โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

ป้ายกำกับ: ข่าวประชาสัมพันธ์

พลังประชารัฐ ประกาศจุดยืนไม่เอากาสิโน จี้ รัฐบาลยุติการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ วอนประชาชนร่วมปกป้องอนาคตประเทศ อย่าปล่อยให้คนไทยตกเป็นทาสการพนัน

,

พลังประชารัฐ“ประกาศจุดยืนไม่เอากาสิโน จี้ รัฐบาลยุติการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ วอนประชาชนร่วมปกป้องอนาคตประเทศ อย่าปล่อยให้คนไทยตกเป็นทาสการพนัน

วันนี้(5 ก.พ.)เวลา 11.00 น.ที่อาคารรัฐสภา พรรคพลังประชารัฐ นำโดย นายชัยมงคล ไชยรบ รองหัวหน้าพรรค และ สส.สกลนคร เขต 5 ,นายฉกาจ พัฒนกิจวิบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และ สส.พังงา เขต 2 นายสุธรรม จริตงาม สส.นครศรีธรรมราช , นายคอซีย์ มามุ สส. ปัตตานี เขต 2 ,นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานกรรมการด้านวิชาการ,ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ที่ปรึกษาศูนย์นโยบายและวิชาการ,พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกพรรค พปชร. ร่วมกันแถลงข่าวประกาศจุดยืนคัดค้านและต่อต้านร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ.

โดย นายชัยมงคล กล่าวว่า การเปิดบ่อนกาสิโนในประเทศจะทำให้ปัญหาการติดการพนันทวีความรุนแรงขึ้น รวมถึงสร้างผลกระทบต่อครอบครัว เช่น การใช้ความรุนแรงในบ้าน การหย่าร้าง และความล้มเหลว ทางการเงิน นอกจากนี้ การมีบ่อนกาสิโนจะเปลี่ยนค่านิยมในสังคม ส่งเสริมวัฒนธรรมการพนัน และทำให้ คนไทยเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความเครียดจากหนี้สินและการฆ่าตัวตาย การเปิดกาสิโนอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ในระยะยาวจะไม่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เนื่องการพนันไม่สร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจที่แท้จริงเป็นเพียงการโยกย้ายเงินจาก ผู้แพ้ไปสู่ผู้ชนะ ซึ่งเจ้าของกาสิโนคือผู้ได้ประโยชน์หลักแม้จะอ้างว่าจำกัดพื้นที่กาสิโนเพียง 10% แต่ตัวอย่างจากสิงคโปร์ที่กำหนดพื้นที่กาสิโนเพียง 3% กลับสร้างรายได้ถึง 70% ของอุตสาหกรรมบันเทิง แสดงให้เห็นว่าเป้าหมายของเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ที่แท้จริงอาจเป็นการเปิดบ่อนเสรีนั้นเอง

“ในอดีตรัชกาลที่ 5 เคยเสด็จไปมอนติคาโลและเห็นผลกระทบของกาสิโน ทรงตระหนักว่า หากเปิดในไทยจะเป็นหายนะต่อประเทศและประชาชน จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกบ่อนเบี้ยในสมัยนั้น ซึ่งวันนี้ผมไม่เข้าใจว่าแนวคิดเช่นนี้ทำไมถึงเกิดขึ้นในประเทศของเรา หรือเป็นเพราะว่ารัฐบาลไม่สามารถหารายได้เข้าประเทศได้จากทางอื่นจึงปล่อยให้ประเทศชาติเกิดบาดแผลเพราะการพนัน“นายชัยมงคล กล่าว

ขณะที่ ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของร่างกฎหมายคาสิโนว่า มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการลงทุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืน แต่ตนมองว่าเป็นเพียงแค่ “มายาคติ” ที่ขาดความละเอียดรอบคอบทางนโยบาย เนื่องจากการท่องเที่ยวไทยมีจุดขายจาก “ซอฟพาวเวอร์ทางวัฒนธรรมไทย” ที่แข็งแกร่งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การเปิดบ่อนคาสิโนในประเทศไทยจึงไม่ได้เพิ่มเสน่ห์ให้ประเทศมากขึ้น ตรงกันข้ามเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้ คนไทยติดการพนันเพิ่มขึ้นเป็นการทำร้ายคนไทยด้วยกันเอง

ทั้งนี้ กฎหมายที่ร่างขึ้นไม่ต่างจากการตีเช็คเปล่าให้นักการเมืองตั้ง “คณะกรรมการนโยบาย” ขึ้นมา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีอำนาจสูงสุดในการกำหนดหลักเกณฑ์สำคัญทุกอย่าง ปรากฏตามมาตรา 11 เช่น การให้ใบอนุญาต จำนวนใบอนุญาต จังหวัดที่อนุญาต เพื่อนำเข้า ครม. โดยจากปราศจากการประมูลแข่งขันผลประโยชน์ของรัฐส่วนค่าธรรมเนียมต่างๆ ก็อยู่ในกรอบ “ห้ามเกิน” ได้แก่ ค่าธรรมเนียมครั้งแรก 5,000 ล้านบาทต่อ 30 ปี หรือเฉลี่ยปีละ 166 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมรายปี 1,000 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการนโยบายฯ สามารถปรับลดลงได้ตามดุลยพินิจ และที่ร้ายที่สุดคือ เรื่องภาษีจาก “ยอดเงินพนัน” (Gross Gambling Revenue: GGR) ซึ่งในต่างประเทศถือเป็นรายได้หลักของรัฐ แต่ร่างกฎหมายใหม่นี้มอบอำนาจให้คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนดเอง โดยไม่มีหลักประกันความโปร่งใส หากนักการเมืองเข้าไปเป็นเจ้าของบ่อนผ่านนอมินี เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้นักการเมืองบางกลุ่ม “ชงเอง กินเอง” อย่างไร้การตรวจสอบและถ่วงดุล

ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวต่อว่า โครงการนี้ยังขาดการประเมินความเสียหายต่อสังคมจากผู้ติดการพนัน โดยงานวิจัยของสหรัฐฯ (ปี 2546) ชี้ว่า การพนันสร้างความเสียหายสูงถึง 700,000 บาทต่อคน ขณะที่ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้เก็บสถิติ ในประเทศไทยปี 2564 พบว่ามีผู้ติดพนัน 3.5 ล้านคน หากเปิดเสรีบ่อนการพนัน ผู้ติดพนันอาจเพิ่มเป็น 5 ล้านคน ดังนั้น อาจสร้างต้นทุนทางสังคมสูงถึง 3.5 ล้านล้านบาท โดยไม่มีหลักประกันว่า จะแก้ปัญหาบ่อนเถื่อนได้ เลยเพราะบ่อนเถื่อนไม่มีข้อจำกัดในการเข้าเช่นเดียวกับบ่อนถูกกฎหมายในร่างกฎหมายฉบับนี้ นโยบายนี้จึงถือว่าได้ไม่คุ้มเสีย

