โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

เดือน: มีนาคม 2024

พัชรวาท ตรวจฝุ่น ภาคอุตสาหกรรม-เกษตรกรรม ชมผู้ว่าฯปทุมธานี จัดการปัญหาแบบเอาอยู่

,

“พัชรวาท” ตรวจฝุ่น PM2.5 ภาคอุตสาหกรรม-เกษตรกรรม ปทุมธานี ชื่นชมผู้ว่าฯ จัดการปัญหาแบบเอาอยู่ ยกสวนอุตสาหกรรมบางกะดี ต้นแบบจัดการสิ่งแวดล้อม ขอบคุณชาวนาตื่นตัวลดการเผา

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวง น.ส.ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่จังหวัดปทุมธานี พร้อมเยี่ยมชมการดำเนินงานของโครงการสวนอุตสาหกรรมบางกะดี มีนายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัทสวนอุตสาหกรรมบางกะดี จำกัด พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารจังหวัดปทุมธานี ให้การต้อนรับ ภายหลังเยี่ยมชมสวนอุตสากรรมบางกะดีแล้วเสร็จ ได้เดินทางไปเยี่ยมชม โรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด ของบริษัท วีอาร์พี ดีเวลลอปเม้นท์ โฮลดิ้ง จำกัด และแปลงนาสาธิตการทำนาปลอดการเผา

พล.ต.อ.พัชรวาท เปิดเผยว่า วันนี้ได้มาตรวจเยี่ยมและติดตามปัญหาปัญหาฝุ่น PM2.5 ของจังหวัดปทุมธานี ซึ่งบริหารจัดการได้ดีมาก ภายใต้การดูแลของผู้ว่าฯปทุมธานี โดยที่ปทุมธานีมีพื้นที่การทำนาถึง 67 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด อีกทั้งมีโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 3,400 แห่ง แต่ยังสามารถบริหารจัดการคุณภาพอากาศให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยเฉพาะสวนอุตสาหกรรมที่มี 38 โรงงาน แต่สามารถบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างดีเยี่ยม มีระบบบำบัดอากาศทำให้ไม่ส่งผลกระทบด้านฝุ่น สามารถอยู่ร่วมกับชุมชน และยังเป็นต้นแบบโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ส่วนการดูงานโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดที่กรมควบคุมมลพิษ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท วีอาร์พี ดีเวลลอปเม้นท์ โฮลดิ้ง จำกัด สนับสนุนให้มีการพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการป้องกันและลดการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ ทางการเกษตรเพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยนำเศษวัสดุการเกษตร ได้แก่ ฟางข้าว ใบอ้อย ไม้ไผ่ต้นและซังข้าวโพด เปลือก มะพร้าว และ เศษต้นไม้อื่นๆ มาอัดเม็ด ทำให้สามารถลดปริมาณฝุ่นและส่งขายให้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ส่วนแปลงนาปลอดการเผานับเป็นความร่วมมือที่ดีจากชาวนาปทุมธานี เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ให้กับกรุงเทพฯ และปริมณฑล

“กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ พยายามบูรณาการแก้ปัญหากับทุกภาคส่วนเพื่อลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ควบคู่กับการส่งเสริมภาคเกษตรกรรมปลอดการเผาอย่างเป็นอย่างเป็นรูปธรรม สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมนำเศษวัสดุเหลือใช้มาผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด เป็นแนวทาวช่วยลดการเผา ขณะเดียวกันปัญหานี้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกฝ่ายด้วย”

ที่มา : https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_4501142
วันที่ 30 มีนาคม 2567

“อัคร” โชว์ แนวทางขับเคลื่อนไทย สู่ลดก๊าซเรือนกระจก ใช้กลไกสภา ดันกฎหมาย

,

“อัคร” โชว์ แนวทางขับเคลื่อนไทย สู่ลดก๊าซเรือนกระจก ใช้กลไกสภา ดันกฎหมาย

“สส.อัคร” พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถ้อยแถลง ประชุมยุวสหภาพรัฐสภา โชว์ แนวทางขับเคลื่อนไทย สู่การลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมใช้กลไกรัฐสภา ผลักดันกฎหมายสร้างกลไกมีส่วนร่วม สู่เป้าหมายเน็ตซีโร่

วันที่ 26 มี.ค. 67 นายอัคร ทองใจสด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เพชรบูรณ์ เขต 6 พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ได้ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมยุวสหภาพรัฐสภา ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ว่า การดำเนินนโยบายของไทย สู่เป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และเป็นไปตามร่างข้อมติเรื่องความร่วมมือเพื่อการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ และการส่งเสริมการเข้าถึงพลังงานสีเขียวในราคาที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการผสมผสานและเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด และการสนับสนุนไปสู่การเปลี่ยนผ่านสีเขียวเพื่อรองรับ การดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในเรื่องนี้ Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG ให้สอดรับกับสถานการณ์ของประเทศและ ความต้องการใช้พลังงาน ทุกระดับโดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาประเทศควบคู่ไปกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย ได้มีแนวทางในด้านการบริหารจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ ผ่านการดำเนินการโดย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทุกภาคส่วน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการลดก๊าซเรือนกระจก

