โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

วัน: 14 พฤษภาคม 2025

”รองหัวหน้า พปชร.“ลั่นปมร้อนกาสิโน   พปชร.ไม่ขอร่วมรัฐบาล มั่นใจนโยบาย“พล.อ.ประวิตร”  มีวิสัยทัศน์ ตัดสินใจได้ถูกต้อง เดินหน้าเริ่มลงพื้นที่ คัดคนคุณภาพพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง

,

”รองหัวหน้า พปชร.“ลั่นปมร้อนกาสิโน   พปชร.ไม่ขอร่วมรัฐบาล มั่นใจนโยบาย“พล.อ.ประวิตร”  มีวิสัยทัศน์ ตัดสินใจได้ถูกต้อง เดินหน้าเริ่มลงพื้นที่ คัดคนคุณภาพพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง

นายสุรเดช ยะสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกระแสข่าวว่า รัฐบาลจะมีการปรับ ครม.และอาจจะมีการดึงพรรค พปชร. เข้าไปร่วมเป็นรัฐบาลว่า เรื่องนี้จะต้องฟังความเห็นของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร.และกรรมการบริหารพรรค ซึ่งท่านหัวหน้าพรรคเคยบอกชัดเจนว่า ท่านไม่เอากาสิโน และพวกเราในพรรคก็เห็นด้วย เรายืนยันตรงจุดนี้ ถ้าไปร่วมรัฐบาลด้วยแล้วจะทำอย่างไร ในเมื่อพลังประชารัฐไม่เอากาสิโน  เราจะตอบประชาชนอย่างไร

ทั้งนี้ ตนเชื่อมั่นใน พล.อ.ประวิตร เพราะเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และทำงานปิดทองหลังพระมาเยอะ ทำอะไรให้ประเทศชาติมาเยอะ แต่ท่านก็ไม่เคยเอามาพูด ตามวิสัยของทหาร ในฐานะทีมบริหารพรรค เราจะร่วมกันผลักดันนโยบายที่เป็น เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ให้สามารถกินดีอยู่ดี มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

“ตอนนี้พรรคพลังประชารัฐ ได้เปลี่ยนรูปโฉมใหม่ มีการเปลี่ยนโลโก้ใหม่เป็นรูปพลวัต ซึ่งรูปร่างคล้ายกับกังหัน ประกอบด้วยสีน้ำเงิน ขาว แดง มีความสวยงาม และมีความหมายที่ดี เรามุ่งเน้นดูแลความเดือดร้อนของประชาชน ดูแลปากท้องประชาชน ตามสโลแกนพรรคอันใหม่ที่ว่า “อนุรักษ์นิยมทันสมัย” คือพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคที่เน้นอนุรักษ์นิยม ดูแลทุกข์สุขประชาชน อีกคำหนึ่งก็คือ “ปกป้องสถาบัน ทันสมัยเศรษฐกิจ มีชีวิตที่สดใส” ยุคนี้เป็นยุคดิจิตอลแล้ว เราจะต้องทันสมัยตลอดเวลา ทีมงานของเราทันสมัยกันหมด เรามีศักยภาพพร้อมที่จะเป็นรัฐบาล พร้อมที่จะช่วยเหลือประเทศชาติและประชาชน” นายสุรเดช กล่าว

ทั้งนี้ ตนได้เดินทางไป จ.พะเยา เพื่อไปใช้สิทธิ์ตามหน้าที่ของพลเมืองไทยที่ดี ในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาล จ.พะเยา และได้เดินทางไปจ.เชียงราย  เพื่อลงพื้นที่พบปะเยี่ยมเยียนประชาชนและทีมฟุตบอลอาวุโส จ.เชียงราย ในการรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะในด้านต่างๆ เพื่อนำมาสู่การพิจารณาในที่ประชุมกรรมการบริหารคพรรคต่อไป

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 14 พฤษภาคม 2568

“ธีระชัย” ชำแหละแผนชวนเชื่อรายย่อยลงทุน จีโทเคน ส่อสร้างปัญหาให้ปชช.รับความเสี่ยง จี้จุดอ่อนกฎหมายรองรับอาจไม่ชัดเจน แนะรัฐควรพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเงินดิจิทัลให้แน่นอนเสียก่อน

,

“ธีระชัย” ชำแหละแผนชวนเชื่อรายย่อยลงทุน จีโทเคน ส่อสร้างปัญหาให้ปชช.รับความเสี่ยง จี้จุดอ่อนกฎหมายรองรับอาจไม่ชัดเจน แนะรัฐควรพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเงินดิจิทัลให้แน่นอนเสียก่อน

วันนี้ (14 พ.ค. 2568) ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รองหัวหน้าพรรคฝ่ายเศรษฐกิจ  พปชร. อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวถึงกรณีที่กระทรวงการคลังเสนอคณะรัฐมนตรีจะออกพันธบัตรรัฐบาลในรูปแบบโทเคนดิจิทัล G-Token ว่า จะไม่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัลดังที่รัฐบาลโฆษณาชวนเชื่อ

