โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

Blog

การรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ

,

การรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 1 มีนาคม 2566

การรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

,

การรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 1 มีนาคม 2566

พปชร. น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ร.7 พระราชทานรัฐธรรมนูญต่อปวงชนชาวไทย

,

พปชร. น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ร.7 พระราชทานรัฐธรรมนูญต่อปวงชนชาวไทย

วันที่ 10 ธันวาคม  2567 นายฉกาจ พัฒนกิจวิบูลย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และนายยงยุทธ สุวรรณบุตร กรรมการบริหารพรรค  ร่วมพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพิธีวางพานประดับพุ่มดอกไม้ถวายบังคมฯ เบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อปวงชนชาวไทย เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี บริเวณพิพิธภัณฑ์รัฐสภา ชั้น MB1 อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) กรุงเทพฯ    

ทั้งนี้ในช่วงเช้าได้ร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, นายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา พร้อมด้วยสมาชิกวุฒิสภา , ประธานศาลฎีกา ,เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ,ข้าราชการ และตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ นำพานประดับพุ่มดอกไม้ถวายบังคมฯ เบื้องหน้าพระรูปต้นแบบฯ

ทั้งนี้ 10 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกถึงรัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามพุทธศักราช 2475 เป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทย

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 10 ธันวาคม 2567

คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ของฝ่ายการเมือง

,

คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ของฝ่ายการเมือง

พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า “ตามที่พรรคการเมืองบางพรรค ได้เตรียมนำเสนอร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เพื่อแก้ไขสาระสำคัญของ พระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ.๒๕๕๑ นั้น

กรณีดังกล่าว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หน.พรรคพลังประชารัฐ  มีความเห็นว่า สาระสำคัญของร่าง พระราชบัญญัติดังกล่าว มุ่งเน้นไปที่ มาตรา ๒๕ เพื่อให้ฝ่ายการเมือง มีอำนาจเหนือผู้บัญชาการเหล่าทัพ ในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล โดยกล่าวอ้างว่า มีการเล่นพรรคเล่นพวก ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้ว ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บังคับบัญชาในทุกระดับ ย่อมจะต้องรู้จักศักยภาพและประสิทธิภาพของกำลังพลใต้การบังคับบัญชาดีกว่า ฝ่ายการเมือง ซึ่งเข้ามามีอำนาจเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง และหมุนเวียนเปลี่ยนไป ตามกลไกของการเลือกตั้ง

ที่สำคัญภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๖๐ หมวด ๒ พระมหากษัตริย์ มาตรา ๘ ได้เขียนเอาไว้ชัดเจนว่า “ พระมหากษัตริย์ ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย” และตามมาตรา ๒๗ ของพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ.๒๕๕๑ ได้กำหนดเอาไว้ชัดเจนว่า “ การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลดำรงตำแหน่งให้นำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง” ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่า เนื้อหาของ มาตรา ๒๗ ของพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ.๒๕๕๑ นั้น สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพพิจารณา การแต่งตั้งและโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล แล้วนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ ที่ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย โดยไม่ต้องการให้ฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซง

นอกเหนือจากนั้น ตามมาตรา ๑๐ ของพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ.๒๕๕๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ.๒๕๕๖  ได้กำหนดเอาไว้ว่า “ กระทรวงกลาโหมมีส่วนราชการดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมราชองครักษ์
(๔) หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์
(๕) กองทัพไทย

ซึ่งนั่นหมายความว่าเจตนาของพรรคการเมืองที่ยกร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม เพื่อฝ่ายการเมือง เข้ามามีอำนาจเหนือกองทัพนั้น จะมีอำนาจเหนือ ตาม(๓)(๔) ซึ่งเป็นการไม่บังควรอย่างยิ่ง

พรรคพลังประชารัฐ เห็นว่า การเสนอร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหมของพรรคการเมืองนั้น จะเป็นการบั่นทอนให้กองทัพอ่อนแอลง และจะนำกองทัพ ไปใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองเท่านั้น
จึงขอคัดค้าน อย่างถึงที่สุด”

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 10 ธันวาคม 2567

“บิ๊กป้อม” ค้านขึ้น VAT 15% ลั่นข้าวของแพง อย่าซ้ำเติม ปชช.

,

“บิ๊กป้อม” ค้านขึ้น VAT 15% ลั่นข้าวของแพง อย่าซ้ำเติม ปชช.

ทำเนียบ 7 ธ.ค.- โฆษกพรรคพลังประชารัฐ เผย “บิ๊กป้อม” ค้านขึ้น VAT 15% ชี้รัฐบาลควรศึกษาเศรษฐกิจไทย ลั่นข้าวของแพง อย่าซ้ำเติมประชาชน

พล.ต.ท. ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ตามที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศกลางเวทีในงานสัมมนาหนึ่งว่า รัฐบาลมีแนวคิดปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็น 15% และปรับภาษีเงินได้นิติบุคคล 15% นั้น ในประเทศไทยได้กำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 10% ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในขณะนั้น เห็นว่า อัตราดังกล่าว สูงเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับ สภาวะทางเศรษฐกิจและรายได้ประชาชนตลอดจนบริบทของสังคมไทย จึงได้ออกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 7% เป็นประจำทุกปี โดยที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1 ใน 9 ที่เก็บได้ จะถูกโอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และที่เหลืออีก 8 ส่วนจะถูกโอนให้แก่รัฐบาล ซึ่งทุกรัฐบาลได้ดำเนินการคงภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรานี้มาโดยตลอด

โฆษกพรรคพลังประชารัฐ ยังกล่าวว่ารัฐบาลควรจะต้องศึกษาระบบเศรษฐกิจของไทยให้มากกว่านี้ ตอนนี้ชาวบ้าน จะอดตายอยู่แล้ว ทุกวันนี้ข้าวของก็แพงจะมาเพิ่มภาษีส่วนนี้อีก ราคาสินค้า บริการต่างๆ จะแพงมากขึ้นอีก อย่าซ้ำเติมประชาชนอีกเลย การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจะส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อย คนหาเช้ากินค่ำ เด็กนักเรียนนักศึกษา ตลอดจนคนพิการ และผู้ยากไร้ต่างๆ เนื่องจากเป็นผู้บริโภคมีฐานะเป็น end user ซึ่งต้องแบกรับภาระการจ่ายภาษี ภาวะเศรษฐกิจที่ประชาชนมีความเดือดร้อนเช่นนี้รัฐบาลไม่ควรขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

นอกจากนี้ การเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม จะไม่มีผลกระทบต่อนายทุนหรือเจ้าสัว เพราะนายทุนหรือผู้ประกอบการสามารถหักภาษีซื้อภาษีขายไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด แต่เป็นการผลักภาระ การหารายได้ให้แก่รัฐบาลไปยังคนจนคนมีรายได้น้อย เปรียบเสมือนกับปล้นคนจน เอื้อคนรวย เป็นการผลักภาระมาให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

