โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

หมวดหมู่: สื่อออนไลน์

“สส. จำลอง”ขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขยายถนนเส้นยุทธศาสตร์ เชื่อมอีสานใต้ไปอีสานเหนือ ให้กว้างขึ้น เพราะเป็นทางหลักขนอ้อย จนเกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง

,

“สส. จำลอง”ขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขยายถนนเส้นยุทธศาสตร์ เชื่อมอีสานใต้ไปอีสานเหนือ ให้กว้างขึ้น เพราะเป็นทางหลักขนอ้อย จนเกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง

นายจำลอง ภูนวนทา สส.กาฬสินธุ์ เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) กล่าวหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า ถนนเส้น 2268 ซึ่งเป็นเส้นทางหลัก หรือเรียกว่าเป็นถนนยุทธศาสตร์ก็ได้ เพราะจะเชื่อมระหว่างอีสานใต้ไปยังอีสานเหนือ ถึงลุ่มแม่น้ำโขง ที่ผ่านมาได้รับการทะนุบำรุงถนน โดยการฉาบผิวใหม่ด้วยยางมะตอย จึงต้องขอขอบคุณ ผอ.แขวงการทาง แต่ยังมีประเด็นที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง ก็คือ ควรต้องขยายถนนให้กว้างขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเป็นฤดูกาลตัดอ้อย ทำให้มีรถบรรทุกอ้อยจำนวนมากที่ต้องใช้เส้นทาง ซึ่งนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนอยู่บ่อยครั้ง จึงขอฝากให้เร่งดำเนินการด้วย

“ในเรื่องถนนยังมีถนนสายเชื่อมระหว่างตำบลหนองบัวตำบลหนองสรวง ยังไม่ได้รับการแก้ไข ถนนเชื่อมระหว่างตำบลโคกเครือ ตำบลดงมูล ได้รับเรื่องร้องเรียนว่ายังไม่ได้รับการตอบรับจากกรมส่งเสริม”นายจำลอง กล่าว

นายจำลอง กล่าวต่อถึงระบบการจัดสรรน้ำ ของกรมชลประทาน ในลุ่มเขื่อนลำปาวที่ท่วมที่ดินที่พี่น้องประชาชนได้เช่าไว้ โดยในตอนแรกที่ทำสัญญาเช่าระหว่างพี่น้องประชาชนกับธนารักษ์มีการระบุว่า ถ้าเกิดมีการกักเก็บน้ำเกินอัตราจนเกิดน้ำท่วมก็ได้รับการชดเชยค่าเสียหาย จึงขอฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลด้วย

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 13 ธันวาคม 2566

“รมช สันติ” เผยความคืบหน้านโยบาย สธ. บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ เชื่อมโยงข้อมูล 100% เดินหน้าคัดกรองมะเร็งตับอีก 1 แสนคน

,

“รมช สันติ” เผยความคืบหน้านโยบาย สธ. บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ เชื่อมโยงข้อมูล 100% เดินหน้าคัดกรองมะเร็งตับอีก 1 แสนคน

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 6/2566 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร เข้าร่วมประชุม ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี

นายสันติ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขและ Quick Win 4 ประเด็น คือ

1.การดูแลสุขภาพจิตและยาเสพติด มีการจัดตั้ง “มินิธัญญารักษ์” แล้ว 46 จังหวัด รวมโรงพยาบาล 76 แห่ง จำนวน 1,333 เตียง แบ่งเป็น การดูแลระยะกลาง (Intermediate Care :IMC) 42 แห่ง ดูแลระยะยาว (Long Term Care : LTC) 19 แห่ง และดูแลทั้งระยะกลางและระยะยาว 15 แห่ง ส่วนหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดมีการเปิดครบ 77 จังหวัดแล้ว รวม 7,796 เตียง เป็นโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 1,407 เตียง กรมสุขภาพจิต 4,428 เตียง กรมการแพทย์ 1,840 เตียง และในกรุงเทพมหานคร 121 เตียง และจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชนครบทั้ง 755 แห่ง

2.ดิจิทัลสุขภาพ เรื่องนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ มีความคืบหน้าใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ แพร่ มีการยืนยันตัวตน (Health ID) แล้ว 1 แสนคน เพชรบุรี 1.8 แสนคน ร้อยเอ็ด 3.41 แสนคน และนราธิวาส 1.51 แสนคน บุคลากรที่มีลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั้ง 4 จังหวัด รวมกว่า 5 พันคน ได้แก่ แพทย์ 4,058 คน ทันตแพทย์ 227 คน เภสัชกร 489 คน และเทคนิคการแพทย์ 424 คน โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชนของทั้ง 4 จังหวัด นำร่อง ครบ 100% แล้ว พร้อมทั้งพัฒนาระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ทั้งระบบแจ้งเตือนเมื่อพบภัยคุกคาม การให้คำปรึกษาเมื่อเกิดเหตุ ระบบเฝ้าระวัง และการกู้คืนระบบ

3.ด้านสถานชีวาภิบาล ได้สำรวจความพร้อมการจัดตั้งทั่วประเทศแล้ว 143 แห่ง ครอบคลุมทุกเขตสุขภาพ พร้อมจัดทำเอกสารคู่มือ รวมถึงจะมีการศึกษาดูงานและถอดบทเรียนสถานชีวาภิบาลบ้านพักกลางโองโมงประชารัฐอนุเคราะห์ อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก เพื่อนำมาปรับให้สอดคล้องกับพื้นที่อื่นต่อไป และ 4.ประเด็นมะเร็งครบวงจร สามารถฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทยอายุ 11-20 ปี ได้เกินเป้าหมาย 1 ล้านโดสก่อนกำหนด 100 วัน ซึ่งจะมีการจัดหาวัคซีนสำหรับฉีดเป็นเข็มที่สองในปีต่อไป ส่วนโรคมะเร็งตับ จะเดินหน้าคัดกรองและรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีและซีในกลุ่มเป้าหมาย คือ ประชากรที่เกิดก่อนปี 2535 และกลุ่มเสี่ยง โดยมีเป้าหมาย 100 วัน จำนวน 1 แสนคน และคัดกรองให้ได้ 1 ล้านคน ภายในปี 2567

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 13 ธันวาคม 2566

“รมช.สันติ” รวมพลังสธ. ประกาศจุดยืนต่อต้านการทุจริต-ประพฤติมิชอบ ตอกย้ำเป็นวัฒนธรรมองค์กรโปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นประชาชน

,

“รมช.สันติ” รวมพลังสธ. ประกาศจุดยืนต่อต้านการทุจริต-ประพฤติมิชอบ ตอกย้ำเป็นวัฒนธรรมองค์กรโปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นประชาชน