ด้านนายสุธรรม กล่าวว่า การเปิดกาสิโนอาจเป็นช่องทางการฟอกเงินจากธุรกิจทุนสีเทาและคอร์รัปชัน และอาจทำให้กลุ่มทุนใหญ่ใช้อิทธิพลครอบงำนโยบายของรัฐบาลอีกทั้งการเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติยังขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน และไม่มีมาตรการป้องกันผลกระทบที่ชัดเจน รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาการพนันที่แพร่ระบาด ทั้งหวยใต้ดิน หวยประเทศเพื่อนบ้าน และการพนันออนไลน์ที่กำลังบั่นทอนเศรษฐกิจครัวเรือน และสร้างปัญหาเชิงโครงสร้างที่รุนแรง ซึ่งการตั้งบ่อนกาสิโนถูกกฎหมายไม่ใช่คำตอบของการแก้ไขปัญหาพนันทุกรูปแบบที่อยู่ในประเทศไทย ณ เวลานี้

“พรรคพลังประชารัฐเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม. พร้อมเชิญชวนประชาชนทุกภาคส่วนแสดงพลังคัดค้านผ่านการติดแฮชแท็ก #ไม่เอากาสิโน บนโซเชียลมีเดีย ทุกแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างกระแสตระหนักรู้และปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ เพราะการพนันจะเป็นเหตุทำให้เศรษฐกิจของประเทศพังพินาศ และตามมาด้วยปัญหาครอบครัว รวมถึงยังปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนของประเทศถูกชึมซับการพนันด้วย“นายสุธรรม กล่าว

#พรรคพลังประชารัฐ #พปชร

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 05 กุมภาพันธ์ 2568

“พล.อ.ประวิตร”ลงนามคำสั่งแต่งตั้งแกนนำรับผิดชอบพื้นที่รายภาค ให้เร่งคัดสรรผู้สมัคร สส. ทั่วประเทศเตรียมความพร้อมรับศึกเลือกตั้ง

,

“พล.อ.ประวิตร”ลงนามคำสั่งแต่งตั้งแกนนำรับผิดชอบพื้นที่รายภาค ให้เร่งคัดสรรผู้สมัคร สส. ทั่วประเทศเตรียมความพร้อมรับศึกเลือกตั้ง

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 4 ก.พ.ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายภัครธรณ์ เทียนไชย รองเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ แถลงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค และคณะทำงานนโยบายและยุทธศาสตร์พรรค ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรค เป็นประธานว่า พล.อ.ประวิตร ได้ลงนามในคำสั่งพรรคพลังประชารัฐ ที่ 5 / 2568 เพื่อมอบหมายบุคคลรับผิดชอบพื้นที่ในระดับภาค ให้การบริหารงานของพรรคพลังประชารัฐ และหัวหน้าพรรคเป็นไปด้วยความเรียบร้อย บรรลุอุดมการณ์ วัตถุประสงค์ทางการเมืองและนโยบายของพรรค

โดยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ พ.ศ 2561 และแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 17(3) (ช)จึงมอบหมายบุคคลรับผิดชอบพื้นที่ในระดับภาค ดังต่อไปนี้

ภาคเหนือ คือ นายสันติ พร้อมพัฒน์ และนายวราเทพ รัตนากร
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน คือ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงค์,นายชัยมงคล ไชยรบ และนายวิริยะ ทองผา
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง คือ พลตรียศวัจน์ นิมิตรภานนท์
ภาคกลาง คือ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์
ภาคตะวันออก คือ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง และนายภัครธรณ์ เทียนไชย
ภาคใต้ คือ นายฉกาจ พัฒนกิจวิบูลย์ ,นายคอรีย์ มามุ และ นายสุธรรม จริตงาม
กรุงเทพมหานคร คือ นายวัน อยู่บำรุง และนายภัครธรณ์ เทียนไชย

โดยให้มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลการดำเนินกิจกรรมโครงการของพรรคในพื้นที่รับผิดชอบ รายละเอียดตามบัญชีแนบท้ายคำสั่ง พร้อมจัดให้มีรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนสมัครเป็นสมาชิกพรรค และรวบรวมข้อมูลผู้ที่สมควรลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบเขตเลือกตั้งอีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการปฏิบัติงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และบุคคลที่พรรคมอบหมายให้ดำเนินกิจกรรมในพื้นที่รับผิดชอบ และปฏิบัติงานอื่นๆตามที่หัวหน้ามอบหมาย

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 4 กุมภาพันธ์ 2568

คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ของฝ่ายการเมือง

,

คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ของฝ่ายการเมือง

พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า “ตามที่พรรคการเมืองบางพรรค ได้เตรียมนำเสนอร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เพื่อแก้ไขสาระสำคัญของ พระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ.๒๕๕๑ นั้น

กรณีดังกล่าว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หน.พรรคพลังประชารัฐ  มีความเห็นว่า สาระสำคัญของร่าง พระราชบัญญัติดังกล่าว มุ่งเน้นไปที่ มาตรา ๒๕ เพื่อให้ฝ่ายการเมือง มีอำนาจเหนือผู้บัญชาการเหล่าทัพ ในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล โดยกล่าวอ้างว่า มีการเล่นพรรคเล่นพวก ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้ว ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บังคับบัญชาในทุกระดับ ย่อมจะต้องรู้จักศักยภาพและประสิทธิภาพของกำลังพลใต้การบังคับบัญชาดีกว่า ฝ่ายการเมือง ซึ่งเข้ามามีอำนาจเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง และหมุนเวียนเปลี่ยนไป ตามกลไกของการเลือกตั้ง

ที่สำคัญภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๖๐ หมวด ๒ พระมหากษัตริย์ มาตรา ๘ ได้เขียนเอาไว้ชัดเจนว่า “ พระมหากษัตริย์ ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย” และตามมาตรา ๒๗ ของพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ.๒๕๕๑ ได้กำหนดเอาไว้ชัดเจนว่า “ การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลดำรงตำแหน่งให้นำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง” ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่า เนื้อหาของ มาตรา ๒๗ ของพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ.๒๕๕๑ นั้น สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพพิจารณา การแต่งตั้งและโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล แล้วนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ ที่ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย โดยไม่ต้องการให้ฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซง

นอกเหนือจากนั้น ตามมาตรา ๑๐ ของพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ.๒๕๕๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ.๒๕๕๖  ได้กำหนดเอาไว้ว่า “ กระทรวงกลาโหมมีส่วนราชการดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมราชองครักษ์
(๔) หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์
(๕) กองทัพไทย

ซึ่งนั่นหมายความว่าเจตนาของพรรคการเมืองที่ยกร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม เพื่อฝ่ายการเมือง เข้ามามีอำนาจเหนือกองทัพนั้น จะมีอำนาจเหนือ ตาม(๓)(๔) ซึ่งเป็นการไม่บังควรอย่างยิ่ง

พรรคพลังประชารัฐ เห็นว่า การเสนอร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหมของพรรคการเมืองนั้น จะเป็นการบั่นทอนให้กองทัพอ่อนแอลง และจะนำกองทัพ ไปใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองเท่านั้น
จึงขอคัดค้าน อย่างถึงที่สุด”

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 10 ธันวาคม 2567

“บิ๊กป้อม” ค้านขึ้น VAT 15% ลั่นข้าวของแพง อย่าซ้ำเติม ปชช.

