โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

วัน: 25 กรกฎาคม 2024

“รมช.อรรถกร”แจง โครงการสถานีสูบน้ำและระบบส่งน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านไผ่สามเกาะ เริ่มก่อสร้างแล้ว คาดไม่เกินสิ้นปีได้ใช้ เผย เตรียมหาแนวทางใช้เงินกองทุนช่วยเหลือค่าไฟฟ้าให้กลุ่มผู้ใช้น้ำและเกษตรทั่วประเทศ

,

“รมช.อรรถกร”แจง โครงการสถานีสูบน้ำและระบบส่งน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านไผ่สามเกาะ เริ่มก่อสร้างแล้ว คาดไม่เกินสิ้นปีได้ใช้ เผย เตรียมหาแนวทางใช้เงินกองทุนช่วยเหลือค่าไฟฟ้าให้กลุ่มผู้ใช้น้ำและเกษตรทั่วประเทศ

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจาของนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส. ราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่สอบถามถึงปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่ตำบลเขาขลุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ที่ประสบกับปัญหาภัยแล้ง ไม่สามารถทำการเพาะปลูกข้าวนาปีและสินค้าเกษตรอื่นได้ จึงอยากทราบว่าจะสามารถจัดงบประมาณโครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำและการก่อสร้างอาคารถังพักน้ำเพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตในพื้นที่ได้หรือไม่

นายอรรถกร กล่าวชี้แจงว่า โครงการสถานีสูบน้ำและระบบส่งน้ำด้วยไฟฟ้า บ้านไผ่สามเกาะ ได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้มีความก้าวหน้าก็อยู่เกือบจะ 20% แล้ว ทางกรมชลประทานคาดว่า จะเร่งทำการก่อสร้างโครงการนี้ให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งก็คือประมาณเดือนธันวาคม โดยโครงการดังกล่าวได้รับงบประมาณก่อสร้างทั้งหมด 85 ล้านบาท โดยมีองค์ประกอบของโครงการ 3 ส่วน คือ 1.สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 2.วางระบบท่อส่งน้ำ ที่มีความยาวอย่างน้อย 7 กิโลเมตร 3.เราจะขุดสระเพื่อเก็บน้ำเพิ่มที่เราดึงมาจากเขื่อนแม่กลองอีก 2 สระ เราจะสามารถสนับสนุนน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภคเพื่อพี่น้องเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 500 ครัวเรือนในตำบลเขาขลุง โดยเฉพาะในหมู่ที่ 10 หมู่ที่ 13 หมู่ที่ 14 อำเภอบ้านโป่ง

นายอรรถกร กล่าวต่อว่า ตนเชื่อว่าโครงการนี้ จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานทางภาครัฐ กรมชลประทาน หรือการผลักดันจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกร รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ช่วยกันหาทางออก ตนต้องขอบพระคุณ สส.อัครเดช ที่ท่านถือว่าเป็นคนที่พยายามหาแนวทาง หาข้อมูลร่วมกับพี่น้องในพื้นที่ จนทำให้เกิดโครงการที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนในวันนี้ขึ้นมา

นายอรรถกร ยังกล่าวต่อถึง แนวทางการหาค่าไฟ ที่ต้องบอกว่า ถึงแม้ว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการเครื่องสูบน้ำระบบไฟฟ้า ซึ่งจริงๆแล้วเรื่องค่าไฟเป็นปัญหาในทุกพื้นที่ แต่เรามีเอกสารที่เป็นข้อตกลงเบื้องต้นร่วมกันระหว่าง 3 หน่วยงาน คือ กรมชลประทานที่มีภาระหน้าที่ชัดเจนว่า พอท่านก่อสร้างโครงการสถานีสูบน้ำบ้านไผ่สามเกาะเสร็จ ภายในหนึ่งปีจะต้องทำการส่งมอบไปยังองค์การองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อบต.และหลังจากนั้นจะต้องคอยให้คำแนะนำกับกลุ่มที่จะมารับผิดชอบต่อ

