“สส.นเรศ”เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ลำไย ให้สภาฯพิจาณา หวัง ผ่านวาระแรก ตั้ง กมธ.ศึกษาต่อ มั่นใจ หาก กม.ฉบับนี้ผ่านจะมียุทธศาสตร์ขับเคลื่อนลำไยอย่างยั่งยืน
เมื่อเวลา 19.20 น.ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ สส. เชียงใหม่ เขต 9 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติลำไย พ.ศ. ….ให้ที่ประชุมพิจารณา โดยระบุว่า ประเทศไทยมีสภาพพื้นที่และภูมิอากาศเหมาะสมกับการปลูกลำไยสามารถผลิตลำไยนอกฤดูได้และสามารถกำหนดระยะเวลาเก็บเกี่ยวในช่วงที่ตลาดต้องการ มีเทคโนโลยีการผลิตและการจัดการหลังเก็บเกี่ยวที่มีคุณภาพ ลำไยและผลิตผลจากผลลำไยจึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจโลก รูปแบบการค้าและการลงทุน ที่เปลี่ยนไป สภาวะโลกร้อนส่งผลให้สภาพ
ภูมิอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงและธรรมชาติเกิดความแปรปรวน ส่งผลกระทบต่อการปลูกและผลผลิตทางการเกษตรเกิดความเสียหาย รวมทั้งส่งผลต่อการติดดอกออกผลทำให้ผลผลิตออกล่าช้าและไม่ได้คุณภาพและเกษตรกรผู้ปลูกลำไยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย
นายนเรศ กล่าวต่อว่า รัฐบาลจะต้องมีนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพอย่างเหมาะสมจึงจะทำให้ผลผลิตได้คุณภาพส่งผลต่อการกำหนดราคาลำไยที่มีราคาสูงและเป็นธรรมเพื่อผลประโยชน์ด้านการผลิต การลดต้นทุน และการเชื่อมโยงตลาดในระดับประเทศและต่างประเทศการปฏิรูประบบเกี่ยวกับลำไย การวิจัยและพัฒนา การรักษาเสถียรภาพระดับราคาลำไย การดำเนินธุรกิจและการจัดสรรประโยชน์อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน
“เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนลำไยและผู้ประกอบกิจการลำไย จึงจำเป็นต้องจัดให้มีการทำนโยบายและยุทธศาสตร์ลำไยเป็นเป้าหมายการพัฒนาการผลิตลำไยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยในการจัดทำการกำหนดเป้าหมาย ระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมาย และสาระที่พึงมีในยุทธศาสตร์เกี่ยวกับส่งเสริมและพัฒนากิจการเกี่ยวกับลำไยของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้“นายนเรศ กล่าว
นายนเรศ กล่าวต่อด้วยว่า ถ้าสภาฯแห่งนี้มีมติเห็นชอบ พรบ.ลำไยฉบับนี้จะถือว่าสภาแห่งนี้เริ่มเดินหน้าแก้ไขปัญหาให้กับผู้ปลูกลำใยไปด้วยกัน เพราะจะเป็นการช่วยเกษตรกรลำไยในหลายมิติ โดยจะมีคณะกรรมการบริหารลำไยที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และจะทำให้เกิดการบูรณาการระหว่างกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาลำไยได้อย่างรวดเร็วแบบมียุทธศาสตร์ที่แน่นอน เนื่องจากจะต้องส่งความเห็นชอบต่อคณะกรรมการบริหารจัดการลำไย
นายนเรศ ยังกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา แม้กระทรวงเกษตรฯจะมีคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการ
ผลไม้ (Fruit Board) ที่มีตัวแทนแต่ละกลุ่ม แต่ละกระทรวงเป็นคณะกรรมการ แต่เมื่อประชุมเสร็จแล้วก็แยกย้ายกันทำงาน ผลที่ได้จึงไม่ชัดเจนและแก้ปัญหาได้ล่าช้า แต่ถ้าเรามีกรรมการบริหารลำไยโดยเฉพาะ และมีนายกฯเป็นประธานจะสามารถบูรณาการขับเคลื่อนลำได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง แต่คณะกรรมการชุดดังกล่าวจะสามารถกำหนดมาตรการเยียวยาช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วกรณีที่เกิดสถานกาาณ์ด้านการตลาดหรือมีปัญหาด้านต่างๆที่เกี่ยวกับปัญหาการปลูกลำใยขึ้นมา ปัจจุบันเกษตรกรยังได้รับปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่สูง เนื่องจากปุ๋ยราคาแพงขึ้น รวมถึงปัญหาด้านต่าง ๆ อีกมากมายที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
“ผมขอให้สมาชิกในสภาฯช่วยกันลงมติรับร่างในวาระที่หนึ่ง เพื่อให้สภาช่วยกันพิจารณาในชั้นกรรมาธิการต่อไป ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ปัญหาเกษตรกรผู้ปลูกลำไยต้องได้รับแก้ไขจากกฎหมายที่ผมและเพื่อสมาชิกพรรคพลังประชารัฐได้เสนอร่วมกัน”นายนเรศ กล่าวทิ้งท้าย
จากนั้นประธานสภาได้สั่งปิดการประชุม โดยจะมีการพิจารณานำร่างพระราชบัญญัติลำไย พ.ศ. ….ไปพิจารณาต่อด้วยการเปิดให้สมาชิกร่วมอภิปราย ก่อนจะที่ประชุมจะลงมติรับร่างดังกล่าวหรือไม่ ในวันพุธที่ 31 ก.ค.ต่อไป
ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 25 กรกฎาคม 2567