พล.ต.ท.ปิยะ กล่าวอีกว่า รัฐบาลควรหาแนวทางและมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสม กับสภาพเศรษฐกิจและบริบทของสังคมไทย ไม่ใช่ไปลอกแบบจากต่างประเทศเหมือนลอกข้อสอบ ยังมีมาตรการอื่นๆ เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก การจัดเก็บภาษีจากเศรษฐกิจดิจิทัล ภาษีกลุ่มฟุ่มเฟือย หรือภาษีกลุ่มคนรวย หรือเก็บภาษีกลุ่มคนมั่งคั่งจะดีกว่า การปรับปรุงประสิทธิภาพและพัฒนาโครงสร้าง การจัดเก็บภาษี ซึ่งยังมีการประกอบธุรกิจหรือกิจการบางอย่างที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบภาษี การขยายฐานภาษี และการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐ ยังดีกว่าการผลักภาระให้แก่คนทั้งประเทศ ดังนั้นรัฐบาลต้องวางแผนและตัดสินใจให้รอบคอบ

“พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะค้านการขึ้น VAT15% และจะพิจารณานำเรื่องนี้ เข้าคณะทำงานศูนย์วิชาการและนโยบาย พรรคพลังประชารัฐ เพื่อหาแนวทางและวิธีการที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่มีรายได้น้อย และจะไม่ทอดทิ้ง พี่น้องประชาชนอย่างแน่นอน” โฆษกพรรคพลังประชารัฐ ระบุ.-316-สำนักข่าวไทย

ที่มา: สำนักข่าวไทย https://tna.mcot.net/
วันที่: 7 ธันวาคม 2567

ธีระชัย-หม่อม กร ชี้ MOU ปี 2544 โมฆะ ฟาดรัฐบาลทำขั้นตอนผิด เสี่ยงเสียดินแดน

,

ธีระชัย-หม่อม กร ชี้ MOU ปี 2544 โมฆะ ฟาดรัฐบาลทำขั้นตอนผิด เสี่ยงเสียดินแดน

(วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ) พรรคพลังประชารัฐ – นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่าแถลงการณ์ร่วมวันที่ 18 มิ.ย. 2544 ลงนามโดยนายทักษิณ ชินวัตร และ นายฮุน เซนนั้น มีข้อความรับรอง MOU จึงทำให้ MOU มีสถานะเป็นสนธิสัญญาครบตามเงื่อนไขของอนุสัญญากรุงเวียนนาฯ นอกจากนี้ ยังมีเอกสารวิชาการที่ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทยยืนยันว่า MOU เป็นสนธิสัญญาอีกด้วย

นายธีระชัยเห็นว่า MOU เป็นสนธิสัญญาที่กระทบเขตอำนาจแห่งรัฐ เพราะมีการกำหนดพื้นที่พัฒนาร่วมเป็นอาณาเขตเฉพาะที่เปลี่ยนแปลงเขตไหล่ทวีปของไทยตามที่ประกาศเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2516 แต่ไม่ได้เสนอต่อรัฐสภา และไม่ได้ทูลเกล้าฯต่อพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ 2540 จึงเป็นโมฆะตั้งแต่ต้น

นายธีระชัยกล่าวว่าประชาชนสงสัยมีข้อพิรุธสำคัญ ทำไมรัฐบาลในปี 2544 จึงทำขั้นตอนกลับทางจากกรณี ไทย-มาเลเซียที่การกำหนดอาณาเขตพื้นที่พัฒนาร่วมเป็นผลสุดท้ายจากการเจรจา แต่ MOU กลับไปให้กำเนิดอาณาเขตพื้นที่พัฒนาร่วมตั้งแต่ต้นอันเป็นกรอบที่บีบการเจรจา ทั้งที่จะทำให้ไทยเสี่ยงเสียดินแดน ประชาชนจึงกังวลว่า MOU ที่ไม่เจรจาอาณาเขตพื้นที่พัฒนาร่วมให้เสร็จเสียก่อน น่าสงสัยว่ามีประโยชน์ซ่อนเร้น

นอกจากนี้ น่าสงสัยว่าเหตุผลแท้จริงของแถลงการณ์ร่วมนั้นอาจเพื่อมุ่งเรื่องปิโตรเลียมเป็นสำคัญ เพราะประเด็นอื่นในแถงการณ์ดังกล่าวมีการประสานกันปกติอยู่แล้ว

“ผมเองเคารพต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเห็นว่ารัฐมนตรีจากพรรคร่วมจะช่วยลดอุณหภูมิลงได้ โดยถ้าเห็นว่าเรื่องนี้ถูกต้อง ก็ควรเร่งให้รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศชี้แจงเหตุผลในทุกด้านให้ประชาชนคลายใจ เพราะประเด็นที่พรรคฝ่ายค้านยกขึ้นล้วนเป็นการอ้างข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่สามารถถกแถลงกันให้กระจ่างได้ แต่ถ้าเห็นว่าไม่ถูกต้อง ก็ต้องเร่งให้มีการแก้ไข” นายธีระชัยกล่าว

ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรค ได้กล่าวถึงกรณี ที่ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย บรรยายเรื่อง MOU 44 เมื่อวันที่14 พฤศจิกายน 2567 นั้นผิดพลาดคลาดเคลื่อนอยู่มากถึงสาเหตุของการเกิดพื้นที่ทับซ้อน ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวว่า “เนื่องจากกฎหมายทะเลสากลให้ทุกประเทศประกาศเขตเศรษฐกิจออกไปได้ 200 ไมล์ทะเล แต่อ่าวไทยมีความกว้างไม่ถึง 200 ไมล์ทะเล เมื่อไทยและกัมพูชาต่างฝ่ายต่างประกาศเขตเศรษฐกิจ 200 ไมล์ทะเล จึงทับซ้อนกัน”

ขณะที่ ม.ล.กรกสิวัฒน์ ชี้ว่า ขณะที่ ดร.สุรเกียรติ์ เซ็นต์ MOU 44 กับกัมพูชานั้น  น่าจะเข้าใจกฎหมายทะเลสากลไม่ถูกต้องทั้ง เรื่องทะเลอาณาเขต และการลากเส้นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล ปรากฎตาม อนุสัญญาเจนีวา 1958 ข้อ 12 และอนุสัญญาสหประชาชาติ 1982 (UNCLOS3) ข้อ 15 ที่บัญญัติว่า “กรณีที่ฝั่งทะเลสองรัฐประชิดกัน ถ้าไม่ได้ตกลงเป็นอย่างอื่น รัฐใดย่อมไม่มีสิทธิขยายทะเลอาณาเลยเลยเส้นมัธยะ“

กรณีไทย-กัมพูชา เส้นมัธยะ คือ เส้นที่มีจุดเริ่มต้นจากหลักเขตที่ 73 สุดแดนจังหวัดตราดลากลงทะเล “แบ่งกึ่งกลางระหว่างเกาะกูด กับ เกาะกง” เพื่อความเป็นธรรมในการเดินเรือ

ดังนั้น การขีดเส้น 200 ไมล์ทะเลจึงต้องลากต่อออกไปจากเส้นมัธยะนี้ มิใช่ดังที่ ดร.สุรเกียรติ์ อธิบายทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดได้ว่า ทุกประเทศมีสิทธิไปลากเส้นจากฝั่งทะเลไปทิศทางใดก็ได้ 200 ไมล์ ตามอำเภอใจแบบกัมพูชาทำ พื้นที่ทะเลรอบเกาะกูดของไทยจึงถูกกัมพูชาลากเส้นทับซ้อนตั้งแต่ชายฝั่งไปชนเกาะกูดซึ่งกรณีแบบนี้ไม่ปรากฏแบบนี้ที่ใดในโลก

