โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

วัน: 11 กรกฎาคม 2024

“สส.สะถิระ”พูดแทนชาวสัตหีบขอความเป็นธรรม เท่าเทียมกับพื้นที่อื่น หลังต้องเสียค่าธรรมเนียมจ่ายค่าน้ำ 2 บาท แถมคุณภาพน้ำยังต่ำ เร่ง มท.แก้ปัญหาด่วน

,

“สส.สะถิระ”พูดแทนชาวสัตหีบขอความเป็นธรรม เท่าเทียมกับพื้นที่อื่น หลังต้องเสียค่าธรรมเนียมจ่ายค่าน้ำ 2 บาท แถมคุณภาพน้ำยังต่ำ เร่ง มท.แก้ปัญหาด่วน

นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ สส.ชลบุรี เขต 10 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) กล่าวหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรถึงความเดือดร้อนของพี่น้องอำเภอสัตหีบ โดยมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 9 ม.ค.67 ซึ่งเป็นอีกครั้งที่มติ ครม.ลืมว่า ผู้ให้บริการของประเทศไทยของเราไม่ใช่มีแค่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง แต่ยังมีกิจการไฟฟ้าส่วนกลางสัมปทาน ของกองทัพเรือ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ประโยชน์ต่างๆ เมื่อมีมติ ครม.ชาวสัตหีบจะไม่ได้สิทธิประโยชน์นั้นๆ โดย มติครม.ได้มีการผ่อนผันให้ประชาชนที่อยู่ระหว่างพิสูจน์สิทธิ์สามารถขอใช้ไฟฟ้าและประปาชั่วคราวได้ โดยนำร่องที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจันทบุรี

“อำเภอสัตหีบยังมีพี่น้องประชาชนที่ยังไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้อีก 1,000 ครัวเรือน จึงขอให้นายกรัฐมนตรี นำร่องที่อำเภอสัตหีบและจังหวัดชลบุรีด้วย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้มานานเกือบ 40-50 ปีแล้ว”นายสะถิระ กล่าว

นายสะถิระ กล่าวต่อว่า ชาวอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ไม่ได้รับความยุติธรรมเกี่ยวกับการชำระค่าประปา
เมื่อเดือนที่แล้ว หรือปีที่แล้ว ไม่เสียค่าธรรมเนียม และไม่แค่นั้น พื้นที่อื่นๆนอกจากอำเภอสัตหีบแล้ว ก็ไม่เสียค่าธรรมเนียม ล่าสุด มาเดือนนี้ชาวพี่น้องอำเภอสัตหีบ ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการจ่ายค่าน้ำประปาให้กับธนาคาร บิลละ 2 บาท มันไม่ใช่แค่เรื่องเงินแต่มันเป็นเรื่องของความยุติธรรม และความเท่าเทียมกัน กลับพื้นที่อื่นๆ จึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ดูแลเรื่องให้ด้วย รวมถึงการประปาภูมิภาคขอให้ปรับปรุงคุณภาพเรื่องน้ำขุ่นและเหลือง รวมถึงบริษัท อีสต์วอเตอร์ จำกัด มหาชน ขอให้รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยเร่งแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนชาวสัตหีบ

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 11 กรกฎาคม 2567

”รมช.อรรถกร“ย้ำ ”รมว.ธรรมนัส ประกาศห้ามเลี้ยงปลาหมอคางดำ เผย กรมประมง ตัดราก ถอนโคน เตรียม เหนี่ยวนำชุดโครโมโซมเป็น 4n ทำหมัน หยุดการแพร่พันธุ์ แก้ปัญหาการระบาดที่ต้นตอ

,

”รมช.อรรถกร“ย้ำ ”รมว.ธรรมนัส ประกาศห้ามเลี้ยงปลาหมอคางดำ เผย กรมประมง ตัดราก ถอนโคน เตรียม เหนี่ยวนำชุดโครโมโซมเป็น 4n ทำหมัน หยุดการแพร่พันธุ์ แก้ปัญหาการระบาดที่ต้นตอ