นอกจากนี้ ต้องขอบคุณพี่น้องเกษตรกร ซึ่งในเอกสารข้อตกลงร่วมกัน ราษฎรจะมารวมกลุ่มกันเพื่อจัดตั้งเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำภายในระยะเวลาหนึ่งปี หลังจากที่มีการก่อสร้างเสร็จ และยังจะมาร่วมกันรับภาระค่ากระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจากการสูบน้ำ และจะช่วยเหลือในการรักษาบำรุง ซ่อมแซมคลองส่งน้ำ ทั้งนี้ ต้องขอบคุณองค์การส่วนตำบล ซึ่งขณะนี้เนี่ยมีลายเซ็นของท่านนายก อบต.เขาขลุง อยู่ในข้อตกลงร่วม ซึ่งจะทำหน้าที่ในการที่จะรับมอบสถานนีสูบน้ำ ภายในระยะเวลาหนึ่งปีหนึ่ง หลังจากก่อสร้างเสร็จ และจะช่วยบริหารจัดการร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ ในเรื่องของระยะเวลา หรือว่าการจัดการสูบน้ำไปยังพื้นที่ให้กับพี่น้องเกษตรกร รวมถึงให้สนับสนุนในด้านงบประมาณค่าใช้จ่าย ภายหลังการรับมอบสถานีสูบน้ำไปบริหารงาน ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง พนักงานการซ่อมแซมบำรุงรักษา หรือว่าสมทบค่ากระแสไฟฟ้า

“ผมได้ประสานกับทางกรมชลประธานให้ไปวิธี ก่อนที่จะถึงสิ้นปีนี้ที่เราจะสร้างสถานีสูบน้ำ พร้อมด้วยระบบสูบน้ำแห่งนี้เสร็จ ทางกรมชลประทานจะสามารถช่วยเหลือได้อย่างไร ไปคุยในพื้นที่ ไปคุยกับทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า ในการที่จะลด บรรเทาภาระที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทางหน่วยงานภาครัฐช่วยเหลืออย่างไร”นายอรรถกร กล่าว

นายอรรถกร กล่าวต่อว่า ปัญหาที่ สส.อัครเดช กล่าวมาต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นจริงว่า การถ่ายโอนภารกิจของสถานีสูบน้ำโดยไฟฟ้า ไปให้ทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งในช่วงที่พี่น้องเกษตรกรมีรายได้ดีก็ไม่ได้มีปัญหา แต่ในช่วงที่สินค้าทางการเกษตรบางตัวรายได้ไม่ดี ก็จะเกิดปัญหา ซึ่งตนนำเรียนตามตรงว่า ตนไม่ได้กำกับดูแลกรมชลประทาน แต่ได้ร่วมงานกับกรมชล ซึ่งข้อแนะนำ 2 ข้อของท่านอัครเดช เป็นสิ่งที่ตนเชื่อว่าทางกระทรวงเกษตรฯสามารถนำไปต่อยอดได้ เช่นการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการที่จะเพิ่มฟังก์ชันที่เป็นโซลาร์เซลล์ให้สถานนีสูบน้ำ เพื่อให้ค่าไฟฟ้าที่เป็นภาระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพี่น้องเกษตรกร และกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่นั้นให้ลดลงได้ ซึ่งตนเข้าใจว่าขณะนี้มีการพูดกัน โดยยืนยันว่า แนวทางการทำงานของกระทรวงเกษตรกร เราเห็นตรงกันกับ สส.อัครเดช

“กองทุนที่กระทรวงเกษตรฯ ดูแลอยู่นั้นมี 14 กองทุนตนจะนำไปหารือกับทางกองทุนต่างๆว่า จะมีกองทุนไหนที่จะสามารถนำมาใช้ เพื่อแบ่งเบาภาระของเกษตรกรได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม การนำเงินของกองทุนมาใช้ก็ขึ้นอยู่กับตัวบทกฎหมายด้วย แต่ว่าผมจะหาทาง เพราะเชื่อว่า หากสามารถทำได้จะเกิดประโยชน์กับพี่น้องกลุ่มผู้ใช้น้ำและเกษตรกรทั่วประเทศ”นายอรรถกร กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 25 กรกฎาคม 2567

“รมช.อรรถกร”เผย ปริมาณน้ำฝนปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้ว อ่างเก็บน้ำยังดีอยู่ มั่นใจ กรมชล มีความพร้อมบริหารจัดการน้ำรับมือช่วงหน้าฝน

,

“รมช.อรรถกร”เผย ปริมาณน้ำฝนปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้ว อ่างเก็บน้ำยังดีอยู่
มั่นใจ กรมชล มีความพร้อมบริหารจัดการน้ำรับมือช่วงหน้าฝน