นอกจากนี้ ท่านยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับการเจรจาระหว่าง ไทย กับ มาเลเซีย พม่า และเวียตนาม ที่ประสบผลสำเร็จมีลำดับขั้นตอนดังนี้
1)คณะรัฐมนตรีตั้งคณะเจรจาขึ้นก่อน
2)กรอบการเจรจา คือ กฎหมายทะเลสากล
3)ทำ MOU เพื่อบันทึกผลสำเร็จของการเจรจา
4)ประกาศพระบรมราชโองการ รองรับเส้นเขตแดนใหม่ที่เป็นผลของการเจรจา

ทุกกรณีจะใช้กฎหมายทะเลสากลเป็นกรอบในการเจรจาทั้งสิ้น (ตามที่ ดร.ประจิตต์ โรจนพฤกษ์ อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ผู้แทนการเจรจากรณี ไทย-มาเลเซีย ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ให้ฟัง)  ส่วน MOU จะเกิดขึ้นเป็นขั้นตอนเกือบสุดท้าย เพื่อบันทึกผลสำเร็จของการเจรจานั้นๆ

การเจรจาทุกประเทศมีเป้าหมายสำคัญสูงสุด คือ การกำหนดเส้นเขตแดนให้ถูกต้องเป็นอันดับแรก ไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ปิโตรเลียม กรณีของไทย มาเลเซีย การพัฒนาร่วมเกิดขึ้นจากการเจรจาจนเหลือพื้นที่เล็กที่สุดแล้วยังตกลงไม่ได้ เรื่องเกาะโลซิน ทางมาเลเซียเห็นว่า มีบ่อน้ำมันอยู่ตรงกลางหากแบ่งพื้นที่คนละครึ่งจะมีปัญหาแย่งกันสูบน้ำมันจึงเสนอการพัฒนาร่วมกัน

กรณี ไทย กัมพูชา จึงผิดแผกแตกต่างจากทุกกรณีที่เคยมีมา เรียกว่า เกิดขึ้นแบบย้อนเกล็ด คือ เกิด MOU ขึ้นก่อน แล้วอ้างว่า MOU เป็นกรอบการเจรจา และอาจขัดพระบรมราชโองการ เพราะนำเส้นเขตแดนทางทะเลที่ผิดกฎหมายสากลของกัมพูชามาใส่ไว้ในแผนที่แนบท้าย แม้จะเขียนไว้ในข้อ 5 ของ MOU ว่าไม่ได้ยอมรับเส้นของกัมพูชา แต่การรับรู้ถึงเส้นอ้างสิทธิที่ผิดกฏหมาย ก็ถือว่า ขัดกับหลักการเดิมโดยสิ้นเชิง

ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวถึงข้อดีของ MOU 44 ผมขอโต้แย้งดังนี้
1. เป็นครั้งแรกที่ตั้งคณะกรรมการเจรจา ไม่มีการเสียดินแดน

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เห็นว่า ไม่ถูกต้อง เพราะเคยมีการเจรจามาแล้ว 3 ครั้ง ใน พ.ศ. 2513 พ.ศ. 2535 และพ.ศ. 2538 ไทยยึดกรอบกฎหมายสากลทางทะเลในการเจรจา กัมพูชาไม่ยอมปฏิบัติตามกฏหมายสากลจึงเจรจาไม่ได้ หากไทยอ่อนข้อให้กัมพูชาละเมิดกฎหมาย ไทยมีแต่จะเสียเปรียบ

2. ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวว่าเจรจาผลประโยชน์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องเจรจาเรื่องเส้นเขตแดนที่ทับซ้อนกันอยู่เป็น Indivisible Package ที่แบ่งแยกไม่ได้

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เห็นว่าข้อนี้อันตราย เพราะกัมพูชาจะยอมเจรจาเส้นเขตแดน 11 องศาเหนือบริเวณเกาะกูดทั้งที่ตามกฎหมายทะเลเป็นของไทยอยู่แล้ว ส่วนพื้นที่ใต้เส้น 11 องศาเหนือ ก็ขุดปิโตรเลียมไปพร้อมกัน แบ่งเงินค่าภาคหลวงกันคนละคนละครึ่ง หากทำเช่นนี้เมื่อใด ก็ตกลงหลุมพรางทันที กัมพูชาจะเอาหลักฐานการแบ่งค่าภาคหลวงซึ่งถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ขึ้นศาลโลกและแบ่งพื้นที่ใต้เส้น 11 องศาเหนือครึ่งหนึ่ง เรียกว่าเสียทั้งปิโตรเลียมเสียทั้งดินแดนไปพร้อมกันแบบ Indivisible Package เรียบร้อยโรงเรียนกัมพูชา!!!

3.  ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวว่า MOU จะไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิของไทยและกัมพูชา หากการเจรจาล้มเหลว

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เห็นว่าข้อนี้ เสียเหลี่ยมให้กัมพูชา เพราะเส้นเขตแดนทางทะเลของกัมพูชานั้นนำไปอ้างที่ไหนในโลกไม่ได้เพราะผิดกฎหมายสากล แต่กลับปรากฏขึ้นในเอกสารราชการไทยที่ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยนำมาลงนามในแถลงการณ์ร่วม ก็จะกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้กัมพูชานำมาอ้างในอนาคตได้เช่นกัน

ส่วนประเด็นที่ ดร.สุรเกียรติ์ ตั้งคำถามว่า หากยกเลิก MOU 44 แล้วจะได้ความตกลงที่ดีกว่านี้หรือไม่ ขอตอบว่ามี คือใช้กฎหมายสากลระหว่างประเทศเป็น กรอบในการเจรจา เหมือนกับกรณีที่เจรจากับมาเลเซีย เวียดนาม และพม่า จนประสบความสำเร็จมาแล้ว

ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านอาจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ทำเรื่องนี้ด้วยความสุจริตใจ และหวังดีต่อชาติบ้านเมือง แต่ข้าราชการบางคนกลับให้ข้อมูลท่านไม่ถูกต้องในการตัดสินใจ ผมกราบขออภัยท่านอาจารย์เป็นอย่างสูงที่จำเป็นต้องโต้แย้ง เพราะ หากให้ MOU 2544 เดินหน้าต่อไปจะ เป็นเรื่องอันตรายต่อบ้านเมืองในอนาคต”

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 29 ธันวาคม 2567

“เลขาฯพปชร.เตรียมดำเนิน คดีแพ่ง-อาญา บุคคลทั้งที่เคยและไม่เคยเป็นสมาชิกพรรค ที่พูดพาดพิงให้ชื่อเสียงพรรคและบุคคลในพรรคเสียหาย ย้ำ เอาผิดให้ถึงที่สุด

,

“เลขาฯพปชร.เตรียมดำเนิน คดีแพ่ง-อาญา บุคคลทั้งที่เคยและไม่เคยเป็นสมาชิกพรรค ที่พูดพาดพิงให้ชื่อเสียงพรรคและบุคคลในพรรคเสียหาย ย้ำ เอาผิดให้ถึงที่สุด