,

“บิ๊กป้อม” ค้านขึ้น VAT 15% ลั่นข้าวของแพง อย่าซ้ำเติม ปชช.

ทำเนียบ 7 ธ.ค.- โฆษกพรรคพลังประชารัฐ เผย “บิ๊กป้อม” ค้านขึ้น VAT 15% ชี้รัฐบาลควรศึกษาเศรษฐกิจไทย ลั่นข้าวของแพง อย่าซ้ำเติมประชาชน

พล.ต.ท. ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ตามที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศกลางเวทีในงานสัมมนาหนึ่งว่า รัฐบาลมีแนวคิดปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็น 15% และปรับภาษีเงินได้นิติบุคคล 15% นั้น ในประเทศไทยได้กำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 10% ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในขณะนั้น เห็นว่า อัตราดังกล่าว สูงเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับ สภาวะทางเศรษฐกิจและรายได้ประชาชนตลอดจนบริบทของสังคมไทย จึงได้ออกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 7% เป็นประจำทุกปี โดยที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1 ใน 9 ที่เก็บได้ จะถูกโอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และที่เหลืออีก 8 ส่วนจะถูกโอนให้แก่รัฐบาล ซึ่งทุกรัฐบาลได้ดำเนินการคงภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรานี้มาโดยตลอด

โฆษกพรรคพลังประชารัฐ ยังกล่าวว่ารัฐบาลควรจะต้องศึกษาระบบเศรษฐกิจของไทยให้มากกว่านี้ ตอนนี้ชาวบ้าน จะอดตายอยู่แล้ว ทุกวันนี้ข้าวของก็แพงจะมาเพิ่มภาษีส่วนนี้อีก ราคาสินค้า บริการต่างๆ จะแพงมากขึ้นอีก อย่าซ้ำเติมประชาชนอีกเลย การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจะส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อย คนหาเช้ากินค่ำ เด็กนักเรียนนักศึกษา ตลอดจนคนพิการ และผู้ยากไร้ต่างๆ เนื่องจากเป็นผู้บริโภคมีฐานะเป็น end user ซึ่งต้องแบกรับภาระการจ่ายภาษี ภาวะเศรษฐกิจที่ประชาชนมีความเดือดร้อนเช่นนี้รัฐบาลไม่ควรขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

นอกจากนี้ การเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม จะไม่มีผลกระทบต่อนายทุนหรือเจ้าสัว เพราะนายทุนหรือผู้ประกอบการสามารถหักภาษีซื้อภาษีขายไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด แต่เป็นการผลักภาระ การหารายได้ให้แก่รัฐบาลไปยังคนจนคนมีรายได้น้อย เปรียบเสมือนกับปล้นคนจน เอื้อคนรวย เป็นการผลักภาระมาให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

พล.ต.ท.ปิยะ กล่าวอีกว่า รัฐบาลควรหาแนวทางและมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสม กับสภาพเศรษฐกิจและบริบทของสังคมไทย ไม่ใช่ไปลอกแบบจากต่างประเทศเหมือนลอกข้อสอบ ยังมีมาตรการอื่นๆ เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก การจัดเก็บภาษีจากเศรษฐกิจดิจิทัล ภาษีกลุ่มฟุ่มเฟือย หรือภาษีกลุ่มคนรวย หรือเก็บภาษีกลุ่มคนมั่งคั่งจะดีกว่า การปรับปรุงประสิทธิภาพและพัฒนาโครงสร้าง การจัดเก็บภาษี ซึ่งยังมีการประกอบธุรกิจหรือกิจการบางอย่างที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบภาษี การขยายฐานภาษี และการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐ ยังดีกว่าการผลักภาระให้แก่คนทั้งประเทศ ดังนั้นรัฐบาลต้องวางแผนและตัดสินใจให้รอบคอบ

“พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะค้านการขึ้น VAT15% และจะพิจารณานำเรื่องนี้ เข้าคณะทำงานศูนย์วิชาการและนโยบาย พรรคพลังประชารัฐ เพื่อหาแนวทางและวิธีการที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่มีรายได้น้อย และจะไม่ทอดทิ้ง พี่น้องประชาชนอย่างแน่นอน” โฆษกพรรคพลังประชารัฐ ระบุ.-316-สำนักข่าวไทย

ที่มา: สำนักข่าวไทย https://tna.mcot.net/
วันที่: 7 ธันวาคม 2567

ธีระชัย-หม่อม กร ชี้ MOU ปี 2544 โมฆะ ฟาดรัฐบาลทำขั้นตอนผิด เสี่ยงเสียดินแดน

,

ธีระชัย-หม่อม กร ชี้ MOU ปี 2544 โมฆะ ฟาดรัฐบาลทำขั้นตอนผิด เสี่ยงเสียดินแดน

(วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ) พรรคพลังประชารัฐ – นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่าแถลงการณ์ร่วมวันที่ 18 มิ.ย. 2544 ลงนามโดยนายทักษิณ ชินวัตร และ นายฮุน เซนนั้น มีข้อความรับรอง MOU จึงทำให้ MOU มีสถานะเป็นสนธิสัญญาครบตามเงื่อนไขของอนุสัญญากรุงเวียนนาฯ นอกจากนี้ ยังมีเอกสารวิชาการที่ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทยยืนยันว่า MOU เป็นสนธิสัญญาอีกด้วย

นายธีระชัยเห็นว่า MOU เป็นสนธิสัญญาที่กระทบเขตอำนาจแห่งรัฐ เพราะมีการกำหนดพื้นที่พัฒนาร่วมเป็นอาณาเขตเฉพาะที่เปลี่ยนแปลงเขตไหล่ทวีปของไทยตามที่ประกาศเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2516 แต่ไม่ได้เสนอต่อรัฐสภา และไม่ได้ทูลเกล้าฯต่อพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ 2540 จึงเป็นโมฆะตั้งแต่ต้น

นายธีระชัยกล่าวว่าประชาชนสงสัยมีข้อพิรุธสำคัญ ทำไมรัฐบาลในปี 2544 จึงทำขั้นตอนกลับทางจากกรณี ไทย-มาเลเซียที่การกำหนดอาณาเขตพื้นที่พัฒนาร่วมเป็นผลสุดท้ายจากการเจรจา แต่ MOU กลับไปให้กำเนิดอาณาเขตพื้นที่พัฒนาร่วมตั้งแต่ต้นอันเป็นกรอบที่บีบการเจรจา ทั้งที่จะทำให้ไทยเสี่ยงเสียดินแดน ประชาชนจึงกังวลว่า MOU ที่ไม่เจรจาอาณาเขตพื้นที่พัฒนาร่วมให้เสร็จเสียก่อน น่าสงสัยว่ามีประโยชน์ซ่อนเร้น

