‘สส.อรรถกร’ ยื่นญัตติด่วนขอสภาฯช่วยเกษตรกรเลี้ยงกุ้งเดือดร้อนหนัก หลังมีการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศ ด้าน รอ.ธรรมนัส เลขาฯพปชร. ร่วมรับฟังข้อเสนอ เร่งแก้ปัญหา ก่อนสภาฯล่มไปต่อไม่ได้ ย้ำพร้อมเดินหน้าเร่งแก้ปัญหาให้เกษตรกรอย่างเร็วที่สุด
ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมได้พิจารณาญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคากุ้งตกต่ำ กำลังพิจารณาซึ่งมีญัตติทำนองเดียวกันอีก 11 ญัตติ โดยที่ประชุมเห็นชอบให้นำมาพิจารณาพร้อมกัน จึงให้พิจารณารวมเป็น11ฉบับ ทั้งนี้ 1 ในญัตติที่เสรอต่อสภาเป็นของนายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.ฉะเชิงเทรา เขต2 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)
นายอรรถกร ได้กล่าวเสนอญัตติด่วนในที่ประชุมเพื่อขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคากุ้งตกต่ำ เนื่องจากส่งผลกระทบกับผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทั้งขนาดกลาง และขนาดย่อยกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ซึ่งตนต้องขอขอบคุณประธานสภาที่ท่านกรุณาบรรจุ และเปิดโอกาสให้ตนและเพื่อนสมาชิกได้มีโอกาสนำเสนอญัตติ ซึ่งเป็นความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง วันนี้พรรคพลังประชารัฐเรามีเลขาธิการของพรรคพลังประชารัฐ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ก็อยู่กับพวกเราด้วย ซึ่งทราบว่าเมื่อเช้ามีตัวแทนของผู้เลี้ยงกุ้งที่ตั้งความหวังรอการแก้ไขมาร่วมยื่นหนังสือ และพูดคุยถึงปัญหา ราคากุ้งตกต่ำ นี่เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าญัตติของตนนั้นเป็นญัตติที่เร่งด่วนที่ต้องการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ยังมีเพื่อนสมาชิกที่ร่วมลงชื่อและยื่นญัตตินี้กับตนอีกหลายท่าน
ในขณะนี้ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรเลี้ยงกุ้งทั้งขนาดกลางและขนาดย่อย ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากราคากุ้งเลี้ยงตกต่ำอย่างรวดเร็ว สาเหตุส่วนหนึ่งที่ราคากุ้งตกต่ำเกิดจากคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโช่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) หรือบอร์ดกุ้งอนุมัติการนำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดียอ้างว่าเกษตรกรไทยมีโครงการประกันราคากุ้งอยู่แล้ว
นอกจากนี้ยังมีปัญหาการขาดทุนจากการเลี้ยงกุ้งของเกษตรกร เกิดมาจากราคาน้ำมันเซื้อเพลิงมีราคาสูง และ มีโรคระบาดในกุ้ง ประกอบกับราคาประกันขั้นต่ำที่ห้องเย็นตั้งไว้นั้นเท่ากับราคาตันทุนการผลิตที่ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอย่างอื่น ซึ่งเท่ากับเป็นการบังคับให้เกษตรกรขายในราคาขาดทุน ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาหนี้สินแม้ราคากุ้งจะถูกกำหนด โดยคณะบริหารจัดการ ห่วงโซ่ การผลิตกุ้งและผลิตภัณฑ์ก็ตาม ราคาของกุ้งก็ไม่ได้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจึงขอให้รัฐบาลช่วยลดภาระของพวกเขา เช่น ค่าอาหาร ค่าปูน ค่าไฟฟ้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำไรของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งโดยตรง
นายอรรถกร กล่าวต่อว่า ขณะนี้ประเทศผู้นำเข้าอเมริกาญี่ปุ่นหรือประเทศทางยุโรปเริ่มชะลอการนำเข้าใช้กุ้งในสต๊อกของตนเอง นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ราคาตกต่ำอีกประเด็นปัญหาอำนาจในการต่อรองของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในประเทศไทยน้อยมาก เมื่อเช้าจังหวัดฉะเชิงเทรามีการขายกุ้งจำนวน 2.8 ตันขายหมด ไม่พอแม่ค้ารับซื้ออย่างรวดเร็ว แต่เป็นการขายในราคาที่พี่น้องเกษตรกรไม่ได้กำไร และพ่อค้าแม่ค้า คนกลางไปขายต่อ ทำให้เป็นอีกปัญหาหลักของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง
ทั้งนี้เกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งที่มีความรู้ความสามารถ ไม่ใช่มีแต่ประเทศไทย ประเทศเดียวเท่านั้น ในตลาดโลกเรามีหลายประเทศที่น่ากลัว ไม่ว่าจะเป็นเอกวาดอร์ อินเดียเวียดนาม รวมถึงอินโดนีเซีย ที่สามารถผลิตกุ้งได้เป็นจำนวนมาก แต่มีข้อแตกต่างตรงที่ว่า สามารถลดต้นทุนได้มากกว่าประเทศไทยทำให้มีความได้เปรียบในการส่งออก
“ข้อเรียกร้องต่างๆของพวกเขาคือ อยากให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยสนับสนุนปัจจัยการผลิตกุ้งมีราคาลดลง รวมถึงชะลอการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศในทันท่วงทีโดยเฉพาะในช่วงราคากุ้งตกต่ำ และเงินชดเชยของเกษตรกรทุกคนต้องได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นบ่อใหญ่ บ่อกลาง และบอร์ดเล็ก สุดท้ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องแก้ไขปัญหาจริงจังในระยะสั้น กลาง ระยะยาว โดยเริ่มต้นตั้งแต่ วันนี้ผมขอเสนอญัตติด้วยความเป็นห่วงพี่น้องเกษตรกรให้มีการตั้งกรรมาธิการ แต่เมื่อดูจากระยะเวลา ถ้าเราทำเป็นรายงานส่งต่อให้กับนายกรัฐมนตรีคนใหม่แก้ไข คงจะเป็นทางออกรวดเร็วที่สุด”นายอรรถกร กล่าว
ต่อมาเมื่อนายอรรถกรเสนอญัตติจบ และกำลังจะ เข้าสู่การอภิปรายของผู้เสนอเหรอญัตติคนถัดไป ปรากฎว่า ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นเสนอญัตติให้มีการนับองค์ประชุม โดยมีผู้รับรองถูกต้อง ทำให้สส.พรรคร่วมรัฐบาล พยายามขอร้องให้พรรคก้าวไกลถอนญัตติดังกล่าวออกไป แต่ไม่เป็นผล ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ รอสมาชิกแสดงตนพักใหญ่ แต่สมาชิกไม่ครบองค์ประชุม จึงทำให้องค์ประชุมไม่สามารถพิจารณาเรื่องดังกล่าวต่อได้
จากนั้น นายอรรถกร ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้นว่า วันนี้เพื่อน สส.พร้อมใจที่จะมาร่วมกันอภิปราย เดินหน้าการประชุมเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร โดยหวังว่า สภาฯจะได้ส่งปัญหาและความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรไปให้กับนายกรัฐมนตรีคนใหม่แก้ไขโดยเร็วที่สุด แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ตนก็ต้องแสดงความเสียใจจริง ๆ แต่ในการประชุมสภาครั้งต่อไปในสัปดาห์หน้า ตนก็จะเดินหน้าให้ที่ประชุมสภาฯพิจารณาญัตติดังกล่าวต่อ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องเกษตรกรอย่างเร็วที่สุด
ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 31 สิงหาคม 2566