วันนี้(29 พ.ย.)นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายกฎหมายของพรรคพลังประชารัฐ ได้เปิดเผยว่า ตามที่ขณะนี้ปรากฏตามสื่อสารมวลชนต่างๆ มีบุคคลที่ทั้งเคยหรือไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์พาดพิงถึงพรรคหรือบุคคลในพรรคในลักษณะที่ใส่ความอันเป็นเท็จ ทำให้พรรคหรือบุคคลในพรรคถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางเสียหายต่อชื่อเสียง ทำให้ประชาชนที่รับชมสื่อต่างๆเกิดความเข้าใจผิดว่า พรรคหรือบุคคลในพรรค ไปเกี่ยวข้องกับผู้ถูกเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่ากระทำผิดความผิด ทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของพรรคและบุคคลในพรรค

“ฝ่ายกฏหมายของพรรคกำลังรวบรวมพยานหลักฐานจากข่าวหรือคลิปข่าวที่บุคคลทั้งเคยหรือไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ในลักษณะใส่ความด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้พรรคเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง พรรคจะพิจารณาใช้สิทธิทางศาลเพื่อปกป้องชื่อเสียงและเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องของประชาชน ทั้งนี้พรรคจะมอบหมายให้ทนายความดำเนินคดีฟ้องต่อศาลแพ่งและศาลอาญา เพื่อเอาผิดบุคคลดังกล่าวจนถึงที่สุด” นายไพบูลย์ กล่าว 

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 29 ธันวาคม 2567

พล.อ. ประวิตร มอบบิ๊กอ๊อด ประชุมโอลิมปิค ติดตามความก้าวหน้า เจ้าภาพซีเกมส์ ครั้งที่ 33 เพิ่มเชียงใหม่ เจ้าภาพ แข่งฟุตบอลรอบคัดเลือก

พล.อ. ประวิตร มอบบิ๊กอ๊อด ประชุมโอลิมปิค ติดตามความก้าวหน้า เจ้าภาพซีเกมส์ ครั้งที่ 33 เพิ่มเชียงใหม่ เจ้าภาพ
แข่งฟุตบอลรอบคัดเลือก

วันนี้ (29 พฤศจิกายน 2567) เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ได้มีการจัดการประชุมกรรมการบริหารคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ครั้งที่ 4 ประจำปี 2567 โดยวันนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ        ได้มอบหมายให้ พลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ประธานกิตติมศักดิ์ตลอดชีพฯ เป็นประธาน
การประชุมฯ แทน ซึ่งมีวาระสำคัญ คือการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปีหน้า และการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ฤดูหนาว ครั้งที่ 9 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงโครงการส่งเสริมการกีฬาเพื่อพัฒนาชาติไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

ความก้าวหน้าของ สมาคมสหพันธ์กีฬาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAGF Office) เกี่ยวกับผลการประชุมมนตรีกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 2 จากผู้แทนชาติสมาชิก 11 ชาติ ที่เข้าร่วมประชุม เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยที่ประชุมมีมติอนุมัติชนิดกีฬา ประเภทกีฬา และรายการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 พร้อมสนามแข่งขัน 3 จังหวัดเจ้าภาพ คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี และสงขลา ประกอบไปด้วย 50 ชนิดกีฬา 105 ประเภทกีฬา 569 รายการ และกีฬาสาธิต อีก 3 ชนิดกีฬา ได้แก่ ชักกะเย่อ จานร่อน และกีฬาทางอากาศ นอกจากนี้ ได้อนุมัติบรรจุ 3 ชนิดกีฬา คือ กาบัดดี้ วู้ดบอล และเจ็ตสกี ให้สามารถจัดการแข่งขันได้ ซึ่ง กรุงเทพฯ จะใช้แข่งขันจำนวน 38 สนาม ชลบุรี 14 สนาม สงขลา 6 สนาม และจะเพิ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลรอบคัดเลือก ขณะที่ มาเลเซีย ยืนยันการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 34 ในปี 2570 แน่นอนแล้ว ส่วนการเตรียมเป็นเจ้าภาพของไทยในปีหน้านั้น สิ่งที่กำลังดำเนินการ คือการปรับปรุงสถานที่การปฏิบัติงานของคณะกรรมการจัดการแข่งขัน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน ธันวาคมนี้ การเตรียมข้อมูลต่างๆในการเตรียมทีมนักกีฬา ทั้งเรื่องทดสอบสมรรถภาพร่างกายนักกีฬา ความต้องการด้านงบประมาณ ที่เตรียมจะขออนุมัติงบกลางเพิ่มเติม เพื่อให้การเตรียมทีมนักกีฬาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับความคืบหน้า การแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ฤดูหนาว ครั้งที่ 9 ที่เตรียมจะเปิดฉากขึ้นระหว่างวันที่ 7-14 กุมภาพันธ์ ปี 2568 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน กับ 6 ชนิดกีฬา โดยจะมี 2 ชนิดกีฬาที่เริ่มแข่งขันก่อนพิธีเปิด คือ กีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง และกีฬาเคอร์ลิ่ง โดยไทยเตรียมส่งนักกีฬาและเจ้าหน้าที่เข้าร่วมชิงชัยจำนวนทั้งสิ้น 132 คน นอกจากนี้ยังมีโครงการส่งเสริมการกีฬาเพื่อพัฒนาชาติไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำหรับการพัฒนาการกีฬาของชาติ เพื่อส่งเสริมให้ยุวชน เยาวชน และประชาชนทั่วไปให้มีนิสัยรักการออกกำลังกาย และเล่นกีฬาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตสู่สังคมที่น่าอยู่ ห่างไกลยาเสพติดและอบายมุข มีโอกาสเข้าร่วมแข่งขัน พัฒนาทักษะและความสามารถในการเล่นกีฬาสู่ความเป็นเลิศอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ โดยให้มีการสนับสนุน การใช้วิทยาศาสตร์การกีฬา นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาศักยภาพนักกีฬา ภายใต้ความร่วมมือจากหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการกีฬาของประเทศทั้งจากภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน ซึ่งจะมีพิจารณาโรงเรียนกีฬานำร่อง ประเภทต่างๆ ได้แก่ มวยไทย มวยสากล ฟุตบอล วอลเล่ย์บอล กรีฑา ตะกร้อ และกีฬาอื่นๆ ตามความถนัดของแต่ละภูมิลำเนา สำหรับพื้นที่ดำเนินการ คือ จังหวัดที่มีโรงเรียนกีฬาในสังกัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

โดยประธานการประชุมยังได้เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมเตรียมทีมนักกีฬา และความพร้อมด้านต่างๆ อย่างเต็มที่ ในการเตรียมเป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ของไทยในปีหน้า พร้อมกำชับให้ใช้วิทยาศาสตร์การกีฬา และด้านโภชนาการ เข้ามาช่วยสนับสนุนผลักดันให้การเตรียมทีมมีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมถึงเข้มงวดการงดใช้สารต้องห้ามอย่างเด็ดขาด และขอให้พิจารณาส่งเสริมเปิดโอกาสให้นักกีฬาหน้าใหม่ได้สร้างผลงานเพื่อพัฒนาตนเองด้วย โอกาสนี้ ประธานการประชุมได้กล่าวขอบคุณและให้กำลังใจ กับเจ้าหน้าที่และทุกสมาคมกีฬา เชื่อมั่นว่าทุกคนจะช่วยกันเตรียมความพร้อมได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายความสำเร็จ ซึ่งจะนำความภาคภูมิใจมาสู่ประเทศชาติ และประชาชน ต่อไป

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 29 พฤศจิกายน 2567

“พล.อ.ประวิตร”มอบหมาย สส.คอซีย์ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม จ.ปัตตานี พร้อม ส่งเสบียงน้ำดื่ม-อาหารปรุงสุก เข้าพื้นที่บรรเทาความเดือดร้อนให้ ปชช.