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจาของ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม.พรรคก้าวไกล ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่สอบถามถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤตปลาหมอคางดำ เนื่องจากสถานการณ์ตอนนี้หนักมาก ถือเป็นมหันตภัยร้ายที่สามารถทำลายมูลค่าทางเศรษฐกิจสัตว์น้ำไปปีหนึ่งหลาย 1,000 ล้านบาท

โดยนายอรรถกร กล่าวว่า เมื่อในวันที่ 6 พ.ค. ร.อ.ธรรมนัส ในฐานะเจ้ากระทรวงเกษตรฯ ตน และ สส.ณัฐชา ได้ลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาจากพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ แนวทางการทำงานของกระทรวงเกษตรฯเราจะไม่สนับสนุนให้ประชาชนมีในการเลี้ยงเพิ่ม ต้องกำจัดอย่างเดียวเท่านั้น นั่นคือสิ่งที่ตนยืนยันได้ โดยต้นตอปัญหามาจากเมื่อปี 2553 มีการขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำ สายพันธุ์เอเลี่ยน ซึ่งก็เป็นระยะเวลา 14 ปีก่อน โดยจากข้อมูลที่ตนได้รับจากกรมประมงว่า มีการนำเข้าปลาชนิดนี้อยู่ที่ 2000 ตัว จากบริษัทที่ตนเชื่อว่า พี่น้องคนไทยเคยได้ยินชื่อเป็นอย่างดี เราไม่สามารถปฏิเสธได้

นายอรรถกร กล่าวต่อด้วยว่า วัตถุประสงค์ในการนำเข้า ตนเชื่อว่าเป็นวัตถุประสงค์ที่ดี ในการนำเข้ามาเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ให้เจ้าตัวปลาสามารถทนน้ำได้ดีกว่าเดิม ซึ่งกระบวนการเท่าที่ตนศึกษามาก็คงจะเป็นการไขว้สายพันธุ์ต่างๆ เพื่อให้มันมีความคงทนยิ่งขึ้น เพื่อให้มันเกิดผลทางเศรษฐกิจ เราปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า ณ เวลานั้นในวันที่มีการนำเข้ามาทุกอย่างนั้นเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย มีการขออนุญาตถูกกฎหมายตาม พ.ร.บ.ประมงปี 2490 ซึ่งขณะนั้น ระบุไว้แต่เพียงว่า จะอนุญาตหรือไม่อนุญาต ในการนำสัตว์น้ำจากต่างประเทศเข้ามา ซึ่งมันมีเอกสารมติในที่ประชุมในระบุเลยว่า อนุญาตให้นำเข้า เนื่องจากเป็นเรื่องเดิมที่เคยขออนุญาตแล้ว ซึ่งก่อนปี 53 คงจะมีการขอนำเข้าประมาณ 5000 ตัว แต่นำเข้าจริง 2,000 ตัว ภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ คือ ให้กรมประมงเก็บตัวอย่างครีบโดยไม่ทำให้ตาย อย่างน้อย 3 ตัว เมื่อสิ้นสุดการทดลองให้ผู้ขอนำเข้า แจ้งผลการทดลองแก่กรมประมงและควรมีการป้องกันไม่ให้สัตว์ทดลองหลุดรอดไปในธรรมชาติ ในกรณีที่การทดลองได้ผลไม่ดีผู้ขอนำเข้าไม่ประสงค์จะใช้ปลาต่อไป ขอให้ทำลายและเก็บซากไว้ให้กรมประมงตรวจสอบ

“จากการตรวจสอบการระบาดของปลาสายพันธุ์นี้ในช่วงปี 2560 และหลังจากนั้นผมก็เชื่อได้ว่า มันเป็นปัญหาที่ลามมาจนถึงทุกวันนี้ ผมได้ให้กรมประมงตรวจสอบย้อนหลังว่า ผมและกรมประมงยืนยันว่า กรมประมงไม่พบหลักฐานของการนำส่งตัวอย่างของปลาสายพันธุ์นี้เข้ามา ซึ่งจริงๆแล้วมันก็คือเป็นน่าเสียดาย เพราะถ้าเรามีหลักฐานที่เคยเก็บไว้ ณ เวลานั้น การตรวจสอบย้อนกลับก็จะสามารถทำได้ จริงๆมองตาท่านผมก็รู้ว่าท่านคิดอย่างไร ท่านมองตาผม ท่านก็รู้ว่าผมคิดคล้ายกับท่าน แต่ด้วยเอกสารที่ขณะนี้กรมประมงมีค่อนข้างจำกัด ซึ่งเป็นเอกสารที่ต้องอ้างอิงไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมไม่สามารถระบุได้ว่า ในปี 60 การส่งมอบตัวอย่างเกิดขึ้นจริงหรือไม่ อาจจะเกิดขึ้นจริงแล้วไม่ได้มีหลักฐาน หรืออาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจริงก็ได้ ผมในฐานะที่อยู่ตรงนี้ เบื้องต้นผมก็ต้องเชื่อว่า กรมประมงไปค้นแล้วแต่ไม่มีหลักฐานในการรับตัวอย่างจริงๆ”นายอรรถกร กล่าว

