โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

หมวดหมู่: กิจกรรม ส.ส. และสมาชิก

‘สส.จักรัตน์’ นำ กมธ.บริหารจัดการน้ำ สภาฯลงพื้นที่ เกาะพีพี เร่งประสาน 3 กระทรวงหลักแก้ปัญหาน้ำขาดแคลนช่วงหน้าแล้ง ย้ำ ยังรองรับภาคการท่องเที่ยวได้ นทท.ไม่ต้องกังวล

,

‘สส.จักรัตน์’ นำ กมธ.บริหารจัดการน้ำ สภาฯลงพื้นที่ เกาะพีพี เร่งประสาน 3 กระทรวงหลักแก้ปัญหาน้ำขาดแคลนช่วงหน้าแล้ง ย้ำ ยังรองรับภาคการท่องเที่ยวได้ นทท.ไม่ต้องกังวล

นายจักรัตน์ พั้วช่วย สส.เพชรบูรณ์ เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการบริหารจัดการน้ำ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วยคณะ กมธ.ได้ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค จังหวัดกระบี่ โดยได้ประสานหน่วยงานฝ่ายบริหารภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรฯ, กระทรวงทรัพย์ฯ และ กระทรวงมหาดไทย ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่, อบจ.กระบี่, อบต.อ่าวนาง, นายอำเภอเมืองกระบี่, การประปาส่วนภูมิภาคสาขากระบี่, สนง.เขตชลประทานที่ 15, สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาและร่วมขับเคลื่อนแผนการบริหารจัดการทั้งระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาวอย่างจริงจัง

นายจักรัตน์ กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงในพื้นที่จังหวัดกระบี่ โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมือง ที่มีการจ่ายน้ำวันเว้นวัน รวมทั้งปัญหาน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาบนเกาะพีพีไม่เพียงพอ เนื่องจากปริมาณน้ำฝนน้อย เพราะฝนไม่ตกตั้งแต่เดือนมกราคม และน้ำบาดาลคุณภาพต่ำหรือ น้ำกร่อย เกิดผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการรายย่อย และประชาชน
ซึ่งสำหรับแผนการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งได้ข้อสรุปทั้งระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาวเป็นที่เรียบร้อย

โดยเฉพาะการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำประปา ด้วยการก่อสร้างระบบผลิต สถานีผลิต-จ่ายน้ำหนองทะเล ต.หนองทะเล อ.เมือง จ.กระบี่ งบประมาณ 174 ล้านบาท ตลอดจนวางท่อน้ำดิบความยาว 22 กม. จากอ่างเก็บน้ำคลองแห้งมายังสถานีผลิตน้ำตลาดเก่า งบประมาณ 400 ล้านบาท และแผนระยะยาว ในการขยายกำลังการผลิตจาก 1,500 คิว เป็น 2,250 คิว และ ก่อสร้างถังน้ำใสขนาด 6,000 ลบ.ม. ที่สถานีจ่ายน้ำนครธรรม’

“เราได้ค้นพบแหล่งน้ำดิบใหม่ของจังหวัด ได้แก่ สระคลองหวายเล็ก พื้นที่ประมาณ 264 ไร่ เป็นขุมเหมืองเดิม ซึ่งอาจจะมีความลึกถึง 1,500 เมตร คุณภาพน้ำดิบระดับผิวน้ำถึงระดับความลึก 15 เมตร สามารถนำมาใช้เป็นน้ำประปาได้ ได้รับการยืนยันว่าผ่านการทดสอบเมื่อวาน นับเป็นข่าวดีล่าสุดของพื้นที่กระบี่ในการเพิ่มปริมาณน้ำดิบทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร”

สำหรับพื้นที่บนเกาะพีพี รองนายกอบต.อ่าวนาง และ การประปาส่วนภูมิภาค กล่าวว่า พื้นที่เกาะพีพี มีสัดส่วนของแหล่งน้ำดิบมาจากน้ำบาดาล 60% และจัดซื้อจากเอกชน 40% แปลว่าพื้นที่ที่กระทบไม่ได้มากตามที่เป็นข่าว ยังสามารถรองรับภาคการท่องเที่ยวได้เต็มที่ โดยขณะนี้ให้ผู้ประกอบการเอกชนปรับเปลี่ยนการจ่ายน้ำโดยสูบจากบาดาลแทนการจ่ายน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่แห้งเพราะฝนไม่ตก และยังมีการขนน้ำจากแพภูเก็ตมาเพิ่ม อีกทั้งยังได้เตรียมแผนระยะยาวในการทำน้ำอาร์โอ ระบบกรองน้ำเค็มเป็นน้ำจืด ซึ่งอยู่ระหว่างขอรับจัดสรรงบกลางปี 68 เพื่อการศึกษาวางระบบ ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ข้อกฎหมาย, ผลกระทบสิ่งแวดล้อม, ระยะเวลาและการคุ้มทุน

“สำหรับภาคท่องเที่ยว ต้องขอขอบคุณทางฝ่ายบริหาร นายสมชาย หาญภักดีปฏิมา ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ยืนยันว่าการดูแลนักท่องเที่ยวไม่มีปัญหา เนื่องจากโรงแรมส่วนมากมีบ่อบาดาลของตนเอง ขอให้ผู้ที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวที่จังหวัดกระบี่และเกาะพีพีไม่ต้องกังวล และในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติก็จะช่วยพิจารณาผลักดันงบประมาณโครงการที่พื้นที่นำเสนอในวันนี้เพื่อมาแก้ไขในการบริหารจัดการน้ำ”นายจักรัตน์ กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 10 พฤษภาคม 2567