“พล.อ.ประวิตร”มอบหมาย สส.คอซีย์ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม จ.ปัตตานี
พร้อม ส่งเสบียงน้ำดื่ม-อาหารปรุงสุก เข้าพื้นที่บรรเทาความเดือดร้อนให้ ปชช.

วันนี้(29 พ.ย.)  นายคอซีย์ มามุ สส.ปัตตานี เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) กล่าวถึง สถานการณ์อุทกภัยใน จ.ปัตตานีว่า ขณะนี้ยังมีปริมาณฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ในแม่น้ำสายหลัก โดยเฉพาะแม่น้ำปัตตานี และคลองตุยง ทำให้มีน้ำเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่เกษตร สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนจำนวนมาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จึงได้สั่งการให้ตนเข้าดูแลประชาชนในพื้นที่ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนในเบื้องต้น และรับมือกับสถานการณ์วิกฤติในครั้งนี้ โดยการจัดหาอาหารปรุงสุกใหม่ และน้ำดื่ม เพื่อสนับสนุนร่วมกับหน่วยงานของภาครัฐ

“พล.อ.ประวิตร เป็นห่วงพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยเฉพาะพื้นที่ปัตตานี ที่มีประชาชนได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำของ จ.ยะลา ส่งผลให้พื้นที่มีน้ำท่วมเป็นวงกว้าง จึงได้สั่งให้มีการติดตามสถานการณ์ และช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างใกล้ชิด”นายคอซีย์ กล่าว

นายคอซีย์ กล่าวต่อว่า เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่เกิดภาวะน้ำท่วมเรายังได้จัดตั้งโรงครัว ที่ทำการ สส.ของพรรคพลังประชารัฐ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการกระจายอาหารให้ถึงมือพี่น้องประชาชน พร้อมทั้งมีการประสานกับหน่วยงานรัฐ เพื่อประเมินสถานการณ์ความรุนแรงของภัยธรรมชาติในครั้งนี้ เพราะถือว่าสถานการณ์น้ำท่วมมีความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 30 ปี และหากฝนยังตกหนักต่อเนื่องไปอีก ตนเชื่อว่า จะส่งผลกระทบต่อพืชผลทางเกษตรอย่างแน่นอน โดยเรื่องนี้ตนจะประสานกับหน่วยงานรัฐ เพื่อหาทางช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายของพืชผลทางการเกษตรต่อไป

ทั้งนี้ สถานการณ์ล่าสุดในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยังคงต้องเฝ้าระวัง สถานการณ์ปริมาณน้ำในเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ซึ่งทางกรมชลประทานยังไม่มีการปล่อยน้ำจากเขื่อนลงมา หากสถานการณ์ฝนยังตกต่อเนื่อง จะส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นเมื่อถึงจุดวิกฤติของความจุน้ำในเขื่อน  กรมชลฯ จะปล่อยน้ำเพื่อบริหารจัดการน้ำในเขื่อน  อาจส่งผลให้มีปริมาณน้ำเข้าท่วมบ้านเรือนเพิ่มขึ้น ซึ่งประชาชนจะได้รับความเดือดร้อนอย่างยาวนานเช่นกัน ขณะนี้ทุกฝ่ายคาดหวังว่า ฝนจะมีการทิ้งช่วงหยุดตก เพื่อให้เกิดการเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเล

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 29 พฤศจิกายน 2567

“สส.ทวี” รับหนังสือจากตัวแทนกลุ่มนายจ้าง วอนแก้ปัญหาการทำบัตรชมพู-ต่อใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว หลัง ยังพบปัญหาหลายด้าน ทำให้มีแรงงานผิด กม.มากขึ้น

“สส.ทวี” รับหนังสือจากตัวแทนกลุ่มนายจ้าง วอนแก้ปัญหาการทำบัตรชมพู-ต่อใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว หลัง ยังพบปัญหาหลายด้าน ทำให้มีแรงงานผิด กม.มากขึ้น

18 พ.ย.2567 นายทวี สุระบาล สส.ตรัง เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)ในฐานะกรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการแรงงาน รับยื่นหนังสือจาก นางนิลุบล พงษ์พยอม ตัวแทนกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว และคณะ เพื่อขอให้  ติดตามการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการทำบัตรชมพูแรงงานต่างด้าว และการต่อใบอนุญาตทำงานแรงงาน เนื่องจากมีข้อกังวลใจและข้อเสนอต่อแนวทางการจัดการแรงงานต่างด้าวปี 2567 ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา

โดย ตัวแทนกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าวได้เข้าให้ข้อมูลและแสดงถึงข้อกังวลต่อที่ประชุมคณะ กมธ. เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมาในประเด็นเรื่องการจัดทำบัตรชมพูสำหรับแรงงานต่างด้าว หลังจากมีการนำเสนอข้อมูลในที่ประชุมแล้ว ทางสำนักบริหารการทะเบียนได้มีการสั่งการกำหนดแนวทางในเรื่องดังกล่าว โดยให้สำนักทะเบียนดำเนินการรับเอกสารที่ยื่นขอทำบัตรชมพูของคนต่างด้าวให้เสร็จภายใน 31 ต.ค. 67 และหากไม่สามารถจัดทำบัตรชมพูให้ทันตามกำหนด ให้สำนักทะเบียนจัดทำหนังสือขอเปิดระบบและบัญชีรายชื่อของคนต่างด้าวภายในวันที่ 5 พ.ย. 67 เพื่อดำเนินการจัดทำให้เสร็จตามเงื่อนไขของมติคณะรัฐมนตรี

ปัจจุบันก็ยังพบศูนย์ทะเบียนบางส่วนยังไม่ดำเนินการรับเอกสารของแรงงานต่างด้าวไว้ ส่งผลให้แรงงานต่างด้าวจำนวนมากกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย และยังไม่มีมาตรการช่วยเหลืออื่นใดจากภาครัฐ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับนายจ้างและแรงงานต่างด้าว พบว่ามีสำนักงานจัดหางานบางพื้นที่ปฏิเสธที่จะรับดำเนินการแจ้งเข้าเปลี่ยนนายจ้างให้แก่แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีบัตรชมพู ซึ่งจะทำให้แรงงานต่างด้าวที่ไม่สามารถดำเนินการแจ้งเข้าภายใน 60 วัน ได้กลายเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายอีกครั้ง ซึ่งสร้างความเดือดร้อนและความเสี่ยงแก่นายจ้างเป็นอย่างมาก