นายอรรถกร กล่าวต่อว่า ตนเจ็บแค้นแทนพี่น้องประชาชนที่เขาได้รับความเดือดร้อน ตนมาอยู่ตรงนี้ก็รู้สึกอึดอัดเหมือนกัน แต่การที่จะตรวจสอบหาต้นทางเราขาดแค่ตัวหลักฐานที่เป็นปลาตาย หรือว่าปลาอาจจะป่วย ที่ตามกฎหมายหรือเงื่อนไขนำเข้าจะต้องส่ง ณ เวลานั้น แต่วันนี้เราหาต้นตอไม่เจอ มีข่าวว่า มีคนลักลอบนำเข้าก่อนปี 49 หรือ 53 โดยเป็นการลักลอบนำเข้า ที่จะเลี้ยงเพื่อความสวยงาม ตรงนี้เป็นเพียงหลักฐานที่เป็นพยานบุคคล เป็นเรื่องที่เล่าต่อกันมา แต่ว่ามีคนพบเห็น เราจึงไม่สามารถสรุปได้ว่า ต้นตอจริงๆ แล้วที่มันเกิดโรคระบาดมาจากไหน แต่ตนก็พยายามหาต้นตอ เพราะถ้าเราสามารถพิสูจน์ได้จริง ๆ คนที่ทำผิดก็ควรจะรับผิดชอบต่อความเสียหายระดับประเทศ

นายอรรถกร ยังกล่าวต่อว่า ตนขออ้างอิงการศึกษาการวิจัยที่ตอกย้ำว่า ระยะห่างทางพันธุศาสตร์ของประชากรปลาหมอคางดำทั้งหมดมีค่าที่ต่ำ แสดงให้เห็นว่าแต่ละประชากรย่อยไม่มีความแตกต่างกันมากนัก หมายความว่า การแพร่ระบาดน่าจะมาจากแหล่งประชากรเดียวกัน แต่ตนก็ไม่สามารถฟันธงได้ 100 เปอร์เซ็นต์ คือถ้าเราไม่มีหลักฐานที่มันชี้เฉพาะเจาะจงว่า การระบาดมันเกิดมาจากใคร เกิดมาจากบริษัทไหน มันเกิดมาจากที่ใด เราก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการต่อได้ แต่โชคดีที่ สส.ณัฐชา มีเอกสารอีกฉบับหนึ่งที่จะมาค้านกับสิ่งที่ตนรับรู้ รับทราบ มาจากกรมประมง ตนยินดีที่จะเอาเอกสารของ สส.ณัฐชา ไปพิจารณาร่วมกับสิ่งที่กรมประมงมี แล้วเราจะดำเนินการต่อไป เรื่องนี้การที่เราจะไปถึงจุดที่ต้องการได้ เราต้องอาศัยความร่วมมือในการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่เราจะมาหาทางออกนี้ร่วมกัน

