โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

ป้ายกำกับ: ข่าวกิจกรรมพรรค

“พล.ต.อ.พัชรวาท” นำทีมพปชร.รวมพลังสามัคคี รุกสานต่อนโยบายช่วยเหลือประชาชนกินดีอยู่ดี

,

“พล.ต.อ.พัชรวาท” นำทีมพปชร.รวมพลังสามัคคี
รุกสานต่อนโยบายช่วยเหลือประชาชนกินดีอยู่ดี

วันที่ 21 ตุลาคม 2566 ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ภูเก็ต รีสอร์ท จ.ภูเก็ต – พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้จัดสัมมนาพรรคในหัวข้อ “รวมพลังสามัคคี” โดยมีพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะที่ประธานที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐ ได้รับมอบหมาย จากพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ทำหน้าที่ เป็นประธานในการเปิดสัมมนา พร้อมด้วยผู้บริหารพรรค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สส. และกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ทั้ง 8 ด้านของพรรค ร่วมสัมมนาอย่างพร้อมเพรียง

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐได้กล่าวเปิดสัมมนาในครั้งนี้ว่า ขอต้อนรับสส. ทุกคน คณะกรรมการบริหารพรรค กรรมการยุทธศาสตร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ตนในฐานะตัวแทนพลเอกประวิตร มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาพบกับทุกท่านในการสัมมนาอุดมการณ์ผ่านผลงานของพรรคพลังประชารัฐ ในวันนี้ถือเป็นการสัมมนาเป็นครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกคนได้สร้างความสนิทสนมคุ้นเคยกัน รวมหัวใจพลังประชารัฐให้เป็นหนึ่งเดียว

ทั้งนี้ในยุทธศาสตร์ของพรรคในผลงานที่ผ่านมาโดยพรรคพลังประชารัฐก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2561 และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล มีนโยบายที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มุ่งเน้นในการสร้างความสามัคคีปรองดองให้เป็นประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ ไร้ความขัดแย้งและมุ่งเน้นในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนที่ถือเป็นเจตนารมย์อันดีที่ดำรงไว้ในข้อบังคับของพรรคด้วย

ในช่วงที่พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลที่ผ่านมา ก็ได้สร้างผลงานเพื่อเป็นประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการน้ำ การดูแลประชาชนให้กินดีอยู่ดี จัดการที่ดินทำกิน และยังได้มีโยบายใหม่ ๆ ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ทางพรรคตระหนักถึงความท้าทายที่จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของพรรคที่ได้เสนอเอาไว้ ซึ่งพรรคก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเชิงยุทธศาสตร์ในการเข้ามาปฏิรูปประเทศ ทั้งนี้ ตนขอให้บุคลากรของพรรคทุกท่านร่วมแรง ร่วมใจกันทำงานเพื่อประชาชน ไปด้วยกันสุดท้ายนี้ผมขอให้การสัมมนาในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและลุล่วงทุกประการ

อย่างไรก็ตาม การสัมมนาในวันนี้ มีคณะกรรมการบริหารพรรค และ สส.ของพรรรพลังประชารัฐ เข้าร่วมอย่างคับคั่ง ประกอบด้วย รองหัวหน้าพรรค 5 คน ได้แก่ นายสันติ พร้อมพัฒน์,นายวิรัช รัตนเศรษฐ,นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์,นายไพบูลย์ นิติตะวัน,น.ส.ตรีนุช เทียนทอง และนายวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรค นอกจากนี้ ยังมีทีมยุทธศาสตร์ของพรรคทั้ง 8 คณะ ประกอบด้วย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานกรรมการด้านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์,นายอุตตม สาวนายน ประธานกรรมการด้านนโยบายและการปฏิรูปเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน,นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานกรรมการด้านวิชาการ,นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ประธานกรรมการด้านความสัมพันธ์องค์กรและการต่างประเทศ,พล.ต.อ. ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ ประธานกรรมการด้านประสานงานและอำนวยการ

