โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

หมวดหมู่: ข่าวกิจกรรม พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ

“พล.ต.อ.พัชรวาท” นำ ทส. และ วธ. ร่วมเฉลิมฉลอง ยูเนสโก ประกาศเมืองโบราณศรีเทพแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 7 ของไทย

,

“พล.ต.อ.พัชรวาท” นำ ทส. และ วธ. ร่วมเฉลิมฉลอง ยูเนสโก ประกาศเมืองโบราณศรีเทพแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 7 ของไทย

พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เป็นประธานแถลงข่าวการประกาศขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม ร่วมแถลงข่าว ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

พลตำรวจเอก พัชรวาท กล่าวว่า การที่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศให้เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี และเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน ซึ่งเป็นเจ้าของมรดกวัฒนธรรม โดยเมืองโบราณศรีเทพ ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-25 กันยายน 2566 ณ กรุงริยาร์ด ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ประกอบด้วยแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม 3 แหล่ง ที่มีความเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กัน มีความครบถ้วน สมบูรณ์ และคงความเป็นของแท้ดั้งเดิม ได้แก่ เมืองโบราณศรีเทพ โบราณสถานเขาคลังนอก และโบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์ ภายใต้เกณฑ์ของยูเนสโก เกณฑ์ข้อที่ 2 แสดงถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใด เวลาหนึ่งหรือพื้นที่ในวัฒนธรรมใด ๆ ของโลก ผ่านการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม หรือทางเทคโนโลยี การวางแผนผังเมืองหรือการออกแบบภูมิทัศน์ และเกณฑ์ข้อที่ 3 เป็นพยานหลักฐานที่ยอดเยี่ยม หรือหาที่เสมอเหมือนไม่ได้ของประเพณี วัฒนธรรม หรือวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่ หรือสูญหายไปแล้ว

ทั้งนี้ พลตำรวจเอก พัชรวาทฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ได้ขับเคลื่อนแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติเป็นมรดกโลกมาอย่างต่อเนื่อง โดยในครั้งนี้ การจัดทำเอกสารการนำเสนอเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก และกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลพื้นที่ จนทำให้เมืองโบราณศรีเทพ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย นับเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 7ของไทย ซึ่งจะกระตุ้นให้ประชาชนเกิดการหวงแหน และอนุรักษ์ทรัพยากรที่เป็นทุนสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ และก่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวตามมา โดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จะได้จัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เพื่อรองรับการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณศรีเทพต่อไป

โอกาสนี้จึงขอเชิญชวนให้ทุกคน ไปสัมผัสความสวยงามของเมืองโบราณศรีเทพ แหล่งมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย ซึ่งอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียม ระหว่างวันที่20-24 กันยายน2566 อีกทั้งยังจัดแสดงนิทรรศการ เรื่อง ศรีเทพกับมรดกโลก ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่วันที่20 กันยายน 2566ถึง 14 มกราคม 2567 เพื่อเผยแพร่เรื่องราว คุณค่า และความสำคัญของเมืองโบราณศรีเทพ ให้ประชาชนคนไทยทุกคน ตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ร่วมเฉลิมฉลองการประกาศขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกในครั้งนี้ด้วย

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 19 กันยายน 2566

“พล.ต.อ.พัชรวาท” ดันตั้งคณะกรรมการแห่งชาติ แก้ปัญหา PM2.5 -ไฟป่า เร่งกวดขันส่งหน่วยลาดตระเวณคุมพื้นที่ ตรวจจับใช้กม.เข้ม พร้อมแก้ที่ทำกินสปก.ชงคทช.เพื่อปชช.

,

“พล.ต.อ.พัชรวาท” ดันตั้งคณะกรรมการแห่งชาติ แก้ปัญหา PM2.5 -ไฟป่า เร่งกวดขันส่งหน่วยลาดตระเวณคุมพื้นที่ ตรวจจับใช้กม.เข้ม พร้อมแก้ที่ทำกินสปก.ชงคทช.เพื่อปชช.

วันที่ 16 กันยายน 2566 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการประชุมรับทราบปัญหาและข้อเสนอแนะของประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 15 กันยายน ที่ผ่านมา ที่ด่านศุลกากรแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ อยากให้มีการยกระดับคณะกรรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM 2.5 รวมถึงปัญหาหมอกควันไฟป่า เป็น คณะกรรมการแห่งชาติ เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด เห็นผลอย่างรวดเร็วนั้น ตนได้สั่งการอย่างเร่งด่วน ให้ยกระดับคณะกรรมการแห่งชาติ ในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤต

“พร้อมให้มีแผนการดำเนินงาน ทั้งมาตรการระยะยาว และมาตรการเร่งด่วน เช่น ปิดป่าในส่วนที่มีสถานการณ์ไฟป่าอยู่ในระดับวิกฤต หรือ เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าในขั้นรุนแรง รวมถึงสั่งระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า เครือข่ายอาสาสมัครดับไฟป่า อุปกรณ์ เครื่องมือ และอากาศยาน ในการลาดตระเวนเฝ้าระวัง และปฏิบัติการดับไฟอย่างเข้มข้น นอกจากนี้ ยังห้ามเผาในที่โล่งในช่วงนี้ และให้บรูณาการหน่วยงานในพื้นที่ ร่วมกันลาดตระเวนเฝ้าระวังการเผา ป้องกันไม่ให้มีการเผาอย่างเข้มข้น ให้ทุกหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายกับผู้ลักลอบเผา หรือ ผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด พร้อมให้ทุกหน่วยงานเน้นการสื่อสารผลการดำเนินงานของภาครัฐในการป้องกันแก้ไขปัญหา หมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องด้วย” พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าว

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ของตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าน้ำแม่คำ ป่าน้ำแม่สลอง และป่าน้ำแม่สลวงฝั่งซ้าย นั้น พบว่า พื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่กฤษฎีกำหนดเขตในเป็นเขตปฎิรูปที่ดิน แต่ไม่สามารถออกเอกสารแสดงการครอบครองที่ดิน สปก.ให้กับประชาชนได้ เนื่องจากพบว่า พื้นที่นี้ มีภาระผูกพันการใช้ประโยชน์ของกองทัพบกอยู่ รวมถึงมีความลาดชันสูงกว่าร้อยละ 35 ตนจึงสั่งการให้ กรมป่าไม้ และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) ประสานกับ อบต.แม่สลองนอก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลงพื้นที่สำรวจแปลงที่พบปัญหา เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเจ้าของพื้นที่ เพื่อกันคืนจาก สปก. ตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยแนวทางการปฏิบัติในการคืนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ กลับคืนกรมป่าไม้ พ.ศ.2538 เพื่อที่กรมป่าไม้ จะได้นำพื้นที่ดังกล่าวมาดำเนินการแก้ไขปัญหาประชาชน ด้วยการเข้าโครงการจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชน หรือ คทช.ต่อไป

“ผมจะสนับสนุนคุณภาพในการดำรงชีวิต ให้สามารถอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ลุ่มน้ำ 1 และ 2 พร้อมกับอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนการอนุญาต เพื่อให้มีการพัฒนาสาธารณูปโภค และใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างยั่งยืน ภายใต้การดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ หรือ คทช. ซึ่งเป็นหลักการและแนวทางปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 1 และ 2 ทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หรือไม่ก็ตาม เพราะผมเข้าใจปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างดี” รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 17 กันยายน 2566