“สส.สุธรรม”เผย กมธ. การเกษตร สภาฯ เตรียมหารือขอใช้พื้นที่ป่าอนุรักษ์ ร่วมกับกรมอุทยาน เพื่อผลักดันโครงการอ่างเก็บน้ำ รับมือปัญหาภัยแล้ง

,

“สส.สุธรรม”เผย กมธ. การเกษตร สภาฯ เตรียมหารือขอใช้พื้นที่ป่าอนุรักษ์ ร่วมกับกรมอุทยาน เพื่อผลักดันโครงการอ่างเก็บน้ำ รับมือปัญหาภัยแล้ง

นายสุธรรม จริตงาม สส.นครศรีธรรมราช เขต 6 พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรฯ สภาผู้แทนราษฏร เปิดเผยว่า คณะ กมธ.เกษตรได้ประชุมร่วมกับนายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทานและรองอธิบดีกรมชลประทาน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตชลประทาน ผอ.ชลประทาน 15 จังหวัด และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อรับฟังแนวทางการบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศ

นายสุธรรม กล่าวต่อว่า กมธ.หลายคนเสนอให้กรมชลประทานช่วยผลักดันโครงการอ่างเก็บน้ำ ซึ่งมีอยู่หลายโครงการ หากได้งบประมาณก็สามารถทำได้ทันที หากโครงการเหล่านี้เกิดขึ้น จะทำให้เกิดการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ บรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้ ซึ่งปัญหาหลักๆของการสร้างอ่างเก็บน้ำ คือ การขอใช้พื้นที่ป่าอนุรักษ์จากกรมอุทยาน ที่ผ่านมาแม้ว่าทางกรมชลประทานจะพยายามทำงานอย่างเต็มที่ในการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าอนุรักษ์ แต่ทางกรมอุทยานก็อนุญาตล่าช้า โดยเรื่องนี้ กมธ.จะมีการนัดประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขกับกรมอุทยานต่อไป

“ต้องยอมรับว่าปีนี้พี่น้องประชาชนเกือบทุกจังหวัดต้อง เผชิญกับปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก ซึ่งปีหน้าก็เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดา แต่หน่วยงานภาครัฐ ต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาภัยแล้งอย่างเต็มที่ เพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน”นายสุธรรม กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 9 พฤษภาคม 2567

“สส.กาญจนา” ร่วมประชุมส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ หารือปัญหาขาดแคลนน้ำ เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมช่วงฤดูฝน ห่วง ปชช.ดูแลสุขภาพ อาจเกิดอันตรายได้

,

“สส.กาญจนา” ร่วมประชุมส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ หารือปัญหาขาดแคลนน้ำ เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมช่วงฤดูฝน ห่วง ปชช.ดูแลสุขภาพ อาจเกิดอันตรายได้

น.ส.กาญจนา จังหวะ สส.ชัยภูมิ เขต 4 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)เปิดเผยว่า ตนได้เข้าร่วมประชุมกับหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดชัยภูมิ หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอหนองบัวแดง นายกเทศมนตรีตำบลทั้ง 2 แห่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่งกำนันทุกตำบลผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน เพื่อนำปัญหาความเดือดร้อนในแต่ละพื้นที่มาร่วมหาทางออกแก้ไขร่วมกัน ซึ่งต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความสำคัญและไม่นิ่งเฉยต่อปัญหาของพี่น้องจังหวัดชัยภูมิ

น.ส.กาญจนา กล่าวต่อว่า เนื่องด้วยสถานการณ์ภัยแล้งในขณะนี้ ส่งผลทำให้ปัจจุบันจังหวัดชัยภูมิ มีปริมาณน้ำในลำน้ำชีลดระดับอย่างต่อเนื่อง และอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำที่ประชาชนต้องการใช้ จึงต้องบูรณาการทุกภาคส่วน ในการระดมความคิดเห็นร่วมกันวางแผนในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และเตรียมความพร้อมของเครื่องมืออุปกรณ์ ต่าง ๆ หากเกิดสถานการณ์จำเป็นจะต้องใช้งานได้ทันที

นอกจากนี้ จ.ชัยภูมิ ยังเกิดภาวะอากาศร้อนจัดเกิดภัยแล้งหนัก และเกิดพายุฤดูร้อนพัดถล่มหนักรุนแรงสุดในรอบหลายสิบปีอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนเป็นประวัติการณ์ ทำให้พื้นที่ทั้ง 16 อำเภอ เริ่มประสบภัยแล้งหนักแล้ว เนื่องจากปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมีปริมาณน้อย ประชาชนจึงได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดน้ำและไม่มีน้ำสำหรับการเพาะปลูก จึงต้องริเริ่มวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งในพื้นที่อย่างจริงจัง รวมทั้งการเตรียมพร้อมรับมือและดำเนินการวางแผนเพื่อรองรับสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงฤดูฝนด้วย

“ตนเดินหน้าทำงานหนักต่อเนื่อง เพราะเข้าใจในสภาพปัญหาที่พี่น้องประชาชนต้องเผชิญมาตลอด ซึ่งตนจะค่อยๆ พัฒนาให้ครบทุกพื้นที่ โดยในช่วงนี้นอกจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดแล้วยังมีพายุฤดูร้อนทำให้ฝนตกด้วย ก็ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพร่างกายด้วย โดยเฉพาะผู้สูงอายุหากอยู่กลางแดดเป็นระยะเวลานาน อาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้” น.ส.กาญจนา กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 7 พฤษภาคม 2567