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 22 ตุลาคม 2566

“พล.ต.อ.พัชรวาทฯรับข้อห่วงใยนายกรัฐมนตรีถึงการลักลอบค้าสัตว์ป่า สั่งกรมอุทยาน ทุกหน่วยปราบปราม ลักลอบค้าสัตว์ป่าตามแนวชายแดน ทุกแหล่งค้าในประเทศ ประสานศุลกากร ตำรวจ ทหาร จับกุมขบวนการข้ามชาติ

,

“พล.ต.อ.พัชรวาทฯรับข้อห่วงใยนายกรัฐมนตรีถึงการลักลอบค้าสัตว์ป่า สั่งกรมอุทยาน ทุกหน่วยปราบปราม ลักลอบค้าสัตว์ป่าตามแนวชายแดน ทุกแหล่งค้าในประเทศ ประสานศุลกากร ตำรวจ ทหาร จับกุมขบวนการข้ามชาติ

วันที่ 13 ตุลาคม 2566 ที่ห้องประชุมหน่วยข่าวกรองอาชญากรรมสัตว์ป่า (WILDLIFE CRIME INTELLIGENCE UNIT) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เป็นประธานการประชุม โดยได้กล่าวว่า ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีมีข้อห่วงใยการลักลอบค้าสัตว์ป่าผ่านชายแดนประเทศไทยและมาเลเซีย
ด้าน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงมีข้อสั่งการเกี่ยวกับการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายภายในประเทศและบริเวณแนวชายแดน จุดผ่านแดนถาวร จุดผ่านแดนชั่วคราว จุดผ่อนปรน ช่องทางธรรมชาติ ซึ่งอยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการที่พล.ต.อ.พัชรวาทฯ ได้มีนโยบายด้านการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยมุ่งถอนรากถอนโคนกลุ่มขบวนการให้ได้ ปัญหาหนึ่งก็คือการลักลอบนำสัตว์ป่าผิดกฎหมายผ่านเข้าออกบริเวณจุดผ่านแดนถาวร จุดผ่านแดนชั่วคราว จุดผ่อนปรน ตลอดจนช่องทางธรรมชาติต่างๆ

ทั้งนี้ได้มีการเรียกประชุมด่วน นำโดยนายประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา (ไซเตส) หัวหน้าด่านตรวจสัตว์ป่าทั่วประเทศ จำนวน 47 ด่าน นายพนัชกร โพธิบัณฑิต ผู้อำนวยการส่วนยุทธการด้านการป้องกันและปราบปราม นายนาวี ช้างภิรมย์ หัวหน้าชุดปฏิบัติการเหยี่ยวดง นายยุทธพงศ์ ดำศรีสุข เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษพญาเสือ สำนักป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายให้เข้มงวดรัดกุมมากยิ่งขึ้น

โดยได้รับรายงานจากหัวหน้าด่านตรวจสัตว์ป่า ซึ่งอยู่ติดกับแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ว่าสถานการณ์การลักลอบค้าสัตว์ป่าในปัจจุบัน ยังปรากฏอยู่บ้าง โดยเฉพาะการลักลอบนำสัตว์ป่าผิดกฏหมายผ่านช่องทางธรรมชาติต่างๆ โดยได้รับรายงานจากหัวหน้าด่านตรวจสัตว์ป่าเชียงของ

ว่าเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการตรวจยึดซากสัตว์ป่าที่ลักลอบนำเข้ามาจากจากประเทศเพื่อนบ้าน บรรจุใส่ถุงเข้ามาขายในฝั่งประเทศไทยประกอบด้วย ซากเม่นใหญ่ ซากเก้ง และหมีขอ จึงได้ตรวจยึดดำเนินคดีตามกฎหมายไปแล้ว สำหรับด่านตรวจสัตว์ป่าซึ่งอยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านในพื้นที่อื่นๆ ทราบว่ามีการกระทำผิดในลักษณะเดียวกันปรากฏอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม นายอรรถพลฯได้มอบหมายและสั่งการในที่ประชุมเพื่อกำหนดแผนการปฎิบัติโดยเร่งด่วนต่อไป

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 15 ตุลาคม 2566

สส.พปชร.ร่วมงานเลี้ยงรับรองสมาชิกสภาผู้แทนฯ รุ่นที่ 26 สานสัมพันธ์อันดีรัฐบาลไทย-สหรัฐฯ

