“รมช.อรรถกร”แจง โครงการสถานีสูบน้ำและระบบส่งน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านไผ่สามเกาะ เริ่มก่อสร้างแล้ว คาดไม่เกินสิ้นปีได้ใช้ เผย เตรียมหาแนวทางใช้เงินกองทุนช่วยเหลือค่าไฟฟ้าให้กลุ่มผู้ใช้น้ำและเกษตรทั่วประเทศ
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจาของนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส. ราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่สอบถามถึงปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่ตำบลเขาขลุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ที่ประสบกับปัญหาภัยแล้ง ไม่สามารถทำการเพาะปลูกข้าวนาปีและสินค้าเกษตรอื่นได้ จึงอยากทราบว่าจะสามารถจัดงบประมาณโครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำและการก่อสร้างอาคารถังพักน้ำเพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตในพื้นที่ได้หรือไม่
นายอรรถกร กล่าวชี้แจงว่า โครงการสถานีสูบน้ำและระบบส่งน้ำด้วยไฟฟ้า บ้านไผ่สามเกาะ ได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้มีความก้าวหน้าก็อยู่เกือบจะ 20% แล้ว ทางกรมชลประทานคาดว่า จะเร่งทำการก่อสร้างโครงการนี้ให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งก็คือประมาณเดือนธันวาคม โดยโครงการดังกล่าวได้รับงบประมาณก่อสร้างทั้งหมด 85 ล้านบาท โดยมีองค์ประกอบของโครงการ 3 ส่วน คือ 1.สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 2.วางระบบท่อส่งน้ำ ที่มีความยาวอย่างน้อย 7 กิโลเมตร 3.เราจะขุดสระเพื่อเก็บน้ำเพิ่มที่เราดึงมาจากเขื่อนแม่กลองอีก 2 สระ เราจะสามารถสนับสนุนน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภคเพื่อพี่น้องเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 500 ครัวเรือนในตำบลเขาขลุง โดยเฉพาะในหมู่ที่ 10 หมู่ที่ 13 หมู่ที่ 14 อำเภอบ้านโป่ง
นายอรรถกร กล่าวต่อว่า ตนเชื่อว่าโครงการนี้ จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานทางภาครัฐ กรมชลประทาน หรือการผลักดันจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกร รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ช่วยกันหาทางออก ตนต้องขอบพระคุณ สส.อัครเดช ที่ท่านถือว่าเป็นคนที่พยายามหาแนวทาง หาข้อมูลร่วมกับพี่น้องในพื้นที่ จนทำให้เกิดโครงการที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนในวันนี้ขึ้นมา
นายอรรถกร ยังกล่าวต่อถึง แนวทางการหาค่าไฟ ที่ต้องบอกว่า ถึงแม้ว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการเครื่องสูบน้ำระบบไฟฟ้า ซึ่งจริงๆแล้วเรื่องค่าไฟเป็นปัญหาในทุกพื้นที่ แต่เรามีเอกสารที่เป็นข้อตกลงเบื้องต้นร่วมกันระหว่าง 3 หน่วยงาน คือ กรมชลประทานที่มีภาระหน้าที่ชัดเจนว่า พอท่านก่อสร้างโครงการสถานีสูบน้ำบ้านไผ่สามเกาะเสร็จ ภายในหนึ่งปีจะต้องทำการส่งมอบไปยังองค์การองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อบต.และหลังจากนั้นจะต้องคอยให้คำแนะนำกับกลุ่มที่จะมารับผิดชอบต่อ
นอกจากนี้ ต้องขอบคุณพี่น้องเกษตรกร ซึ่งในเอกสารข้อตกลงร่วมกัน ราษฎรจะมารวมกลุ่มกันเพื่อจัดตั้งเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำภายในระยะเวลาหนึ่งปี หลังจากที่มีการก่อสร้างเสร็จ และยังจะมาร่วมกันรับภาระค่ากระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจากการสูบน้ำ และจะช่วยเหลือในการรักษาบำรุง ซ่อมแซมคลองส่งน้ำ ทั้งนี้ ต้องขอบคุณองค์การส่วนตำบล ซึ่งขณะนี้เนี่ยมีลายเซ็นของท่านนายก อบต.เขาขลุง อยู่ในข้อตกลงร่วม ซึ่งจะทำหน้าที่ในการที่จะรับมอบสถานนีสูบน้ำ ภายในระยะเวลาหนึ่งปีหนึ่ง หลังจากก่อสร้างเสร็จ และจะช่วยบริหารจัดการร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ ในเรื่องของระยะเวลา หรือว่าการจัดการสูบน้ำไปยังพื้นที่ให้กับพี่น้องเกษตรกร รวมถึงให้สนับสนุนในด้านงบประมาณค่าใช้จ่าย ภายหลังการรับมอบสถานีสูบน้ำไปบริหารงาน ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง พนักงานการซ่อมแซมบำรุงรักษา หรือว่าสมทบค่ากระแสไฟฟ้า
“ผมได้ประสานกับทางกรมชลประธานให้ไปวิธี ก่อนที่จะถึงสิ้นปีนี้ที่เราจะสร้างสถานีสูบน้ำ พร้อมด้วยระบบสูบน้ำแห่งนี้เสร็จ ทางกรมชลประทานจะสามารถช่วยเหลือได้อย่างไร ไปคุยในพื้นที่ ไปคุยกับทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า ในการที่จะลด บรรเทาภาระที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทางหน่วยงานภาครัฐช่วยเหลืออย่างไร”นายอรรถกร กล่าว
นายอรรถกร กล่าวต่อว่า ปัญหาที่ สส.อัครเดช กล่าวมาต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นจริงว่า การถ่ายโอนภารกิจของสถานีสูบน้ำโดยไฟฟ้า ไปให้ทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งในช่วงที่พี่น้องเกษตรกรมีรายได้ดีก็ไม่ได้มีปัญหา แต่ในช่วงที่สินค้าทางการเกษตรบางตัวรายได้ไม่ดี ก็จะเกิดปัญหา ซึ่งตนนำเรียนตามตรงว่า ตนไม่ได้กำกับดูแลกรมชลประทาน แต่ได้ร่วมงานกับกรมชล ซึ่งข้อแนะนำ 2 ข้อของท่านอัครเดช เป็นสิ่งที่ตนเชื่อว่าทางกระทรวงเกษตรฯสามารถนำไปต่อยอดได้ เช่นการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการที่จะเพิ่มฟังก์ชันที่เป็นโซลาร์เซลล์ให้สถานนีสูบน้ำ เพื่อให้ค่าไฟฟ้าที่เป็นภาระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพี่น้องเกษตรกร และกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่นั้นให้ลดลงได้ ซึ่งตนเข้าใจว่าขณะนี้มีการพูดกัน โดยยืนยันว่า แนวทางการทำงานของกระทรวงเกษตรกร เราเห็นตรงกันกับ สส.อัครเดช
“กองทุนที่กระทรวงเกษตรฯ ดูแลอยู่นั้นมี 14 กองทุนตนจะนำไปหารือกับทางกองทุนต่างๆว่า จะมีกองทุนไหนที่จะสามารถนำมาใช้ เพื่อแบ่งเบาภาระของเกษตรกรได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม การนำเงินของกองทุนมาใช้ก็ขึ้นอยู่กับตัวบทกฎหมายด้วย แต่ว่าผมจะหาทาง เพราะเชื่อว่า หากสามารถทำได้จะเกิดประโยชน์กับพี่น้องกลุ่มผู้ใช้น้ำและเกษตรกรทั่วประเทศ”นายอรรถกร กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 25 กรกฎาคม 2567