“รมว.ธรรมนัส” เดินหน้าสร้างกลไกตลาดเพิ่มรายได้เกษตรกรพื้นที่สูง ลดปัญหาความยากจนมุ่งแก้ฝุ่น PM2.5 ยั่งยืน
ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามการดำเนินงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. พร้อมมอบนโยบายและแนวทางการพัฒนาพื้นที่สูง เช่น การแก้ไขปัญหาความยากจน และปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 อีกทั้งยังเยี่ยมชมจุดเรียนรู้ ได้แก่ พืชสวนและความหลากหลายทางชีวภาพ พระราชกรณียกิจและโครงการอันเนื่องมากจากพระราชดำริ และศิลปวัฒนธรรมล้านนา โดยมีนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่
สำหรับสถานการณ์การเผาและหมอกควันในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง และพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง เกิดจุดความร้อน (Hotspot) ช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม ใน ปี 2566 พื้นที่ดำเนินงานศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 39 แห่ง พื้นที่ 1,680,599.48 ไร่ พบจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่ป่าไม้ 1,220 จุด พื้นที่เกษตร 349 จุด และพื้นที่ดำเนินงานฯ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 44 แห่ง พื้นที่ 6,269,094.43 ไร่ พบจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่ป่าไม้ 6,042 จุด และพื้นที่เกษตร 1,726 จุด
กระทรวงเกษตรฯ โดย สวพส. มีแนวทางในการจัดการแก้ไขปัญหาการเผาและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 บนพื้นที่สูง โดยมีอำเภอแม่แจ่ม เป็นพื้นที่ต้นแบบในการแก้ไขปัญหาความยากจนและการเผาพื้นที่สูง ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ 1) จัดทำแผนที่ดินของเกษตรกรรายแปลงเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการกำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน แบ่งแยกพื้นที่ป่าและที่ทำกิน วางแผนพัฒนาชุมชนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ให้เป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสมตามหลักวิชาการ ระเบียบ และกฎหมาย แก้ไขปัญหาอย่างพุ่งเป้า ตรงตามบริบทพื้นที่ ปัญหาและความต้องการของชุมชน 2) การสนับสนุนชุมชนป้องกันไฟป่า ส่งเสริมและสนับสนุนสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ในการป้องกันไฟป่า อนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร 3) การจัดการเศษวัสดุการเกษตร (ชีวมวลอัดแท่ง/ปุ๋ยอินทรีย์) สนับสนุนชุมชนโดยการรับซื้อเศษวัสดุการเกษตรภายใต้ข้อตกลงและราคาที่เหมาะสมเพื่อนำไปผลิตชีวมวลอัดเม็ด 4) การส่งเสริมด้านอาชีพ ด้วยเกษตรมูลค่าสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูง และตลาดนำการผลิต
5) การพัฒนามาตรฐาน GAP PM2.5 Free และ 6) การเพิ่มช่องทางการตลาดผลผลิต (green product)
นอกจากนี้ ยังได้มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานใรสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งกรมวิชาการเกษตร ได้เตรียมดำเนินโครงการส่งเสริมการจัดการเพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 สำหรับภาคเกษตรอย่างยั่งยืน ภายใต้มาตรฐานการผลิตพืช มีแนวทางการขับเคลื่อนของกรมวิชาการเกษตร ในการเพิ่มมูลค่า เพิ่มแรงจูงใจ (เกษตรพันธะสัญญา) และเร่งการย่อยสลายตอซังข้าวโพด โดยใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ มุ่งดำเนินการทั้งในเรื่อง มาตรฐานการผลิตพืช GAP PM 2.5 FREE การปรับเปลี่ยนพื้นที่สูง โดยการเปลี่ยนพืชปลูก (กาแฟ มะคาเดเมีย อะโวกาโด) และการเปลี่ยนพฤติกรรม กรณีปลูกพืชเดิม (ข้าวโพด) และการปรับเปลี่ยนบนพื้นราบ โดยการปลูกข้าวโพดทดแทนพื้นที่สูง บนพื้นที่นอกเขตชลประทาน/ไม่เหมาะสมสำหรับนาปรัง
“การลงพื้นที่ในวันนี้ ต้องการมาศึกษารูปแบบการจัดงานพืชสวนโลกของจังหวัดเชียงใหม่ ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับภาคการท่องเที่ยวอย่างมหาศาล และกลายเป็นมรดกของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะนำมาเป็นแนวทางในการจัดงานพืชสวนโลกของจังหวัดอุดรธานีต่อไป นอกจากนี้ ยังต้องการมาติดตามการขับเคลื่อนงานของ สวพส. โดยมุ่งเน้นในเรื่องการส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่สูง ต้องการให้เค้ามีงาน มีอาชีพ โดยใช้ตลาดนำ จึงได้มอบหมายทุกหน่วยงานในสังกัดร่วมบูรณาการทำงาน ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องความมั่นคงและแก้ไขปัญหา PM 2.5 ได้” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว
ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 4 พฤศจิกายน 2566