,

สส.พปชร.ร่วมงานเลี้ยงรับรองสมาชิกสภาผู้แทนฯ รุ่นที่ 26 สานสัมพันธ์อันดีรัฐบาลไทย-สหรัฐฯ

วันอังคารที่ 10 ตุลาคม 2566 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)ได้ร่วมงานเลี้ยงรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 ตามคำเชิญของสถานเอกอัครราชฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย โดยมี สส.ในฐานะตัวแทนของพรรคเข้าร่วมงาน อาทิ นายวิริยะ ทองผา สส. มุกดาหาร เขต 1, นายคอซีย์ มามุ สส.ปัตตานี เขต 2 , นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ สส.ชัยภูมิ เขต 7 , นายชัยมงคล ไชยรบ สส. สกลนคร เขต 5 และนายอัคร ทองใจสด สส. เพชรบูรณ์ เขต 6 โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการสานสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันนิติบัญญัติไทยกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

ทั้งนี้ ภายในงานได้มีตัวแทนจากสถานฑูตต่างๆ สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) และนักวิชาการ เข้าร่วมงานอย่างพร้อมเพียง ณ ทำเนียบเอกอัครราชฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ถนนวิทยุ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 11 ตุลาคม 2566

“พัชรวาท” มอบโล่ผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก ปิดเวที TCAC 2023 ปลื้มทุกภาคส่วนตอบรับร่วมขับเคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

,

“พัชรวาท” มอบโล่ผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก ปิดเวที TCAC 2023 ปลื้มทุกภาคส่วนตอบรับร่วมขับเคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

วันนี้ (7 ตุลาคม 2566) เวลา 11.00 น. พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ องค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก (Climate Action Leading Organization: CALO) จำนวน 15 องค์กร และ ผู้นำเยาวชนและภาคประชาสังคม จำนวน 5 ราย ในการปิดเวทีการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2 หรือ Thailand Climate Action Conference: TCAC 2023 ภายใต้แนวคิด “สานพลัง เสริมภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยมี นายนพดล พลเสน เลขานุการ รมว.ทส. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ผู้แทนภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เยาวชน และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ

การจัดประชุม TCAC 2023 ตลอด 2 วันที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 3,700 คน จาก 48 ประเทศ โดยการประชุมในวันที่ 2 นี้ เปิดเวทีด้วยการเสวนาในหัวข้อ การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Long Term Climate Resilience) โดย ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย นายศุภกร ชินวรรโณ นักวิชาการอิสระ และนายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการรับฟังเสียงสะท้อน เพื่ออนาคตไทย (Climate Action We Want) จากภาคประชาชนและเยาวชน ได้แก่ นายจิระภัทร ศรีทะวงษ์ ผู้แทนเยาวชน Net – Zero Thailand: ACE Youth Ideathon Camp นางสาวโทโมโกะ อิคุตะ ผู้แทนเยาวชนไทยที่เข้าร่วมการประชุม COP27 นายณัฐชนน ไตรธรรม ผู้แทนเครือข่ายเยาวชนระดับโลกเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพประจำประเทศไทย (Global Youth Biodiversity Network: GYBN Thailand) นางสาวประไพ เรืองฤทธิ์ กรรมการและเลขานุการเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) จ.ระนอง และนายสาคร สงมา ประธานสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

นอกจากนี้ ยังมีการแถลงข่าวสรุปผลการจัดประชุม TCAC 2023 โดยมีการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดงานระหว่างวันที่ 6 – 7 ตุลาคม 2566 ซึ่งคำนวณจากข้อมูลการเดินทางเข้าร่วมงาน การใช้พลังงานไฟฟ้าในการจัดงาน ปริมาณขยะที่เกิดขึ้น และการจัดเลี้ยงอาหารว่างและเครื่องดื่ม พบว่า มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวม 3,200 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และได้มีการนำคาร์บอนเครดิตจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ T-VER ประเภทการผลิตพลังงานทดแทนจากเชื้อเพลิงชีวมวลมาชดเชย เพื่อให้เวทีการประชุม TCAC 2023 มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Carbon Neutral Event และผลจากการประชุมในครั้งนี้ จะถูกนำไปเสนอในช่วงสมัยประชุมสมัชชารัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 28 (COP28)​ ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน -​12 ธันวาคม 2566 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังและความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนที่จะนำพาประเทศไทยให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 7 ตุลาคม 2566