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยให้ความสำคัญกับปฏิญญาของการประชุมประเทศภาคีว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ (UN Climate Change Conference) หรือ COP และเพิ่มความเข้มข้น และแสวงหาความร่วมมือในระดับพหุภาคี ที่จะนำไปสู่การจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยมุ่งเน้นภารกิจที่ชัดเจนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติได้มีการตั้ง “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” เพื่อเป็นศูนย์กลางในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ และมุ่งบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐและองค์กรระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งยังใช้กลไกทางรัฐสภา โดยสมาชิกรัฐสภาผู้แทนราษฎร มีบทบาทสำคัญในการผลักดันกฎหมาย รวมถึงประสานงานกับฝ่ายบริหารเพื่อจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อและมีการจัดสรรทรัพยากรให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการกำกับดูแลการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ การดำเนินการของรัฐสภา ทุกฝ่ายได้ให้ความสำคัญ ในการแลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างกว้างขวางเพื่อที่จะออกกฎหมายและแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เป็นไปตามข้อตกลงปารีส และเป้าหมายลดการเพิ่มอุณหภูมิของโลก เราหวังว่ารัฐสภาไทยจะประสบความสำเร็จในการออกกฎหมายนี้ จะนำไปสู่สิทธิขั้นพื้นฐานของอากาศบริสุทธิ์ให้กับประชาชนทุกกลุ่มอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ในการผลักดันของสมาชิกรัฐสภารุ่นเยาว์ ปัญหาที่เกิดขึ้น จำเป็นต้องเปิดกว้างในการรับความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของเยาวชนอย่างสร้างสรรค์ เพราะในโลกใบนี้เยาวชนจะเป็นและจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศในอนาคตเพื่อให้เยาวชนเป็นหัวใจสำคัญของทุกสภาพอากาศ นโยบายและเสียงของคนรุ่นอนาคตไม่ควรละเลย กระบวนการตัดสินใจด้านสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขา
ความคืบหน้าอีกประการหนึ่งที่เราอยากแบ่งปันก็คือสภาผู้แทนราษฎร ของไทยมีมติเป็นเอกฉันท์ยอมรับในหลักการ “ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด” ในเดือนมกราคมปีนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขมลพิษทางอากาศด้วยแนวทางที่ยั่งยืนและระยะยาว เราหวังว่า รัฐสภาไทยจะประสบความสำเร็จในการออกกฎหมายนี้ เราภูมิใจในสิทธิขั้นพื้นฐานในการสูดอากาศบริสุทธิ์ให้กับประชาชนทุกกลุ่มและยุคสมัย

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/politics/1119279
วันที่ : 27 มีนาคม 2567

‘ธรรมนัส’ ประกาศสงครามสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย ยื่น ป.ป.ง. 220 คดี เอาผิดทางแพ่ง

,

“ธรรมนัส” ประกาศนโยบาย ทำสงครามกับสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย รับลูก “นายกฯ”สั่งลุยเต็มที่ เผย ยื่นดำเนินการไปแล้วกว่า 220 คดี ร้อง ป.ป.ง. หนุนเดินหน้าเอาผิดทางแพ่ง “ผบ.หน่วยพญานาคราช” ชี้ เรื่องยังไม่จบเท่านี้ จ่อลากอีก 9 บริษัทนำเข้า

25 มี.ค.2567 ที่รัฐสภา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ, รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.), พันเอกรวิรักษ์ สัตตบุสย์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช, นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง, นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ และ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมแถลงข่าว ประกาศนโยบายทำสงครามสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและภาคการเกษตรของประเทศ

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ตั้งแต่ลงพื้นที่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พบว่ามีการลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนหมูเถื่อนมากับสินค้าประมง และพบความผิดมากกว่า 220 คดี จากการปลอมแปลงเอกสารขออนุญาตนำเข้าสินค้าประมง แต่กลับนำสินค้าประเภทเนื้อหมู จำนวน 1,800,000 กิโลกรัม เนื้อวัว 4,000,000 กิโลกรัม สร้างมูลค่าความเสียหาย 1,400 ล้านบาท ต่อภาคการเกษตร ซึ่งทางกระทรวงเกษตรฯ ได้ไปยื่นดำเนินคดีกับบริษัทนำเข้า ซึ่งพบว่ามีความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารเพิ่มขึ้นสองเท่า มีมูลค่าความเสียหายเกือบ 3,000 ล้านบาท

ด้าน อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้าน มีทั้งนักกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญด้านเอกสาร และผู้เชี่ยวชาญปศุสัตว์ เราได้แจ้งความที่กรมสอบสวนกลางกับ 3 บริษัทผู้นำเข้า คือ บริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด, บริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริบูรณ์ เทรดดิ้ง พบความผิดปกติว่า บริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด ใช้ใบรับรองสุขอนามัยสัตว์ที่ได้รับการรับรองจากประเทศบราซิล มาปลอมแปลงข้อมูลให้เป็นใบรับรองสุขภาพสัตว์น้ำ ยื่นขอตรวจที่ด่านชลบุรี ซึ่งเมื่อตรวจสอบไปยังต้นทางได้รับการยืนยันว่า เป็นเอกสารปลอม

ทั้งนี้ กรมประมงได้แจ้งความต่อตำรวจสอบสวนกลางให้ดำเนินคดี 4 ข้อกล่าวหา คือ
1.ความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารมาตรา 264
2.ความผิดฐานใช้เอกสารปลอมมาตรา 268
3.ความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานเจ้าหน้าที่มาตรา 137
4.พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 จึงขอให้ผู้เกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าว นำข้อมูลพยานหลักฐานข้อเท็จจริงมาชี้แจงกับพนักงานสอบสวน เพื่อต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม

