พื้นที่ทับซ้อน-ทำให้ไม่ซับซ้อน (2)
ในรัชสมัยล้นเกล้า ร.10 นี้ คนไทยต้องช่วยกันระวังไม่ให้ประเทศต้องเสี่ยงจะเสียดินแดนในทะเล ดังที่เคยเสียดินแดนบนบกไปแล้วในรัชสมัยล้นเกล้า ร.9
🫡 ถามว่า มีบทเรียนจากการที่ไทยต้องเสียดินแดนเขาพระวิหารสองครั้ง อย่างไร?
***การเสียดินแดนครั้งที่หนึ่ง
รูป 1 เอกสารแนบสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ใน Section 1 ที่ข้อความช่วงต้นระบุใช้ยอดสูงสุดบนเกาะกูดสำหรับเล็งจุดเส้นแบ่งเขตแดนบนชายฝั่ง (หลักเขตเลขที่ 73)
มีข้อความช่วงท้ายว่า บริเวณ ‘ดงเร็ก’ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขาพระวิหาร นั้น ให้แบ่งเขตแดนตามสันปันน้ำ (watershed)
รูป 2 ในแผนที่ที่ผู้เชี่ยวชาญฝรั่งเศสจัดทำ ซึ่งแบ่งออกเป็น 11 ระวาง และส่งให้ไทย นั้น สำหรับระวาง ‘ดงเร็ก’ ปรากฏว่าเส้นแบ่งเขต (เส้นประ ตามที่มีเส้นสีน้ำเงินชี้) ไม่ตามแนวสันปันน้ำ
รูป 3-4 จุดสีแดงคือตำแหน่งของตัวปราสาทบนชะง่อนเขาพระวิหาร ในรูป 4 ตัวปราสาทตั้งอยู่บนชะง่อนเขาซึ่งด้านลาดต่ำอยู่ในเขตไทย และลาดสูงขึ้นไปโดยตัวปราสาทตัังอยู่จุดสูงสุด
ดังนั้น โดยสภาพภูมิประเทศ แนวสันปันน้ำจึงเป็นเส้นสีแดงอันเป็นแนวที่แหลมสูงสุดของชะง่อนเขา ซึ่งตามหลักการที่ตกลงกันในสนธิสัญญา ตัวปราสาทจึงย่อมอยู่ในเขตไทย
ในรูปนี้ จึงเป็นที่ชัดเจนว่า เส้นแบ่งเขตที่ฝรั่งเศสจัดทำ (เส้นประที่ผมเติมสีน้ำเงิน) อยู่เหนือแนวสันปันน้ำ จึงไม่ถูกต้องตามสนธิสัญญา
รูป 5 นอกจากนี้ สนธิสัญญายังระบุด้วยว่า “รัฐบาลฝรั่งเศสจะมีประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงเส้นพรมแดนที่ได้ตกลงยินยอมกันไว้นี้แล้ว การที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงกันนี้ ถึงโดยว่าจะเกิดมีเหตุการณ์อย่างใดๆ ก็ดี จะต้องทำให้ไม่เป็นที่ล่วงล้ำเสียประโยชน์ของรัฐบาลสยามด้วย”
ดังนั้น การที่ผู้เชี่ยวชาญฝรั่งเศสจัดทำแผนที่กำหนดเส้นพรมแดนที่ไม่ใช่สันปันน้ำ จึงไม่เป็นไปตามสนธิสัญญา และไทยมีสิทธิไม่ยอมรับ
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2505 ศาลโลกตัดสิน 2 เงื่อนไข
เงื่อนไขที่หนึ่ง ให้ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา
เงื่อนไขที่สอง ไทยมีพันธะต้องถอนทหารหรือตำรวจหรือผู้ดูแลอื่นใดออกจากปราสาทหรือในบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา
🫡 ถามว่า ในเมื่อเส้นพรมแดนในแผนที่ไม่ใช่สันปันน้ำ อันไม่เป็นไปตามสนธิสัญญา เหตุใดศาลโลกจึงตัดสินให้ไทยแพ้?