นายธีระชัยกล่าวว่าวิธีการในการเปิดให้ผู้ลงทุนรายย่อยเข้ามาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลนั้นมีอยู่แล้วในปัจจุบัน ด้วยกลไกผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ดังนั้น จึงต้องชี้แจงก่อนว่าการออกพันธบัตรรัฐบาลในรูปแบบ G-Token จะเพิ่มความสะดวกอย่างใดแก่ผู้ลงทุน โดยเฉพาะในเรื่องการขายคืน ซึ่งราคาในกองทุนรวมจะเป็นไปตามกติกาโดยมี ก.ล.ต. กำกับดูแล แต่กรณี G-Token ผู้ลงทุนจะต้องไปขายในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งราคาอาจจะผันผวนไปแต่ละชั่วโมงตามแรงเก็งกำไรได้

นอกจากนี้ ยังมีจำเป็นจะต้องมีเงื่อนไขบังคับ เพื่อไม่ให้ผู้ถือ G-Token นำไปใช้เพื่อชำระหนี้ตามกฎหมายแก่บุคคลอื่น เพราะจะเข้าข่ายเป็นเงินตราอย่างหนึ่งซึ่งจะต้องขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน

ส่วนกรณีที่นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่าการออก G-Token จะช่วยลดต้นทุนการดำเนินการ จากเดิมที่ออกพันธบัตรมีค่าธรรมเนียมดำเนินการจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 0.03% ของกรอบวงเงินจำหน่ายนั้น ก็ขอให้แจกแจงว่ามีต้นทุนค่าใช้จ่ายจริงเท่าไหร่ และใครจะเป็นผู้ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนโดยมีค่าธรรมเนียมเท่าใด รวมค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นแล้วต่ำกว่า ธปท. อย่างไร ทั้งนี้ ขอแนะนำอย่าไปหมกมุ่นกับเงินที่รัฐบาลต้องจ่ายแก่ ธปท. เพราะเป็นองค์กรของรัฐ เงินไม่รั่วไหลไปไหน

นายธีระชัยแนะนำว่าการนำประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลให้สำเร็จนั้น มีเรื่องที่ต้องดำเนินการก่อนหลายอย่าง กล่าวคือ
(1) ต้องช่วยให้ประชากรเข้าถึงระบบอินเทอร์เนตอย่างกว้างขวาง
(2) ต้องให้ความรู้ทั้งในระบบโรงเรียนและในกลุ่มประชาคม
(3) ต้องพัฒนาธุรกิจการเงินแบบดิจิทัลให้กว้างขวางมากขึ้น
(4) ต้องกระตุ้นคนรุ่นหนุ่มสาวให้ลองทำธุรกิจขนาดย่อมด้านดิจิทัลให้มากขึ้น และ
(5) รัฐต้องให้บริการทางออนไลน์มากขึ้นรวมทั้งใช้บล็อกเชนในการบริหารราชการให้โปร่งใส

นายธีระชัยเห็นว่าการจะทำให้โทเคนเกิดขึ้นในหลักทรัพย์ต่างๆ (tokenization) จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานครบถ้วน ทั้ง stable coin สกุลบาท ทั้ง smart contract   ทั้งระบบเคลียริ่ง และมีกฎหมายรองรับเรื่องเหล่านี้ทั้งหมดรวมไปถึงการนำโทเคนไปใช้เป็นหลักประกัน โดยต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเอกชนเป็นผู้ริเริ่ม ส่วนรัฐบาลเองไม่ควรมีหน้าที่ไปออกโทเคน ดังเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้ยังไม่มีประเทศที่ระบบการเงินล้ำหน้าใดที่รัฐบาลเป็นผู้ออกโทเคนเอง

นอกจากนี้ นายธีระชัยมีความเห็นว่าถึงแม้กฎหมายการบริหารหนี้สาธารณะมาตรา 10 วรรคหนึ่งเปิดให้ใช้วิธีการอื่นใดก็ได้ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ แต่ถ้าอ่านตามเนื้อความที่บัญญัติไว้ย่อมจะต้องหมายถึงหลักฐานแห่งหนี้ในทำนองเดียวกับสัญญาหรือตราสารหนี้ อย่างไรก็ดี นิยามโทเคนดิจิทัลในกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ไม่น่าจะเข้าข่ายเป็นหลักฐานแห่งหนี้ตามข้อบัญญัตินี้

“ผมขอแนะนำให้ตรวจสอบให้แน่ใจว่าการออกโทเคนดิจิทัลมีกฎหมายรองรับอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้ การพัฒนาโทเคนนั้น เป็นเพียงเสี้ยวเดียวของงานเศรษฐกิจดิจิทัลทั้งหมด แต่ไม่ใช่เรื่องที่มีความจำเป็นในลำดับต้น ดังนั้น การที่กระทรวงการคลังเอามาโปรโมทเป็นด่านหน้านั้น สะท้อนว่าคิดงานเป็นชิ้นๆแทนที่จะวางแผนเป็นระบบ ผมขอแนะนำให้ศึกษาแนวการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลให้ถ่องแท้ทะลุปรุโปร่งเสียก่อน มิฉะนั้นก็จะเป็นการวาดฝันสวยหรูแต่ไม่สามารถทำได้จริง ดังที่เกิดขึ้นกรณีโครงการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ที่หาเสียงเอาไว้ใหญ่โตเป็นนโยบายเรือธง แต่เวลาผ่านมาสองปีก็ยังทำไม่ได้” นายธีระชัยเตือน

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 14 พฤษภาคม 2568