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจาของนายปรเมษฐ์ จินา สส.สุราษฎร์ธานี เขต 5 พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ถามถึงการบริหารจัดการน้ำในช่วยฤดูฝนที่จะมีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วม และกระทบกับความเป็นอยู่ของประชาชน

นายอรรถกร กล่าวชี้แจงว่า สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศไทยในปัจจุบัน ถ้าเราดูค่าเฉลี่ยเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ปริมาณน้ำฝนทุกวันนี้มีค่าเฉลี่ยที่น้อยกว่าปีที่แล้วอยู่ประมาณ 9% เฉลี่ยอยู่ที่ 710 มิลลิเมตร ซึ่งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางของประเทศไทย มีปริมาตรความจุรวม 76,337,000,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งขณะมีน้ำอยู่ประมาณ 39,279,000,000 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 51% เครื่องมือของรัฐบาลยังสามารถรับน้ำได้อีกถึง 37,058,000,000 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นเกือบจะ 50% โดยการเตรียมความพร้อมในการรับมือน้ำเยอะในช่วงฤดูฝน เรามี 10 มาตรการที่ทำงานผ่านคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ โดยหน่วยงานเราจะใช้แนวทางในการปฏิบัติในการบริหารจัดการน้ำในรูปแบบที่ไปในทิศทางเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมในการจัดสรรทรัพยากร ที่เป็นเครื่องมือสำคัญของกรมชลประทาน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกลต่างๆ รถขุดหรือรถแทร็กเตอร์ ซึ่งทางกรมชลประทานมีเครื่องมือทั่วประเทศอยู่ที่ 5,382 หน่วย แบ่งเป็นเครื่องสูบน้ำ 1,289 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 617 เครื่อง และเครื่องจักรสนับสนุนอื่นๆ อีก 2,476 เครื่อง จึงเชื่อว่าเรามีความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำ

ในส่วนช่วงภาคเหนือตอนบน เราก็มีเขื่อนที่สำคัญอยู่ 4 เขื่อนไม่ว่าจะเป็นเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแคน้อย เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยขณะนี้ความจุของเขื่อนทั้ง 4 เขื่อนอยู่ที่ประมาณ 39% ซึ่งมีประมาณน้อยกว่าปีที่แล้วอยู่นิดหน่อย ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำในส่วนนี้ เราจะใช้หลักในการบริหารที่เรียกว่า Rule Cure หมายความว่า ในช่วงหน้าแล้ง เราต้องเก็บกักน้ำไม่ให้ต่ำกว่าเส้นที่ทางกรมชลประทานได้กำหนดไว้ ในส่วนช่วงเวลาที่อยู่ในหน้าฝนเราบริหารอย่าง Upper Rule Curve คือต้องบริหารจัดการน้ำไม่ให้สูงกว่าเส้นที่ได้กำหนดเอาไว้

นายอรรถกร กล่าวต่อว่า การบริหารจัดการน้ำในภาคอีสานทั้งตอนบนและตอนล่าง ในยุคสมัยของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการประสานงานกับในพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่มาโดยตลอด ดังนั้น การบริหารน้ำต้องรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกร ซึ่งมีนโยบายของเราตอนนี้ คือการทำงานทุกวัน ไม่มีวันหยุด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นโดยในอนาคตอันใกล้ กรมชลประทานมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น

ในส่วนของแม่น้ำชี และแม่น้ำมูล ซึ่งอยู่ในภาคอีสาน โดยทั้งสองสายน้ำจะไหลมารวมกันที่อ่างเก็บน้ำจังหวัดอุบลราชธานี ที่เรียกว่า M7 โดยนโยบายและมาตรการของกรมชลประทาน จะทำการยกประตู หมายความว่าเราจะเร่งระบายน้ำไปเรื่อย ๆ ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้วันที่น้ำฝนมามากกว่า จะต้องทำการเร่งระบายน้ำจนเกินกำลัง ต้องเรียนว่า กรมชลประทาน ทำงานร่วมกับการประปา การไฟฟ้า ในการจัดการน้ำในพื้นที่ถึงโยบายปล่อยน้ำของกรมกลชลประทาน เราจะทำในระยะไหน ระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะเร่งด่วน ซึ่งตอนนี้จากการตรวจสอบพบว่า การบริหารจัดการน้ำในลุ่มแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล เราสามารถรับมือได้ดียิ่งขึ้น และเชื่อว่าผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนและเกษตรกร จะมีน้อยลงมากมากกว่าปีก่อน