“รมว.ธรรมนัส” ติดตามสถานการณ์การนำเข้า – ส่งออกสินค้าเกษตรด่านพรมแดนถาวร อ.แม่สอด จ.ตาก เข้มเดินหน้าปราบสินค้าเกษตรเถื่อนลักลอบ รักษาผลประโยชน์ปชช.

,

“รมว.ธรรมนัส” ติดตามสถานการณ์การนำเข้า – ส่งออกสินค้าเกษตรด่านพรมแดนถาวร อ.แม่สอด จ.ตาก เข้มเดินหน้าปราบสินค้าเกษตรเถื่อนลักลอบ รักษาผลประโยชน์ปชช.

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามงาน และพบพี่น้องเกษตรกร ผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดตาก ณ ห้องประชุมเพชรน้ำหนึ่ง ชั้น 6 สำนักงานเทศบาลนครแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ว่า จากนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้กำหนดมาตรการประกาศสงครามกับสินค้าเกษตรเถื่อน มุ่งปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง จึงก่อให้เกิดปัญหาการลักลอบขนส่งสินค้า ซึ่งพื้นที่จังหวัดตากนั้น เป็นพื้นที่ตะเข็บขายแดนระหว่างไทย – เมียนมา ระยะทางประมาณ 533 กิโลเมตร จึงทำให้มีการลักลอบนำเข้าสินค้าทางช่องทางธรรมชาติได้ง่าย ซึ่งเป็นวิถีชาวบ้านที่มีการปลูกพืชในฝั่งพม่า เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วจึงมีการลักลอบมาฝั่งไทย การขนส่งสินค้าทางการเกษตรผ่านด่านพรมแดนถาวร จังหวัดตาก มีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบการปฏิบัติงาน จำนวน 3 ด่าน ประกอบด้วย ด่านกักกันสัตว์ตาก ด่านตรวจพืชแม่สอด และด่านตรวจประมงตาก ดำเนินการตรวจสอบควบคุมการเคลื่อนย้ายสินค้าเกษตร การออกใบอนุญาตต่างๆ รวมถึงการป้องกันการลักลอบนำเข้า – ส่งออกสินค้า ทั้งทำการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ ข้อมูลข่าวสารของทางราชการให้เกษตรกรและผู้ประกอบการได้ทราบ ให้เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องโรคระบาด และความเสียหายเนื่องจากการเกิดโรคระบาด เนื่องจากกรมปศุสัตว์ได้ห้ามนำเข้าโค กระบือ แพะ และแกะ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ จึงก่อให้เกิดปัญหาการลักลอบขนส่งสินค้าข้ามแดนผ่านช่องทางธรรมชาติ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด
รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า จากการหารือในวันนี้ ได้มอบนโยบายให้ทางกรมปศุสัตว์ เตรียมปลดล็อคคำสั่งชะลอการนำเข้าโค – กระบือ และสัตว์ต่างๆเข้าสู่ราชอาณาจักรไทย พร้อมให้ทางกรมปศุสัตว์ หาแนวทางร่วมกับผู้ประกอบการเกี่ยวกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในสัตว์ สร้างความร่วมมือระหว่างไทยและเมียนมา ด้านความรู้การผลิต และพัฒนาสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน มีการเจรจาการค้าระหว่างประเทศให้เป็นไปตามกฎหมายการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรในเงื่อนไขเดียวกัน
ทั้งนี้ การนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรผ่านด่านชายแดน (ด่านตรวจพืชแม่สอด ด่านกักกันสัตว์ตาก และด่านตรวจประมงตาก) ดังนี้ 1) ด่านตรวจพืชแม่สอด (1 ต.ค. 65 – 25 ก.ย. 66) มีสินค้าเกษตรนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เมล็ดข้าวโพด 539,926 ตัน มูลค่า 6,334 ล้านบาท แป้งข้าวข้าวจ้าว 162,438 ตัน มูลค่า 657 ล้านบาท และแป้งข้าวกล้อง 39,981 ตัน มูลต่า 619 ล้านบาท ด้านสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ข้าวโพด 4,888 ตัน มูลค่า 521 ล้านบาท กากถั่วเหลือง 5,392 ตัน มูลค่า 120 ล้านบาท และแอปเปิ้ล 780 ตัน มูลค่า 23 ล้านบาท 2) ด่านกักกันสัตว์ตาก ในปี 2566 สินค้าปศุสัตว์นำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ โค 78,722 ตัว มูลค่า 2,361 ล้านบาท กระบือ 5,876 ตัว มูลค่า 176 ล้านบาท และแพะ 90,562 ตัว มูลค่า 135 ล้านบาท สินค้าซากสัตว์นำเข้า ได้แก่ หนังโค-กระบือหมักเกลือ 482 ตัน มูลค่า 14 ล้านบาท ส่วนสินค้าปศุสัตว์ส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ไก่ไข่ปลดระวาง 2,063,683 ตัว มูลค่า 82 ล้านบาท สุกรขุน 15,020 ตัว มูลค่า 60 ล้านบาท และสุกรพันธุ์ 4,428 ตัว มูลค่า 17 ล้านบาท สินค้าซากสัตว์ส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เนื้อไก่ 4,627 ตัน มูลค่า 323 ล้านบาท ไส้กรอกไก่ 3,587 ตัน มูลค่า 179 ล้านบาท และไส้กรอกหมู 2,013 ตัน มูลค่า 100 ล้านบาท 3) ด่านตรวจประมงตาก ปี 2566 สินค้าสัตว์น้ำนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ปลายี่สกเทศ 750 ตัน มูลค่า 59 ล้านบาท หอยแครง 837 ตัน มูลค่า 42 ล้านบาท และกุ้งเคย 1,319 ตัน มูลค่า 20 ล้านบาท สำหรับสินค้าสัตว์น้ำส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ปลาทรายแดง (ลูกชิ้น) 1,673 ตัน มูลค่า 175 ล้านบาท หอยนางรม (ซอส) 2,668 ตัน มูลค่า 122 ล้านบาท และปลากะตัก (น้ำปลา) 3,022 ตัน มูลค่า 93 ล้านบาท