”สส.อนุรัตน์“เผย 6 โครงการสำคัญเพื่อเกษตรกร ถูกบรรจุในงบ 67 แล้ว ขอบคุณ ”รมว.ธรรมนัส“ไม่เคยลืมชาวบ้าน แก้ปัญหาจนสำเร็จ

,

”สส.อนุรัตน์“เผย 6 โครงการสำคัญเพื่อเกษตรกร ถูกบรรจุในงบ 67 แล้ว ขอบคุณ ”รมว.ธรรมนัส“ไม่เคยลืมชาวบ้าน แก้ปัญหาจนสำเร็จ

นายอนุรัตน์ ตันบรรจง สส.พะเยา เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาประมาณ 1 ปีของการทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงแทนประชาชนในฐานะ สส.มีหลายปัญหาที่พ่อแม่พี่น้องได้ร้องขอมาโดยตลอดเมื่อตนมาเป็นผู้แทนของท่าน ก็ได้ทำหน้าที่ประสานงานผ่าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านจึงสั่งการให้กรมชลประทาน ได้สำรวจและออกแบบเป็นการเร่งด่วน เพื่อผลักดันงบประมาณเพื่อมาแก้ไขให้กับพ่อแม่พี่น้องเกษตรกรบ้านเราอย่างทั่วถึง โดยมี 6 โครงการที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนในปี 2567 นี้ คือ

1.แก้มลิงไผ่สีทองพร้อมอาคารประกอบ โครงการชลประทานพะเยา ตำบลหงส์หิน อำเภอจุน จังหวัดพะเยา 25,000,000 บาท

2.สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำไผ่สีทอง พื้นที่รับประโยชน์ 300 ไร่ โครงการชลประทานพะเยา ตำบลหงส์หิน อำเภอจุน จังหวัดพะเยา 25,000,000 บาท

3.งานซ่อมแซมฝายวังผาเหนือ ตำบลเชียงบาน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา 4,500,000 บาท

4.งานปรับปรุงระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยผาลาด ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา 18,000,000 บาท

5.งานปรับปรุงฝายทุ่งกว๋างพร้อมระบบส่งน้ำ ตำบลสบบง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา 25,000,000 บาท

6.งานซ่อมแซมสะพานคลองส่งน้ำ กิโลเมตร 1+500 อ่างเก็บน้ำห้วยยัด โครงการชลประทานพะเยา ตำบลแม่ลาว อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา 2,500,000 บาท

“ผมต้องขอขอบคุณท่านรัฐมนตรี ร.อ.ธรรมนัส ที่ให้ความสำคัญกับทุกความเดือดร้อนของชาวพะเยา และนำไปแก้ไขปัญหาให้จนสำเร็จ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นให้ประชาชน“

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 06 พฤษภาคม 2567

“สส.อัคร”ร่วมประชุม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถกปัญหาน้ำขาดแคลน-ถนนชำรุด สู่การแก้ไขอย่างมีระบบและยั่งยืน

,

“สส.อัคร”ร่วมประชุม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถกปัญหาน้ำขาดแคลน-ถนนชำรุด สู่การแก้ไขอย่างมีระบบและยั่งยืน

นายอัคร ทองใจสด สส.เพชรบูรณ์ เขต 6 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) กล่าวว่า ตนได้เข้าร่วมการประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ของอำเภอวิเชียรบุรี และศรีเทพ ซึ่งมีการพูดคุยกันถึงปัญหาเรื้อรังที่ต้องได้รับการแก้ปัญหาอย่างมีระบบและยั่งยืน เช่น ปัญหาในช่วงหน้าแล้ง น้ำประปาไม่เพียงพอสำหรับการอุปโภคและบริโภค รวมถึงปัญหาถนนหนทางชำรุด ทรุดโทรม ไม่สะดวกในการสัญจรไปมา ที่จำเป็นที่จะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เนื่องจากประชาชนเดือดร้อนจำนวนมาก

นายอัคร กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้หารือกันถึงแนวทางการแก้ไขในหลาย ๆ ปัญหา อย่างเช่น การแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบของจังหวัดเพชรบูรณ์ ต้องเร่งสร้างแหล่งเก็บน้ำ โดยจะนำไปปรึกษาและเสนอต่อกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และโครงการน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ที่ได้นำเสนอเรื่องไปยังกรมทรัพยากรน้ำบาดาลสระบุรี เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำอุปโภค บริโภค ในพื้นที่ที่มีปัญหาแล้ว รวมถึงการขอฝนหลวง แก้ปัญหา น้ำแล้ง และเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำให้เพียงพอ ในส่วนของการขุดเจาะบ่อบาดาลเบื้องต้น ได้ประสานงานกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ ในเรื่องของการขุดเจาะบาดาล โดยเร่งด่วนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องถนนนั้น นายอัคร กล่าวว่า เราจะติดตามงบประมาณของ กรมทางหลวง และ กรมทางหลวงชนบท ในการก่อสร้างถนน และ ซ่อมแซม ถนนที่ชำรุดเสียหาย และประสานไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อนำปัญหาของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและลำบากในการใช้ถนนในจุดที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งการจะแก้ปัญหานี้ได้ ต้องมีการบด อัด เกรดผิวถนน ให้ใช้สัญจรได้สะดวกโดยเร็ว และซ่อมสร้างถนนใหม่ ให้ทันตามงบประมาณที่ได้จัดสรรมา