ส่วนพล.ต.ต.วิทยา ระบุว่า มีบริษัทนำเข้า 3-5 ราย นำใบรับรองสุขาอนามัยสัตว์ (Health certificate) เอกสารปลอมกระทรวงเกษตรฯ และกรมสอบส่วนกลาง ยืนยันว่าใบที่แสดงไม่ได้ออกจากต้นทาง มูลเหตุจูงใจเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี และหลีกเลี่ยงการกักกันโรค ที่กำลังทำการสืบสวนขยายผลไปยังกลุ่มนายทุน ที่อยู่เบื้องหลัง

นอกจากนี้ รองเลขา ป.ป.ง. เผยว่า เราได้รับคำสั่งให้สนับสนุน การปฎิบัติของกระทรวงเกษตรฯ ในการใช้กฎหมาย นอกจากคดีอาญา ความผิดทางการเงิน ป.ป.ง. จะดำเนินการในทางแพ่ง นอกจากจะติดคุก จะหมดตัวด้วย
ด้านพันเอกรวิรักษ์ ย้ำว่า เรื่องนี้ยังไม่จบเท่านี้ เพราะจะมีผู้ประกอบการที่จะถูกดำเนินคดีอีก 9 บริษัท และคดีมีมากกว่า 400 คดี

เมื่อผู้สื่อข่าว ข้อมูลชุดนี้เป็นตัวเดียวกับที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กำลังทำอยู่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เป็นชุดเดียวกัน แต่ในส่วนของกรมประมง และหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช เราป้องกันการนำเข้าสินค้าประมงผิดกฎหมายที่นำมาขยายต่อ

ทางด้าน หน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช กล่าวว่า เหตุเกิดจากวันที่ ร.อ.ธรรมนัส ไปตรวจที่แหลมฉบัง ซึ่งในตู้คอนเทนเนอร์พบว่า มีหมูเถื่อนอยู่ข้างใน ทำให้กรมประมงจึงได้จัดตั้งวอร์รูม ซึ่งความผิดปกติที่เราเจอเป็นเส้นทางใหม่ของสินค้าประมง สำหรับเอกสารหลักฐานต่างๆ พบว่ามีความผิดปกติ เราเปิดหลักฐานชิ้นใหม่ในข้อกล่าวหาต่างๆ เป็นการเริ่มต้นปลอมแปลงเอกสารนำเข้าสู่ราชอาณาจักรไทย

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวเสริมว่า ส่วนใหญ่เป็นบริษัทเดียวกัน แต่จะเพิ่มอีก 5 บริษัท ซึ่งเป็นประเด็นใหม่ที่ดีเอสไอดำเนินคดีกับผู้นำเข้าตู้คอนเทนเนอร์ โดยเมื่อขยายผล ตรวจสอบ เราพบหลักฐานว่า สามารถดำเนินคดีได้ 220 คดี และเพิ่มอีก 400 กว่าคดี และมีความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อภาคการเกษตรไม่ต่ำกว่า 3,000-4,000 ล้านบาท หรืออาจจะมีมูลค่าถึง 10,000 ล้านบาท

ถามว่าคดีที่มีจำนวนเยอะแบบนี้ จะต้องประสานกับดีเอสไอในการดำเนินคดี และมีความเชื่อมโยงกับคดีที่ดีเอสไอรับไว้เป็นคดีพิเศษหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส ระบุว่า นายกฯเห็นว่า เรื่องนี้สำคัญ และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบคดีนี้โดยตรง กว่า 3 เดือนที่ผ่านมา เราทำงานเชิงรับกันมาตลอด และกรมสอบสวนกลางจะเป็นเจ้าภาพหลักในการติดตามคดีทั้งหมด

ทั้งนี้ ในอนาคตจะประสานให้ดีเอสไอมาช่วยรับผิดชอบถ้าเกี่ยวข้องกับคดีเก่าๆ ย้ำว่า ไม่ใช่ว่าเราไม่ไว้ใจการทำงานของดีเอสไอ แต่เป็นการทำงานที่ต้องช่วยกัน เพราะในหลายคดีก็ทำงานรวดเร็ว แต่คดีที่สร้างความเสียหายต่อภาคการเกษตร มีความจำเป็นที่ต้องทำงานใกล้ชิดอย่างละเอียด โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กรมสอบสวนดำเนินคดีแล้ว

ด้านพันเอกรวิรักษ์ ย้ำว่า เอกสารที่ตรวจเจอก่อนหน้านี้ ดีเอสไอได้ขอกับกรมประมงและกรมปศุสัตว์ แต่เอกสารที่เปิดวันนี้ ต้องใช้ความชำนาญโดยเฉพาะ ไม่ใช่แค่กรมประมง แต่กรมปศุสัตว์ที่มีความเชี่ยวชาญ ก็ต้องมานั่งหาสาเหตุร่วมกัน ถ้าไม่ใช่ผู้ชำนาญการ ตนขอตอบได้เลยว่า ไม่ใช่เอกสารที่จะตรวจพบความปกติได้ง่าย

ทั้งนี้ คดีกว่า 200 คดี หากมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ร.อ.ธรรมนัส ก็ได้มอบนโยบายกับอธิบดีกรมประมงและอธิบดีกรมปศุสัตว์ ให้สามารถดำเนินคดีได้เลย ถ้ามีเจ้าหน้าที่รัฐระดับไหนก็ตามมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งตอนนี้ได้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนสอบสวนเรื่องนี้โดยเฉพาะแล้ว

ส่วนคดีนี้จะมีตอหรือไม่นั้น ร.อ.ธรรมนัส ย้ำว่า เราทำงานตามหน้าที่เพื่อตอบสังคม ว่ากำลังทำอะไรอยู่ แม้จะเจออุปสรรค แต่นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้เดินหน้าเต็มที่ ตนไม่ต้องการจะพูดคำว่า ’โค่น‘ แต่ต้องทำลายวงจรอุบาทว์นี้ให้ได้ และหากพบว่าบริษัทนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์เกี่ยวข้อง ก็จะดำเนินคดีเช่นกัน

