิดความเดือดร้อนจึงเกิดความวุ่นวาย จึงขอให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยเหลือเยียวยาในการประกันราคามันสำปะหลังให้กับพี่น้องเกษตรกรอย่างน้อยกิโลกรัมละ 3 บาท ถึงจะมีกำไรและจุดคุ้มทุนอยู่ตรงนั้น

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 1 สิงหาคม 2567

“อัครแสนคีรี” เสนอการบริหารจัดการ “เขื่อนลำปะทาว” จ.ชัยภูมิ แก้น้ำท่วม น้ำแล้ง ซ้ำซาก

,

“อัครแสนคีรี” เสนอการบริหารจัดการ “เขื่อนลำปะทาว” จ.ชัยภูมิ
แก้น้ำท่วม น้ำแล้ง ซ้ำซาก

นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ สส.ชัยภูมิ เขต 7 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)กล่าวหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรถึงแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเขื่อนลำปะทาว ทั้งเขื่อนบนและเขื่อนล่าง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของพี่น้องประชาชน เพราะช่วงนี้เป็นช่วงฤดูน้ำหลาก ในหลายจังหวัดได้เกิดวิกฤตน้ำท่วม เช่น จังหวัดตาก จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งจังหวัดชัยภูมิ ถือเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีวิกฤตน้ำท่วมในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา และปีนี้คาดว่ามีปริมาณน้ำฝนสูงขึ้นตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมจนถึงเดือนกันยายน 1 ในสาเหตุที่น้ำท่วมเทศบาลเมืองหนัก 3 ปีติดต่อกัน เกิดจากวิกฤตน้ำล้นเขื่อนลำปะทาวล่าง ผนวกกับน้ำที่ไหลมาจากอำเภออื่นๆ มาบรรจบกัน จึงทำให้เกิดน้ำท่วมหนักส่งผลเสียต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจจำนวนมาก

นายอัครแสนคีรี กล่าวต่อว่า จากสถิติพบว่าช่วงฤดูน้ำหลากน้ำจะไหลเข้าเขื่อนบนราว 4-5.4 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน ในส่วนของเขื่อนล่างน้ำจะไหลเข้าตั้งแต่ 1.69 ถึง 7.6 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน ในขณะที่ปริมาณน้ำที่สามารถพร่องออกไปได้สูงสุดอยู่เพียงแค่ 3 แสนลูกบาศก์เมตร/วัน ซึ่งที่จริงแล้วถ้าเราบริหารจัดการเขื่อนลำปะทาวได้อย่างมีประสิทธิภาพจะสามารถช่วยบรรเทาเหตุน้ำท่วมในเทศบาลเมืองและยังเพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่แห้งแล้ง เช่น อำเภอแก้งคร้อ

“ผมขอเสนอไปยังกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและกรมชลประทาน รวมถึงจังหวัดชัยภูมิ ควรจัดตั้งคณะกรรมการบริหารน้ำเขื่อนลำปะทาว ร่วมกันหลายฝ่าย เพื่อบริหารน้ำสำหรับการเกษตรแล้วก็อุปโภคบริโภครวมถึงการบรรเทาอุทกภัยน้ำท่วมไม่ใช่แค่การผลิตกระแสไฟฟ้าเท่านั้น เพื่อแก้ปัญหาระยะสั้นเขื่อนล่างควรเร่งพร่องน้ำก่อนฤดูน้ำหลาก ควรติดตั้งระบบสูบจากเขื่อนล่าง ขึ้นเขื่อนบน โดยเมื่อน้ำใกล้ล้นเขื่อนล่างให้สูบไปเก็บไว้ที่เขื่อนบน แล้วพร่องออกทางอำเภอแก้งคร้อให้มากขึ้น ซึ่งจะบรรเทาน้ำในเทศบาลเมือง น้ำท่วมรวมถึงเพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่แห้งแล้งในอำเภอแก้งคร้อ สุดท้ายควรเพิ่มประตูระบายน้ำ สำหรับเขื่อนล่าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพร่องน้ำเพราะปัจจุบันพร่องได้แค่ 300,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน ในขณะที่ปริมาณน้ำ สามารถเข้ามาสูงสุดถึง 7 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน เท่ากับไม่ถึงไม่ถึง 3 วันน้ำก็ล้นเขื่อนล่างเข้าไปท่วมเทศบาลเมือง”นายอัครแสนคีรี กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 1 สิงหาคม 2567