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 04 พฤษภาคม 2567

”สส.อัครแสนคีรี“ เข้าพบ รมว.เกษตร ผอ.อตก.ผลักดันสินค้าเกษตรชัยภูมิสู่ตลาดตปท. วางแผนจัดคิวพบปะพี่น้องเกษตรกร รับฟังปัญหา พัฒนากลไกสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต

,

”สส.อัครแสนคีรี“ เข้าพบ รมว.เกษตร ผอ.อตก.ผลักดันสินค้าเกษตรชัยภูมิสู่ตลาดตปท.
วางแผนจัดคิวพบปะพี่น้องเกษตรกร รับฟังปัญหา พัฒนากลไกสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต

นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ สส.ชัยภูมิ เขต 7 พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ภายหลังจากตนได้เดินทางไปหารือ ร่วมกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และ นายปณิธาน มีไชยโย ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อตก.) พร้อมรายงานถึงแนวทางการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ที่จะยกระดับพืชผลทางการเกษตรจังหวัดชัยภูมิ เพื่อสร้างรายได้ให้ที่มั่นคงให้กับพี่น้องภาคการเกษตร โดยได้จะจัดให้มีกิจกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ลงพื้นที่พบปะพี่น้องเกษตรกร เพื่อรับปัญหาที่เกิดขึ้นในเร็วๆนี้

นายอัครแสนคีรี กล่าวต่อว่า ตามนโยบายของกระทรวงเกษตร นอกจากการยกระดับราคาพืชผลแล้ว ต้อง วางแผนด้านการตลาดเพื่อใช้เป็นกลไกรองรับผลผลิต ด้วยการหาตลาดส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มเติม พร้อมพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีเข้ามาเสริมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรไทย ทั้งนี้เพื่อยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกร ซึ่งประชาชนในจังหวัดชัยภูมิส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตร ดังนั้นจำเป็นต้องวางแผนการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาสินค้าเกษตร ให้มีคุณภาพมาตรฐานสากล จนสามารถขยายตลาดไปประเทศต่าง ๆ ได้ เช่น ตลาดวัวส่งออก กล้วยหอมทอง สัปปะรดภูแลนคา เพื่อส่งไปประเทศญี่ปุ่น

“ ที่สำคัญ ได้เตรียมผลักดัน ยกมาตรฐาน หม่ำ ซึ่งเป็นอาหารท้องถิ่น ของฝากที่มีชื่อของจังหวัดชัยภูมิ จดมาตราฐาน GMP และ อ.ย. เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นกับผู้บริโภค เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถจำหน่ายได้ในห้างสรรพสินค้า รวมถึงในตลาดสากล เป็นการยกระดับเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเรื่องนี้ผมมีความตั้งใจที่จะทำให้จังหวัดชัยภูมิก้าวออกไปสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดประเทศจีน ที่เป็นตลาดใหญ่ และความต้องการสูง “นายอัครแสนคีรี กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 04 พฤษภาคม 2567

“สส.สุธรรม”เผย โครงการประตูระบายน้ำควนกรด พร้อมระบบส่งน้ำและอาคารประกอบ อยู่ในงบประมาณปี 67 แล้ว เชื่อเมื่อสร้างเสร็จจะบรรเทาความเดือดร้อนของ ปชช.ที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร

, ,

“สส.สุธรรม”เผย โครงการประตูระบายน้ำควนกรด พร้อมระบบส่งน้ำและอาคารประกอบ อยู่ในงบประมาณปี 67 แล้ว เชื่อเมื่อสร้างเสร็จจะบรรเทาความเดือดร้อนของ ปชช.ที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร

นายสุธรรม จริตงาม สส.นครศรีธรรมราช เขต 6 พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยถึงควาทคืบหน้าของโครงการประตูระบายน้ำและอ่างเก็บน้ำ ต.ควนกรด อ.ทุ่งสงฯ ว่า จากการที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรและผู้นำท้องถิ่น และรับฟังประเด็นปัญหาด้านการเกษตรในพื้นที่ ณ วัดทุ่งส้าน ต.นาไม้ไผ่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช โดยได้ติดตามการโครงการประตูระบายน้ำควนกรด พร้อมระบบส่งน้ำและอาคารประกอบ ล่าสุด กรมชลประทาน ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม และบรรจุลงในแผนงบประมาณปี 2567 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายสุธรรม กล่าวต่อว่า ร.อ.ธรรมนัส ยังสั่งการให้มีการวางแผนขุดลอกแก้มลิง เพื่อเป็นการชะลอน้ำไม่ให้เข้าท่วมพื้นที่ท้ายน้ำ และเป็นพื้นที่สำหรับกักเก็บน้ำ เพื่อบรรเทาปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่ บ้านนาขี้เป็ด หมู่ที่ 3 ตำบลควนกรด อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภค บริโภค อีกทั้งยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสามารถกักเก็บน้ำและส่งน้ำได้ประมาณ 1.3 ลบ.ม. ต่อปี และช่วยเพิ่มการระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก พื้นที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 4,500 ไร่ และบรรเทาอุกภัยในเขตเทศบาลเมืองทุ่งสงและบริเวณใกล้เคียงไม่น้อยกว่า 10,000 ครัวเรือน และยังเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของราษฎรอีกด้วย