นายอรรถกร กล่าวต่อถึงการบริหารจัดการน้ำในจังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้น มีโครงการต่างๆที่กรมชลประทานพยายามจะเร่งรัดให้สำเร็จ ซึ่งมีอย่างน้อย 2 โครงการใหญ่ที่ ขณะนี้ได้ออกแบบเสร็จแล้ว เหลือ รองบประมาณแล้วก็ถ้าเราได้งบประมาณเมื่อไหร่ เราก็จะทำการก่อสร้าง ซึ่งผมเชื่อว่า จะเป็นประโยชน์กับพี่น้องจังหวัดสุราษฎร์ธานีแน่นอน

“ผมไม่ได้อยู่บนบัลลังก์นี้ตลอด เวลาปกติผมก็ลงไปทำหน้าที่ข้างล่างในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งดังนั้น ผมเชื่อว่ากระทรวงเกษตรฯ กรมชลประทาน หรือแม้แต่หน่วยงานอื่นๆอีก 21 หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรฯ เรายินดีที่จะรับฟังความเห็นและข้อแนะนำจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในทุกๆจังหวัดอยู่แล้ว และพร้อมจะทำงานร่วมกับทุกท่านที่สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่”

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 25 กรกฎาคม 2567

“สส.จักรัตน์”วอน กรมชลประทาน ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งเขตหล่มสักให้ยั่งยืน พร้อมเตรียมอนุมัติงบปี 69 ให้ 4 โครงการที่สำคัญ

,

“สส.จักรัตน์”วอน กรมชลประทาน ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งเขตหล่มสักให้ยั่งยืน พร้อมเตรียมอนุมัติงบปี 69 ให้ 4 โครงการที่สำคัญ

นายจักรัตน์ พั้วช่วย สส.เพชรบูรณ์ เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) กล่าวหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า ช่วงเสาร์ อาทิตย์ที่ผ่านมานอกจากจะมีเทศกาลสำคัญทางพระพุทธศาสนาของศาสนิกชนทั่วประเทศคือเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ในพื้นที่อำเภอหล่มสักก็มีเทศกาลประจำปี คือเทศกาลยกของขึ้นที่สูงหนีน้ำท่วม ปัญหาเกิดจากแม่น้ำป่าสัก ที่มีปริมาณน้ำมาก จนไหลล้นตลิ่ง ปัญหานี้แก้ไขได้ คือต้องสร้างอ่างเก็บน้ำ ชื่ออ่างเก็บน้ำสระดวงใหญ่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ ตำบลท่าอิบุญ อำเภอหล่มสัก ช่วยตัดยอดน้ำของแม่น้ำป่าสัก และช่วยกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง อ่างเก็บน้ำนี้ได้รับงบประมาณศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปีนี้ประมาณ 7 ปี ก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติ โดยขอให้กรมชลประทานช่วยแก้ไขปัญหา น้ำท่วมน้ำแล้ง ให้ยั่งยืน

นายจักรัตน์ กล่าวต่อว่า ตนอยากฝากไปยังคณะกรรมการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ช่วยเร่งรัดอนุมัติให้ด้วย และฝากกรมชลประทาน ตั้งงบประมาณออกแบบก่อสร้างให้เสร็จภายในปี 2569 ให้ด้วย ส่วนในปี 2569 ขอให้กรมชลประทาน ตั้งงบประมาณโครงการศึกษาความเหมาะสม และประเมินผลกระทบของสิ่งแวดล้อม 4 โครงการที่สำคัญ ในเขตอำเภอหล่มสัก

1. โครงการบรรเทาอุทกภัยเขตเทศบาลเมืองหล่มสักและตำบลใกล้เคียง
2.โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง
3. โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำพาย ในตำบลบ้านกลาง
4.โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบุ่งน้ำเต้า ตำบลบุ่งน้ำเต้า
ซึ่งทั้ง 4 โครงการนี้ อยู่ในเขตอำเภอหล่มสักทั้งสิ้น

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 25 กรกฎาคม 2567

“สส.วันเพ็ญ” หารือขอให้ กรมทางหลวง กระทรวงคมมาคม ขยายถนนเส้นทาง ทล.225 และ ทล.2275 ให้เป็น4เลน (ทางหลวงพิเศษ)