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/politics/1119279
วันที่ : 25 มีนาคม 2567

ทีม ศก. พลังประชารัฐเสนอนายกฯ เร่งแก้หนี้ครัวเรือน ที่กำลังเป็นปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชนเวลานี้

,

ทีม ศก. พลังประชารัฐเสนอนายกฯ เร่งแก้หนี้ครัวเรือน ที่กำลังเป็นปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชนเวลานี้

เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่า เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยผลการศึกษา เรื่อง “ปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเทศไทย” โดยระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนขยับสูงขึ้นเกือบร้อยละ 91 ของจีดีพี คิดเป็นมูลค่าถึง 16.2 ล้านล้านบาท (ณ ไตรมาสที่ 3/2566) สถานการณ์ดังกล่าว กำลังสั่นคลอนความมั่นคงในครอบครัวคนไทย เนื่องจากตกอยู่ในภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง ไม่มีเงินในการจับจ่ายใช้สอยเพียงพอ เพราะมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากรัฐบาลไม่เร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็ว สุดท้ายนอกจากจะกระทบกับเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศแล้ว ยังเป็นชนวนเหตุให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมารอบด้าน

ทั้งนี้ จากการศึกษาภาวะหนี้ครัวเรือนไทย พบว่า สัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคสูงถึงกว่าร้อยละ 76 ประกอบด้วยหนี้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ หนี้สินส่วนบุคคลที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หนี้เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับของ ธปท. หนี้เพื่อการศึกษา ส่วนหนี้เพื่อการลงทุนประกอบอาชีพและอื่นๆ คิดเป็นสัดส่วนเพียง ร้อยละ 24

ขณะที่ สถิติของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ในปี 2566 มีหนี้เสียในระบบถึง 1.05 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อนหน้าร้อยละ 6.6 โดยหนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือกลุ่มหนี้สินเชื่อยานยนต์ บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล นอกจากนี้ ในกลุ่มหนี้ที่จับตาเป็นพิเศษ (SM) หรือหนี้ที่กำลังจะกลายเป็น NPL สูงถึง 6.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 17.8 และจากรายงานของกรมบังคับคดี ประเมินว่าจะมีลูกหนี้ถูกพิพากษาให้ชำระหนี้และถูกบังคับคดีราว 1.05 ล้านคดี ทุนทรัพย์รวมกว่า 15 ล้านล้านบาทภายในระยะ 10 ปีข้างหน้า

เมื่อพิจารณาด้านรายได้ พบว่าภายหลังวิกฤติโควิด-19 ยุติลง ได้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในคนไทยมากขึ้น โดยมีคนมากถึง ร้อยละ 50 ที่ไม่สามารถสร้างรายได้กลับมาในระดับเดิมก่อนโควิด ในทางกลับกันมีคนเพียงร้อยละ 10 ที่สามารถสร้างรายได้สูงกว่าระดับเดิมก่อนช่วงโควิด

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังชี้ว่า ผู้มีรายได้น้อย คือคนที่มีความเสี่ยงในการถูกฟ้องร้อง เข้าสู่กระบวนการยึดทรัพย์และล้มละลายมากที่สุด เนื่องจากกลุ่มรายได้น้อยมีภาระรายจ่ายและภาระหนี้สูงกว่ารายได้ในสัดส่วนสูงที่สุด โดยกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน จะมีรายจ่ายบวกภาระคืนหนี้คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 138.2 ของรายได้ กลุ่มรายได้ 1.5-3 หมื่นบาทต่อเดือนคิดเป็น ร้อยละ 109.4 กลุ่มรายได้ 3-5 หมื่นบาทเดือนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 104.7

ด้าน นายอุตตม สาวนายน อดีต รมว.คลัง ในฐานะประธานกรรมการนโยบายพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า จากรายงานของ IMF ชี้ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อGDP ของไทยอยู่ในระดับเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ สวีเดน แต่ขีดความสามารถทางการแข่งขันและโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ระดับเดียวกับประเทศเหล่านั้น ดังนั้น ไทยจึงมีความเสี่ยงที่หนี้ครัวเรือนจะก่อปัญหาทางเศรษฐกิจสูง ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วนด้วยการยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ โดยรัฐบาลต้องจับมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดจนสถาบันการเงินเอกชนมาร่วมกันแก้ไข

นายอุตตม กล่าวว่า ส่วนมาตรการที่กำหนดขึ้นควรขับเคลื่อนภายใต้ 4 แนวคิด เพื่อให้การแก้ไขปัญหาประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย 1.ครอบคลุม เข้าถึงประชาชนในทุกพื้นที่ทุกอาชีพด้วยความเป็นธรรมเสมอภาค 2.ครบวงจร เชื่อมโยงการแก้หนี้เดิมเติมทุนใหม่ พร้อมกับเติมทักษะเพื่อสร้างอาชีพ

3.ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี โดยให้ความสำคัญกับการใช้ AI Data สร้างฐานข้อมูลการจัดการปัญหาหนี้อย่างเป็นระบบ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคนและชุมชนให้มีความเข้มแข็งต่อการรับมือวิกฤติเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต 4.ขับเคลื่อนขบวนการต่อเนื่อง โดยกำหนดมูลค่าหนี้และกลุ่มเป้าหมายชัดเจน พร้อมทั้งประเมินผลสัมฤทธิ์ และติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดงบประมาณที่เพียงพอ

“ทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐ เสนอว่าภาครัฐควรการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนโดยเร่งด่วน เพื่อไม่ให้หนี้ครัวเรือนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยการแก้ไขจะสำเร็จได้จะต้องทำพร้อมกัน 2 ด้าน คือ ทั้งการลดหนี้และสร้างรายได้หรือเม็ดเงินเข้ากระเป๋าประชาชนเพิ่มด้วยจึงจะเป็นการแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จ” นายอุตตม กล่าว

ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ในฐานะประธานกรรมการวิชาการกล่าวว่า จากการศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ภาครัฐควรใช้กลไกลบรรษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่จัดตั้งเป็นรูปแบบกองทุนแก้หนี้ภาคครัวเรือน ส่วนเม็ดเงินที่นำมาใช้ สามารถออกมาตรการกระตุ้นให้ธนาคารพานิชย์เข้าร่วมช่วยเหลือลูกหนี้ โดยวิธีที่ทำได้คือ กระทรวงการคลังต้องทำงานร่วมกับ ธปท. กำหนดนโยบายลดการส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟู (FIDF) ครึ่งหนึ่งให้กับธนาคาร เหลือร้อยละ 0.23 ต่อ 6 เดือนเป็นการชั่วคราว 5 ปี และให้นำเม็ดเงินส่วนที่ลดลงนั้นมาตั้งกองทุนดังกล่าว และธนาคารจะต้องนำเอากำไรสะสมของตนเองเข้าร่วมโครงการด้วยไม่น้อยกว่า ร้อยละ 25 ของหนี้ที่ลดให้แก่ลูกหนี้ด้วย

อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า สำหรับแนวทางในการช่วยเหลือลูกหนี้ของกองทุน คือ ปรับโครงสร้างหนี้แบบตัดยอดหนี้ (hair cut) ซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่รวดเร็วทันกาล และสร้างโอกาสให้ลูกหนี้ตั้งตัวกลับมาเป็นลูกหนี้ที่ดีต่อไป โดยกำหนดใช้กับลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน ส่วนลูกหนี้ที่ธนาคารฟ้องคดีเสร็จสิ้นแล้ว และอยู่ระหว่างบังคับคดียึดบ้าน ยึดหลักประกัน หรืออาจถูกฟ้องล้มละลายนั้น ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการต้องยอมสละสิทธิในการฟ้องล้มละลาย ต้องยอมชะลอการยึดหลักประกัน และต้องลดราคาขายประกันเพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสมาซื้อหลักประกันคืน ตามหลักเกณฑ์ที่สมาคมธนาคารไทยจะกำหนดกับ ธปท. ทั้งนี้ เฉพาะสำหรับลูกหนี้ที่มียอดหนี้ไม่เกิน 3 ล้านบาท

อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า ทั้งนี้ทีมเศรษฐกิจพลังประชารัฐ เสนอว่าแม้จะมีการปรับโครงสร้างหนี้รวมทั้งมาตรการ hair cut จะต้องทำควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างรายได้เข้ากระเป๋าประชาชน ภายใต้ 4 มาตรการ ดังนี้ 1.นายกรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรีคลัง ควรหารือกับ ธปท. เพื่อกระตุ้นการลงทุนเอกชนขยายกำลังผลิตและเพิ่มการจ้างงาน ด้วยการเพิ่มสภาพคล่องเข้าในระบบการเงินและหรือการลดดอกเบี้ย

2. รัฐบาลควรพิจารณาค้ำประกันหนี้ให้ SMEs ที่จะกู้ใหม่ไม่เกิน 3 ล้านบาท ในสัดส่วนสูงเป็นพิเศษชั่วคราว อาจจะถึง 80% ถ้าเป็นโครงการใหม่ที่ธนาคารเห็นว่ามีศักยภาพ และไม่ใช่การกู้หนี้ใหม่ไปเพื่อใช้คืนหนี้เก่า

3. รัฐบาลควรพิจารณาจัดตั้งกองทุนเพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจเอกชนตั้งใหม่ที่เน้นนวัตกรรมในสัดส่วนร้อยละ 20 โดยร่วมกับหน่วยงานที่ชำนาญด้านการลงทุน เช่นตลาดหลักทรัพย์ฯ สมาคมธนาคารไทย เป็นต้น

4. สร้างรายได้เพิ่มเติมหรือลดค่าใช้จ่ายให้เอกชน เช่น สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ โดยเปิดเสรีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบแบบ “หักกลบลบหน่วย” โดยธนาคารของรัฐเข้าไปสนับสนุนเงินทุนแก่ครัวเรือน รวมทั้ง อบต. เทศบาล เพื่อจัดทำโซลาร์ฟาร์ม และถ้าหากมีที่ราชพัสดุอยู่ใกล้ชุมชน ก็ควรพิจารณาให้ชุมชนเช่าใช้ในการทำโซลาร์ฟาร์มด้วย เป็นต้น

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/news/3282710/
วันที่: 24 มีนาคม 2567

พปชร. เดินหน้าเสนอร่างพรบ.ลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิต เข้าสภาฯ

,

พปชร. เตรียม ยื่นร่าง พ.ร.บ.ลดก๊าซเรือนกระจกฯ เข้าสภาฯ หวัง ช่วยกำหนดยุทธศาสตร์-ทิศทางให้อำนาจหน่วยงานรัฐ เข้าจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อบรรลุเป้า Carbon Net Zero

21 มี.ค. 2567 – ที่รัฐสภา นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา และโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐ นำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เตรียมที่จะเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิตพ.ศ. … ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมทุกภาคส่วน มุ่งสู่การลดก๊าซเรือนกระจกและการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตต่อสภาผู้แทนราษฎร

