“รมว.ธรรมนัส” แจ้งข่าวดีสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ มีแนวโน้มสามารถสนับสนุนการทำการเกษตรได้ทุกกิจกรรมในช่วงฤดูแล้งนี้
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ โดยมีนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารกรมชลประทาน และสำนักงานชลประทานที่ 1 – 17 เข้าร่วม ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน และผ่านระบบออนไลน์ (Video Conference) ซึ่งจากปริมาณฝนที่ตกในช่วงที่ผ่ามมา ส่งผลต่อปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณเกินร้อยละ 80 ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนกิ่วลม เขื่อนแม่มอก เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนน้ำอูน เขื่อนน้ำพุง เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว เขื่อนสิรินธร เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนประแสร์ และเขื่อนนฤบดินทรจินดา ซึ่งกรมชลประทานมั่นใจว่าสามารถบริหารจัดการและควบคุมสถานการณ์ได้ อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะสามารถสนับสนุนทุกกิจกรรมในช่วงฤดูแล้ง สำหรับอ่างเก็บน้ำอื่น ๆ กรมชลประทานมีการติดตามและวางแผนการบริหารจัดการในช่วงฤดูแล้ง มั่นใจไม่กระทบการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้รายงานสถานการณ์น้ำและแนวทางการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำชี-มูล และลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตามข้อห่วงใยของนายกรัฐมนตรี เพื่อให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด
รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า จากปริมาณน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันมีปริมาณน้ำมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงต้นฤดูฝน เนื่องจากมีฝนตกจำนวนมาก ทำให้น้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้น จึงมีโอกาสในการทำนาปรังในพื้นที่เขตชลประทาน อย่างไรก็ตาม พื้นที่ในการทำนาปรังดังกล่าว จะต้องผ่านคณะทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ที่มีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นฝ่ายเลขานุการ หากมีมติเห็นชอบ กระทรวงเกษตรฯ จะนำเข้าคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ต่อไป
ทั้งนี้ ปัจจุบันปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จำนวน 8,524 ล้าน ลบ.ม. และคาดการณ์ว่า ในวันที่ 1 พ.ย. 66 จะมีจำนวน 9,673 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งน้อยกว่าปี 2565 จำนวน 4,401 ล้าน ลบ.ม.
ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 11 ตุลาคม 2566