,

“สส.วันเพ็ญ” หารือขอให้ กรมทางหลวง กระทรวงคมมาคม ขยายถนนเส้นทาง ทล.225 และ ทล.2275 ให้เป็น4เลน (ทางหลวงพิเศษ)

สส.วันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ สส.เพชรบูรณ์ เขต 5 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรถึงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข225 และ ทางหลวงหมายเลข2275 ให้ได้มาตรฐานทางชั้นพิเศษ 4ช่องจราจร ทั้ง 2 เส้นทาง โดยก่อนอื่นตนต้องขอขอบคุณ สำนักก่อสร้างทางที่ 2 กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ที่ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 225 สายนครสวรรค์ – ชัยภูมิ ตอนบ้านศรีมงคล – อำเภอบึงสามพัน เป็นถนน 4เลน ระยะทางรวม 20 กิโลเมตรจนแล้วเสร็จเรียบร้อยไปได้ด้วยดี ภายในระยะเวลาและเงื่อนไขของสัญญา

สส.วันเพ็ญ กล่าวต่อว่า ตนขอขอบคุณแขวงทางหลวงเพชรบูรณ์ที่ 2 (บึงสามพัน) สำนักงานทางหลวงที่6 (เพชรบูรณ์) ที่บูรณะซ่อมแซมทางผิวแอสฟัลต์ ทางหลวงหมายเลข225 ช่วงแยกราหุล กม.117 – 120 บ้านกันจุ จากเดิมที่ตนเคยหารือในสภา เมื่อวันที่ 15 ก.พ.67 ซึ่งปัจจุบันปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ ตนขอฝาก ถนน ทล.225 ซึ่งปัจจุบันขยาย 4เลน ไปเกือบตลอดเส้นทางผ่านจังหวัดเพชรบูรณ์ จนไปเชื่อมต่อกับจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งยังขาดการขยายเลนอีกตั้งแต่ กม.153 บ้านน้ำอ้อม ผ่านบ้านซับเจริญ บ้านซับกระโซ่ไปถึง กม.160 จนตัดเข้าเขต จังหวัดชัยภูมิ โดยขอให้กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้พิจารณาดำเนินการขยายให้เป็น 4เลน ตลอดเส้นทางด้วย

ในส่วนของ ทล.2275 ซึ่งตนได้ติดตามและผลักดันให้กรมทางหลวง ขยายเป็น4เลน ตลอดเส้นทางจากสามแยกวิเชียรบุรี ผ่านอำเภอบึงสามพัน ถึงอำเภอหนองไผ่ เข้าสู่อำเภอเมือง เพื่อบรรเทาผลกระทบกรณีที่เส้น ทล.21กรุงเทพ – สระบุรี – หล่มสัก ปัจจุบันประชาชนและนักท่องเที่ยวใช้หนาแน่นมาก โดยเฉพาะวันหยุดและเมื่อมีเทศกาลสำคัญๆ ปัจจุบัน กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม กำลังดำเนินการก่อสร้างขยายให้ในช่วง กม.79 บ้านหนองพวง ถึง กม.90 บ้านเนินคนธา โดยอนุมัติงบประมาณการก่อสร้างในสัญญาปี 66 – 68 เป็นจำนวนเงิน 546,700,000 บาท ซึ่งสัญญาก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี2568 ซึ่งได้ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร
แต่เนื่องจากถนนเส้นนี้ยังมีผิวทางที่อยู่ในแผนการขยายอยู่ ตั้งแต่ กม.ที่ 90 ถึง 113+ จุดสิ้นสุดที่อำเภอเมือง จึงขอให้กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้โปรดพิจารณาเตรียมการเรื่องงบประมาณ เพื่อให้ต่อเนื่องในปีงบประมาณต่อๆ ไปด้วย

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 25 กรกฎาคม 2567

“สส.อรรถกร”เผย กระทรวงเกษตรฯทำงานแบบบูรณาการ เปิดรับทุกภาคส่วนร่วมมือกำจัด“ปลาหมอคางดำ”เตรียมนำข้อเสนอของ สส.ไปทำงานต่อ เชื่อ ทุกคนหวังดีกับประเทศ