ดังนั้น ทางกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว มีความกังวลใจต่อแนวทางในการต่อใบอนุญาตทำงาน และความเสี่ยงของลูกจ้างที่จะกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย จึงขอเสนอให้กมธ. หารือไปยังกระทรวงแรงงาน คณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว และหน่วยงานที่เกี่ยวให้พิจารณาทบทวนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อลดภาระให้แก่นายจ้างและแรงงานข้ามชาติต่อไป

ด้านนายทวี กล่าวภายหลังรับยื่นหนังสือว่า ประธานคณะ กมธ.แรงงาน มอบหมายให้มารับหนังสือจากตัวแทนกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าวที่ได้รับผลกระทบจากการทำบัตรชมพู และการต่อใบอนุญาตการทำงานแรงงานต่างด้าว ซึ่งมีปัญหาหลายเรื่อง เช่น ความล่าช้า ความแออัดในการขึ้นทะเบียน กลุ่มนายจ้างมีความกังวลใจต่อแนวทางในการต่อใบอนุญาตและการทำงานที่ลูกจ้างมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย โดยทาง กมธ.ยินดีรับข้อเรียกร้องของกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว และจะนำเสนอประเด็นเหล่านี้ต่อคณะกรรมการกลั่นกรองเพื่อจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การประชุมคณะ กมธ. เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 18 พฤศจิกายน 2567

พปชร.แนะ รัฐบาล เจรจาผลประโยชน์ทางทะเล บนหลักเจรจาพื้นที่ด้วยหลักกฎหมายสากล ต้องดำเนินการทุกขั้นตอนอย่างโปร่งใส หวัง การเจรจาจะแก้วิกฤติพลังงานในอนาคต

พปชร.แนะ รัฐบาล เจรจาผลประโยชน์ทางทะเล บนหลักเจรจาพื้นที่ด้วยหลักกฎหมายสากล ต้องดำเนินการทุกขั้นตอนอย่างโปร่งใส หวัง การเจรจาจะแก้วิกฤติพลังงานในอนาคต

เมื่อวันที่ 8 พ.ย.เวลา 11.00 น.นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐ ประกาศจุดยืนสนับสนุนการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์บนพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ในการแถลงทุกครั้ง เราไม่ได้ขัดขวางการที่จะเจรจาผลประโยชน์บนพื้นที่ทับซ้อน ในฐานะอดีตรัฐมนตรีพลังงานผมทราบถึงความจำเป็นที่ประเทศของเราต้องมีแหล่งพลังงานมารองรับความมั่นคงในอนาคต

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ในประเด็นที่สอง เรายืนยันว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทยแน่นอน  เราไม่ได้มีปัญหาเรื่องเกาะกูด เราไม่ได้เสียเกาะกูด แต่อาณาเขตทางทะเลรอบเกาะกูดได้ถูกละเมิด บนหลักกฎหมายสากลจากการลากเส้นอาณาเขตทางทะเล กินพื้นที่อาณาเขตทางทะเลของเกาะกูดผิดหลักกฎหมายสากล เจนีวา 1982 หรือ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ. 1982 และเป็นจุดเริ่มของการเกิดพื้นที่ทับซ้อนที่เป็นข้อโต้แย้งในการเจรจา

ในประเด็นที่สาม ขอเรียนว่า พรรคพลังประชารัฐ เสนอให้ยกเลิก MOU2544 เพราะเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาที่จะบรรลุข้อตกลง เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน ทั้งนี้ เพราะ MOU 2544 มีปัญหาพื้นที่ทับซ้อน มีขนาดใหญ่เกินจริงที่ไม่ได้อยู่บนหลักเจรจาอาณาเขตทางทะเลด้วยกฎหมาย เจนีวา 1982 ดังนั้น การเจรจาบนเส้นอาณาเขตที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงบนหลักกฎหมายสากลดังกล่าว หากมีข้อยุติและเกิดการลงนามระหว่างสองประเทศ จะมีผลระยะสั้น คือจะทำให้ประเทศเสียเปรียบการแบ่งปันผลประโยชน์ด้านพลังงาน ในพืันทึ่อันอาจเป็นอาณาเขตของไทยในระยะยาว จะเป็นหลักฐานทางการยอมรับในประวัติศาสตร์ และหากมีข้อพิพาทในอนาคตก็จะสุ่มเสี่ยงต่อการเสียพื้นที่อาณาเขตทางทะเลที่ไม่อาจแก้ไขได้อีก นอกจากนั้น MOU2544 พบว่าด้วยความเร่งรีบในการดำเนินการเมื่อปี2544 พบข้อบกพร่องของเอกสารสำคัญแนบท้าย

ด้าน ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ที่ปรึกษาศูนย์นโยบายและวิชาการ กล่าวชี้แจงตอบนายกรัฐมนตรี เรื่อง MOU 2544 ไทยเสียเปรียบและเป็นบันไดนำไปสู่การเสียดินแดนจากความตกลงนี้

1.พปชร. ตรวจพบว่า รัฐบาลให้สิทธิพิเศษในการเจรจากับกัมพูชาเหนือกว่าประเทศอื่นในการแบ่งเขตไหล่ทวีป ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า และอินเดีย ล้วนต้องปฏิบัติตามกฎหมายทะเลสากล เหตุใด กัมพูชาเป็นคู่เจรจาที่ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายทะเลสากล ที่สำคัญคือ ขัดกับวรรคท้ายของพระบรมราชโองการที่ระบุว่า การกำหนดไหล่ทวีป กับประเทศใกล้เคียงให้ตกลงกันโดยยึดถือบทบัญญัติอนุสัญญาเจนีวา 1958
 
2.MOU 2544 ลดสถานะของเส้นเขตแดนตามประกาศพระบรมราชโองการที่ทำตามกฎหมายสากล ให้มีค่าเท่ากับเส้นที่ลากเส้นเขตแดนที่ไม่มีกฎหมายสากลรองรับ กินพื้นที่พระราชอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยไปถึง 26,000 ตร. กม.MOU 2544 ทำให้ไทยที่ทำตามกฎหมายสากลกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะอีกฝ่ายทำนอกกฎหมายสากลได้ และเรื่องการไม่ปฏิบัติตามกฏหมายสากลของกัมพูชานี้เป็นที่ทราบดีในวงวิชาการ กระทรวงต่างประเทศ และกองทัพ

3.การลากเส้นเขตแดนทางทะเลเกินสิทธิ์ของกัมพูชา ทับน่านน้ำภายในของจังหวัดตราด ทับทะเลอาณาเขตชิดเกาะกูด และทับเขตเศรษฐกิจจำเพาะกลางอ่าวไทยใกล้อ่าวตัว ดังปรากฎตามแผนที่แนบท้าย MOU 2544 เท่ากับรัฐบาลไทยรับรู้ว่า ทะเลตราดและทะเลเกาะกูดอยู่ในเขตของฝ่ายกัมพูชา และถูกนำเข้ามาอยู่ในกรอบการเจรจา ไทยจึงเป็นฝ่ายเสียเปรียบตั้งแต่ยังไม่เริ่มเจรจา