นอกจากนี้ น่าสงสัยว่าเหตุผลแท้จริงของแถลงการณ์ร่วมนั้นอาจเพื่อมุ่งเรื่องปิโตรเลียมเป็นสำคัญ เพราะประเด็นอื่นในแถงการณ์ดังกล่าวมีการประสานกันปกติอยู่แล้ว

“ผมเองเคารพต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเห็นว่ารัฐมนตรีจากพรรคร่วมจะช่วยลดอุณหภูมิลงได้ โดยถ้าเห็นว่าเรื่องนี้ถูกต้อง ก็ควรเร่งให้รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศชี้แจงเหตุผลในทุกด้านให้ประชาชนคลายใจ เพราะประเด็นที่พรรคฝ่ายค้านยกขึ้นล้วนเป็นการอ้างข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่สามารถถกแถลงกันให้กระจ่างได้ แต่ถ้าเห็นว่าไม่ถูกต้อง ก็ต้องเร่งให้มีการแก้ไข” นายธีระชัยกล่าว

ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรค ได้กล่าวถึงกรณี ที่ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย บรรยายเรื่อง MOU 44 เมื่อวันที่14 พฤศจิกายน 2567 นั้นผิดพลาดคลาดเคลื่อนอยู่มากถึงสาเหตุของการเกิดพื้นที่ทับซ้อน ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวว่า “เนื่องจากกฎหมายทะเลสากลให้ทุกประเทศประกาศเขตเศรษฐกิจออกไปได้ 200 ไมล์ทะเล แต่อ่าวไทยมีความกว้างไม่ถึง 200 ไมล์ทะเล เมื่อไทยและกัมพูชาต่างฝ่ายต่างประกาศเขตเศรษฐกิจ 200 ไมล์ทะเล จึงทับซ้อนกัน”

ขณะที่ ม.ล.กรกสิวัฒน์ ชี้ว่า ขณะที่ ดร.สุรเกียรติ์ เซ็นต์ MOU 44 กับกัมพูชานั้น  น่าจะเข้าใจกฎหมายทะเลสากลไม่ถูกต้องทั้ง เรื่องทะเลอาณาเขต และการลากเส้นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล ปรากฎตาม อนุสัญญาเจนีวา 1958 ข้อ 12 และอนุสัญญาสหประชาชาติ 1982 (UNCLOS3) ข้อ 15 ที่บัญญัติว่า “กรณีที่ฝั่งทะเลสองรัฐประชิดกัน ถ้าไม่ได้ตกลงเป็นอย่างอื่น รัฐใดย่อมไม่มีสิทธิขยายทะเลอาณาเลยเลยเส้นมัธยะ“

กรณีไทย-กัมพูชา เส้นมัธยะ คือ เส้นที่มีจุดเริ่มต้นจากหลักเขตที่ 73 สุดแดนจังหวัดตราดลากลงทะเล “แบ่งกึ่งกลางระหว่างเกาะกูด กับ เกาะกง” เพื่อความเป็นธรรมในการเดินเรือ

ดังนั้น การขีดเส้น 200 ไมล์ทะเลจึงต้องลากต่อออกไปจากเส้นมัธยะนี้ มิใช่ดังที่ ดร.สุรเกียรติ์ อธิบายทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดได้ว่า ทุกประเทศมีสิทธิไปลากเส้นจากฝั่งทะเลไปทิศทางใดก็ได้ 200 ไมล์ ตามอำเภอใจแบบกัมพูชาทำ พื้นที่ทะเลรอบเกาะกูดของไทยจึงถูกกัมพูชาลากเส้นทับซ้อนตั้งแต่ชายฝั่งไปชนเกาะกูดซึ่งกรณีแบบนี้ไม่ปรากฏแบบนี้ที่ใดในโลก

นอกจากนี้ ท่านยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับการเจรจาระหว่าง ไทย กับ มาเลเซีย พม่า และเวียตนาม ที่ประสบผลสำเร็จมีลำดับขั้นตอนดังนี้
1)คณะรัฐมนตรีตั้งคณะเจรจาขึ้นก่อน
2)กรอบการเจรจา คือ กฎหมายทะเลสากล
3)ทำ MOU เพื่อบันทึกผลสำเร็จของการเจรจา
4)ประกาศพระบรมราชโองการ รองรับเส้นเขตแดนใหม่ที่เป็นผลของการเจรจา

ทุกกรณีจะใช้กฎหมายทะเลสากลเป็นกรอบในการเจรจาทั้งสิ้น (ตามที่ ดร.ประจิตต์ โรจนพฤกษ์ อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ผู้แทนการเจรจากรณี ไทย-มาเลเซีย ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ให้ฟัง)  ส่วน MOU จะเกิดขึ้นเป็นขั้นตอนเกือบสุดท้าย เพื่อบันทึกผลสำเร็จของการเจรจานั้นๆ

การเจรจาทุกประเทศมีเป้าหมายสำคัญสูงสุด คือ การกำหนดเส้นเขตแดนให้ถูกต้องเป็นอันดับแรก ไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ปิโตรเลียม กรณีของไทย มาเลเซีย การพัฒนาร่วมเกิดขึ้นจากการเจรจาจนเหลือพื้นที่เล็กที่สุดแล้วยังตกลงไม่ได้ เรื่องเกาะโลซิน ทางมาเลเซียเห็นว่า มีบ่อน้ำมันอยู่ตรงกลางหากแบ่งพื้นที่คนละครึ่งจะมีปัญหาแย่งกันสูบน้ำมันจึงเสนอการพัฒนาร่วมกัน

กรณี ไทย กัมพูชา จึงผิดแผกแตกต่างจากทุกกรณีที่เคยมีมา เรียกว่า เกิดขึ้นแบบย้อนเกล็ด คือ เกิด MOU ขึ้นก่อน แล้วอ้างว่า MOU เป็นกรอบการเจรจา และอาจขัดพระบรมราชโองการ เพราะนำเส้นเขตแดนทางทะเลที่ผิดกฎหมายสากลของกัมพูชามาใส่ไว้ในแผนที่แนบท้าย แม้จะเขียนไว้ในข้อ 5 ของ MOU ว่าไม่ได้ยอมรับเส้นของกัมพูชา แต่การรับรู้ถึงเส้นอ้างสิทธิที่ผิดกฏหมาย ก็ถือว่า ขัดกับหลักการเดิมโดยสิ้นเชิง

ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวถึงข้อดีของ MOU 44 ผมขอโต้แย้งดังนี้
1. เป็นครั้งแรกที่ตั้งคณะกรรมการเจรจา ไม่มีการเสียดินแดน