,

“สส.อรรถกร”เผย กระทรวงเกษตรฯทำงานแบบบูรณาการ เปิดรับทุกภาคส่วนร่วมมือกำจัด“ปลาหมอคางดำ”เตรียมนำข้อเสนอของ สส.ไปทำงานต่อ เชื่อ ทุกคนหวังดีกับประเทศ

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการพิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจาขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำและการจัดการสายพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานเพื่อส่งให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยนายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวอภิปรายว่า ตนเห็นด้วยกับทุกแนวทางการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ เรื่องที่เกิดขึ้น การขออนุญาตครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ในปี 2549 และในปี 2553 ก็มีการนำเข้ามา 2,000 ตัว ตามหลักฐานที่กรมประมง กระทรวงเกษตรฯมี พอมาในปี 54 มีการชี้แจงว่า ทำลายทิ้งหมดแล้ว ต่อมาปี 60 จึงมีการไปพบหลักฐานอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนแนวทางการแก้ปัญหา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้ไว้วางใจ ตั้งแต่ที่เข้ามารับตำแหน่ง ท่านก็ได้ดำเนินการเรื่องนี้อยู่ วันนี้เราพิสูจน์แล้วว่า การขับเคลื่อนโดยกรมประมง กรมเดียวไม่สามารถที่จะทำลายปลาหมอคางดำทันกว่าปริมาณที่มันออกลูกเพิ่มขึ้นมา เพราะว่าปลาชนิดออกลูกทุก 22 วัน ครั้งละ 300-500 ฟอง โดยตนได้รับการมอบหมายจากเจ้ากระทรวงเกษตรฯให้เป็นประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาปลาหมอดำ

“แนวทางการทำงาน คือ เราต้องลงพื้นที่ไปคุย ไปพูดจาไปรับฟังจากผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อม หลายครั้งที่เราไปรับฟังปัญหาจากชาวประมง ที่เป็นตัวแทนสมาคมต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง แม้แต่กระทั่งเรายินดีที่จะร่วมงานกับทุกฝ่าย ไม่ว่าท่านจะสังกัดพรรคอะไรก็ตาม เราไม่ได้ติดใจ เพราะเชื่อว่า การแก้ไขปัญหายิ่งมีคนมาช่วย ยิ่งเป็นเรื่องที่ดี ดังนั้นหลังจากที่ผมได้รับมอบหมาย ผมได้เรียกประชุมหารือ ณ วันนั้นมีการพบเจอการแพร่ระบาดในประเทศไทย 16 จังหวัด จึงได้มอบหมายให้กรมประมงแต่ละจังหวัดไปตั้งคณะกรรมการ อนุกรรมการ ในการนำเสนอร่างมาตรการในการแก้ไขปัญหาต่างๆ“นายอรรถกร กล่าว

นายอรรถกร กล่าวต่อว่า มาตรการทางกรมประมงมี5 มาตรการ 1 ควบคุมกำจัด 2.ปล่อยปลาผู้ล่า 3.นำปลาหมอออกจากระบบนิเวศไปใช้อย่างอื่น 4. สำรวจเฝ้าระวัง 5.สร้างความรู้และการตระหนักรู้ของประชาชนหลังจากนั้นในวันที่ 22 ที่ผ่านมา ร.อ.ธรรมนัสและตนได้ลงพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ก่อนที่กระทรวงเกษตรฯจะดำเนินการต่อ เราได้รับข้อเสนอที่น่าสนใจจากสมาคมประมงแห่งประเทศไทย สมาคมประมงพื้นบ้าน คือการเสนอให้ยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ กาาผ่อนผันเครื่องมือ ซึ่งกรมประมงได้ผ่อนผันไปตั้งนานแล้ว นอกจากนั้นเราได้มอบหมายไปยังแต่ละจังหวัดให้ทำงาน เพราะแต่ละจังหวัดมันมีความแตกต่างกันในเรื่องของเครื่องมือ และความถนัด และจากร่างของกรมประมงที่เรารวบรวมจาก 16 จังหวัด ลองเอามาเทียบกับข้อเสนอจากสมาคมแห่งประเทศไทย จะเห็นได้ว่าข้อเสนอต่างๆใกล้เคียงกัน ตนจึงให้กรมประมงนำร่างข้อเสนอทั้ง 2 ร่างมารวมกัน เพื่อที่จะนำเสนอไปยังนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านให้ความสำคัญกับเรื่องนี้พร้อมสั่งการว่าให้กระทรวงเกษตรฯพยายามแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนให้เร็วที่สุด