โดย ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องทางกฎหมายในการยกร่าง ซึ่งการดำเนินการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ ถือเป็นหนึ่งในนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ และหัวหน้าพรรคให้ความสำคัญ เพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการดูแลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในระยะยาว สอดรับกับทิศทางของนานาชาติ

“การแก้ไขปัญหาการจัดการก๊าซเรือนกระจกในขณะนี้ ถือเป็นภารกิจที่สำคัญที่ต้องการความร่วมมือ และแนวทางที่ชัดเจน จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพเข้ามากำหนดยุทธศาสตร์ และทิศทางการจัดการก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง พล.อ.ประวิตร มีความห่วงใยในเรื่องการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศของไทยที่เป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน เพราะส่งต่อกระทบต่อประชาชน โดยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น สร้างความเสียหายในวงกว้างในหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงด้านสุขอนามัย และการประกอบอาชีพของพี่น้องประชาชนโดยตรง ที่นับวันทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น“ นายอรรถกร กล่าว

นายอรรถกร กล่าวต่อว่า ประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความก้าวหน้าและตื่นตัวในการแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ แต่ยังไม่มีเครื่องมือในการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาะ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายฉบับดังกล่าว เพื่อให้อำนาจหน่วยงานรัฐในการกำกับดูแลการดำเนินงาน และให้เป็นไปตามเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศแบบครบวงจร รวมถึงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตที่เร่งให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างแท้จริงที่ชัดเจนต่อไป

ด้านนายอัคร ทองใจสด สส.เพชรบูรณ์ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ให้เป็นศูนย์ หรือ Net Zero เพื่อให้ควบคู่ไปกับกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ทำให้ประเทศไทยสามารถทำการค้าระหว่างประเทศได้ พรรคพลังประรัฐ เราต้องการที่จะทำให้ประเทศไทยน่าอยู่มากขึ้น มีอากาศที่บริสุทธิ์ และฟื้นเศรษฐกิจให้เทียบเท่ากันกับนานาชาติ

ด้านนายนายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ สส.ชัยภูมิ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะมีการพูดถึงการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่ต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศแถบสหภาพยุโรป และอเมริกา ได้ใช้มาตรการ CBAM ในการจำกัดและควบคุมการนำเข้าสินค้า ที่ผลิตโดยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ หากสินค้าไทยจะส่งออกไปยังต่างประเทศ เราจำเป็นต้องมีการนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ เพื่อลดผลกระทบในการส่งสินค้าไทยออกนอกประเทศ

ที่มา: https://www.thaipost.net/general-news/556418
วันที่: 24 มีนาคม 2567

‘บิ๊กป้อม’ ถือฤกษ์ดี 07.29 น. บวงสรวงท้าวมหาพรหมที่ทำการพรรค พปชร.

,

“บิ๊กป้อม” ถือฤกษ์ดี 07.29 น. บวงสรวงท้าวมหาพรหมที่ทำการพรรค พปชร. เสริมสิริมงคล นำความเจริญรุ่งเรืองสู่พรรค “อนุรักษนิยมทันสมัย”

เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 21 มี.ค. 67 ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประะวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานในพิธีบวงสรวงอัญเชิญท่านท้าวมหาพรหม ประดิษฐานบริเวณด้านหน้าอาคารที่ทำการพรรค พปชร. เพื่อเสริมสิริมงคลและความเจริญรุ่งเรืองให้แก่สมาชิก พรรค บุคลากร พนักงาน ทุกคนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนพรรคสู่การเป็นสถาบันการเมืองที่มั่นคง ด้วยจุดยืนของการเป็นพรรค “อนุรักษนิยมทันสมัย” ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรับใช้ประชาชน โดยมี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรค นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข ในฐานะรองหัวหน้าพรรค นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รองหัวหน้าพรรค พล.อ.กฤษณ์โยธิน ศศิพัฒนวงษ์ นายทะเบียนพรรค นายสกลธี ภัททิยกุล กรรมการบริหารพรรค รวมถึงกรรมการบริหารพรรค และ สส. เข้าร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียง

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ถือฤกษ์ เวลา 07.29 น. เริ่มพิธีบวงสรวงท้าวมหาพรหม ลงไม้ศักดิ์สิทธิ์ ถวายพวงมาลัย จุดธูปและเทียน ปักธูปที่เครื่องสังเวย ตอกเครื่องมงคลที่ฐาน โดยมีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ หลังจากนั้น เริ่มพิธีอัญเชิญท้าวมหาพรหม สถิตบนศาล และภายในประดิษฐานประกอบด้วย องค์ท้าวมหาพรหม 4 พระพักตร์ 8 กร โดยท้าวมหาพรหมถือเป็นเทพเจ้าสูงสุดในคติของศาสนาฮินดู เป็นเทพเจ้าแห่งความสร้างสรรค์ ความเมตตา เป็นพระผู้สร้างโลก และให้กำเนิดสิ่งต่างๆ พร้อมประทานพรให้กับทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข.