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้บริหาร และบุคลากรสาธารณสุข ประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริต ไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy) และป้องกันการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ การล่วงละเมิดและการคุกคามทางเพศในการทำงาน (Stop sexual exploitation, abuse, and harassment : Stop SEAH)

วันนี้ (7 ธันวาคม 2566) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้บริหารและบุคลากร ร่วมประกาศเจตนารมณ์ ในงาน MOPH Together Against Corruption & Stop SEAH ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พร้อมมอบโล่เชิดชูเกียรติให้กับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ผลการประเมิน ITA สูงสุด จากสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และมอบประกาศเกียรติคุณเชิดชูเกียรติหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์การประเมินฯ จำนวน 10 หน่วยงาน รวมทั้งมอบประกาศเกียรติคุณ “จริยธรรม นวัตกรรมสร้างสรรค์ 2566” แก่ส่วนราชการระดับกรม 3 หน่วยงาน

นายสันติ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการทุจริต โดยนำมาตรการ “หอก 3 แฉก : LPL” (Three Pronged measures) มาใช้ ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมาย (Law enforcement) กำหนดมาตรการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด รวดเร็ว และเป็นธรรม, การป้องกันการทุจริต (Prevention) ปรับปรุงกฎระเบียบ สร้างความเข้มแข็งของกลไกการตรวจสอบ ร่วมกันต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ และความรอบรู้สู้โกง (Literacy) ให้ความรู้ที่เท่าทันต่อการทุจริต ปลุกจิตสำนึก ปรับฐานความคิด ให้สามารถแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตัวออกจากผลประโยชน์ส่วนรวมได้โดยอัตโนมัติ รวมทั้งส่งเสริมมาตรฐานทางจริยธรรม และสร้างสังคมวัฒนธรรมภายในกระทรวงสาธารณสุข สู่เป้าหมาย “กระทรวงสาธารณสุข ปลอดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ”

ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า การประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนในการไม่ยอมรับและไม่อดทนต่อการทุจริต ไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ และป้องกันการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ ในการทำงาน รวมถึงการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต เป็นการแสดงถึงพลังของชาวกระทรวงสาธารณสุขในการร่วมกันสร้างวัฒนธรรมความซื่อสัตย์สุจริตให้เกิดขึ้นในองค์กรอย่างจริงจัง ซึ่งจะส่งผลต่อการยกระดับค่าดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทยให้สูงขึ้นด้วย

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 7 ธันวาคม 2566

สันติ รมช.สธ.ห่วงคนไทยเป็นโรคอ้วน-เบาหวาน-ความดัน แนะปรับพฤติกรรมออกกำลังกายยกระดับบริการสาธารณสุข

,

สันติ รมช.สธ.ห่วงคนไทยเป็นโรคอ้วน-เบาหวาน-ความดัน แนะปรับพฤติกรรมออกกำลังกายยกระดับบริการสาธารณสุข

“รมช. สันติ” มอบนโยบายกรมอนามัย เร่งส่งเสริมประชาชนออกกำลังกาย ป้องกันโรค NCDs หรือโรคติดต่อไม่เรื้อรัง ชี้สาเหตุพบ โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูงค่อนข้างมากในคนไทย หนุนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ยกระดับสุขภาพร่างกาย จิตใจแข็งแรง มุ่งลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ และช่วยประหยัดงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ โชว์ความสำเร็จ โครงการก้าวท้าใจ season 5สร้างเครือข่ายประชาชนร่วมออกกำลังกายกว่า 5 ล้านคน สะสมแต้มแลกรางวัล เดินหน้า season 6 เชิญชวนคนไทยร่วมออกกำลังกาย ปลอดโรค

เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 66 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติ “การดำเนินงานการขับเคลื่อนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย” ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ การขับเคลื่อนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายด้วยกลไลพื้นที่” โดยมี นายแพทย์มณเฑียร คณาสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อไปสู่การดำเนินการโครงการก้าวท้าใจ เป็นความมุ่งมั่นของกระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ที่ต้องการให้ประชาชนได้มีสุขภาพที่ดี และส่งเสริมให้ประชาชนมีการออกกำลังกายอย่างถูกต้อง เพื่อห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บ ที่เกิดจากการดำรงชีวิต โดยอาจไม่มีเวลาในการออกกำลังกาย หรือการดูแลสุขภาพ

ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันการเกิดโรคตั้งแต่ต้นทาง ได้มอบหมายให้กรมอนามัยเร่ง แผนส่งเสริมให้ประชาชน มาใส่ใจในการออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยง ก่อให้เกิดโรคที่เกิดจากพฤติกรรม หรือกลุ่มโรคติดต่อไม่เรื้อรัง (หรือ NCDs ) เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มจำนวนผู้ป่วยประเภทนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถรักษาได้โดยการใส่ใจในเรื่องการบริโภคและเน้นการออกกำลังกาย นอกจากจะทำให้เรามีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและมีสุขภาพจิตใจที่ดีแล้ว ยังช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ และช่วยประหยัดงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลของประเทศได้อีกด้วย

ทั้งนี้รัฐบาลได้ให้ความสำคัญเรื่องการส่งเสริมความรอบรู้สุขภาพต้านออกกำลังกายของประชาชนไทย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนและผลักดันนโยบายการส่งเสริมการออกกำลังกายระดับชาติตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน พร้อมทั้งจัดทำโครงการก้าวท้าใจมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ Season 1 – 5 ล่าสุดตั้งเป้าหมาย Season 5 ชวนคนไทยร่วมกันท้า 150 วัน 150 ล้านแต้มสุขภาพ พร้อมทั้งมอบโถ่เชิดชูเกียรติให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมขับเคลื่อนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายผ่านก้าวท้าใจ กว่า 145 รางวัล

“สำหรับก้าวท้าใจ season 5 ได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ร่วมกันท้า 150 วัน 150 ล้านแต้มสุขภาพในปีนี้ ได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึง วันที่ 28 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีสมาชิกรวมกว่า 5 ล้าน 2 แสนคน มีแต้มสุขภาพสะสม 67,726,574 แต้ม สามารถเผาผลาญพลังงานรวมมากกว่า 3,510 ล้านกิโลแคลอรี ระยะทางสะสมรวมกว่า 41 ล้านกิโลเมตร ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในการส่งเสริมให้เกิดการออกกำลังกายของประชาชน ที่จะถูกแปลงเป็นแต้มสุขภาพหรือ Health Point และสามารถนำไปแลกของรางวัลบนแอพพลิเคชั่นก้าวท้าใจได้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ประชาชนมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ” นายสันติ กล่าว

