โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

“สส. องอาจ” ปธ. กมธ.กฎหมายฯ เปิดเวทีระดม 40 องค์กร ร่วมศึกษาความเห็นข้อบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองรับมาตรฐานสากล

“สส. องอาจ” ปธ. กมธ.กฎหมายฯ เปิดเวทีระดม 40 องค์กร
ร่วมศึกษาความเห็นข้อบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองรับมาตรฐานสากล

นายองอาจ วงษ์ประยูร สส.สระบุรี เขต 4 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.ในฐานะรองประธานกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า คณะ กมธ.ได้จัดงานสัมมนา เรื่องการบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมือง ผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมือง และแนวทางในการแก้ไขกฎหมายคนเข้าเมือง โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการฯ คณะทูตานุทูต ส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมือง องค์กรระหว่างประเทศ ภาคประชาชน รวมทั้งผู้แทนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน รวม 40 หน่วยงาน ตลอดจนผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนจากภาควิชาการ ภาคเอกชน องค์ระหว่างประเทศ และผู้แทนจากกลุ่มผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ เพื่อร่วมกันพิจารณาศึกษาปัญหา และทางออก เพื่อมิให้ขัดต่อระเบียบ และข้อกฎหมาย เป็นไปตามมาตรฐานสากล

นายองอาจ กล่าวต่อว่า คณะ กมธ.เห็นความสำคัญของเรื่องดังกล่าว จึงมีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนต่อการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ เพื่อพิจารณาศึกษาปัญหานี้อย่างจริงจัง ซึ่งประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศทางผ่าน ที่พักพิงชั่วคราว และเป็นที่แสวงหาโอกาสในการทำงานของคนที่ไม่มีสัญชาติไทยหลายกลุ่ม รวมถึงคนที่ยังไม่มีสัญชาติ แม้จะอยู่ในประเทศไทยมานาน ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การควบคุมจัดการของประเทศไทยผ่านกฎหมายฉบับเดียว คือ พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ที่บังคับใช้มานานเป็นเวลา 45 ปีแล้ว ไม่เท่าทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน

นอกจากนี้ โจทย์ท้าทายสำคัญที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญต่อไป คือ การขาดกำลังแรงงานจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติ ดังนั้น ข้อเสนอในเรื่องการโยกย้ายถิ่นเพื่อทดแทนประชากรที่ลดลง จึงเป็นข้อเสนอที่ควรถูกหยิบยกมาทบทวน และถึงเวลาที่จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายให้ทันสถานการณ์และการยอมรับในต่างประเทศ 

สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ มีการนำเสนอรายงานเรื่องปัญหาและแนวทางการแก้ไขแบบยั่งยืนเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ โดยมีข้อสังเกตต่อการบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมือง การอภิปรายกลุ่มเรื่องพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และการบังคับใช้ ผลกระทบ ข้อท้าทาย และการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางกฎหมาย สำหรับการบริหารจัดการผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน และเรื่องการปฏิรูปกฎหมายคนเข้าเมืองเพื่อตอบโจทย์ประเทศไทยภายใต้บริบทสังคมสูงอายุ ข้อเสนอจากภาคส่วนต่าง ๆ ต่อการแก้ไขกฎหมายคนเข้าเมือง และการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนประชากร

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 22 พฤษภาคม 2567

" ,