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 21 มีนาคม 2567

‘บิ๊กป้อม’ ส่งสัญญาณเดินหน้าต่อ ชูแนวทาง ‘อนุรักษนิยมทันสมัย’

“บิ๊กป้อม” ส่งสัญญาณเดินหน้าต่อ ชูแนวทาง “อนุรักษนิยมทันสมัย” ด้านลูกพรรคตอบรับ พร้อมเดินเคียงข้าง พปชร

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 19 มี.ค. ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีการประชุมพรรคพลังประชารัฐ โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง
จากนั้นเวลา 16.30 น. นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะโฆษกพรรคพลังประชารัฐ และนายอัคร ทองใจสด สส.เพชรบูรณ์ แถลงข่าวถึงการประชุมพรรคพลังประชารัฐ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค เป็นประธานในที่ประชุมว่า บรรยากาศในที่ประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น โดย พล.อ.ประวิตร ได้มาก่อนเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง และมีใบหน้าที่ยิ้มแย้มตลอดเวลาการประชุม พร้อมยืนยันกับสมาชิกพรรคว่า ร่างกายของท่านแข็งแรง เต็มที่พร้อมที่จะทำงานเพื่อบ้านเมืองของเราต่อไป

นายอรรถกร กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาถึงแนวทางของพรรคพลังประชารัฐ โดยในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการพูดถึงคำว่า “อนุรักษนิยมทันสมัย” ซึ่งมีประชาชนสนใจ และสอบถามมาทางพรรคจำนวนมากว่าคืออะไร โดยวันนี้ พล.อ.ประวิตร ได้บอกกับทุกคนในพรรคว่า ท่านมีจุดยืนในการที่จะอนุรักษ์ปกป้องสถาบันหลักของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นประเทศชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ แต่พรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้ยึดติดอยู่กับอดีตเพียงแต่อย่างเดียว

“เราทราบดีว่า ประเทศไทยของเรามีเอกลักษณ์ที่หาที่ไหนไม่ได้ในโลก เรามีวัฒนธรรมมีจารีตประเพณี ที่ส่งต่อกันมา ตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ส่งมายังรุ่นพ่อ รุ่นแม่ และพรรคพลังประชารัฐ จะนำสิ่งที่พวกเราคนไทยหวงแหนส่งต่อไปยังลูกหลานของพวกเรา และเราจะทำงานโดยยึดสิ่งดีๆ ที่บรรพบุรุษของพวกเราได้สร้างเอาไว้ และจะทำงานก้าวสู่อนาคตด้วยการเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีต่างๆ เพราะทุกวันนี้เรื่องเหล่านี้เปลี่ยนแปลงทุกวัน ทุกชั่วโมง ทุกนาที ดังนั้น พรรคพลังประชารัฐ ตั้งใจที่จะสืบสานความตั้งใจหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐต่อไป” นายอรรถกร กล่าว

นายอรรถกร กล่าวย้ำว่า สมาชิกพรรคพลังประชารัฐทุกคน เห็นพ้องที่จะเดินไปกับ พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ โดยใช้คำว่า “อนุรักษนิยมทันสมัย” ให้เป็นบทนำของพรรคต่อไป ในส่วนของรายละเอียดของคำว่า “อนุรักษนิยมทันสมัย” ขอให้รอสักพักหนึ่ง โดย พปชร. จะเปิดตัวของคำนี้อย่างเป็นทางการ ในการประชุมใหญ่สามัญพรรคที่จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ โดย พล.อ.ประวิตร มีความตั้งใจที่จะเชิญบุคลากรที่มีความรู้ ความทันสมัย มาทำงานร่วมกับเรา เพื่อที่จะทำให้พรรค สามารถเป็นสถาบันที่ทำงานเพื่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 21 มีนาคม 2567

รมว.ทส. ถก ผู้ว่า 17 จว.ภาคเหนือ ยกระดับมาตรการสูงสุด แก้ฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ

พัชรวาท เรียกประชุมหน่วยงานด้านป่าไม้ และ 17 จังหวัดภาคเหนือ สั่งยกระดับมาตรการที่เข้มงวดสูงสุด ปรับรูปแบบ การจัดกำลัง ดับไฟป่า แก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ

วันนี้ (10 มี.ค. 67) พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรียกประชุมหน่วยงานด้านป่าไม้ และ 17 จังหวัดภาคเหนือ สั่งการยกระดับมาตรการที่เข้มงวด ปรับรูปแบบ การจัดกำลัง ดับไฟป่า “ปิดป่า” ห้ามบุคคลเข้าพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และป่าสงวนแห่งชาติในพื้นที่สถานการณ์รุนแรง บังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติการด้วยความ “แม่นยำ รวดเร็ว ทันท่วงที มีประสิทธิภาพ”

พลตำรวจเอก พัชรวาทฯ กล่าวว่า สถานการณ์ไฟป่าทวีความรุนแรงมากขึ้น ทุกหน่วยงานจะต้องนำมาตรการแก้ไขปัญหา ฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงสถานการณ์วิกฤต ไปปฏิบัติอย่างเร่งด่วน ทันทีอย่างเต็มที่ โดยต้องพยายามควบคุมกำกับดูแลการจัดการไฟในพื้นที่ป่า โดยเฉพาะพื้นที่มุ่งเป้า ทั้ง 11 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวน รวมถึงพื้นที่เกษตรเผาไหม้ซ้ำซากในพื้นที่สูง และในพื้นที่ราบของ 17 จังหวัดภาคเหนือ ดังนี้

1. ปรับรูปแบบ การจัดกำลัง ดับไฟป่า ด้วยยุทธวิธี ผสมผสานทั้งการตรึงพื้นที่ด้วยจุดเฝ้าระวังและการ ลาดตระเวน การส่งกำลัง และดับไฟโดยอากาศยาน เข้าถึงไฟให้เร็ว ควบคุมไม่ให้ขยายวงกว้าง คุมแนวไฟและดับให้สนิท ให้วอร์รูมบัญชาการชุดปฏิบัติการดับไฟป่าตลอดเวลาที่มีการเข้าพื้นที่