4.รัฐบาลอธิบายว่า MOU 2544 ไม่ปรากฎข้อความไทยยอมรับเส้นของกัมพูชา แต่เส้นดังกล่าวไปปรากฏในแผนที่แนบท้าย แม้ไม่ได้เขียนตรงๆ ว่า ยอมรับ แต่แผนที่คือเอกสารราชการที่แสดงการรับรู้รับทราบว่า เส้นของกัมพูชาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย เพราะไม่เคยปรากฏบนเอกสารราชการไทยมาก่อนปี 2544 เลย การรับรู้เส้นเขตแดนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในเอกสารราชการไทย ก็ทำให้ฝ่ายกัมพูชาได้ประโยชน์ ถือว่าทำให้ไทยเสียหาย

5) เทียบกรณี ไทย-มาเลเซีย พบว่า กรณีกัมพูชามีการดำเนินการก็เร่งรีบผิดปกติโดยใช้เวลาเจรจาเพียง 44 วัน จนระบุเส้นละติจูดผิด โดยเขียน 9E 10E 11E ที่ถูกต้องเขียน 9N 10N 11N เทียบกรณี มาเลเซีย ใช้เวลา 7 ปี จึงเกิด MOU พื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชาขนาดใหญ่โตกว่า 4  เท่า วิธีดำเนินการก็แตกต่าง เทียบกับกรณี ไทย-มาเลเซีย จะตั้งคณะเจรจาให้เหลือพื้นที่ทับซ้อนเล็กที่สุดเสียก่อน เมื่อตกลงกันได้ จึงค่อยทำ MOU แสดงให้เห็นความรีบร้อน ไม่รัดกุม อาจนำประเทศไปสู่ความสุ่มเสี่ยงในอนาคต

6.หากยอมให้มีการขุดปิโตรเลียมและมีการแบ่งผลประโยชน์กัน 50% ระหว่างไทยและกัมพูชาเมื่อใด จะเป็นหลักฐานสำคัญว่า ไทยยอมรับสิทธิอธิปไตยของกัมพูชาในพื้นที่ดังกล่าว และมีความเสี่ยงที่จะถูกนำขึ้นสู่ศาลโลกเพื่อแบ่งพื้นที่ให้กัมพูชา 13,000 ตร.กม. ต่อไปในอนาคต

“หากกัมพูชายึดถือกฏหมายทะเลสากล เส้นไหล่ทวีประหว่างกันจะลากจากหลักเขตที่ 73 เฉียงลงทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดและเกาะกง พื้นที่ทับซ้อนจะเหลือประมาณ 7000 ตร.กม. เมื่อพัฒนาปิโตรเลียมเสร็จสิ้น แบ่งฝ่ายละครึ่ง ไทยจะเสียพื้นที่ไปเพียง 3500 ตร.กม.เท่านั้น ดังนั้น เพื่อประโยชน์ของคนไทย จึงควรยกเลิก MOU 2544 แล้วทำ MOU ฉบับใหม่กับกัมพูชา โดยยึดแนวทางที่ไทยเคยทำกับมาเลเซีย“

ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและประธานร่วมศูนย์นโยบายและวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวตั้งข้อสงสัยว่า การทำงานของกระทรวงต่างประเทศ (กต.) อาจจะเป็นต้นเหตุทำให้ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ตระหนักถึงปัญหา MOU 2544 โดยขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กต. ผู้มีหน้าที่ปกป้องประเทศในเวทีกฎหมายสากล ชี้้แจงต่อประชาชนว่า กต.ไปเสนอให้รัฐบาลทำ MOU ทั้งที่รู้ดีอยู่แล้วว่าเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ผ่านเกาะกูดนั้นขัดกับกติกาสากล ใช่หรือไม่?
 
นายธีระชัย กล่าวต่อว่า เส้นดังกล่าวขัดกับกติกาสากล 3 ข้อ คือ
(ก) ขัดอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตฯ เพราะรุกล้ำอาณาเขต 12 ไมล์ทะเลรอบเกาะกูด
(ข) ขัดสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสฯ เพราะอ้างจุดสูงสุดบนเขาเกาะกูดบิดเบือนเจตนารมณ์ และ
(ค) ขัดอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป เพราะอนุสัญญาฯ ไม่ได้อนุญาตเรื่องเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในสนธิสัญญาฯ
และกต.ในฐานะผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศย่อมจะรู้เรื่องนี้ดีอยู่แล้ว
 
นายธีระชัย ยังกล่าวต่อว่า ตนจึงเรียกร้องให้ กต.ตอบคำถามเหล่านี้
1.กต.ได้มีหนังสือท้วงติงกัมพูชาหรือไม่ว่า เส้นดังกล่าวผิดกติกาสากล
2.กต.เคยแจ้งปัญหานี้ให้รัฐบาลไทยชุดใดรับทราบหรือไม่?
3.กต.เสนอให้รัฐบาลทำ MOU โดยเอาเส้นของกัมพูชาที่กต.รู้ดีอยู่แล้วว่าผิดกติกาสากลไปแสดงไว้ทำไม?
4. MOU เป็นการที่รัฐบาลไทยสละสิทธิที่จะท้วงติงเรื่องเส้นผิดกติกาสากล ใช่หรือไม่?
5.เส้นที่ผ่านเกาะกูดจะถูกต้องตามอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป ก็เฉพาะกรณีที่ไทยและกัมพูชาเป็นเจ้าของเกาะกูดกันคนละส่วน ใช่หรือไม่?

“หัวใจของ MOU ที่เป็นธรรมต้องเจรจาตกลงพื้นที่พัฒนาร่วมให้เสร็จก่อน แต่กต.ดำเนินการกลับทางโดยตราแผนที่พื้นที่พัฒนาร่วมที่ผิดกติกาสากลเพื่อรีบร้อนเจรจาส่วนแบ่ง การที่กต.ไม่ได้เปิดเผยต่อรัฐบาลเป็นเหตุให้ทุกรัฐบาลเดินหน้าเจรจาในกรอบที่ผิดกติกาสากลมาตลอด ทั้งที่ควรจะแจ้งรัฐบาลให้รู้ข้อเท็จจริงเพื่อยกเลิก MOU ใช่หรือไม่? ” นายธีระชัย กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 8 พฤศจิกายน 2567

“สนธิรัตน์” จี้ พรรคร่วมรัฐบาลยึดหลักการ รักษาจุดยืนในอดีต ยกเลิก MOU2544 รักษาผลประโยชน์ชาติ หยุดเอื้อประโยชน์กลุ่มทุน

,

“สนธิรัตน์” จี้ พรรคร่วมรัฐบาลยึดหลักการ รักษาจุดยืนในอดีต ยกเลิก MOU2544 รักษาผลประโยชน์ชาติ หยุดเอื้อประโยชน์กลุ่มทุน

วันนี้ (4 พ.ย.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานศูนย์นโยบายและวิชาการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟสบุ๊คกล่าวถึงกรณีที่นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เปิดเผยข้อมูลใหม่ว่า มติคณะรัฐมนตรีรัฐบาลอภิสิทธิ์ ได้เห็นชอบในหลักการ “ให้ยกเลิก MOU2544” หรือยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับการอ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทย ปี พ.ศ.2544 (MOU2544) ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2552 ซึ่งยังคงมีผลผูกพันทางกฎหมายจนถึงปัจจุบัน