ทุกท่านสามารถติดตามกิจกรรมและแคมเปญใน season ต่อไปได้ รวมถึงกติกาการแลกของรางวัลต่างๆ ของก้าวท้าใจได้ทาง FACEBOOK FANPAGE : ก้าวท้าใจ และ Line@ THNVR รวมถึงในแอพพลิเคชั่น ก้าวท้าใจ ในระบบ IOS และ ระบบ ANDROID

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 24 พฤศจิกายน 2566

“สันติ รมช.สธ.” ดันนโยบายผลิตแพทย์ป้อน รพ.สต.แห่งละ 3 คน ทั่วประเทศ ปี 68 คัดเด็กนร.หัวกระทิในพื้นที่รับโควต้า มอบ สบช.เร่งทำหลักสูตรการเรียนการสอน

,

“สันติ รมช.สธ.” ดันนโยบายผลิตแพทย์ป้อน รพ.สต.แห่งละ 3 คน ทั่วประเทศ ปี 68 คัดเด็กนร.หัวกระทิในพื้นที่รับโควต้า มอบ สบช.เร่งทำหลักสูตรการเรียนการสอน

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า แนวทางการผลิตแพทย์ป้อนให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แห่งละ 3 คน เพื่อลดผลกระทบด้านภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ในการเดินทางมาพบแพทย์ และยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่ให้มีสุขอนามัยที่ดีขึ้น และมีประสิทธิในการให้บริการด้านสาธารณสุขที่เพียงพอและคุ้มค่า
เนื่องจากในขณะนี้ประชาชนในพื้นที่ระดับหมู่บ้าน ระดับตำบลมีความเดือดร้อนในการเดินทางไปพบแพทย์ในตัวจังหวัด แต่ละครั้งต้องใช้เงินค่าเดินทางจำนวนมาก ซึ่งหากคำนวณว่า 1 คนเดินทางราวๆ 2 พันบาท ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนตั้งแต่ต้นทาง จึงมีแผนการยกระดับรพ.สต.ให้มีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น โดยมีการหารือในที่ประชุมผู้บริหารกระทรวง และมีการคำนวณภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแล้วว่า ทุนในการผลิตแพทย์ 1 คน จะใช้ราวๆ 5 ล้านบาท เรียน 6 ปี หากผลิตให้ รพ.สต.แห่งละ 3 คน ก็เท่ากับว่าต้องผลิตแพทย์ทั้งหมดประมาณ 3 หมื่นคน เมื่อการเรียนแพทย์ต้องใช้เวลานาน 6 ปี หารแล้วปีหนึ่งจะผลิตได้ 5,000 คน รวมแล้วใช้งบประมาณ 1.5 แสนล้านบาท

“นักเรียนที่จะมาเรียนแพทย์ตามโครงการนั้น จะเป็นระบบโควต้าในแต่ละจังหวัด เช่น หากในจังหวัดมีรพ.สต. 100 แห่ง 1 แห่งจะใช้ให้มีแพทย์ 3 คน ก็จะได้ 3 พันคน หารด้วยจำนวนปีที่ต้องเรียน คือ 6 ปี ปีละ 50 คน โดยคัดคนที่เรียนจบมัธยมปลายที่มีคะแนนสูงสุดของจังหวัดนั้นๆ เข้าเรียน เมื่อเรียบจบก็กลับมาเป็นแพทย์ในจังหวัดของตนเอง โดยยืนยันว่า การผลิตแพทย์นี้จะป้อนเข้า รพ.สต. ทั้งที่ยังอยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และที่มีการถ่ายโอนภารกิจไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แล้วทั้งหมด”

การผลิตแพทย์ให้ได้ตามจำนวน รพ.สต.ที่มีอยู่ คาดว่าจะใช้งบประมาณ 1.5 แสนล้าน เป็นงบผูกพันปีละประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ไม่มาก เมื่อเทียบกับค่ารถที่ประชาชนต้องเดินทางไปหาหมอโดยตั้งสมมุติฐานว่า ประชาชน 1 คน เดินทางไปพบแพทย์เฉลี่ย 1 ครั้งต่อปี ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 1 แสนล้านบาท จึงเป็นที่มาของการผลักดันการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว ซึ่งได้มีการหารือกับสำนักงบประมาณ ซึ่งที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุขมีความเข้าใจในแนวทางดังกล่าวแล้ว โดยให้สถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) เป็นหน่วยงานดำเนินการต่อไป

สำหรับแนวทางการบรรจุโครงการเข้าสู่ปีงบประมาณ เดิมพยายามที่จะเริ่มในปี 2567 แต่งบปี 67 ค่อนข้างตึงตัว แต่ก็พยายามผลักดัน อย่างช้าที่สุดคือปี 2568 ซึ่งขณะนี้ได้มอบให้ สบช.เร่งจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนของพยาบาลชั้นสูง และนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อให้คนเหล่านี้อบรม เรียนอีกประมาณ 3-4 ปี ออกมาเป็นแพทย์ เพื่อไปประจำรพ.สต.ระยะเร่งด่วนก่อน

นอกจากนี้ยังพบว่าคุณภาพของแพทย์ไทยเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก โดยสังเกตจากนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่เข้ามาประเทศไทยเพื่อรักษาสุขภาพโดยเฉพาะ ดังนั้นหากเราตั้งใจผลิตแพทย์ที่ทั่วโลกยอมรับ ในอนาคตเมื่อแพทย์พอเพียงแล้ว ก็จะไม่มีการจำกัดให้แพทย์ไปทำงานที่ต่างประเทศ เพราะเท่าที่ศึกษาแพทย์ไทยทำงานต่างประเทศจะมีรายได้เดือนละเกิน 1 ล้านบาท เมื่อไปทำงานต่างประเทศก็จะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศอีกด้วย

“ตอนนี้ผู้บริหารกระทรวงเห็นด้วยว่า มีความจำเป็น ที่สำคัญที่สุด ได้มาหารือกับหัวหน้าพรรค ท่านพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เห็นด้วยกับแนวทางที่ต้องเร่งผลิตแพทย์ให้เพียงพอ ต่อจำนวนประชากร ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประชาชนมากในระยะยาว ” นายสันติ กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 21 พฤศจิกายน 2566

“พล.อ.ประวิตร” นำทีมสส.เข้าอบรมหลักสูตรเสริมสร้างศักยภาพ พร้อมทำหน้าที่ในสภาฯ ขอให้นำประโยชน์ไปใช้พัฒนาประเทศชาติ