🧐 รูป 6 ศาลโลกใช้หลักกฏหมายสากล ที่เรียกว่า การยอมรับโดยปริยาย
รูป 7 กล่าวคือ ไทยมีโอกาสหลายครั้งที่จะโต้แย้งปฏิเสธแผนที่ระวาง ‘ดงเร็ก’ แต่ไม่ได้ทำ ศาลถือว่าการนิ่งเฉย เป็นการยอมรับ ทำให้ศาลไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าเส้นแบ่งเขตแดนในแผนที่เป็นสันปันน้ำจริงหรือไม่
แต่ศาลไม่ได้ระบุว่า อาณาบริเวณมากน้อยเพียงไรที่จะเป็นของกัมพูชา
สรุปแล้ว เสียดินแดนครั้งที่หนึ่งเพราะไทยไม่เคยใช้สิทธิประท้วง
***การเสียดินแดนครั้งที่สอง
เอกสารวิจัยในสถาบันพระปกเกล้าของ จุฬาพร เอื้อรักสกุล ระบุว่า
“ในส่วนการกำหนดเขตบริเวณปราสาทพระวิหาร คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ให้กำหนดเป็นรูปพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้ารอบปราสาทซึ่งเป็นเนื้อที่บริเวณปราสาท ¼ ตารางกิโลเมตร กับให้ทำป้ายไม้แสดงเขตไทย-กัมพูชาและทำรั้วลวดหนามในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2505”
ต่อมา กัมพูชายื่นขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ปรากฏว่ารัฐบาลไทยขณะนั้นไม่สามารถเจรจาให้เป็นสองรัฐบาลร่วมกัน แต่ได้ยินยอมให้กัมพูชายื่นขอฝ่ายเดียว
ในการยื่นขอมรดกโลกดังกล่าว กัมพูชาได้ยื่นแผนที่จัดการพื้นที่ในละแวกใกล้เคียง สำหรับกรณีนี้รัฐบาลไทยได้ประท้วงถูกต้อง แต่ภายหลังชาวกัมพูชารุกคืบในพื้นที่ทำให้เกิดการปะทะกันด้วยอาวุธ
ในปี 2554 กัมพูชาจึงได้ยื่นขอให้ศาลโลกวินิจฉัยว่า ตามคำพิพากษาเดิมปี 2505 นั้น กำหนดให้พื้นที่รอบปราสาทของกัมพูชาเป็นส่วนใด
ถึงแม้ไทยมีสิทธิ์ที่จะไม่รับคำตัดสินของศาลโลก แต่ไทยจะลาออกจากศาลโลกได้ก็ต่อเมื่อลาออกจากสมาชิกสหประชาชาติเท่านั้น และกัมพูชามีสิทธิ์ฝ่ายเดียวที่จะยื่นเรื่องต่อศาลโลกอยู่แล้ว ดังนั้น ไทยจึงไม่มีทางเลือก ต้องเข้าไปชี้แจงต่อสู้คดี
ในการต่อสู้คดี ไทยขอให้ศาลจำหน่ายคดีที่กัมพูชายื่นให้พิจารณาออกจากสารบบความของศาล แต่ศาลยกคำขอ
ศาลวินิจฉัยตีความพื้นที่บริเวณปราสาทโดยอ้างสภาพภูมิประเทศ สรุปไว้ใน pubilclaw.net ว่า
“98. จากการให้เหตุผลในคำพิพากษา ค.ศ. 1962 ซึ่งเห็นได้ในการพิจารณาในการให้การในกระบวนพิจารณาเดิม เห็นได้ชัดว่า
ขอบเขตของชะง่อนผาพระวิหารทางทิศใต้ของเส้นของแผนที่ภาคผนวก 1 ประกอบด้วยลักษณะทางธรรมชาติ
ทางทิศตะวันออก ใต้ และตะวันตกเฉียงใต้ ชะง่อนผาลดต่ำลงเป็นหน้าผาที่ลาดชันไปยังที่ราบของกัมพูชา คู่กรณีได้เห็นพ้องกันใน ค.ศ. 1962 ว่าหน้าผานี้และพื้นดินที่ตีนของหน้าผาอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชาในทุกกรณี
ทางทิศตะวันตก และตะวันตกเฉียงเหนือ พื้นดินลดต่ำลงเป็นที่ลาดเอียงซึ่งลาดชันน้อยกว่าหน้าผา ไปยังหุบเขาซึ่งแยกพระวิหารออกจากภูมะเขือ (the hill of Phnom Trap) ที่อยู่ใกล้เคียง แต่อย่างไรก็ตามก็เป็นหุบเขาซึ่งตัวมันเองลดต่ำลงไปในทิศใต้สู่พื้นที่ราบของกัมพูชา (ดูวรรค 89 ข้างบน) สำหรับเหตุผลที่ได้ให้ไว้แล้ว (ดูวรรค 92-97 ข้างบน)
ศาลเห็นว่าภูมะเขืออยู่นอกพื้นที่พิพาท และคำพิพากษา ค.ศ. 1962 ไม่ได้หยิบยกคำถามว่ามันอยู่ในอาณาเขตของไทยหรือกัมพูชา ดังนั้นศาลเห็นว่าชะง่อนผาพระวิหารสิ้นสุดลงที่ตีนภูมะเขือ ซึ่งพูดได้ว่า ที่ซึ่งพื้นดินเริ่มสูงขึ้นจากหุบเขา
ในทิศเหนือ ขอบเขตของชะง่อนผาเป็นตามเส้นของแผนที่ภาคผนวก 1 จากจุดทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาทที่ซึ่งเส้นนั้นจดหน้าผา ไปยังจุดในทิศตะวันตกเฉียงเหนือที่ซึ่งพื้นดินเริ่มสูงขึ้นจากหุบเขาที่ตีนภูมะเขือ