ในส่วนของพื้นที่บริเวณสามแยกตลาดนัดที่วัง เกิดอุบัติเหตุรุนแรงบ่อยครั้งนั้น นายสุธรรม กล่าวว่า ตนได้นำปัญหาดังกล่าวไปหารือในที่ประชุมสภาฯ เพื่อขอ สัญญาณไฟจราจร ตั้งแต่ในวันแรกที่ตนมีโอกาสพูดในสภาฯ แล้ว แต่ขอให้พี่น้องประชาชนรออีกนิดเดียว เพราะสัญญาณไฟจราจรนี้อยู่ในงบประมาณปี 2567 แล้ว ในช่วงนี้ก็ขอให้ผู้ใช้ถนนเพิ่มความระวังกันเยอะๆ ใช้รถ ใช้ถนน อย่าประมาท

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 29 เมษายน 2567

“ส.ส.ปกรณ์” เผย กรมป่าไม้ออกคำสั่งมอบอำนาจให้ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ทั้ง 16 แห่ง ถือเป็นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นแก้ไขปัญหาโครงสร้างสาธารณูปโภคให้ ปชช.ได้รวดเร็ว

“ส.ส.ปกรณ์” เผย กรมป่าไม้ออกคำสั่งมอบอำนาจให้ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ทั้ง 16 แห่ง ถือเป็นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นแก้ไขปัญหาโครงสร้างสาธารณูปโภคให้ ปชช.ได้รวดเร็ว

นายปกรณ์ จีนาคำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แม่ฮ่องสอน เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ กรมป่าไม้ได้มีคำสั่งที่ 1283/2567 มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมป่าไม้

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมาตนได้โพสต์ขอบคุณ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)ที่ผลักดันจนกรมอุทยานฯ ได้มอบอำนาจให้ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ทั้ง 16 แห่ง มีอำนาจปฏิบัติราชการแทนอธิบดีฯ เป็นผลทางปฎิบัติ ในการพิจารณาอนุญาตในการเข้าทำประโยชน์ในเขตป่า หรือโครงการเพื่อพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในเขตป่าสงวนแห่งชาติ นับเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน เพื่อพัฒนาความเจริญในท้องถิ่นให้สอดรับความของม้องถิ่นควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นการกระจายอำนาจลดปัญหาความล่าช้าในการพัฒนาความเจริญ

“คำสั่งของกรมป่าไม้ ส่งผลในทางปฎิบัติการกระจายอำนาจ และทำได้จริง ในการขออนุญาติ ที่สามารถทำได้รวดเร็วขึ้น และอยู่ในระดับจังหวัดมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าพวกเราชาวแม่ฮ่องสอนจะได้มีโอกาสที่ดีขึ้นจริงๆ นะครับในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานในป่าทุกป่า ชี้ให้เห็นว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการทำงานอย่างหนักร่วมกันจากทุกฝ่ายจนสามารถผลักดันเรื่องนี้ออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรมในวันนี้เป็นการกระจายอำอาจอย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ ”

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 29 เมษายน 2567

“สส. อนุรัตน์”เผยข่าวดีชาวพะเยา“โค้งเชียงบาน”100 ศพ เตรียมก่อสร้าง 6 เลน มีสัญญาณไฟจราจร ยุติปัญหาเกิดอุบัติเหตุใหญ่มานานหลายปี

,

“สส. อนุรัตน์” เผยข่าวดีชาวพะเยา “โค้งเชียงบาน” 100 ศพ เตรียมก่อสร้าง 6 เลน มีสัญญาณไฟจราจร ยุติปัญหาเกิดอุบัติเหตุใหญ่มานานหลายปี

นายอนุรัตน์ ตันบรรจง สส.พะเยา เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาในพื้นที่ อ.เชียงคำ มีโค้งเชียงบาน เป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุใหญ่จำนวนมากที่สุด จนชาวบ้านเรียกกันว่าโค้งอันตราย ตายแล้วนับ 100 ศพ เนื่องจากโค้งดังกล่าว เป็นโค้งหักศอก มีจุดทางสามแยก และเป็นโค้งที่ไม่รับรถเมื่อเสียหลัก จนกลายเป็นสุดเสี่ยงของพ่อแม่พี่น้องในพื้นที่ รวมถึงผู้ใช้รถใช้ถนนจาก อ.จุน อ.ภูซาง และประชาชนในจังหวัดพะเยาทั้ง 9 อำเภอ

“ล่าสุดโค้งเชียงบานกำลังจะได้เซ็นสัญญาก่อสร้างทางในต้นเดือนหน้านี้แล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นมานานหลายสิบปี และเป็นปัญหาที่นำมาซึ่งความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของพ่อแม่พี่น้องบ้านเรา ที่สำคัญไม่มีใครมาเข้ามาแก้ไขให้ ตอนนี้ผมขอประกาศว่า จะยุติปัญหาเหล่านี้ให้จง ผมขอขอบคุณผู้อำนวยการแขวงทางหลวงพะเยา ที่ร่วมกันเร่งผลักดันโครงการนี้เพื่อแก้ไขจุดเสี่ยงโค้งเชียงบาน” นายอนุรัตน์ กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 29 เมษายน 2567

“ธีระชัย” จี้แจกเงินหมื่นหวังเกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ แต่จะเป็นแค่ลมโชย

,

อดีต รมว.คลัง ชี้ รัฐบาลแจกเงินหมื่นผ่านดิจิทัลวอลเล็ต หวังกระตุ้นให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ สุดท้ายจะเป็นแค่ลมโชย เนื่องจากไม่ได้หาแหล่งเงินใหม่ แต่ไปดึงเงินจาก ธ.ก.ส.และงบประมาณปี 67-68 มาใช้ ทำให้จีดีพีที่จะเติบโตผ่านการใช้จ่ายตามปกติหายไป เปรียบร่างกายต้องการเลือด แต่ใช้วิธีสูบเลือดที่มีอยู่เดิมออกมาแล้วสูบเข้าไปใหม่