,

“พล.อ.ประวิตร” นำทีมสส.เข้าอบรมหลักสูตรเสริมสร้างศักยภาพ พร้อมทำหน้าที่ในสภาฯ ขอให้นำประโยชน์ไปใช้พัฒนาประเทศชาติ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ( พปชร.) เป็นประธานเปิดการอบรมหลักสูตรการเสริมสร้างศักยภาพให้กับ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)พรรคพลังประชารัฐ ว่า การอบรมครั้งนี้ถือว่าเป็นการทบทวน เพิ่มพูนความรู้และจะได้รับข้อมูลใหม่ที่ทันสมัย ทั้งในเรื่องข้อบังคับ การประชุมสภาด้านกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญรวมถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในด้านการสื่อสารที่จะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ในการบริหารงานของทุกองค์กรนักการเมืองจึงต้องปรับตัวและเรียนรู้ให้เท่าทันสถานการณ์ การอบรมในครั้งนี้จะใช้ระยะเวลาสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ตลอดทั้งเดือนตุลาคม

“พรรคมีการจัดอบรมให้กับ สส.ในการปฏิบัติหน้าที่ให้มียุทธวิธีและยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานของพรรคประชารัฐ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สำคัญและเป็นประโยชน์แก่ผู้เข้ารับการอบรมทั้ง สส.สมัยแรก หรือ สส.ที่เคยเป็นมาแล้วก็ตาม ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สส.ที่เข้ารับฟังการบรรยายจากวิทยากรจะได้รับข้อมูล ที่เป็นประโยชน์ รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อนำไปปรับใช้ ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ และประชาชนต่อไป“ พล.อ.ประวิตร กล่าว

ทั้งนี้ การอบรมหลักสูตรการเสริมสร้างศักยภาพ สส. พรรคพลังประชารัฐ มีประเด็นต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการทำหน้าที่ในสภา อาทิ บทบาทการทำหน้าที่ในฐานะกรรมาธิการ , การตั้งกระทู้ เสนอญัตติ เสนอกฎหมาย และการอภิปราย รวมไปถึงการใช้ Social Media ในการประชาสัมพันธ์ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การขยายฐานเสียงในพื้นที่ โดยทางพรรคพลังประชารัฐได้มีการเชิญวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องต่าง ๆ เช่น นิติกรชำนาญการพิเศษ วิทยากรชำนาญการ มาบรรยายให้ความรู้แก่ สส.ของพรรคด้วย

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 3 ตุลาคม 2566

“สันติ รมช.สธ.” สนับสนุนผู้บริหาร ก.สาธารณสุข ต่อสู้ เพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อประสิทธิภาพในการดูแล ปชช.ทั่ว ปท.เผย ศรัทธา การทำงานของแพทย์ทุกท่าน ชี้ เป็นคนอำนวยความสุขและละลายความทุกข์

,

“สันติ รมช.สธ.” สนับสนุนผู้บริหาร ก.สาธารณสุข ต่อสู้ เพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อประสิทธิภาพในการดูแล ปชช.ทั่ว ปท.เผย ศรัทธา การทำงานของแพทย์ทุกท่าน ชี้ เป็นคนอำนวยความสุขและละลายความทุกข์

วันที่ 15 ก.ย. 2566 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมประชุมกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข เพื่อมอบนโยบายขับเคลื่อนงานกระทรวงสาธารณสุข โดยนายสันติ กล่าวกับบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขว่า ตนเป็นฝ่ายการเมืองที่ได้เข้ามาทำงานในกระทรวงสาธารณสุข ด้วยความตั้งใจที่จะเข้ามาทำงานให้เกิดประสิทธิภาพและจะทำงานด้วยความรัก ความสามัคคี ความเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อให้การทำงานร่วมกันเดินหน้าไปได้อย่างเต็มที่ เพื่อประสิทธิภาพในการดูแลพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ

นายสันติ กล่าวต่อว่า ชื่อของกระทรวงสาธารณสุขก็บอกอยู่แล้วว่า เป็นกระทรวงที่จะสร้างความสุขให้กับสาธารณชน และก็เป็นสิ่งที่ตนศรัทธามาโดยตลอด กว่า 20 ปีของการทำหน้าที่ สส.ตนได้คลุกคลีกับชาวบ้านในพื้นที่ชนบท และชาวบ้านก็ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ในการเดินทางไปโรงพยาบาลจำนวนมาก มาโดยตลอด แต่ภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวก็ได้มีบุคลากรทางการแพทย์ที่ไปดูแลพี่น้องประชาชนในชนบทอย่างอดทน และเต็มความสามารถ อันนี้ถือเป็นคุณงามความดี ที่ตนได้รับรู้มาจากชาวบ้านในพื้นที่โดยตลอด และตนขอชื่นชมบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ ตนผ่านการรับผิดชอบงานมาหลายกระทรวง ทำให้ได้รับรู้ปัญหาของพี่น้องประชาชนที่หลากหลาย ตนก็จะนำประสบการณ์เหล่านี้มาทำงานเพื่อให้พี่น้องคนไทยอยู่ดีกินดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่จะอำนวยความสุขให้กับประชาชนและละลายความทุกข์

“ผมเห็นใจบุคลากรทางการแพทย์เป็นอย่างมาก ซึ่งผมมองว่า ถ้าจำนวนแพทย์ยังขาดแคลน ยังไม่เพียงพอโอกาสที่เราจะใช้เทคโนโลยี หรือการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาก็จะเป็นเรื่องที่ยากลำบาก วันนี้สิ่งที่ผมพูด ก็คือว่า เราจะทำอย่างไรให้สามารถพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ให้พอเพียงกับระบบสาธารณสุขของเราให้ได้อย่างเต็มที่ เพราะหลายรัฐบาลที่ผ่านมาได้ดำริให้มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต.แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีแพทย์ประจำ มีแต่เพียงแพทย์หมุนเวียนที่หนึ่งเดือนจะมีแพทย์ไปประจำอยู่สัก 1-2 ครั้ง แสดงให้เห็นว่าบุคลากรทางการแพทย์ยังขาดแคลนอย่างแสนสาหัส

“วันนี้ พอจะเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะร่วมกันต่อสู้ให้ได้มาซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ที่เหมาะสมแต่ละพื้นที่ เช่นอย่าง 1 รพ.สต.จะมีแพทย์หมุนเวียนประมาณ 3 คน เพื่อที่จะแบ่งเบาภาระในการดูแลประชาชนในพื้นที่ได้อย่างครอบคลุม”นายสันติ กล่าว

นายสันติ กล่าวต่อว่า จากนี้กระทรวงสาธารณสุขของเราจะปรับให้สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศ อย่างเช่นถ้าประเทศไทยมีบุคลากรทางการแพทย์อย่างพอเพียงแล้ว ซึ่งแพทย์ไทยได้รับการยอมรับอย่างมาจากต่างชาติ เพราะเป็นบุคลากรที่ทีทักษะสูงเป็นอันดับหนึ่ง ถ้าเมื่อพอเพียงสำหรับประเทศไทย ก็จะยังสามารถไปทำงานในประเทศแถบตะวันออกกลาง สร้างรายได้จำนวนมากกลับคืนเข้าสู่ประเทศได้ ตนจึงขอให้ผู้บริหารช่วยกันผลักดันให้บุคลากรทางการแพทย์ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพราะจากที่ตนคิดมาจะใช้งบประมาณจำนวนไม่มาก แต่ประโยชน์ที่ได้ถือว่ากำไรหลายเท่าตัว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 15 กันยายน 2566