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 7 ตุลาคม 2566

“นายกเศรษฐา” ควงคู่ “พัชรวาท” เปิดประชุม TCAC 2023 ตั้งเป้าประสานความร่วมมือ เร่งแก้โลกร้อน-ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นรูปธรรม

,

“นายกเศรษฐา” ควงคู่ “พัชรวาท” เปิดประชุม TCAC 2023 ตั้งเป้าประสานความร่วมมือ เร่งแก้โลกร้อน-ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นรูปธรรม

วันนี้ (6 ตุลาคม 2566) พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ และคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ให้การต้อนรับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในโอกาสให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2 (Thailand Climate Action Conference: TCAC 2023) ภายใต้แนวคิด “สานพลัง เสริมภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยมีคณะรัฐมนตรี เอกอัครราชทูต องค์กรระหว่างประเทศ ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ว่าราชการจังหวัด เข้าร่วมการประชุม ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-7 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ในช่วงพิธีเปิดการประชุม พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.ทส. ได้กล่าวรายงานต่อนายกรัฐมนตรีว่า ในนามของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดงาน TCAC 2023 ซึ่งถือเป็นเวทีสำคัญในการสร้างพลังขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ในทุกระดับและทุกภาคส่วน ในการมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 และการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามที่ได้แสดงเจตจำนงไว้ต่อประชาคมโลก รวมถึงเผยแพร่ความก้าวหน้าการดำเนินงาน การถ่ายทอดเป้าหมายระดับโลก มาสู่ทิศทางการดำเนินงานในประเทศไทย เพื่อให้รู้เท่าทันสถานการณ์และร่วมกันสร้างความพร้อมในการนำไปสู่การปฏิบัติในทุกระดับ โดยเฉพาะในระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม

