โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

“รมว.ตรีนุช”ยกระดับความร่วมมือการพัฒนาการศึกษา ระดับอาชีวศึกษา พัฒนากำลังคนรองรับภาคอุตสาหกรรม

“รมว.ตรีนุช”ยกระดับความร่วมมือการพัฒนาการศึกษา ระดับอาชีวศึกษา พัฒนากำลังคนรองรับภาคอุตสาหกรรม

วันนี้ 19 ธันวาคม 2565 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือเพื่อยกระดับความร่วมมือการพัฒนาการศึกษาระดับอาชีวศึกษาในการผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับภาคอุตสาหกรรม ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ และสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย

โดย นางสาวตรีนุช กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ความสำคัญในการจัดการอาชีวศึกษา และเห็นว่าการพัฒนาอาชีวศึกษาให้ก้าวไกลเป็นแนวทางสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการสร้างความแข็งแกร่งของระบบเศรษฐกิจ เพราะกำลังคนอาชีวศึกษาถือได้ว่ามีบทบาทและเป็นปัจจัยสำคัญต่อการผลิต ทั้งในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และภาคธุรกิจบริการ ซึ่งมีการกระจายตัวอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ ดังนั้นอาชีวศึกษาจึงต้องเร่งสร้างขีดความสามารถในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีทักษะที่จำเป็น เพื่อให้มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งต้องมีการพัฒนาครู พัฒนาผู้เรียน พัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัย ตอบโจทย์กับภาคธุรกิจ

“ การบูรณาการความร่วมมือจากภาคเอกชน ในฐานะองค์กรวิชาชีพ มีความเชี่ยวชาญ มีความเป็นผู้นำในภาคเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยจัดการศึกษาอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ศธ.ได้ดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งการลงนามความร่วมมือกับ 5 องค์กรเอกชนของ สอศ.ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของทั้ง 6 หน่วยงาน ที่เล็งเห็นความสำคัญในการเข้ามาร่วมมีบทบาท เพื่อการพลิกเปลี่ยนและยกระดับความร่วมมือการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านอาชีวะในการผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับภาคอุตสาหกรรมธุรกิจ ซึ่งจะเป็นการวางรากฐาน และเชื่อมโยงการทำงานในการวางแนวทางการพัฒนาคนอาชีวะอย่างเป็นระบบที่แข็งแรง เข้มข้น และครบวงจรมากขึ้น เพื่อให้การผลิตบุคลากรได้อย่างมีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ และจะเป็นแนวทางสำคัญในขับเคลื่อนระบบการศึกษาทางด้านสายอาชีพ ให้มีการปรับตัว และบรรลุสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จในการสร้างทรัพยากรบุคคลที่พร้อมด้วยความรู้ ความสามารถ มีทักษะ ที่พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 และสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศในเวทีระดับโลก” นางสาวตรีนุช กล่าว.​


ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 19 ธันวาคม 2565