“พล.ต.อ.พัชรวาท” ทำงานวันแรก มอบนโยบาย-แนวทางการทำงาน “ขยัน ซื่อสัตย์ อดทน มีวินัย” ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ

,

“พล.ต.อ.พัชรวาท” ทำงานวันแรก มอบนโยบาย-แนวทางการทำงาน “ขยัน ซื่อสัตย์ อดทน มีวินัย” ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ

วันนี้ 14 กันยายน 2566 พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เข้าปฏิบัติงานที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นทางการวันแรก พร้อมเป็นประธานการประชุมมอบนโยบายแก่ผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) นำคณะผู้บริหาร ทส. รอให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม 202 ชั้น 2 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ กล่าวขอบคุณผู้บริหารของทุกหน่วยงาน ที่ได้เตรียมความพร้อมและจัดเตรียมข้อมูลสำหรับการชี้แจงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เป็นอย่างดี พร้อมมอบข้อแนะนำเพื่อเป็นแนวนโยบายให้แก่ทุกหน่วยงานนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้บรรลุตามเป้าหมายและนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดต่อไป ผ่านหลักในการปฏิบัติงาน นั่นคือ ขยัน ซื่อสัตย์ อดทน มีวินัย โดย “ขยัน” คือ การมาทำงานตรงเวลา ไม่เกียจคร้าน “ซื่อสัตย์” คือ การทำงานตรงไปตรงมา โปร่งใส “อดทน” แม้งานจะหนักแต่ต้องสู้ ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และ “มีวินัย” คือการทำตามหน้าที่ที่ผู้บังคับบัญชาสั่งงานต้องยึดปฏิบัติ พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากกำลังจะเข้าใกล้ฤดูหนาว ปัญหาที่จะเกิดขึ้นคือเรื่อง ไฟป่าหมอกควัน และ PM 2.5 โดยขอให้ทุกฝ่ายเตรียมรับมือให้พร้อม ผ่านการร่วมกันคิด แนะนำ แสดงความคิดเห็นในส่วนที่จะทำให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพัฒนาได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในการทำงานจะต้องมีการบูรณาการร่วมกันทั้งภายในและภายนอกหน่วยอย่างมีประสิทธิภาพ รักษาชื่อเสียงหน่วยงาน อย่าให้ใครมาตำหนิการทำงานของกระทรวงฯ หากมีปัญหาให้รายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับ

“สุดท้ายนี้ผมขอยกพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2521 ในเรื่องรักษาทรัพยากร พระบรมราโชวาทในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธี เฉลิมพระชนมพรรษา ดังความตอนหนึ่งว่า ธรรมชาติแวดล้อมของเรา ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดิน ป่าไม้ แม่น้ำ ทะเล และอากาศ มิได้เป็นเพียงสิ่ง สวย ๆ งาม ๆ เท่านั้น หากแต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของเรา และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของเราไว้ให้ดีนี้ ก็เท่ากับเป็นการปกปักรักษาอนาคตไว้ให้ลูกหลานของเราด้วย”

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 13 กันยายน 2566

“สันติ รมช.สธ.” ร่วมประชุมจัดทำแผนขับเคลื่อนนโยบายด้านสาธารณสุข

,

“สันติ รมช.สธ.” ร่วมประชุมจัดทำแผนขับเคลื่อนนโยบายด้านสาธารณสุข

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ เข้าร่วมประชุมจัดทำแผนขับเคลื่อนนโยบายด้านสาธารณสุข ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 9 ตึกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข กับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และ อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก เข้าร่วมประชุม พร้อมรับฟังการนำเสนอ (ร่าง) แผนขับเคลื่อนนโยบายด้านสาธารณสุข เพื่อระดมความคิดเห็นประสบการณ์ นำมาวิเคราะห์และวางแผนให้ครอบคลุมทั้ง 13 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ประเด็น โครงการพระราชดำริฯ โครงการเฉลิมพระเกียรติและโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับ พระบรมวงศานุวงศ์ 2.ประเด็น รพ. กทม. 50 เขต 50 รพ. และปริมณฑล 3.ประเด็น สุขภาพจิต / ยาเสพติด 4.ประเด็น มะเร็งครบวงจร 5.ประเด็น สร้างขวัญกำลังใจบุคลากร 6.ประเด็น การแพทย์ปฐมภูมิ 7.ประเด็น สาธารณสุขชายแดน และพื้นที่เฉพาะ 8.ประเด็น สถานชีวาภิบาล 9.ประเด็น พัฒนา รพช.แม่ข่าย 10.ประเด็น ดิจิทัลสุขภาพ 11. ประเด็น ส่งเสริมการมีบุตร 12.ประเด็น เศรษฐกิจสุขภาพ 13.ประเด็น นักท่องเที่ยวปลอดภัย

นายสันติ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ30 ปี ที่ได้ทำงานในพื้นที่ ได้รับทราบความต้องการของพี่น้องประชาชนมาโดยตลอดว่าในชนบนมีความเดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากบ้านไปยังโรงพยาบาลในอำเภอ และโรงพยาบาลในจังหวัด ที่สูงมาก เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย หรือ หมอนัดต้องออกจากบ้าน เวลา 04.00 น. เพื่อไปรับบัตรคิวที่โรงพยาบาล และเข้ารับการตรวจรักษาเสร็จสิ้นในเวลา13.00น.-14.00น. ซึ่งเวลาเหล่านี้ทำให้เกิดต้นทุนให้กับพี่น้องประชาชน

“อยากสะท้อนความรู้สึกที่กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาไปอย่างเข้มแข็งและรวดเร็ว แต่เรื่องบุคลากรทางการแพทย์ ที่ยังขาดแคลนอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด จึงอยากฝากว่า จะทำอย่างไรเราจะผลักดันรัฐบาลให้นำงบประมาณส่วนหนึ่งมาผลิตแพทย์ให้ได้ ”

เมื่อหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ประกาศให้อนามัยประจำตำบลเป็นโรงพยาบาลแพทย์ คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ตั้งแต่วันนี้ถึงวันนี้ ยังไม่มีแพทย์ประจำ ซึ่งถ้าสามารถผลิตแพทย์ประจำ รพ.สต. หรือตำบลละ 3 คน ก็จะทำให้พี่น้องประชาชนประหยัดการเดินทางและสามารถช่วยเหลือรักษาโรคระยะเบื้องต้นได้