“การจัดประชุม TCAC 2023 เป็นหนึ่งในเวทีสำคัญของประเทศไทย ที่จะมีการนำเสนอ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความคาดหวัง เพื่อนำไปสู่การดำเนินงานที่ชัดเจน สามารถจับต้องได้ โดยผลจากการประชุมครั้งนี้จะนำไปรายงานในช่วงสมัยประชุมสมัชชารัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 28 (COP28) ซึ่งมีกำหนดจัดในระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2566 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะผลักดันประเด็นการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy transition) และการยกระดับเศรษฐกิจไปสู่การค้าการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ (Climate’s capital) ต่อไป” พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าว

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวในช่วงพิธีเปิดตอนหนึ่งว่า สำหรับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ หากปราศจากความร่วมมือจากทุกคนในสังคม ดังนั้นจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นทุกภาคส่วนมาร่วมงานในวันนี้ หวังว่าการประชุมในวันนี้จะเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิด เสริมสร้างความร่วมมือ และดำเนินงานร่วมกัน เพราะเชื่อว่าถ้าเราร่วมมือกัน เราสามารถบรรลุสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังถือเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยและภาคธุรกิจที่จะขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืน ผ่านการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ในภาคการผลิตและบริการ ซึ่งปัจจุบันองค์กรชั้นนำส่วนใหญ่มีการส่งเสริมการใช้มาตรการเพื่อความยั่งยืนด้วยแล้ว และหวังให้การประชุมในครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ โดยรัฐบาลยินดีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการประชุมในครั้งนี้ด้วย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

หลังพิธีเปิด รองนายกฯ และรมว.ทส. ยังได้นำ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยผู้นำในภาครัฐ ภาคธุรกิจ เยี่ยมชมการจัดนิทรรศการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งนิทรรศการทั้งจากภาครัฐและเอกชนในงาน Sustainability Expo 2023 (SX2023) ภายใต้แนวคิด “สมดุลที่ดี เพื่อโลกทีดีกว่า” Good Balance, Better World ซึ่งประกอบด้วย กิจกรรม และสาระมากมายให้ร่วมสนุก และเพลิดเพลินไปกับความรู้รอบตัว ทั้งเรื่่องอาหาร สุขภาพ การใช้ชีวิตประจำวัน ไปจนถึง ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ พลังงาน ความหลากหลายทางชีวภาพ บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ฯลฯ และโมเดลต้นแบบด้านความยั่งยืนมิติต่างๆ ของภาคธุรกิจ

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 6 ตุลาคม 2566

“รมว.พัชรวาท” พร้อมร่วมมือผลักดันด้านสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในการประชุม AP Forum

,

“รมว.พัชรวาท” พร้อมร่วมมือผลักดันด้านสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในการประชุม AP Forum

วันนี้ (5 ตุลาคม 2566) พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านสิ่งแวดล้อมภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของโครงการสิ่งแวดล้อม สมัยที่ 5 (5th AP Forum) เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และกรมควบคุมมลพิษ เพื่อร่วมหารือถึงท่าทีทางด้านสิ่งแวดล้อมของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่เชื่อมโยงกับหัวข้อหลักของการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 6 หรือ UNEA 6 ที่จะจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยมุ่งเน้นการดำเนินการภายใต้กลไกพหุภาคี เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของโลก อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลพิษทางด้านสิ่งแวดล้อม

พล.ต.อ.พัชรวาท ได้กล่าวถ้อยแถลงในนามของรัฐบาลไทย แสดงความขอบคุณต่อกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาและ UNEP ที่ได้จัดการประชุมครั้งนี้ รวมทั้งได้กล่าวถึงการยกระดับการดำเนินงานของประเทศไทยในการบริหารจัดการ และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านกลไกการพัฒนานโยบายและกฎหมาย เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายของประเทศและพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ พร้อมทั้งได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยมุ่งมั่นและพร้อมที่จะร่วมมือกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และประเทศอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมให้ความร่วมมือระดับภูมิภาคมีความเข้มแข็ง ตลอดจนเร่งรัดการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นอกจากนี้ ในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของไทยต่อที่ประชุม โดยได้เน้นย้ำถึงการดำเนินงานด้านการจัดการมลพิษทางอากาศ และการลดผลกระทบจาก PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง โดยปรับปรุงการดำเนินการภายในประเทศและเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งเชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยมลพิษทางอากาศที่ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกได้รับรองในการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา สมัยที่ 7 (CED 7) ระดับรัฐมนตรี