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เห็นว่า ไม่ถูกต้อง เพราะเคยมีการเจรจามาแล้ว 3 ครั้ง ใน พ.ศ. 2513 พ.ศ. 2535 และพ.ศ. 2538 ไทยยึดกรอบกฎหมายสากลทางทะเลในการเจรจา กัมพูชาไม่ยอมปฏิบัติตามกฏหมายสากลจึงเจรจาไม่ได้ หากไทยอ่อนข้อให้กัมพูชาละเมิดกฎหมาย ไทยมีแต่จะเสียเปรียบ

2. ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวว่าเจรจาผลประโยชน์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องเจรจาเรื่องเส้นเขตแดนที่ทับซ้อนกันอยู่เป็น Indivisible Package ที่แบ่งแยกไม่ได้

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เห็นว่าข้อนี้อันตราย เพราะกัมพูชาจะยอมเจรจาเส้นเขตแดน 11 องศาเหนือบริเวณเกาะกูดทั้งที่ตามกฎหมายทะเลเป็นของไทยอยู่แล้ว ส่วนพื้นที่ใต้เส้น 11 องศาเหนือ ก็ขุดปิโตรเลียมไปพร้อมกัน แบ่งเงินค่าภาคหลวงกันคนละคนละครึ่ง หากทำเช่นนี้เมื่อใด ก็ตกลงหลุมพรางทันที กัมพูชาจะเอาหลักฐานการแบ่งค่าภาคหลวงซึ่งถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ขึ้นศาลโลกและแบ่งพื้นที่ใต้เส้น 11 องศาเหนือครึ่งหนึ่ง เรียกว่าเสียทั้งปิโตรเลียมเสียทั้งดินแดนไปพร้อมกันแบบ Indivisible Package เรียบร้อยโรงเรียนกัมพูชา!!!

3.  ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวว่า MOU จะไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิของไทยและกัมพูชา หากการเจรจาล้มเหลว

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เห็นว่าข้อนี้ เสียเหลี่ยมให้กัมพูชา เพราะเส้นเขตแดนทางทะเลของกัมพูชานั้นนำไปอ้างที่ไหนในโลกไม่ได้เพราะผิดกฎหมายสากล แต่กลับปรากฏขึ้นในเอกสารราชการไทยที่ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยนำมาลงนามในแถลงการณ์ร่วม ก็จะกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้กัมพูชานำมาอ้างในอนาคตได้เช่นกัน

ส่วนประเด็นที่ ดร.สุรเกียรติ์ ตั้งคำถามว่า หากยกเลิก MOU 44 แล้วจะได้ความตกลงที่ดีกว่านี้หรือไม่ ขอตอบว่ามี คือใช้กฎหมายสากลระหว่างประเทศเป็น กรอบในการเจรจา เหมือนกับกรณีที่เจรจากับมาเลเซีย เวียดนาม และพม่า จนประสบความสำเร็จมาแล้ว

ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านอาจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ทำเรื่องนี้ด้วยความสุจริตใจ และหวังดีต่อชาติบ้านเมือง แต่ข้าราชการบางคนกลับให้ข้อมูลท่านไม่ถูกต้องในการตัดสินใจ ผมกราบขออภัยท่านอาจารย์เป็นอย่างสูงที่จำเป็นต้องโต้แย้ง เพราะ หากให้ MOU 2544 เดินหน้าต่อไปจะ เป็นเรื่องอันตรายต่อบ้านเมืองในอนาคต”

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 29 ธันวาคม 2567

“เลขาฯพปชร.เตรียมดำเนิน คดีแพ่ง-อาญา บุคคลทั้งที่เคยและไม่เคยเป็นสมาชิกพรรค ที่พูดพาดพิงให้ชื่อเสียงพรรคและบุคคลในพรรคเสียหาย ย้ำ เอาผิดให้ถึงที่สุด

,

“เลขาฯพปชร.เตรียมดำเนิน คดีแพ่ง-อาญา บุคคลทั้งที่เคยและไม่เคยเป็นสมาชิกพรรค ที่พูดพาดพิงให้ชื่อเสียงพรรคและบุคคลในพรรคเสียหาย ย้ำ เอาผิดให้ถึงที่สุด

วันนี้(29 พ.ย.)นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายกฎหมายของพรรคพลังประชารัฐ ได้เปิดเผยว่า ตามที่ขณะนี้ปรากฏตามสื่อสารมวลชนต่างๆ มีบุคคลที่ทั้งเคยหรือไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์พาดพิงถึงพรรคหรือบุคคลในพรรคในลักษณะที่ใส่ความอันเป็นเท็จ ทำให้พรรคหรือบุคคลในพรรคถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางเสียหายต่อชื่อเสียง ทำให้ประชาชนที่รับชมสื่อต่างๆเกิดความเข้าใจผิดว่า พรรคหรือบุคคลในพรรค ไปเกี่ยวข้องกับผู้ถูกเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่ากระทำผิดความผิด ทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของพรรคและบุคคลในพรรค

“ฝ่ายกฏหมายของพรรคกำลังรวบรวมพยานหลักฐานจากข่าวหรือคลิปข่าวที่บุคคลทั้งเคยหรือไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ในลักษณะใส่ความด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้พรรคเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง พรรคจะพิจารณาใช้สิทธิทางศาลเพื่อปกป้องชื่อเสียงและเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องของประชาชน ทั้งนี้พรรคจะมอบหมายให้ทนายความดำเนินคดีฟ้องต่อศาลแพ่งและศาลอาญา เพื่อเอาผิดบุคคลดังกล่าวจนถึงที่สุด” นายไพบูลย์ กล่าว 

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 29 ธันวาคม 2567

“สนธิรัตน์” จี้ พรรคร่วมรัฐบาลยึดหลักการ รักษาจุดยืนในอดีต ยกเลิก MOU2544 รักษาผลประโยชน์ชาติ หยุดเอื้อประโยชน์กลุ่มทุน

,

“สนธิรัตน์” จี้ พรรคร่วมรัฐบาลยึดหลักการ รักษาจุดยืนในอดีต ยกเลิก MOU2544 รักษาผลประโยชน์ชาติ หยุดเอื้อประโยชน์กลุ่มทุน

วันนี้ (4 พ.ย.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานศูนย์นโยบายและวิชาการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟสบุ๊คกล่าวถึงกรณีที่นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เปิดเผยข้อมูลใหม่ว่า มติคณะรัฐมนตรีรัฐบาลอภิสิทธิ์ ได้เห็นชอบในหลักการ “ให้ยกเลิก MOU2544” หรือยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับการอ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทย ปี พ.ศ.2544 (MOU2544) ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2552 ซึ่งยังคงมีผลผูกพันทางกฎหมายจนถึงปัจจุบัน

นายสนธิรัตน์ กล่าวต่อว่า พรรคร่วมรัฐบาลในเวลานั้นที่เห็นชอบในหลักการให้ยกเลิก MOU2544 ประกอบไปด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมชาติพัฒนา พรรคกิจสังคม และพรรคมาตุภูมิ ทั้งผู้นำพรรค สมาชิกพรรคหลายท่านก็นั่งอยู่ในรัฐบาลเวลานี้