2. ติดตามสถานการณ์จุดความร้อน สนธิกำลังพลทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายปกครอง และเครือข่าย ทั้งระดับภาคพื้นและอากาศยาน ลาดตะเวน เฝ้าระวัง อย่างเข้มข้น เมื่อพบต้องเร่งปฏิบัติการเพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์โดยทันทีแต่ต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ งดการใช้อาสาสมัครที่ไม่ได้รับการฝึกปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสีย

3. สนับสนุนและบูรณาการทำงานอย่างเต็มที่เป็นหนึ่งเดียว กับศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นศูนย์กลาง

4. “ปิดป่า” ห้ามมิให้บุคคลเข้าไปในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และป่าสงวนแห่งชาติในพื้นที่สถานการณ์รุนแรง บังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด ยกระดับการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ลักลอบจุดไฟเผาป่า

5. พื้นที่เกษตร ต้องติดตามเฝ้าระวังประสานงานกับฝ่ายปกครองอย่างใกล้ชิด เพื่อลดและควบคุมไม่ให้เกิดการเผาและหากเกิดต้องควบคุมให้ได้โดยเร็ว

6. สื่อสาร แจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างทั่วถึง ทันท่วงทีเพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลที่รวดเร็ว ถูกต้อง สร้างความรู้ทำความเข้าใจกับประชาชนให้ปฏิบัติตนตามคำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสม เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติการด้วยความ “แม่นยำ รวดเร็ว ทันท่วงที มีประสิทธิภาพ”และคำนึงถึง ความปลอดภัย และสุดท้ายขอขอบคุณทุกท่านที่ทำงานด้วยความเหน็ดเหนื่อยเพื่อพี่น้องประชาชน

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า รัฐบาลมีข้อห่วงใยในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง แต่ในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดริมชายแดนมีค่าค่อนข้างสูง ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งมาจากประเทศเพื่อนบ้านที่พบจุดความร้อนสูง เช่น เมียนมาร์ กัมพูชา ทำให้ค่าฝุ่นละออง PM2.5 ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มีการปฏิบัติงานในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง และตามที่คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2567 ได้อนุมัติงบกลาง เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นเงินประมาณ 272 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อลดฝุ่นละออง PM2.5 โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ก็จะทำให้การปฏิบัติงานในพื้นที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นายจตุพร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง จะต้องได้รับความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยจากนโยบายพลตำรวจเอก พัชรวาทฯ ให้ดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมกับภาครัฐได้ดำเนินการร่วมกับ BOI ออกประกาศให้สิทธิและประโยชน์กับภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมสนับสนุนการจัดการป่าเพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 อย่างยั่งยืน สำหรับการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ที่ผ่านมาได้มีการยกระดับการหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้กลไกความมั่นคงและความสัมพันธ์ระดับชายแดน เมื่อวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2567 ได้ประชุมกับกัมพูชา เพื่อจัดตั้ง Hotline ระหว่าง 2 ประเทศ และกำหนดจัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมภายในเดือนเมษายน สำหรับประเทศเมียนมา กระทรวงทรัพยากรฯ อยู่ระหว่างการเจรจาโดยใช้กลไกคณะกรรมการชายแดนระดับผู้บัญชาการทหารสูงสุด

“ภาพรวมสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในขณะนี้ พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกพื้นที่ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับดีถึงปานกลาง (สีเขียว/สีเหลือง) เริ่มมาตั้งแต่ 19 กุมภาพันธ์ จากมาตรการยกระดับน้ำมันยูโร 5 (EURO 5) การควบคุมการเผาในที่โล่งของพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพฯ และการควบคุมแหล่งต้นตอฝุ่น สำหรับสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ มีค่าเกินมาตรฐาน ส่วนใหญ่อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) แต่แนวโน้มค่ารายชั่วโมงเริ่มลดลงในหลายจังหวัด จังหวัดที่ยังคงต้องเฝ้าระวังคือ น่าน แม่ฮ่องสอน และเชียงราย ซึ่งอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) สถานการณ์มีแนวโน้มที่จะบรรเทาลงช่วงวันที่ 10-13 มีนาคม 2567 แต่จะต้องเฝ้าระวังอีกครั้งระหว่างวันที่ 14-17 มีนาคม 2567 เนื่องจากลมเปลี่ยนทิศ ลมที่ปกคลุมบริเวณภาคเหนือตอนบนจะเปลี่ยนเป็นลมที่พัดจากทิศตะวันตกเข้าสู่ประเทศอีกครั้ง ดังนั้น หากสถานการณ์จุดความร้อนในประเทศและนอกประเทศยังคงมีจำนวนที่มากในช่วงเวลาดังกล่าว สถานการณ์อาจทวีความรุนแรงขึ้นได้อีก ในด้านการจัดการไฟในพื้นที่ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์ุพืช และกรมป่าไม้ ภายใต้การสนธิกำลังกับจังหวัด ฝ่ายปกครอง มีการยกระดับการแก้ไขปัญหา ภาพรวมจุดความร้อนลดลงกว่า 40% มีการปรับกำลังของกระทรวงทรัพย์ฯ จากภูมิภาคอื่นมาอยู่ภาคเหนือหมดแล้ว และหลังจากได้รับการจัดสรรงบกลางจะมีการวางกำลังตามจุดสกัดในพื้นที่เป้าหมายมุ่งเป้าได้เพิ่มขึ้น เน้นการสร้างความเข้าใจให้กับเครือข่ายและให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง และสื่อสารกับประชาชนขอความร่วมมือไม่เผาป่า” นายจตุพร กล่าว

ที่มา : bangkokbiznews
วันที่ : 10 มีนาคม 2567