ศาลเห็นว่าวรรคที่สองของบทปฏิบัติการของคำพิพากษา ค.ศ. 1962 กำหนดให้ประเทศไทยถอนจากอาณาเขตทั้งหมดของชะง่อนผาพระวิหารดังที่ได้กำหนดไปยังอาณาเขตของไทย บรรดาเจ้าหน้าที่ของไทยซึ่งได้ประจำอยู่ที่ชะง่อนผานั้น”
และคำวินิจฉัยของศาลส่วนหนึ่งระบุว่า
“สำหรับวรรคที่สองของบทปฏิบัติการกำหนดให้ไทยต้องถอนกำลังเจ้าหน้าที่ซึ่งได้ส่งไปประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหารหรือบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา
ดังนั้นศาลเห็นว่าต้องเริ่มโดยการตรวจสอบหลักฐานต่อศาลในปี 2505 เกี่ยวกับตำแหน่งที่ซึ่งเจ้าหน้าที่ไทยประจำการอยู่
จากหลักฐานที่ให้โดยแอคเคอร์แมนน์ (Ackermann) ผู้เชี่ยวชาญและพยานของไทยซึ่งเคยไปยังปราสาทพระวิหารเป็นเวลาหลายวันในเดือนกรกฎาคม 2504
เขาได้ให้การว่า ระหว่างการไปที่นั้น ที่ชะง่อนผาพระวิหารเขาได้เห็นตำรวจตระเวนชายแดนและผู้เฝ้าปราสาทหนึ่งคน โดยตำรวจตระเวนชายแดนประจำการอยู่ที่ค่ายพักซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาท ในขณะที่ผู้เฝ้าปราสาทอาศัยอยู่ในบ้านแยกกันในระยะทางสั้นๆ ไปทางตะวันตกของค่ายพักตำรวจตระเวนชายแดน
ทนายของไทยได้ยืนยันต่อมาว่าค่ายพักตำรวจอยู่ทางทิศใต้ของเส้นของแผนที่ภาคผนวก 1 แต่อยู่เหนือเส้นซึ่งกัมพูชากล่าวว่าเป็นเส้นสันปันน้ำในกระบวนการพิจารณาคดีปี 2505
ดังนั้น จึงปรากฏชัดเจนว่าตำรวจไทยได้ไปประจำการที่ตำแหน่งเหนือเส้นที่ต่อมาได้ถูกกำหนดโดยมติ ครม. ไทยเมื่อปี 2505 ซึ่งอยู่นอกเขตที่ไทยเห็นว่าเป็นบริเวณใกล้เคียงปราสาทบนอาณาเขตของกัมพูชา
*ดังนั้น บริเวณใกล้เคียงปราสาทบนอาณาเขตของกัมพูชาต้องถึงตีความออกไปอย่างน้อยไปยังพื้นที่ที่ตำรวจไทยได้ประจำการอยู่ในเวลานั้น*” รูป 8
🧐 ผมอธิบายแบบชาวบ้านว่า ในการปฎิบัติตามเงื่อนไขที่สองนั้น ถึงแม้มติ ครม. เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 กำหนดขอบเขตพื้นที่แค่เพียงตัวอาคารปราสาท
แต่สำหรับทิศเหนือ รัฐบาลไทยขณะนั้นไม่ได้ขยับเขยื้อนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำเข้าไปอยู่ประชิดปราสาท กลับตั้งมั่นอยู่ในตำแหน่งที่ไกลเกินกว่าขอบเขตที่ ครม. กำหนด
ดังนั้น ผมเห็นว่า ข้อเท็จจริงนี้จึงน่าจะเป็นสาเหตุที่ศาลตีความให้พื้นที่บริเวณของปราสาทกว้างออกไปจนถึงจุดตำแหน่ง ที่ตั้งของตำรวจไทยประจำการอยู่ในเวลานั้น
สรุปแล้ว ปัจจัยส่วนหนึ่งที่เสียดินแดนครั้งที่สอง น่าจะเพราะไทยไม่ได้เตรียมการเผื่อไว้ว่า ในอนาคตอันไกลอาจจะมีการฟ้องกันในเรื่องพื้นที่บริเวณใกล้เคียงของปราสาทเป็นครั้งที่สอง
🧐 ผมจึงเห็นว่า ถ้ารัฐบาลของท่านนายกเศรษฐาไม่ประท้วงเรื่องสันเขื่อน ในอนาคตก็จะเข้าหลัก นิ่งเฉยเป็นการยอมรับ
และกรณีถ้าหากในอนาคตมีการวาดเส้นแบ่งครึ่งระหว่างสองประเทศตามกติกาสหประชาชาติปี 1982 กัมพูชาก็อาจจะได้ดินแดนในทะเลเพิ่มเนื่องจากสันเขื่อนดังกล่าว
รัฐบาลปัจจุบันต้องเตรียมรับมือทุกประเด็น เสมือนหนึ่งในอนาคตจะเกิดการฟ้องร้องกันอย่างแน่นอน
คนไทยต้องช่วยกันเตือนรัฐบาลให้ระแวดระวัง ไม่ให้ประเทศต้องเสี่ยงจะเสียดินแดนอีกในรัชสมัยล้นเกล้า ร.10
วันที่ 6 เมษายน 2567
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ
ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์
วันที่: 8 เมษายน 2567