“ผมจึงอยากเรียกร้องจากทุกพรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบัน ให้ออกมายืนหยัดในจุดยืนเรื่องการยกเลิก MOU2544 แบบที่ทุกท่านที่ได้เห็นชอบร่วมกันใน ครม.เวลานั้น เป็นการร่วมปกป้องผลประโยชน์ของชาติอย่างดีที่สุด ไม่ให้เอื้อประโยชน์ทับซ้อนกับผู้มีอำนาจและกลุ่มทุนใด” นายสนธิรัตน์กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 4 พฤศจิกายน 2567

บิ๊กป้อม ลงใต้ เยี่ยมศูนย์พักพิงใจอุ่นไอรัก ปลูกต้นรวงผึ้ง ไหว้หลวงปู่ทวด ทอดกฐินวัดช้างให้

,

บิ๊กป้อม ลงใต้ เยี่ยมศูนย์พักพิงใจอุ่นไอรัก ปลูกต้นรวงผึ้ง ไหว้หลวงปู่ทวด ทอดกฐินวัดช้างให้

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เดินทางเยี่ยมศูนย์พักพิงร่วมใจอุ่นไอรักเทศบาล ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และปลูกต้นรวงผึ้ง เป็นสัญลักษณ์ความร่วมมือในการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และ ส.ส.พรรค ร่วมคณะ อาทิ นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรค นายสันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรค นายฉกาจ พัฒนกิจวิบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และ ส.ส.พังงา นายชัยมงคล ไชยรบ รองหัวหน้าพรรค และ ส.ส.สกลนคร นายสุธรรม จริตงาม ส.ส.นครศรีธรรมราช และ ส.ส.ของพรรค เช่น นายวิริยะ ทองผา ส.ส.มุกดาหาร เขต 1 นายคอซีย์ มามุ ส.ส.ปัตตานี นายทวี สุระบาล ส.ส.ตรัง

ทั้งนี้ศูนย์พักพิงชั่วคราวจัดขึ้นเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้มีความเข้าใจในหลักการบริหาร จัดการ และแนวทางการปฏิบัติภายในศูนย์พักพิงฯ เมื่อเกิดสาธารณภัยในพื้นที่ติดทะเลทางภาคใต้ ทำให้ประชาชนมีความพร้อมและสามารถปฏิบัติ เมื่อเกิดเหตุภาวะฉุกเฉินได้ ซึ่งภาครัฐสามารถเข้ามาบริหารจัดการช่วยเหลือ ดูแลเบื้องต้นได้อย่างทั่วถึง

จากนั้น พล.อ.ประวิตรเดินทางไปที่ราษฎร์บูรณาราม (วัดช้างให้) ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี โดยสักการะรูปหล่อหลวงปู่ทวด ก่อนเป็นประธานในพิธีทอดกฐินสามัคคี ถวายเครื่องบริวารกฐิน และเครื่องไทยธรรม แก่พระภิกษุสงฆ์ จำนวน 9 รูป

ที่มา: https://www.matichon.co.th/
วันที่: 2 พฤศจิกายน 2567

“หม่อมกร” แฉ ผู้ร้ายตัวจริงปมรถบัสมรณะ คือ ลิ้นปิดเปิดอัตโนมัติไม่ตัดจ่ายก๊าซ เตรียมชง ก.อุตสาหกรรม ยกเลิก มอก.2333 รถบริการต้องได้มาตรฐานยุโรปและ ISO

,

“หม่อมกร” แฉ ผู้ร้ายตัวจริงปมรถบัสมรณะ คือ ลิ้นปิดเปิดอัตโนมัติไม่ตัดจ่ายก๊าซ เตรียมชง ก.อุตสาหกรรม ยกเลิก มอก.2333 รถบริการต้องได้มาตรฐานยุโรปและ ISO

ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แถลงข่าวว่า พรรคพลังประชารัฐได้ติดตามประเด็นปัญหาของรถโดยสารที่ติดตั้งระบบก๊าซ NGV และเมื่อเกิดอุบัติเหตุจะเกิดไฟไหม้รุนแรงมีคนเสียชีวิตนั้น นอกจากเกิดขึ้นจากการติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐานแล้ว ภาครัฐยังกำหนดมาตรฐาน มอก.2333 ที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากลในเรื่องลิ้นเปิดปิดการจ่ายก๊าซที่หัวถัง

ทั้งนี้ มาตรฐาน มอก.ผู้ใช้เลือกได้ว่าจะใช้ลิ้นปิด-เปิดด้วยมือหรือลิ้นปิด-เปิดอัตโนมัติก็ได้ แต่ตามมาตรฐานสากล ต้องมีทั้งลิ้นปิด-เปิดอัตโนมัติ และลิ้นปิด-เปิดด้วยมือ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดเมื่อระบบก๊าซรั่ว จะตัดการจ่ายก๊าซจากถังทันที

ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวต่อว่า พรรคพลังประชารัฐได้ ยื่นหนังสือถึงนายเอกนัฐ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ตรวจสอบเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2567 และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี และล่าสุดได้รับทราบความคืบหน้าจากท่านรัฐมนตรี รวมถึงได้พบกับผู้แทนของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ในการประชุมเสวนาจัดโดยสภาของผู้บริโภค ได้รับคำตอบว่า มาตรฐาน มอก.2333 แตกต่างจากมาตรฐานยุโรป ECE R110 และ ISO15501 ตามข้อร้องเรียนของพรรคฯ จริง

“พรรคพลังประชารัฐจึงเสนอแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมกับพี่น้องคนไทยขึ้นอีก ควรกำหนดให้รถโดยสารสาธารณะต้องติดตั้งลิ้นปิด-เปิดอัตโนมัติ (โซลินอยด์วาล์ว) เพิ่มเติมที่ถังทุกใบ ปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายประมาณ 2,000-3,000 บาทต่อถัง ซึ่งคุ้มค่าต่อการรักษาชีวิตคน โดยทางพรรคพลังประชารัฐ จะหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมโดยเร็ว“ ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าว

ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับรถเก่าที่มีการติดตั้งถังไว้แล้วมีความเป็นไปได้ 2 แนวทาง คือ 1.ยกเลิก มาตรฐาน มอก.2333 จะทำให้รถที่ให้บริการอยู่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานยุโรป ECE R110 และ ISO15501 เร่งดำเนินการปรับปรุงมาตรฐาน มอก.2333 ให้เทียบเท่ามาตรฐานยุโรป ECE R110 และ ISO15501 ทุกประการ ส่วนรถใหม่ต้องเพิ่มเติมเรื่องจุดตั้งถังมีสองแนวทาง คือ บนหลังคารถหรือส่วนที่ท้ายสุดของรถ พร้อมติดตั้งผนังกันไฟและช่องระบายก๊าซออกนอกตัวรถด้านบน ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ย้ำว่า พรรคพลังประชารัฐยึดมั่นผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง แม้เป็นฝ่ายค้านก็ทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อพี่น้องประชาชนได้