วันนี้ (22 เม.ย.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala – – ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในหัวข้อ ไม่ใช่พายุหมุนแค่ลมโชย มีรายละเอียดดังนี้

รัฐบาลประกาศว่า การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต จะสร้างพายุหมุน จะกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่
ถามว่า โฆษณาไว้อย่างไร?
ตอบว่า
1. รัฐบาลคุยว่า การแจกเงินดิจิทัล 560,000 ล้านบาท จะช่วยกระตุ้นจีดีพีปี 2567 ให้ขยายตัวได้ถึง 5% (จากครรลองปกติ 3%) จะเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจหลายรอบ

ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงว่า จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 3-4%
เม็ดเงิน 560,000 ล้านบาท จะหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ 2-3 รอบ ก่อให้เกิดมูลค่าถึง 1.5 ล้านล้านบาท

2. คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย ประเมินว่า โครงการนี้จะสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจ และกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในเวลาอันรวดเร็ว
คาดคะเนว่าเงินจากดิจิทัลวอลเล็ตจะเข้าไปหมุนในระบบเศรษฐกิจเฉลี่ย 3.7 รอบ หากคิดจากยอดเงินของโครงการที่ 5 แสนล้านบาท จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 2 ล้านล้านบาทเป็นอย่างน้อย

3. นักวิชาการผู้นำกลุ่มริเริ่มโครงการบอกว่า “การหมุน จะเกิดขึ้นหลายรอบ ผมคำนวณ 4-5 รอบ และจะเก็บภาษี แวต ได้ตามที่คำนวณในคลิป แต่ที่สำคัญคือ มันไม่ได้หยุดในไตรมาสเดียว มันจะเกิดการหมุนหลายรอบข้ามเวลามากกว่าสี่ไตรมาส Q4/67 ….Q4/68..”

ถามว่า แหล่งเงินสำหรับโครงการจะมาจากไหน?

ตอบว่า
เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, กฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง, ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, เผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ เฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ร่วมแถลงรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต

ลวรณ ในฐานะปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวชี้แจงถึงรายละเอียดว่า รัฐบาลดำเนินตามกฎหมายทุกประการ โดยใช้แหล่งเงินที่มาจากงบประมาณทั้ง 500,000 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และ 2568 แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

1. เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท ซึ่งได้มีการขยายงบประมาณในปี 2568 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

2. เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จากการดำเนินการโครงการจากหน่วยงานของรัฐ 172,300 ล้านบาท โดยใช้มาตรา 28 และมอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เป็นผู้ดูแลประชาชนในกลุ่มที่เป็นเกษตรกรจำนวน 27 ล้านคน

3. งบการบริหารจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท

ผมขอบอกว่า ผลการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่จะเปลี่ยนจากพายุหมุน ไปเป็นลมโชย ก็เนื่องจากการใช้แหล่งเงินจาก ธ.ก.ส. และจากงบประมาณปี 2567

ถามว่า เหตุใดการใช้ 2 แหล่งเงินนี้จะเปลี่ยนจากพายุหมุน ไปเป็นลมโชย?

ตอบว่า บรรดาผู้ที่แถลงข่าวควรคำนึงถึงปัจจัยเศรษฐกิจต่อไปนี้

หนึ่ง วิธีก่อพายุหมุนจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อรัฐบาลกู้หนี้สาธารณะ เพราะเป็นการหาเงินใหม่เข้ามาเติมเข้าไปในเศรษฐกิจ แต่เงินจาก 2 แหล่งนี้ไม่ใช่เงินใหม่

สอง เมื่อรัฐบาลให้ ธ.ก.ส.ใช้เงินเพื่อดิจิทัลวอลเล็ต นอกจากผิดกฎหมายเพราะอยู่นอกขอบวัตถุประสงค์แล้ว ยังเป็นเงินจำนวนสูงมาก จะเป็นอุปสรรคต่อการที่ ธ.ก.ส. จะให้กู้ตามครรลองปกติ

ตัวเลขจีดีพีปกติ ประมาณ 3% นั้น ส่วนหนึ่งหนุนจากการที่ ธ.ก.ส.ให้กู้ตามครรลองปกติ

ดังนั้น เมื่อรัฐบาลเบียดบังเงินนี้ เอาไปใช้เพื่อการอื่นซึ่งทำให้ ธ.ก.ส. ไม่สามารถให้กู้ได้ตามเดิม ตัวเลขจีดีพีย่อมจะต้องลดลง ต้องหักทอนออกจากพายุหมุน

พายุหมุนจึงกลายเป็นลมโชย

สาม การบริหารงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ให้ได้เงินจำนวน 175,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนมหาศาลนั้น ย่อมต้องชะลอการใช้จ่ายด้านอื่น

รายจ่ายประจำปี 2567 ที่เป็นเงินเดือนและสวัสดิการข้าราชการ รวมถึงบรรดาค่าใช้จ่ายประจำ นั้น เดิมผู้รับเงินก็จะเอาไปใช้จ่าย ซึ่งจะหนุนจีดีพีตามแนวโน้มปกติ 3%