นายสันติ กล่าวว่า การจะผลิตแพทย์ไปส่งแต่ละ รพ.สต.ต้องผลิตจำนวนมาก เพราะมี รพ.สต.รวมทั้ง กทม.ประมาณ 8,000 แห่ง ต้องใช้แพทย์ 20,000 กว่าคน ถ้าเริ่มตั้งแต่วันนี้ อีก 5-6 ปี ถึงจะได้ใช้งาน สิ่งนี้คือความจำเป็น การรับสมัครแพทย์ จะรับสมัครในแต่ละจังหวัดแต่ละอำเภอ เมื่อได้แพทย์เหล่านี้มาเขาจะมีภูมิลำเนาในจังหวัดนั้นๆ ก็จะเป็นแพทย์ที่มาดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่ของตัวเอง

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 13 กันยายน 2566

‘รมว.ธรรมนัส’ มอบนโยบายเคลื่อนภาคเกษตรต้องกินดีอยู่ดี ยกระดับมิสเตอร์สินค้าเกษตรทุกชนิดเพิ่มศักยภาพแข่งขัน

,

‘รมว.ธรรมนัส’ มอบนโยบายเคลื่อนภาคเกษตรต้องกินดีอยู่ดี
ยกระดับมิสเตอร์สินค้าเกษตรทุกชนิดเพิ่มศักยภาพแข่งขัน

วันนี้ (13 กันยายน 2566) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายขับเคลื่อนงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้เปิดการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกลออนไลน์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และทุกหน่วยงานทั้งส่วนกลางส่วนภูมิภาค และต่างประเทศ รวมกว่า 4,000 คน รับฟังอย่างทั่วถึง

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความสำคัญอย่างมากในการดูแลพี่น้องเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ให้อยู่ดีมีสุข มีรายได้อย่างมั่นคง ภาคเกษตรไทย จะต้องแข็งแกร่ง มีศักยภาพการแข่งขันที่ทัดเทียมหรือดีกว่าสินค้าเกษตรต่างประเทศ โดยมีนโยบายและงานหลักสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประการแรก คือ การขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านการเกษตร ที่นายกรัฐมนตรีได้แถลง เมื่อวันที่ 11-12 กันยายน 2566 ไปสู่การปฏิบัติให้เป็นผลสำเร็จ

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายและงานสำคัญที่จะเร่งผลักดันดำเนินการในประเด็นต่างๆ ดังนี้เน้นการสร้างวิธีการทำงานสู่การปฏิบัติ ได้แก่ 1.การจัดตั้งศูนย์บริการประชาชนภาคการเกษตร โดยเป็นศูนย์บริการร่วม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และพี่น้องเกษตรกร เพื่อให้สามารถติดต่อสอบถาม ขอทราบข้อมูล และรับเรื่องร้องเรียน คลายทุกข์ให้แก่พี่น้องเกษตรกร ณ ศูนย์บริการร่วมเพียงแห่งเดียว

2.สร้างครอบครัวเกษตร บูรณาการงานเข้มแข็ง เน้นการทำงานของทุกคนทุกหน่วยงาน ต้องทำงานเป็น Team Work ให้มีศักยภาพเพื่อการทำงานระบบทีม มีประสิทธิภาพ มุ่งมั่น ร่วมแรงร่วมใจบรรลุเป้าหมายให้สำเร็จ

3.ขับเคลื่อนภารกิจ ยกระดับ MR. สินค้าเกษตร โดยฟื้นฟู ยกระดับการทำงานของ MR. สินค้าเกษตร อีกครั้ง สินค้าเกษตรทุกชนิดต้องมีผู้รับผิดชอบ เน้นทำงานเชิงรุก สร้างกลไกการทำงานร่วมกันในทุกสินค้า แก้ปัญหาถูกจุด ทั้งด้านสินค้าล้นตลาด ราคาตกต่ำ การลักลอบนำเข้าแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางการรับมือภัยธรรมชาติ จะต้องวางแผนมาตรการต่างๆ อย่างชัดเจน รับมือตั้งแต่การป้องกัน การแก้ไข และการฟื้นฟู เมื่อประสบเหตุภัยแล้ง หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติทุกชนิด
ปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย โดยถือเป็นการประกาศสงครามสินค้าเกษตรเถื่อนอย่างจริงจัง เข้มงวดยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาผลผลิตในประเทศ เข้มงวดในการตรวจสอบสต็อกในประเทศเพื่อควบคุม ในการนำเข้า การกักตุน และเก็งกำไร โดยเฉพาะช่วงก่อนที่ผลผลิตออกสู่ตลาด
ยกระดับสินค้าเกษตร เสริมศักยภาพเกษตรกร ได้แก่ 1) ผลักดันส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร สร้าง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง เนื่องจากภาคเกษตรเป็นภาคเศรษฐกิจหลักสำคัญ มีประชากรอยู่ในภาคเกษตรจำนวนมาก แต่ยังขาดการพัฒนาที่เหมาะสม เกษตรกรบางส่วนยังทำเกษตรแบบดั้งเดิมที่จึงมีรายได้น้อย จึงเน้นแนวทางในการปรับเปลี่ยนไปสู่การปลูกพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงขึ้น 2) ส่งเสริมเกษตรกร สถาบันเกษตรกรเป็นผู้ให้บริการทางการเกษตรครบวงจร(Agricultural Service Provider) โดยเกษตรกร สถาบันเกษตรกรสามารถเป็นเจ้าของเครื่องมือ เครื่องจักรกลของตนเอง พร้อมเป็นผู้ให้บริการด้านธุรกิจเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย ซึ่งตอบโจทย์กลุ่มประชากรภาคเกษตรยุคใหม่
การจัดการทรัพยากรทางการเกษตร ทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Go Green) ด้วย BCG / Carbon Credit จะต้องทำการเกษตรที่ลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม เกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใส่ปุ๋ยที่เหมาะสม การกำจัดแมลงศัตรูพืช ที่ถูกต้อง การลดปริมาณปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง มีการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย
การอำนวยความสะดวกด้านการเกษตร ได้แก่ 1) พัฒนาระบบการประกันภัยภาคการเกษตร ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง ในนโยบายสำคัญของการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน บริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอน โดยจะเดินหน้าต่อยอด พัฒนาสร้างระบบประกันภัยให้แก่พี่น้องเกษตรกรไทย และ 2) อำนวยความสะดวก สนับสนุนให้บริการเครื่องมือทางการเกษตร ที่ให้เกษตรกรสามารถเช่า/ยืม เครื่องมือเครื่องจักรกลด้านการเกษตรที่เหมาะสมต่อการการผลิต