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 1 พฤศจิกายน 2567

พปชร.เตือนรัฐบาล เศรษฐกิจไทยอาจก้าวสู่จุดพลิกผันจะฟื้นหรือฟุบ แนะแก้ 2 โจทย์ใหญ่ เร่งฟื้นเศรษฐกิจ “แก้หนี้ครัวเรือน-กระตุ้นขีดความสามารถแข่งขัน” ชี้ ศก.จะเติบโตต้องมีวินัยการคลัง สร้างความเชื่อมั่นต่างชาติ

,

พปชร.เตือนรัฐบาล เศรษฐกิจไทยอาจก้าวสู่จุดพลิกผันจะฟื้นหรือฟุบ แนะแก้ 2 โจทย์ใหญ่ เร่งฟื้นเศรษฐกิจ “แก้หนี้ครัวเรือน-กระตุ้นขีดความสามารถแข่งขัน” ชี้ ศก.จะเติบโตต้องมีวินัยการคลัง สร้างความเชื่อมั่นต่างชาติ

เมื่อวันที่ 1 พ.ย.67 เวลา 11.00 น.ที่พรรคพลังประชารัฐ ดร.อุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานร่วมศูนย์นโยบายและวิชาการพรรคพลังประชารัฐ ร่วมกันแถลงข่าวส่งสัญญาณเตือนรัฐบาลให้ตระหนักถึงภาวะเศรษฐกิจไทยที่กำลังเข้าสู่จุดพลิกผัน ท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจโลก เน้นย้ำรัฐบาลต้องเร่งฟื้นคืนเศรษฐกิจให้กลับมา แก้หนี้อย่างจริงจัง ลดค่าใช้จ่ายพลังงาน พร้อมยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ

โดย ดร.อุตตม ชี้ว่าเศรษฐกิจเพื่อนบ้านอาเซียนเติบโตและฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง เช่น เวียดนามโต 6.1% ฟิลิปปินส์ 6.0% อินโดนีเชีย 5.0% มาเลเซีย 4.9% และสิงคโปร์ 3.0% แต่ประเทศไทยยังคงฟื้นตัวช้าและโตต่ำเพียง 2.4% (World Bank) โตสูงกว่าพม่า (1%) ประเทศเดียวเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับโพลสำรวจ ม.หอการค้า (ล่าสุด ก.ย.67) ที่พบว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดในรอบ 18 เดือน (เหลือ 48.8%) สะท้อนความวิตกกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เชื่อมั่นในสถานการณ์ปัจจุบัน แม้แจกเงิน 10,000 บาท

ดร.อุตตม กล่าวเพิ่มเติมว่า หากรัฐบาลไม่สามารถสร้างความแข็งแกร่งภายในประเทศได้ เศรษฐกิจไทยยิ่งฟื้นตัวช้า การเติบโตที่ไม่เพียงพอจะทำให้ไทยเสียโอกาสทางการค้าและดึงดูดเงินลงทุน รวมทั้งพัฒนาประเทศ และล่าสุด IMF คาดปี 2571 ขนาดเศรษฐกิจเวียดนามและฟิลิปปินส์จะแซงไทย ขนาดเศรษฐกิจไทยจะหล่นเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน เหตุเพื่อนบ้านโตสูงกว่าไทยถึง 2 เท่าทุกปี ขณะที่ SCB EIC เตือนไทยเสี่ยงถูกลดเครดิตเรตติ้ง ทั้งหมดสะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วน ต้องฟื้นคืน พร้อมปฏิรูประบบเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง

ดร.อุตตม กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลมี 2 โจทย์ใหญ่ในการแก้เศรษฐกิจ คือ 1.เร่งฟื้นเศรษฐกิจให้กลับคืนมาโดยเร็ว แก้หนี้อย่างจริงจัง โดยหนี้ครัวเรือนไทยสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก แตะระดับ 16.32 ล้านล้านบาท หรือ 89.61% ของ GDP รัฐบาลประกาศแก้หนี้เป็นนโยบายเร่งด่วนลำดับแรก โดยรัฐบาลต้องปรับโครงสร้างให้ลูกหนี้สามารถชำระได้จริง พร้อมเพิ่มทักษะ สร้างโอกาสหารายได้ และต้องเริ่มจากฐานรากอย่างเท่าเทียม ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย

ด้านนายสนธิรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า ในฐานะที่เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและกระทรวงพาณิชย์ ตนเห็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลในสามเรื่อง ซึ่งสร้างผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนเป็นวงกว้าง อยากใช้โอกาสนี้ให้ข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล เพื่อจะได้ตอบสนองต่อความคาดหวังของพี่น้องประชาชนให้ทันสถานการณ์ยิ่งขึ้น

“รัฐบาลเพื่อไทยได้เคยประกาศนโยบายในช่วงหาเสียงไว้ว่า จะลดราคาน้ำมัน ลดค่าไฟฟ้า ลดราคาก๊าซหุงต้ม เป็นชุดนโยบายพลังงานที่ประกาศออกไปเพื่ออยากจะได้คะแนนเสียงจากพี่น้องประชาชน แต่เมื่อจัดตั้งรัฐบาลแล้ว มีอำนาจแล้ว ต้องถามว่า ได้ลงมือขับเคลื่อนนโยบายตามที่ได้ประกาศไว้หรือไม่ อีกทั้งก็ไม่ได้กำชับให้กระทรวงพลังงานดำเนินนโยบายลดค่าครองชีพของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน หรือเป็นเพียงการอุดหนุนระยะสั้น แต่ปัญหาโครงสร้างยังมีความไม่ชัดเจน” นายสนธิรัตน์ กล่าว

นายสนธิรัตน์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่เป็นห่วงคือการจะเปิดประมูลไฟฟ้ารอบใหม่ ที่อาจมีความไม่โปร่งใสจนเกิดการฟ้องร้องเหมือนการประมูลในรอบที่ผ่านมา เช่น การเน้นคุณสมบัติผู้สมัครและความพร้อมของโครงการที่น่าจะทำให้เกิดการแข่งขันทั้ง 3 มิติ มากกว่าการ Fix ราคา ซึ่งจะทำให้การเปิดประมูลนำไปสู่ราคาค่าไฟฟ้าที่ถูกลง การเร่งประมูลเพื่อเป้าหมายพลังงานสีเขียวรองรับอนาคต แต่ในแผน PDP โดยรวมปริมาณเกินกว่าความต้องการใช้หรือไม่ และภาระจะตกต่อประชาชนแค่ไหน การประมูลควรกำหนดราคาควบคู่ไปกับประเภทของเทคโนโลยีที่จะผลิตไฟฟ้า และควรมีทิศทางราคาที่ถูกลงเนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ๆ มีต้นทุนถูกลง จะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า และการประมูลต้องโปร่งใส ไม่สร้างความกังขาให้สังคม