ในส่วนของมาตรการของกรมประมงหลายมาตรการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการออกประกาศห้ามเลี้ยงสัตว์ชนิดนี้ เลี้ยงในบ่อ รณรงค์ให้ช่วยกันจับการประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ ผมเชื่อว่า กรมประมงทำอย่างเดียวไม่ได้ สส.ทุกท่าน ก็สามารถช่วยแนวทางการทำงานของกระทรวงเกษตรกร ที่ ร.อ.ธรรมนัส ได้ประกาศว่า ห้ามส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์นี้เพราะว่าปลาหมอคางดำเป็นสัตว์ที่ทำลายระบบนิเวศไปอย่างย่อยยับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาทำแบบเดิมๆ แต่วันนี้ผมสามารถยืนยันได้ว่า ร่างของแผนปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำ จะนำไปประชุมใครคณะกรรมการการแก้ไขปัญหาหมอปลาคางดำในอาทิตย์หน้า ขณะนี้เราจะมี 5 มาตรการ 13 กิจกรรมย่อย หนึ่งในนั้นที่กรมประมงได้เร่งทำอยู่ก็คือ การเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ ซึ่งเราเชื่อว่า การทำให้โครโมโซมจาก 2n เปลี่ยนเป็น 4n จะทำให้โครโมโซมในปลาชนิดนี้เปลี่ยน จากนั้นเราก็ปล่อยลงแหล่งน้ำ ทะเล พอมันไปผสมพันธุ์กัน นอกจากตัวมันที่จะเป็นหมันแล้ว ก็จะทำให้เพื่อนของมันเป็นหมันตามไปด้วย นี่คือการทำงานของผู้เชี่ยวชาญของกรมประมง และเราคาดว่า ปลาที่จะผ่านการเหนียวนำชุดโครโมโซมเป็น 4n จะกระโดดลงน้ำครั้งแรกภายในสิ้นปีนี้“นายอรรถกร กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 11 กรกฎาคม 2567

“สส.ปกรณ์”ขอบคุณ“รมว.ธรรมนัส-พล.ต.อ.พัชรวาท”ช่วยผลักดันหลายโครงการที่เป็นประโยชน์ให้ ปชช.พร้อมวอน สนช.คืนพื้นที่ทับซ้อนให้ชาวบ้านปางหมู

,

“สส.ปกรณ์”ขอบคุณ“รมว.ธรรมนัส-พล.ต.อ.พัชรวาท”ช่วยผลักดันหลายโครงการที่เป็นประโยชน์ให้ ปชช.พร้อมวอน สนช.คืนพื้นที่ทับซ้อนให้ชาวบ้านปางหมู

นายปกรณ์ จีนาคำ สส.แม่ฮ่องสอน เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)กล่าวหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทางรัฐบาล โดยร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้ผลักดันโครงการปุ๋ยคนละครึ่งให้กับพี่น้องชาวนาในประเทศไทยของเรา ซึ่งตนเชื่อว่า โครงการนี้จะสามารถลดต้นทุนการผลิต และจะทำให้พี่น้องประชาชนชาวนาได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก

นายปกรณ์ กล่าวต่อว่า ตนขอขอบคุณพลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ท่านได้ผลักดัน เรื่องการกระจายอำนาจในการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่า โดยท่านได้กระจายอำนาจให้ผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารอุทยานในระดับจังหวัด สามารถอนุญาตใช้พื้นที่ป่าได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งจะทำให้การพัฒนาในพื้นที่นั้นมีความสะดวกรวดเร็ว ยิ่งขึ้นและพี่น้องประชาชน ก็จะได้รับประโยชน์มากขึ้น

นายปกรณ์ ยังกล่าวต่อว่า ตนขอติดตามเรื่องที่ดินที่ซับซ้อนของตำรวจชายแดนที่ 336 จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ทับซ้อนกับพี่น้องประชาชน บ้านปางหมู หมู่ที่ 1 ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ทางตำรวจชายแดนนั้นต้องคืนพื้นที่บางส่วนให้กับพี่น้องประชาชน บ้านปางหมู เรื่องนี้ยืดเยื้อมานานกว่า 3 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ตนจึงขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่กำกับดูแลตำรวจตระเวรชายแดนเร่งดำเนินการคืนพื้นที่ดังกล่าวให้กับพี่น้องประชาชน