“ผมยืนยันว่าทำงานของกระทรวงเกษตรฯเราไม่ได้ทำคนเดียว แต่เราทำพร้อมกับคนในพื้นที่ เพราะพิสูจน์แล้วว่าจับแบบธรรมดา มันไม่สามารถลดปริมาณลงได้เพียงพอกับการเกิด สิ่งที่จะทำให้สัมฤทธิ์ผลเรื่องนี้ก็คือ การตั้งค่าหัวกิโลกรัมละ 15 บาท ต่อมาตนได้ข่าวว่าบริษัทยักษ์ใหญ่บางรายก็ขยับจะรับซื้อ 15 บาทตามมาตรการของ ร.อ.ธรรมนัส กระทรวงเกษตรกรเนี่ยพร้อมที่จะทำตรงนี้ แต่เราไม่ได้บอกว่า งบประมาณ 50 ล้านบาทของการยางที่เราจะนำไปใช้มันจะเป็นทั้งหมดแล้ว เราก็มีความจำเป็นที่ต้องวางแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวของกระทรวงเกษตรฯพร้อมด้วยรัฐบาล ซึ่งเป็นรัฐบาลของพี่น้องประชาชนคนไทย ในการที่จะต้องอนุมัติงบประมาณลงมาก้อนหนึ่งในการไล่ล่าก่อนที่เราจะทำอย่างอื่น”นายอรรถกร กล่าว

นายอรรถกร กล่าวต่อว่า อีกหนึ่งแนวทางที่มีความจำเป็นก็คือ การปล่อยปลาที่ถูกเหนี่ยวนำโครโมโซมไปเรียบร้อยแล้ว คือ ทุกวันนี้ปลาหมอดำในในแหล่งน้ำมีโครโมโซม 2N ถ้าเราสามารถเหนี่ยวนำเป็น 4N ได้ มันจะเป็นหมันรวมถึงเพื่อนมันด้วย ระหว่างที่เราไล่ล่า เราก็จะประเมินเป็นระยะว่ามาตรการใดที่สามารถทำได้แล้วสอดคล้องกัน

“วันนี้ผมมายืนอยู่ตรงนี้ในฐานะ สส.แต่ผมจะไปขอรายงานที่ท่านประธานจะรวบรวมความคิดเห็นจากเพื่อนสมาชิกทุกคนในค่ำคืนนี้ไปทำงานต่อ เพราะผมเชื่อว่า ทุกคนเสนอญัตตินี้ด้วยความหวังดี ผมในฐานะสส.ก็อยากจะเห็นการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลในเรื่องของการกำจัดปลาหมอคางดำให้ดีที่สุด”

 

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 25 กรกฎาคม 2567

“สส.นเรศ”เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ลำไย ให้สภาฯพิจาณา หวัง ผ่านวาระแรก ตั้ง กมธ.ศึกษาต่อ มั่นใจ หาก กม.ฉบับนี้ผ่านจะมียุทธศาสตร์ขับเคลื่อนลำไยอย่างยั่งยืน

,

“สส.นเรศ”เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ลำไย ให้สภาฯพิจาณา หวัง ผ่านวาระแรก ตั้ง กมธ.ศึกษาต่อ มั่นใจ หาก กม.ฉบับนี้ผ่านจะมียุทธศาสตร์ขับเคลื่อนลำไยอย่างยั่งยืน

เมื่อเวลา 19.20 น.ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ สส. เชียงใหม่ เขต 9 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติลำไย พ.ศ. ….ให้ที่ประชุมพิจารณา โดยระบุว่า ประเทศไทยมีสภาพพื้นที่และภูมิอากาศเหมาะสมกับการปลูกลำไยสามารถผลิตลำไยนอกฤดูได้และสามารถกำหนดระยะเวลาเก็บเกี่ยวในช่วงที่ตลาดต้องการ มีเทคโนโลยีการผลิตและการจัดการหลังเก็บเกี่ยวที่มีคุณภาพ ลำไยและผลิตผลจากผลลำไยจึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจโลก รูปแบบการค้าและการลงทุน ที่เปลี่ยนไป สภาวะโลกร้อนส่งผลให้สภาพภูมิอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงและธรรมชาติเกิดความแปรปรวน ส่งผลกระทบต่อการปลูกและผลผลิตทางการเกษตรเกิดความเสียหาย รวมทั้งส่งผลต่อการติดดอกออกผลทำให้ผลผลิตออกล่าช้าและไม่ได้คุณภาพและเกษตรกรผู้ปลูกลำไยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย

นายนเรศ กล่าวต่อว่า รัฐบาลจะต้องมีนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพอย่างเหมาะสมจึงจะทำให้ผลผลิตได้คุณภาพส่งผลต่อการกำหนดราคาลำไยที่มีราคาสูงและเป็นธรรมเพื่อผลประโยชน์ด้านการผลิต การลดต้นทุน และการเชื่อมโยงตลาดในระดับประเทศและต่างประเทศการปฏิรูประบบเกี่ยวกับลำไย การวิจัยและพัฒนา การรักษาเสถียรภาพระดับราคาลำไย การดำเนินธุรกิจและการจัดสรรประโยชน์อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

“เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนลำไยและผู้ประกอบกิจการลำไย จึงจำเป็นต้องจัดให้มีการทำนโยบายและยุทธศาสตร์ลำไยเป็นเป้าหมายการพัฒนาการผลิตลำไยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยในการจัดทำการกำหนดเป้าหมาย ระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมาย และสาระที่พึงมีในยุทธศาสตร์เกี่ยวกับส่งเสริมและพัฒนากิจการเกี่ยวกับลำไยของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้“นายนเรศ กล่าว

นายนเรศ กล่าวต่อด้วยว่า ถ้าสภาฯแห่งนี้มีมติเห็นชอบ พรบ.ลำไยฉบับนี้จะถือว่าสภาแห่งนี้เริ่มเดินหน้าแก้ไขปัญหาให้กับผู้ปลูกลำใยไปด้วยกัน เพราะจะเป็นการช่วยเกษตรกรลำไยในหลายมิติ โดยจะมีคณะกรรมการบริหารลำไยที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และจะทำให้เกิดการบูรณาการระหว่างกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาลำไยได้อย่างรวดเร็วแบบมียุทธศาสตร์ที่แน่นอน เนื่องจากจะต้องส่งความเห็นชอบต่อคณะกรรมการบริหารจัดการลำไย

นายนเรศ ยังกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา แม้กระทรวงเกษตรฯจะมีคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ที่มีตัวแทนแต่ละกลุ่ม แต่ละกระทรวงเป็นคณะกรรมการ แต่เมื่อประชุมเสร็จแล้วก็แยกย้ายกันทำงาน ผลที่ได้จึงไม่ชัดเจนและแก้ปัญหาได้ล่าช้า แต่ถ้าเรามีกรรมการบริหารลำไยโดยเฉพาะ และมีนายกฯเป็นประธานจะสามารถบูรณาการขับเคลื่อนลำได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง แต่คณะกรรมการชุดดังกล่าวจะสามารถกำหนดมาตรการเยียวยาช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วกรณีที่เกิดสถานกาาณ์ด้านการตลาดหรือมีปัญหาด้านต่างๆที่เกี่ยวกับปัญหาการปลูกลำใยขึ้นมา ปัจจุบันเกษตรกรยังได้รับปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่สูง เนื่องจากปุ๋ยราคาแพงขึ้น รวมถึงปัญหาด้านต่าง ๆ อีกมากมายที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

“ผมขอให้สมาชิกในสภาฯช่วยกันลงมติรับร่างในวาระที่หนึ่ง เพื่อให้สภาช่วยกันพิจารณาในชั้นกรรมาธิการต่อไป ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ปัญหาเกษตรกรผู้ปลูกลำไยต้องได้รับแก้ไขจากกฎหมายที่ผมและเพื่อสมาชิกพรรคพลังประชารัฐได้เสนอร่วมกัน”นายนเรศ กล่าวทิ้งท้าย

จากนั้นประธานสภาได้สั่งปิดการประชุม โดยจะมีการพิจารณานำร่างพระราชบัญญัติลำไย พ.ศ. ….ไปพิจารณาต่อด้วยการเปิดให้สมาชิกร่วมอภิปราย ก่อนจะที่ประชุมจะลงมติรับร่างดังกล่าวหรือไม่ ในวันพุธที่ 31 ก.ค.ต่อไป

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 25 กรกฎาคม 2567