เมื่อรัฐบาลเบียดบังเอาไป ตัวเลขจีดีพีย่อมจะต้องลดลง ต้องหักทอนออกจากพายุหมุน

รายจ่ายประจำปี 2567 ที่เป็นโครงการลงทุน เดิมผู้รับเงินก็จะเอาไปใช้จ่าย ซึ่งจะหนุนจีดีพีตามแนวโน้มปกติ 3% แต่นอกเหนือจากนั้น การลงทุนจะเพิ่มความสามารถในการหารายได้ของประเทศในอนาคต

เมื่อรัฐบาลเบียดบังเอาไป ตัวเลขจีดีพีย่อมจะต้องลดลง ต้องหักทอนออกจากพายุหมุน แต่ที่สำคัญคือ จะกระทบความสามารถในการหารายได้ของประเทศไปในอนาคตอีกด้วย

พายุหมุนจึงกลายเป็นลมโชย

ทฤษฎีสูบออกสูบเข้า
ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ให้ตัวอย่างอธิบายแบบภาษาชาวบ้าน

รัฐบาลบอกว่าเศรษฐกิจไทยเหมือนคนไข้ขาดเลือด ต้องเอาเลือดสูบเข้าร่างกาย แต่เลือดที่จะสูบเข้านี้ ไม่ได้มาจากไหน

เป็นเลือดที่รัฐบาลสูบออกไปจากคนไข้นั้นเอง

สูบเข้าสูบออกนั้น ไม่สามารถเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่

วันที่ 22 เมษายน 2567

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ

ที่มา : https://mgronline.com/politics/detail/9670000034895
วันที่ : 22 เมษายน 2567

‘ไพบูลย์’ ยื่นผู้ตรวจฯชงศาล รธน.คว่ำ MOU 2544 ปกป้องทรัพยากรทะเล 20 ล้านล.

,

‘ไพบูลย์’ ยื่นผู้ตรวจฯ ชงศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด ‘MOU 2544’ ทำขัดรัฐธรรมนูญ ใช้บังคับไม่ได้ เป็นโมฆะทั้งฉบับตั้งแต่แรก ยันต้องปกป้องอธิปไตยทะเลไทยกว่า 16 ล้านไร่ ผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติกว่า 20 ล้านล้านบาท

เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2567 ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นนักกฏหมาย ยื่นคำร้องในฐานะบุคคลหนึ่งของปวงชนชาวไทยที่มีสิทธิในเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยและผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติของไทยในทะเลอ่าวไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 3 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 25 และ มาตรา 43 (2) ซึ่งผู้ร้องได้ถูกละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญโดยตรงและอาจจะได้รับความเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องมาจากการถูกละเมิดสิทธิ และการถูกละเมิดสิทธินั้นยังคงมีอยู่จากการกระทำของกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ผู้ถูกร้องที่ 1 และ กระทรวงการต่างประเทศ ผู้ถูกร้องที่ 2 ในการนำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน

ต่อไปในคำร้องเรียกว่า “MOU 2544” ผู้ถูกร้องทั้งสองใช้เป็นเครื่องมือมาดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยในพื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร (16 ล้านไร่) และแบ่งผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติในทะเลของไทยมูลค่า 20 ล้านล้านบาทให้แก่กัมพูชา ทั้งที่ พื้นที่ตาม “MOU 2544” เป็นเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลและผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติของไทยในทะเลทั้งหมดตามแผนที่แนวเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทยแนบท้ายประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทยที่กำหนดแนวเขตขึ้นตรงตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982

ผู้ร้องได้พบข้อกฎหมายว่า “MOU 2544” มีสถานะเป็นหนังสือสัญญามีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ตามบรรทัดฐานคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2542 , คำวินิจฉัยที่ 33/2543 และคำวินิจฉัยที่ 6-7/2551 และปรากฎหลักฐานว่าผู้ถูกร้องทั้งสองได้ยอมรับว่า “MOU 2544” มีสถานะเป็นหนังสือสัญญาหรือสนธิสัญญา ที่ต้องเสนอรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ

แต่ปรากฎว่า “MOU 2544” ได้กระทำขึ้นโดยไม่ได้ขอความเห็นชอบจากรัฐสภาไทย จึงมีผลให้“MOU 2544” เป็นบทบัญญัติใดหรือการกระทำใดที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 5 และมีผลให้ “MOU 2544” ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตั้งแต่เริ่มแรก (void ab intio) และมีผลในทางกฎหมายไม่ผูกพันรัฐภาคีทั้งสอง ตามหลักการเรื่อง “ความไม่สมบูรณ์แห่งสนธิสัญญา” (Invalidity of Treaties) ซึ่งบัญญัติไว้ในอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฏหมายสนธิสัญญา ค.ศ.1969

ทั้งนี้ ผู้ร้องเห็นว่าหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า “MOU 2544” เป็นหนังสือสัญญาที่กระทำการโดยไม่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา จึงเป็นบทบัญญัติใดหรือการกระทำใดที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตั้งแต่เริ่มแรก และไม่ผูกพันไทย จะเป็นประโยชน์ต่อไทย หากมีข้อพิพาทเรื่อง เขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยไปสู่ศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ เพราะทำให้ฝ่ายกัมพูชาไม่อาจกล่าวอ้าง “MOU 2544” เป็นหลักฐานว่าไทยยอมรับว่าบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