นอกจากนี้ เรื่องการซ่อมสร้างสะพานบนถนนหมายเลข 1095 พื้นที่บ้านห้วยผา หมู่ที่1 ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ถูกอุทกภัย ตั้งแต่เดือน กันยายน 2566 โดยสะพานเส้นนี้อยู่บนถนนสายหลักที่จะมุ่งเข้าสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปัจจุบันยังเป็นสะพานชั่วคราวอยู่ ยังไม่มีการดำเนินการอย่างไร และยังไม่มีวี่แววว่า จะมีการสร้างสะพานใหม่ รวมถึงยังไม่มีการจัดสรรงบประมาณ จึงขอให้กระทรวงคมนาคมและกรมทางหลวง ช่วยเร่งดำเนินการด้วย

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 11 กรกฎาคม 2567

“สส.จำลอง”เผย ดีใจแทนเกษตรกรทั่วประเทศ ได้มีโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ช่วยลดต้นทุนการผลิต มั่นใจ“นายกฯ-รมว.ธรรมนัส”ดูแล ปชช.อย่างดี

,

“สส.จำลอง”เผย ดีใจแทนเกษตรกรทั่วประเทศ ได้มีโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ช่วยลดต้นทุนการผลิต มั่นใจ“นายกฯ-รมว.ธรรมนัส”ดูแล ปชช.อย่างดี

นายจำลอง ภูนวนทา สส.กาฬสินธุ์ เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)กล่าวหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า พี่น้องประชาชนฝากความห่วงใยมายังรัฐบาลในเรื่องปุ๋ยคนละครึ่ง ซึ่งตนต้องกราบขอบคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร โดยตนได้นำปัญหาชาวบ้านไปปรึกษาท่าน ในฐานะที่อยู่พรรคเดียวกันนะครับท่านนายกรัฐมนตรี โครงการปุ๋ยคนละครึ่งเป็นกระบวนการในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิต ตนดีใจแทนพี่น้องประชาชน ส่วนขั้นตอนการลงทะเบียน ท่านรัฐมนตรีบอกว่าจะอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนทุกกระบวนการจะได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง และ สะดวกสบาย อย่างแน่นอน

“ส่วนมีสมาชิกผู้ทรงเกียรติเป็นห่วงเป็นใยเรื่องเงินเยียวยาที่เคยได้รับไร่ละ 1,000 หรือขอเป็นไร่ละ 500 บ้าง อันนี้ไม่ต้องห่วง รัฐบาลโดยการนำของท่านเศรษฐา ทวีสิน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า มีความเป็นห่วงเป็นใยพี่น้องประชาชนอย่างดีอยู่แล้ว และมีมาตรการเยียวยาอย่างแน่นอน”

นายจำลอง กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องที่มีความเป็นห่วงเป็นใยพี่น้องประชาชนมากที่สุดคือ เรื่องยาเสพติด โชคดีที่วานนี้(10 ก.ค.)กระบวนในการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อลดละเลิกยาเสพติดของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ได้เริ่มจัดทำที่จังหวัดอุดรธานี แต่สิ่งที่ตนอยากทราบคือ งบประมาณในการช่วยตำรวจในการปฏิบัติราชการ เพื่อป้องกัน ปราบปราม และป้องปราม พี่น้องผู้ติดยาเสพติด เพราะจะเห็นได้ว่าตอนนี้ประชาชนผู้ติดยาเสพติด ไม่ได้มีเฉพาะวัยรุ่น ซึ่งปกติจะมีช่วงอายุ 18 – 24 ปี แต่ปัจจุบันอายุประมาณ 12 ก็เริ่มติดยาเสพติดแล้ว รวมถึงกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่อายุตั้งแต่ 39 ปีขึ้นไป ก็มีการติดยาเสพติดมากขึ้นด้ว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 11 กรกฎาคม 2567

“สส.สะถิระ”แนะ สถาบัน วว.ต้องเน้นพัฒนาคน เห็นความสำคัญของวิทยาลัยอาชีวะ ส่งเสริมให้สร้างชื่อเสียงได้ มอง ควรลงทุนกับภูมิปัญญาชาวบ้าน สร้างฐาน ศก.จากระดับล่างก่อน

,

“สส.สะถิระ”แนะ สถาบัน วว.ต้องเน้นพัฒนาคน เห็นความสำคัญของวิทยาลัยอาชีวะ ส่งเสริมให้สร้างชื่อเสียงได้ มอง ควรลงทุนกับภูมิปัญญาชาวบ้าน สร้างฐาน ศก.จากระดับล่างก่อน

นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ สส.ชลบุรี เขต 10 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)ร่วมอภิปรายร่างพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ.ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า ในช่วง 10 ที่ผ่านมา ประเทศที่อยู่ฝั่งตะวันออกมีผู้คิดค้นนวัตกรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งประเทศไทยคือหนึ่งในประเทศตะวันออก เพราะฉะนั้นประเทศไทยคือส่วนหนึ่งในการผลิตบุคลากรที่จะสร้างนวัตกรรมสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ และสถาบันวิจัยฯก็คือ สถานที่ผลิตบุคลากรเหล่านี้

นายสะถิระ กล่าวต่อว่า หากดูจากร่างพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยฯ ในมาตรา 7 มีแต่การพูดถึงเชิงพาณิชย์เชิงอุตสาหกรรม แต่ไม่ได้พูดถึงการสร้างบุคลากรเลย ตนคิดว่า ประเทศเราควรวางแผนคน ก่อนวางแผนรบ บุคลากรนักวิจัยหลาย ๆ ท่าน จะเติบโตขึ้นมาได้อยู่ที่สถาบันวิจัยแห่งนี้ แล้วการลงทุนในแต่ละองค์กร ไม่ว่าจะเป็น sme หรือห้างร้านสรรพสินค้าใหญ่ ๆ มันจำเป็นหรือไม่ อย่างไร

“ผมยกตัวอย่าง ถ้าท่านลงทุนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งผมเชื่อว่ามีนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่นกัน ที่สำคัญวิทยาลัยอาชีวะก็ไม่น้อยหน้าใครในโลก อย่างบ้านผมวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ สามารถไปประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับโลกมาแล้ว หรือแม้กระทั่งโรงเรียนมัธยมระดับมัธยมศึกษา บ้านผม โรงเรียนพลูตาหลวง โรงเรียนสัตหีบ สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับประเทศ ท่านได้เข้าไปร่วมลงทุนกับพวกเขาแล้วหรือยัง“นายสะถิระ กล่าว

นายสะถิระ กล่าวต่อว่า ประเทศในแถบตะวันตก เขาสนับสนุนการวิจัยตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ตนฝากคณะ วว.ว่า การวางแผนคนสำคัญไม่แพ้กับงานวิจัย การเข้าถึงขององค์กรปกครองท้องถิ่น เข้าถึงของวิทยาลัยอาชีวะ การเข้าถึงของระดับมัธยมศึกษา เข้าถึงท่านได้แล้วหรือยัง ตนเห็นควรว่า ท่านต้องเข้าหาเขา ไม่ใช่เขาเข้าหาท่าน เมื่อท่านมีงบประมาณ

นายสะถิระ ยังกล่าวต่อว่า ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือเศรษฐกิจ นั่นคือระดับบน แต่ระดับล่าง เป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญเช่นกัน คำว่า ภูมิปัญญาชาวบ้าน คือนวัตกรรมอย่างหนึ่งของประเทศไทย เช่น กำนันในหมู่บ้านสอนให้เอาท่อแปบ 2 ท่อไปเสียบไว้ที่ต้นโคนกล้วย เมื่อลองทำปรากฏว่า กล้วยขึ้นทุกต้น หรือ กะลาที่นำมาช่วยกายภาพบำบัดได้ เราต้องให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาชาวบ้านเช่นกัน

“คำถามอยู่ว่าท่านจะให้เขาเป็นพาร์ทเนอร์กับท่านได้อย่างไร บุคคล หรือองค์กรเหล่านี้ ซึ่งเป็นองค์กรที่ท่านบอกว่า อยู่ในชุมชนจะเข้าถึงท่านได้อย่างไร ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า ท่านควรเข้าหาเขา อันนี้สิ่งสำคัญที่ท่านจะสร้างเศรษฐกิจจากระดับล่าง แล้วพี่น้องในพื้นที่ทุกพื้นที่จะได้รับประโยชน์จากสถาบันของท่าน”นายสะถิระ กล่าวทิ้งท้าย

จากนั้น ที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการและตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณา จำนวน 33 คน กำหนดแปรญัตติ 15 วัน

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 11 กรกฎาคม 2567