“ผมมีความภาคภูมิใจ ที่ได้กลับมาทำงาน และรับใช้พี่น้องเกษตรกรอีกครั้ง ซึ่งแนวทางการทำงาน และนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ผมจะขับเคลื่อนและผลักดันนั้น จะไม่ใช่มีเพียงนโยบายที่กล่าวไปข้างต้น ยังมีอีกหลายนโยบายและแนวทางปฏิบัติต่างๆ ที่จะครอบคลุม เพื่อช่วยเหลือ ช่วยแก้ปัญหาพี่น้องเกษตรกร และพัฒนาภาคเกษตร ซึ่งทุกนโยบายและทุกการทำงานจะเป็นไปอย่างจริงจัง เกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจน และต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจทำงานอย่าง บูรณาการทีมเวิร์ค แบบครอบครัวไปด้วยกัน เพื่อพี่น้องเกษตรกรกินดี อยู่ดี มีรายได้ มีอาชีพที่มั่นคง สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน และภาคเกษตรไทยคือผู้นำสินค้าเกษตรในตลาดโลก” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 13 กันยายน 2566

“พัชรวาท” รับทุกข้อห่วงใยในการอภิปรายด้าน ทส. กำชับหน่วยงานในกระทรวงทรัพย์ฯ นำไปดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

,

“พัชรวาท” รับทุกข้อห่วงใยในการอภิปรายด้าน ทส. กำชับหน่วยงานในกระทรวงทรัพย์ฯ นำไปดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ (12 กันยายน 2566) พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยภายหลังการชี้แจงต่อรัฐสภา ในการแถลงนโยบายรัฐบาลของคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่สมาชิกรัฐสภาได้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะถึงแนวทางการทำงานในหลายประเด็น ว่า ขอบคุณทุกข้อห่วงใย เข้าใจว่าทุกฝ่ายอยากเห็นประเทศพัฒนาไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมากในช่วงหลังมานี้ จึงได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายจตุพร บุรุษพัฒน์) นำทุกข้อกังวลไปกำชับหน่วยงานในสังกัด ให้รับข้อสังเกตต่าง ๆ ไปดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในเรื่องของการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่ได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ต้องมีการป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหา ร่วมกับทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ที่ต้องดำเนินมาตรการลดฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิด ทั้งยานพาหนะและโรงงานอุตสหากรรม รวมถึงการควบคุมการเผาป่า การเผาวัสดุทางการเกษตร เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนระบบการผลิตของภาคการเกษตรและการจัดการพื้นที่ป่าไม้อย่างยั่งยืน รวมถึงการสร้างมาตรการร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างจริงจัง เพื่อลดปัญหาหมอกควันข้ามแดน เพื่อสุขภาพอนามัยของพี่น้องประชาชน

ในส่วนของการเตรียมรับมือกับปัญหาภัยแล้ง ได้สั่งการให้กำชับกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล บริหารจัดการแหล่งน้ำต้นทุนให้เพียงพอต่อความต้องการการใช้น้ำของประชาชน เฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก สร้างความเข้าใจกับประชาชนในการวางแผนการใช้น้ำที่มีอยู่อย่างเหมาะสม และแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการติดตามสถานการณ์ในพื้นที่วิกฤต นอกจากนี้ ยังได้สั่งการเตรียมพร้อมการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและช่วยเหลือผู้ประสบภัยของกระทรวงทรัพยากรฯ เพื่อให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะการบรรเทาสถานการณ์ การจัดจุดให้บริการน้ำอุปโภค – บริโภค พร้อมทั้งเร่งรัดการดำเนินโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กว่า 47 โครงการ 48 แห่ง เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่วิกฤตภัยแล้งรุนแรงได้มีน้ำกินน้ำใช้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

สำหรับข้อกังวลถึงการรับมือกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 ขณะนี้ได้มีการจัดตั้ง กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ขึ้นมาเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานของประเทศ โดยมีแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือเป้าหมาย NDC พ.ศ. 2564 – 2573 และแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เป็นแนวทางในการสร้างภูมิคุ้มกันและรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในด้านการจัดการน้ำ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การท่องเที่ยว สาธารณสุข เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต โดยได้มีการออกระเบียบส่งเสริมให้ภาคเอกชนและชุมชนสามารถเข้าร่วมปลูกและดูแลรักษาป่า ป่าชายเลน เพื่อการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตระหว่างภาคเอกชนหรือชุมชนกับภาครัฐในสัดส่วน ร้อยละ 90 ต่อ 10 หรือตามแต่ข้อตกลง และการผลักดันกลไกภาษีคาร์บอน หรือ Carbon Tax เพื่อเป็นมาตรการจูงใจให้กับภาคเอกชน โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการปรับปรุง ร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. เพื่อเป็นกลไกให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมาย รวมถึงสร้างรายได้และโอกาสในการเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปสู่การพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ

และประเด็นข้อห่วงใยเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย ได้กำชับให้สร้างความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย ผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาขยะอย่างครอบคลุมทั้งระบบ ตั้งแต่การสร้างจิตสำนึกให้แก่ประชาชนในการจัดการและคัดแยกขยะครัวเรือน ขยะชุมชน ตั้งแต่ต้นทาง การยกระดับสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้อง 1,963 แห่ง ให้มีการจัดการที่ดี การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดการขยะในภาคอุตสาหกรรมอย่างถูกต้อง เพื่อให้มีการจัดการขยะมูลฝอยเป็นไปตามแผนแม่บทการจัดการขยะของประเทศตามที่กระทรวงทรัพยากรฯ ได้จัดทำไว้ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และการเร่งรัดการออกกฎหมายใหม่ เช่น พ.ร.บ. ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า พ.ร.บ. การจัดการบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น เพื่อให้สามารถเสนอมาตรการในการป้องกันแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยในปัจจุบันได้อย่างครอบคลุม

สุดท้ายในประเด็นของการจัดที่ดินทำกินให้ราษฎรในเขตพื้นที่ป่า ภายใต้โครงการ คทช. กระทรวงทรัพยากรฯ ได้แก้ไขปัญหาให้กับราษฎรในลักษณะแปลงรวม รวมถึงมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชนในพื้นที่ แต่ยังคงรักษามิติในการอนุรักษ์ เพื่อให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน โดยได้มีการจัดที่ดินทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยได้ดำเนินการตามกรอบมาตรการแก้ไขปัญหา ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 และการแก้ไขปัญหาให้กับราษฎรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 13 กันยายน 2566

“อัครแสนคีรี” หนุนรัฐบาลเร่งลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้ประชาชนพร้อมเสนอให้เร่งรัดการออกสินเชื่อเพื่อพลังงานสะอาดในครัวเรือน