และจะทำให้เขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยพื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร (16 ล้านไร่) และผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติ มูลค่า 20 ล้านล้านบาทของไทยในทะเลอ่าวไทยเป็นของไทยทั้งหมดตามกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นต้นว่า อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 หากฝ่ายกัมพูชาโต้แย้งเป็นข้อพิพาทในเรื่องเขตอธิปไตยทางทะเลของไทย ผู้ร้องเห็นว่าเพื่อให้ได้ข้อยุติระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธีและรวดเร็ว และจะเป็นประโยชน์กับไทยมากกว่า

ผู้ร้องเห็นว่าไทยควรเป็นฝ่ายนำคดีข้อพิพาทในเขตอธิปไตยทางทะเลฟ้องต่อศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ (International Tribunal for the Law of the Sea: ITLOS) ตั้งอยู่ที่นครฮัมบรูกส์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งเป็นกลไกตุลาการอิสระของสหประชาชาติ มีอำนาจตัดสินข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 ประกอบด้วยผู้พิพากษาจากประเทศต่าง ๆ ทั้งหมด 21 ท่าน ซึ่งปัจจุบันมีผู้พิพากษาที่เป็นชาวไทย 1 ท่าน

อาศัยเหตุดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ผู้ร้องยื่นคำร้องนี้ต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 213 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของ ศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง มาตรา 47 และ มาตรา 48 และขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาส่งคำร้องของผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า “MOU 2544” มีสถานะเป็นหนังสือสัญญา เมื่อกระทำการโดยไม่ได้ขอความเห็นชอบจากรัฐสภาไทย “MOU 2544” จึงเป็นบทบัญญัติหรือการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มีผลตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตั้งแต่เริ่มแรกไม่ผูกพันไทยแต่ประการใด แต่ผู้ถูกร้องทั้ง 2 กลับนำมาใช้เป็นเครื่องมือดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลและผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติในทะเลของไทยให้แก่กัมพูชา

การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองจึงเป็นการกระทำละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของผู้ร้อง จึงขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดวินิจฉัยและมีคำสั่งให้บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544) หรือ MOU 2544 เป็นหนังสือสัญญาที่กระทำการโดยไม่ได้ขอความเห็นชอบของรัฐสภา จึงเป็นบทบัญญัติใดหรือการกระทำใดที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตั้งแต่เริ่มแรก และ ขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำในการนำ “MOU 2544” มาใช้เป็นเครื่องมือดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยและแบ่งผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติทางทะเลของไทยให้แก่กัมพูชา

ผู้ร้องขอเรียนว่า หากผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วมีมติยื่นคำร้องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ร้องขอเป็นผู้ร้องที่ 2 ร่วมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อผู้ร้องจะมีสิทธิในฐานะคู่ความนำเสนอพยานหลักฐานเพิ่มเติมต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่หากผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติไม่ยื่นคำร้องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่ยื่นคำร้องนี้ภายในเวลา 60 วันนับแต่วันที่รับคำร้อง ผู้ร้องขอใช้สิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 48 วรรคสอง

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/politics/1121660
วันที่ : 10 เมษายน 2557

รมว.ธรรมนัส หารือร่วมกับ RSPO มุ่งยกระดับผลิตปาล์มน้ำมัน พร้อมผลักดันสินค้าจากปาล์มน้ำมันสู่การแข่งขันในตลาดโลก

, ,

รมว.ธรรมนัส หารือร่วมกับ RSPO มุ่งยกระดับผลิตปาล์มน้ำมัน พร้อมผลักดันสินค้าจากปาล์มน้ำมันสู่การแข่งขันในตลาดโลก

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือร่วมกับ นาย โจเซฟ เดอ ครูซ ประธานบริหารของ Roundtable on Sustainable Palm Oil : RSPO โดยมี นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธนสาร ธรรมสอน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายระพีภัทร จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นางสาวกาญจนา ขวัญเมือง รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องรับรองพิเศษ 201 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า น้ำมันปาล์มเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ประเทศไทยสามารถผลิตน้ำมันปาล์มได้มากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการปลูกปาล์มน้ำมันยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ โครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Sustainable and Climate – friendly Palm Oil Production and Procurement in Thailand : SCPOPP) โดยกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตร ร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกในการผลิตน้ำมันปาล์ม เพิ่มความยั่งยืนในการผลิตน้ำมันปาล์มทั้งทางสิ่งแวดล้อมและสังคม และสนับสนุนเกษตรกรในการจัดการสวนปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมองค์ความรู้ให้เกษตรกร พร้อมเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก

นอกจากนี้ RSPO มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาการปลูกปาล์มน้ำมันที่สอดคล้องกับโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะยกระดับมาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในประเทศไทยอย่างยั่งยืน กระทรวงเกษตรฯ พร้อมที่จะสนับสนันและยินดีร่วมมือกับ RSPO เพื่อประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกร และเป็นแนวทางในการเปิดตลาดใหม่สำหรับน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์แปรรูป โดยเฉพาะในกลุ่มสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นต่อไป

ทั้งนี้ RSPO เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหากำไร ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2547 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการปลูกและใช้ผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันที่ยั่งยืนผ่านมาตรฐานการรับรองที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย และยังมีสำนักงานตัวแทนอยู่ในอินโดนีเซีย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ จีน และโคลัมเบีย ปัจจุบัน สมาชิกของ RSPO มากกว่า 5,000 ราย มาจากหลายภาคส่วนทั้งบริษัทผู้ปลูก ผู้ค้าและผู้ผลิตสินค้าแปรรูป สถาบันการเงินและ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมจากประเทศผู้ผลิตหรือใช้น้ำมันปาล์ม RSPO

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 5 เมษายน 2567