นายสนธิรัตน์ กล่าวต่อว่า พรรคร่วมรัฐบาลในเวลานั้นที่เห็นชอบในหลักการให้ยกเลิก MOU2544 ประกอบไปด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมชาติพัฒนา พรรคกิจสังคม และพรรคมาตุภูมิ ทั้งผู้นำพรรค สมาชิกพรรคหลายท่านก็นั่งอยู่ในรัฐบาลเวลานี้

“ผมจึงอยากเรียกร้องจากทุกพรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบัน ให้ออกมายืนหยัดในจุดยืนเรื่องการยกเลิก MOU2544 แบบที่ทุกท่านที่ได้เห็นชอบร่วมกันใน ครม.เวลานั้น เป็นการร่วมปกป้องผลประโยชน์ของชาติอย่างดีที่สุด ไม่ให้เอื้อประโยชน์ทับซ้อนกับผู้มีอำนาจและกลุ่มทุนใด” นายสนธิรัตน์กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 4 พฤศจิกายน 2567

บิ๊กป้อม ลงใต้ เยี่ยมศูนย์พักพิงใจอุ่นไอรัก ปลูกต้นรวงผึ้ง ไหว้หลวงปู่ทวด ทอดกฐินวัดช้างให้

,

บิ๊กป้อม ลงใต้ เยี่ยมศูนย์พักพิงใจอุ่นไอรัก ปลูกต้นรวงผึ้ง ไหว้หลวงปู่ทวด ทอดกฐินวัดช้างให้

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เดินทางเยี่ยมศูนย์พักพิงร่วมใจอุ่นไอรักเทศบาล ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และปลูกต้นรวงผึ้ง เป็นสัญลักษณ์ความร่วมมือในการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และ ส.ส.พรรค ร่วมคณะ อาทิ นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรค นายสันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรค นายฉกาจ พัฒนกิจวิบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และ ส.ส.พังงา นายชัยมงคล ไชยรบ รองหัวหน้าพรรค และ ส.ส.สกลนคร นายสุธรรม จริตงาม ส.ส.นครศรีธรรมราช และ ส.ส.ของพรรค เช่น นายวิริยะ ทองผา ส.ส.มุกดาหาร เขต 1 นายคอซีย์ มามุ ส.ส.ปัตตานี นายทวี สุระบาล ส.ส.ตรัง

ทั้งนี้ศูนย์พักพิงชั่วคราวจัดขึ้นเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้มีความเข้าใจในหลักการบริหาร จัดการ และแนวทางการปฏิบัติภายในศูนย์พักพิงฯ เมื่อเกิดสาธารณภัยในพื้นที่ติดทะเลทางภาคใต้ ทำให้ประชาชนมีความพร้อมและสามารถปฏิบัติ เมื่อเกิดเหตุภาวะฉุกเฉินได้ ซึ่งภาครัฐสามารถเข้ามาบริหารจัดการช่วยเหลือ ดูแลเบื้องต้นได้อย่างทั่วถึง

จากนั้น พล.อ.ประวิตรเดินทางไปที่ราษฎร์บูรณาราม (วัดช้างให้) ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี โดยสักการะรูปหล่อหลวงปู่ทวด ก่อนเป็นประธานในพิธีทอดกฐินสามัคคี ถวายเครื่องบริวารกฐิน และเครื่องไทยธรรม แก่พระภิกษุสงฆ์ จำนวน 9 รูป

ที่มา: https://www.matichon.co.th/
วันที่: 2 พฤศจิกายน 2567

“หม่อมกร” แฉ ผู้ร้ายตัวจริงปมรถบัสมรณะ คือ ลิ้นปิดเปิดอัตโนมัติไม่ตัดจ่ายก๊าซ เตรียมชง ก.อุตสาหกรรม ยกเลิก มอก.2333 รถบริการต้องได้มาตรฐานยุโรปและ ISO

,

“หม่อมกร” แฉ ผู้ร้ายตัวจริงปมรถบัสมรณะ คือ ลิ้นปิดเปิดอัตโนมัติไม่ตัดจ่ายก๊าซ เตรียมชง ก.อุตสาหกรรม ยกเลิก มอก.2333 รถบริการต้องได้มาตรฐานยุโรปและ ISO

ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แถลงข่าวว่า พรรคพลังประชารัฐได้ติดตามประเด็นปัญหาของรถโดยสารที่ติดตั้งระบบก๊าซ NGV และเมื่อเกิดอุบัติเหตุจะเกิดไฟไหม้รุนแรงมีคนเสียชีวิตนั้น นอกจากเกิดขึ้นจากการติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐานแล้ว ภาครัฐยังกำหนดมาตรฐาน มอก.2333 ที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากลในเรื่องลิ้นเปิดปิดการจ่ายก๊าซที่หัวถัง

ทั้งนี้ มาตรฐาน มอก.ผู้ใช้เลือกได้ว่าจะใช้ลิ้นปิด-เปิดด้วยมือหรือลิ้นปิด-เปิดอัตโนมัติก็ได้ แต่ตามมาตรฐานสากล ต้องมีทั้งลิ้นปิด-เปิดอัตโนมัติ และลิ้นปิด-เปิดด้วยมือ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดเมื่อระบบก๊าซรั่ว จะตัดการจ่ายก๊าซจากถังทันที

ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวต่อว่า พรรคพลังประชารัฐได้ ยื่นหนังสือถึงนายเอกนัฐ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ตรวจสอบเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2567 และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี และล่าสุดได้รับทราบความคืบหน้าจากท่านรัฐมนตรี รวมถึงได้พบกับผู้แทนของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ในการประชุมเสวนาจัดโดยสภาของผู้บริโภค ได้รับคำตอบว่า มาตรฐาน มอก.2333 แตกต่างจากมาตรฐานยุโรป ECE R110 และ ISO15501 ตามข้อร้องเรียนของพรรคฯ จริง

“พรรคพลังประชารัฐจึงเสนอแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมกับพี่น้องคนไทยขึ้นอีก ควรกำหนดให้รถโดยสารสาธารณะต้องติดตั้งลิ้นปิด-เปิดอัตโนมัติ (โซลินอยด์วาล์ว) เพิ่มเติมที่ถังทุกใบ ปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายประมาณ 2,000-3,000 บาทต่อถัง ซึ่งคุ้มค่าต่อการรักษาชีวิตคน โดยทางพรรคพลังประชารัฐ จะหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมโดยเร็ว“ ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าว

ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับรถเก่าที่มีการติดตั้งถังไว้แล้วมีความเป็นไปได้ 2 แนวทาง คือ 1.ยกเลิก มาตรฐาน มอก.2333 จะทำให้รถที่ให้บริการอยู่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานยุโรป ECE R110 และ ISO15501 เร่งดำเนินการปรับปรุงมาตรฐาน มอก.2333 ให้เทียบเท่ามาตรฐานยุโรป ECE R110 และ ISO15501 ทุกประการ ส่วนรถใหม่ต้องเพิ่มเติมเรื่องจุดตั้งถังมีสองแนวทาง คือ บนหลังคารถหรือส่วนที่ท้ายสุดของรถ พร้อมติดตั้งผนังกันไฟและช่องระบายก๊าซออกนอกตัวรถด้านบน ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ย้ำว่า พรรคพลังประชารัฐยึดมั่นผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง แม้เป็นฝ่ายค้านก็ทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อพี่น้องประชาชนได้

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 1 พฤศจิกายน 2567