,

“อัครแสนคีรี” หนุนรัฐบาลเร่งลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้ประชาชนพร้อมเสนอให้เร่งรัดการออกสินเชื่อเพื่อพลังงานสะอาดในครัวเรือน ส่งเสริมการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อประหยัดรายจ่าย ลดต้นทุนภาคเกษตรและปศุสัตว์ ดันตลาดคาร์บอนเครดิตให้เป็นรูปธรรม

นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ สส.ชัยภูมิ เขต 7 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)กล่าวอภิปรายในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่1) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรี(ครม.)แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 121 ว่า ตนขอให้รัฐบาลเร่งลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชนเพราะได้เผชิญกับสภาวะวิกฤติเศรษฐกิจมากว่า 3 ปี สืบเนื่องจากโควิด 19 และ 2 ปีที่ผ่านมา ค่าไฟได้ถูกปรับขึ้นกว่า 30% จาก3.71 เป็น 4.45 บาทต่อหน่วยในงวดก.ย.-ธ.ค.66 ซึ่งปัจจัยหนึ่งมาจากไทยต้องสั่งซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG )ซึ่งมีราคาสูงอย่างมากมาทดแทนก๊าซในอ่าวไทยที่ผลิตลดต่ำลงจากแหล่งเอราวัณในช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทานที่ผู้รับสัมปทานรายใหม่ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการผลิตได้ตามเวลา

ทั้งนี้ตนมีข้อสังเกตว่าปัจจุบันราคาก๊าซ LNG และราคา Pool Gas (ราคาก๊าซรวมทุกแหล่ง) ที่เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าประมาณ 35% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ ได้ดิ่งลงกลับสู่จุดเดิมเทียบเท่าปลายปี 2564 และทางรัฐบาลได้ออกมาประกาศว่า จะปรับลดค่าไฟ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว ตนขอชื่นชมและขอสนับสนุนรัฐบาลในนโยบายการลดค่าไฟฟ้า ที่สอดคล้องกับนโยบายที่พปชร. โดยหัวหน้าพรรค พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพรรคร่วมรัฐบาล ได้หาเสียงเอาไว้ ซึ่งการปรับลดค่าไฟลงจะทำให้พี่น้องพอลืมตาอ้าปากได้ และที่สำคัญทำให้ต้นทุนการผลิตของประเทศไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยได้

“นโยบายที่สำคัญถัดมาคืออการสนับสนุนพลังงานสะอาดในระดับครัวเรือน ประเทศไทยมีแสงแดดดี แต่การใช้แผงโซลาร์เซลล์ในภาคครัวเรือนลดค่าไฟได้ถึง 30% กลับไม่เยอะ เท่าที่ควร ซึ่งที่ชัยภูมิ มีการใช้ไปสูบน้ำในภาคเกษตรรวมอุปโภคบริโภคได้อีกด้วย ประหยัดค่าใช้จ่ายมหาศาล ตอนผมไปหาเสียงพี่น้องประชาชนต่างก็อยากติดตั้งระบบโซลาร์ แต่ที่พี่น้องไม่มีก็เพราะว่าเงินในกระเป๋าไม่พอ เกษตรกรตาดำๆ เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนสินเชื่อ ยิ่งถ้าอาศัยอยู่บนเขา มีแต่ที่ดิน ส.ป.ก.ที่ดินป่าไม้ ก็ไม่มีบริษัทสินเชื่อรายไหนเข้าไปคุยด้วย”นายอัครแสนคีรีกล่าว

ทั้งนี้จึงอยากฝากรัฐบาลให้เร่งรัดในการออกสินเชื่อเพื่อพลังงานสะอาดในระดับครัวเรือนโดยเฉพาะที่สนใจซื้อแผงโซลาร์ฯ โดยให้คำนึงถึงกลุ่มประชาชนที่ไม่มีหลักประกัน เช่นผู้อาศัยอยู่ในที่ดิน ส.ป.ก. การใช้ไฟเพื่อสูบน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูกและปศุสัตว์ ซึ่งจะทำให้สินค้าเกษตรและปศุสัตว์ไทย มีต้นทุนที่ถูกลง และถ้าหากรัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาของการผลิต เช่น เรื่องปุ๋ยราคาแพง เละเรื่องปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้ ประเทศไทยจะไม่ใช่เสือตัวที่ 5 ของเอเชีย แต่จะกลายเป็นเสือติดปีกทันที

นายอัครแสนคีรี ยังกล่าวต่อถึงเรื่องคาร์บอนเครติต การขายและได้รับประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต อย่างยุติธรรม จึงอยากฝากท่านนายกฯ ให้สนับสนุนการทำงานของกระทรวงทรัพยากรฯ ภายใต้การกำกับดูแลของพลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ ในเรื่องของคาร์บอนเครดิต ที่ถือว่าเป็นวาระเร่งด่วน เพราะตอนนี้ต่างประเทศมีมาตรการ CBAM หรือ Carbon Boarder Adjustment Mechanism ซึ่งจะเก็บภาษีจากการนำเข้าสินค้าเป้าหมายที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตและมาตรการ CORSA หรือ carbon offsetting and reduction ที่จะเก็บภาษีจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอากาศยาน ภาษีดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงมีการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อนำมาลดหย่อนภาษีดังกล่าว

“ไทยต้องเร่งส่งเสริมให้ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตของเราเป็นที่ยอมรับในสากล และควรมีกระบวนการตรวจสอบ และยืนยันที่โปร่งใสได้มาตราฐานโลก เพื่อให้คาร์บอนเครดิตของไทย เป็นที่ยอมรับ มิเช่นนั้นประเทศไทยจะเสียเปรียบทางด้านการค้าส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ”นายอัครแสนคีรีกล่าว

นอกจากเรื่องคาร์บอนเครดิตแล้ว เราสามารถฉวยโอกาสจากมาตราการ CORSIA และ CBAM ในการสนับสนุนการดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อนำสินค้าเกษตร เช่น อ้อยและมันสำปะหลัง มาผลิตเป็นน้ำมันเครื่องบิน และการต่อรองให้องค์กรการบินระหว่างประเทศ ให้สามารถนำน้ำมันปาล์มดิบ มาผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ที่มีความต้องการมหาศาล จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแห่งหนึ่งของโลก และยกระดับราคาสินค้าเกษตรและที่สำคัญ เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรไทย ภายใต้การขับเคลื่อนกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ของพรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้กำกับดูแล

ทั้งนี้ ผมขอให้กำลังใจท่านนายก ท่านรองนายก และคณะรัฐมนตรีทุกท่าน ผมเชื่อว่าภายใต้การทำงานของคณะรัฐมนตรีชุดนี้ เครื่องยนต์ประเทศไทยจะสตาร์ตติดและวิ่งได้ไกลแน่นอน”นายอัครแสนคีรี กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 12 กันยายน 2566