“ในการแถลงข่าวครั้งที่แล้ว ตนได้วิจารณ์ถึงนโยบายเติมเงินในบัตรประชารัฐ 1 หมื่นบาท ซึ่งเป็นการทำงานไม่ตรงปกกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่ได้เคยประกาศไว้เมื่อตอนหาเสียง เมื่อแจกเงิน 1 หมื่นบาท ในเดือนกันยายน ซึ่งนิด้าโพลบอกว่า คนเอาเงินไปใช้หนี้ ไปใช้จ่ายทั่วไป รวมถึงเป็นเงินเก็บ จึงทำให้พายุหมุนทาง ศก.ไม่เกิด เงินไม่ถูกใช้เป็นทอดๆ ขณะที่นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 2 ก็ยังไม่มีความชัดเจน วันนี้จะเห็นว่าสองนโยบายเรือธงของรัฐบาลเพื่อไทยที่ประกาศไว้ ทั้งราคาพลังงานและดิจิตอลวอลเลตยังไม่ตรงปก ไม่สร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจ” นายสนธิรัตน์กล่าว

นายสนธิรัตน์ กล่าวต่ออีกว่า หลายสัปดาห์ก่อนได้เห็นรัฐบาลดำเนินโครงการที่เป็นภาคต่อของโครงการแจกเงิน 1 หมื่น ชื่อโครงการฟื้นฟู ศก.ดำเนินการโดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งประกาศว่าจะสามารถกระตุ้น ศก.ได้มากถึง 110,000 ล้านบาท ตนได้ไปตรวจสอบตัวเลขของโครงการนี้ รู้สึกว่าเป็นการประเมินที่เกินจริง เขาประเมินกันว่า กลุ่มที่ได้รับเงิน 1 หมื่นบาท น่าจะนำเงินมาใช้จ่ายซื้อสินค้าราคาถูก ประมาณคนละ 5 พันกว่าบาท ซึ่งเป็นทั้งอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องใช้ภายในบ้าน เครื่องแต่งกาย เมื่อนำเงิน 5 พันกว่าบาท คูณด้วยจำนวนประชาชนประมาณ 14 ล้านคน ก็จะเป็นเงินประมาณ 78,000 ล้านบาท การประเมินตัวเลขแบบนี้ต้องทบทวน เพราะเหมารวมเกินไป รัฐบาลแน่ใจหรือไม่ว่า ประชาชนใช้เงินกับกิจกรรมอะไร ใช้ผ่านการจัดกิจกรรมของรัฐบาลหรือไม่ วันนี้ รัฐบาลก็ตอบคำถามนี้ได้ไม่ชัดเจน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมาของรัฐบาลอาจไม่บรรลุเป้าหมายอย่างที่ต้องการ

ดร.อุตตม กล่าวต่อว่า โจทย์ที่ 2 คือ การเร่งยกระดับขีดความสามารถของประเทศ ด้วยการเร่งลงทุนเพิ่มทักษะคนไทย สร้างความเข็มแข็งตั้งแต่เศรษฐกิจฐานรากพร้อมยกระดับศักยภาพ SME ส่งเสริมอุตสาหกรรม ยุทธศาสตร์ปฏิรูประบบภาษีอากรและงบประมาณ พร้อมสังคยานากฎหมายที่เป็นอุปสรรค เพราะการส่งออกไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ยอดส่งออกของไทย 9 เดือนแรก ขยายตัว 3.9% ส่วนเวียดนามและมาเลเซียพุ่ง 15.3% และ 8.4% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมยังขยายตัวต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาค นอกจาก ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุน ต้องดู ‘เม็ดเงินลงทุนจริง’ ในระบบเศรษฐกิจ

“การจัดงบประมาณเพื่อฟื้นเศรษฐกิจต้องคุ้มค่า ลำดับความสำคัญ การเติบโตต้องควบคู่กับวินัยการคลัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นจากภายในและเรียกคืนความน่าเชื่อถือจากนานาชาติ จะทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ฟุบลงท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงในเวทีโลก” ดร.อุตตม กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ประเด็นสุดท้ายเกี่ยวข้องกับปากท้องของคนเป็นวงกว้างคือ พี่น้องผู้ประกอบการ SME ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ตรงนี้ ขอฝากโจทย์ให้รัฐบาล ทบทวนว่า ได้ออกมาตรการปกป้องต่อผลกระทบที่มีต่อ SME อย่างไร รวมทั้งเราจะมีมาตรการชัดเจนที่จะปกป้อง SME อย่างอินโดนีเซียหรือไม่ ที่เขาดำเนินมาตรการอย่างเด็ดขาดเพื่อปกป้องผู้ประกอบการภายในประเทศ อีกทั้งมาตรการช่วยเหลือส่งเสริมพี่น้อง SMEs ชาวไทย ยังไม่เห็นความชัดเจนดีพอ เป็นคำถามและโจทย์การบริหารประเทศที่อยากฝากให้กับรัฐบาล

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 1 พฤศจิกายน 2567

พรรคพลังประชารัฐ ประกาศแต่งตั้ง ‘อัคร ทองใจสด’ รองโฆษกพรรค ดึงคนรุ่นใหม่เสริมศักยภาพภารกิจสื่อสารครอบคลุมทุกมิติเพื่อ ปชช.

,

พรรคพลังประชารัฐ ประกาศแต่งตั้ง ‘อัคร ทองใจสด’ รองโฆษกพรรค ดึงคนรุ่นใหม่เสริมศักยภาพภารกิจสื่อสารครอบคลุมทุกมิติเพื่อ ปชช.

(31 ตุลาคม 2567) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ลงนามในคำสั่งที่ 28/2567 เพื่อแต่งตั้ง นายอัคร ทองใจสด เข้ารับตำแหน่งรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ โดยมีภารกิจสำคัญ เพื่อสื่อสาร และประชาสัมพันธ์ถึงแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย มุ่งแก้ไขปัญหาปากท้องความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน รวมถึงการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ธำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยเป้าหมายของการเป็น “พรรคอนุรักษ์นิยม ทันสมัย”
 
ทั้งนี้ การแต่งตั้งเป็นไปตามข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ พ.ศ.2561 ข้อ 17 (1) (ช) ซึ่งได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับภารกิจที่เปลี่ยนแปลง โดยพรรคเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารที่ชัดเจน โปร่งใส และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง จึงแต่งตั้งให้นายอัคร ทองใจสด สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่เป็นรองโฆษกพรรค เพื่อเข้ามาทำหน้าที่เสริมทัพให้กับทีมโฆษกของพรรค พร้อมสานต่อภารกิจด้านประชาสัมพันธ์ให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งที่สภาผู้แทนราษฎรและที่พรรคพลังประชารัฐ

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 31 ตุลาคม 2567