รวมถึงให้ความสำคัญต่อปัญหามลพิษจากขยะพลาสติก และได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยเร่งดำเนินการแก้ไขอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อก้าวไปสู่สังคมเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านกลไกการผลักดันด้านกฎหมายเพื่อการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ โดยประเทศไทยสนับสนุนและมีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจาระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Negotiating Committee: INC) เพื่อจัดทำมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติก และสิ่งแวดล้อมทางทะเล อย่างเต็มที่ ทั้งยังสนับสนุนให้ UNEP และภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกันส่งเสริมและบูรณาการการความร่วมมือระดับอนุภูมิภาค เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมในการแก้ไขวิกฤติสิ่งแวดล้อมโลก และนำข้อมติสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติไปสู่การปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนของภูมิภาคต่อไป

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 5 ตุลาคม 2566

“พัชรวาท” สั่งด่วน ทุกหน่วยงานใน ทส. เข้าสนับสนุนให้การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย

,

“พัชรวาท” สั่งด่วน ทุกหน่วยงานใน ทส. เข้าสนับสนุนให้การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย

วันที่ 1 ตุลาคม 2566 // พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เข้าสนับสนุนให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยหลายจังหวัดในขณะนี้เป็นการเร่งด่วน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่บรรเทาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยได้มอบหมายให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำกับและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเข้าร่วมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อประสานงานและสั่งการ

ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งการไปยังทุกหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงฯ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคแล้ว โดยให้นำเครื่องจักรและอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็น เรือ เครื่องสูบน้ำ รถลำเลียง รวมถึงกำลังพล ทั้งจากกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าร่วมสนับสนุนกับทางจังหวัด เพื่อเร่งบรรเทาสถานการณ์ให้กับพี่น้องประชาชนโดยเร็ว พร้อมทั้งได้สั่งการให้แต่ละหน่วยงานจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเข้าร่วมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพื่อให้การเข้าช่วยเหลือประชาชนและการสนับสนุนการปฏิบัติการในแต่ละพื้นที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย นอกจากนี้ ยังได้ให้จัดเตรียมน้ำสะอาดสำหรับอุปโภค – บริโภค นำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบภัยเพื่อไม่ให้ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ด้วย

สำหรับพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดดินโคลนถล่ม และน้ำป่าไหลหลาก ได้สั่งการให้กรมทรัพยากรธรณี และกรมทรัพยากรน้ำ เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อแจ้งเตือนภัยไปยังพี่น้องประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้อย่างทันท่วงที ดังนั้น ในช่วงนี้จึงขอให้อาสาสมัครเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัยในแต่ละพื้นที่ เฝ้าติดตามสถานการณ์และประสานงานร่วมกับแต่ละหน่วยงานอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ในส่วนพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมแล้ว ยังได้มอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษ ประสานงานกับท้องถิ่น ติดตามสำรวจบ่อกำจัดขยะ เพื่อเฝ้าระวังผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ปัญหาขยะภายหลังสถานการณ์น้ำลดอีกด้วย นายจตุพร กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 2 ตุลาคม 2566

“รมว.ธรรมนัส” รับ-ส่งมอบไปทำลายซากสุกรเถื่อน 161 ตู้คอนเทนเนอร์ พร้อมรุกปราบสินค้าเกษตเถื่อนเข้าประเทศ สร้างความเขื่อมั่นให้ปชช.

,

“รมว.ธรรมนัส” รับ-ส่งมอบไปทำลายซากสุกรเถื่อน 161 ตู้คอนเทนเนอร์ พร้อมรุกปราบสินค้าเกษตเถื่อนเข้าประเทศ สร้างความเขื่อมั่นให้ปชช.

ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีส่งมอบ-รับมอบ และนำตู้สินค้าประเภทซากสุกรของตกค้างและของกลาง ในคดีพิเศษที่ 59/2566 จำนวน 161 ตู้คอนเทนเนอร์ ไปทำลาย โดยมี นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายอำนาจ เจริญศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายพชร อนันต์ศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียง ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายกำหนดมาตรการประกาศสงครามกับสินค้าเกษตรเถื่อน มุ่งปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ที่ผิดกฎหมายอย่างเข้มงวดตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้ดำเนินการปราบปรามอย่างจริงจัง จึงได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีประกาศคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารแก้ไขปัญหาการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมาย เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ทำให้เกษตรกรเดือดร้อน ผลผลิตตกต่ำ ทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ รวมถึงการหลอกลวง สินค้าผิดกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งได้ประกาศการขับเคลื่อนยุทธการปราบปรามการลักลอบนำเข้า-ส่งออก สินค้าเกษตรผิดกฎหมายไปเมื่อวันที่ 25 กันยายน ที่ผ่านมา และในวันนี้กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ ได้รับมอบตู้สินค้าของกลางฯ จำนวน 161 ตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 4.3 ล้านกิโลกรัม มูลค่ากว่า 567 ล้านบาท จากกรมศุลกากรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากปฏิบัติการของกรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ภายใต้โครงการท่าเรือสีขาว โดยได้เปิดตู้คอนเทนเนอร์สินค้าตกค้าง พบสินค้าผิดกฎหมายทั้งหมูเถื่อนและอื่น ๆ จากนี้จะดำเนินการทำลายของกลางฯ ดังกล่าวทิ้งให้สิ้นซาก เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจและเรียกความเชื่อมั่นจากผู้เลี้ยงสุกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ว่ากระทรวงเกษตรฯ ได้เอาจริงเอาจังกับการปราบปรามสินค้าเกษตรที่ลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาคเกษตรต่อไปในอนาคต

“การรับมอบและเผาทำลายซากสุกรที่ลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย ในคดีพิเศษที่ 59/2566 เป็นการสะท้อนความร่วมมือของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรมศุลกากร และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ในการมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่แบบบูรณาการ ร่วมกันบังคับใช้กฎหมายปราบปรามและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง เพื่อให้ผู้เลี้ยงสุกรได้รับความเป็นธรรม ไม่กระทบกลไกราคาสุกรในประเทศ รวมทั้งลดความเสี่ยงด้านโรคระบาดสัตว์ทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจในอาชีพ ตลอดจนช่วยป้องกันอันตรายจากสารปนเปื้อนที่มาจากหมูเถื่อนไปสู่ผู้บริโภค สำหรับการทำลายซากสุกรเถื่อนที่ได้ตัดไฟเครื่องทำความเย็นในวันนี้ จะต้องทยอยทำลายให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ตุลาคมนี้ และเพื่อเป็นการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำอีก จะมีการขยายผลและตรวจสอบเส้นทางการเงินรวมทั้งดำเนินการยึดทรัพย์ด้วย โดยได้มอบหมายนายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการกำกับดูแลและบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้นขึ้นด้วย” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว

จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ พร้อมผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ได้เดินทางไปยังสำนักชลประทานที่ 9 ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อ KICK OFF เผาทำลายซากสุกรของกลางฯ ชุดแรกจำนวน 10 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยวิธีการเผาในเตาเผาระบบปิด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับของกลางส่วนที่เหลือจะทยอยนำไปเผาทำลายเป็นชุด ๆ ด้วยการฝังกลบที่จังหวัดสระแก้วจนครบ 161 ตู้คอนเทนเนอร์ตามที่ได้วางแผนไว้ ซึ่งได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามมาตรฐานขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) และดำเนินการด้วยความโปร่งใส เป็นไปตามกฎหมาย และตรวจสอบได้ต่อไป

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 30 กันยายน 2566

“พล.ต.อ.พัชรวาท” เดินหน้าขับเคลื่อนแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5ทั้งโครงสร้าง-ระบบ ดึงทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมทุกมิติเพื่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ เศรษฐกิจ ยั่งยืน

,

“พล.ต.อ.พัชรวาท” เดินหน้าขับเคลื่อนแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5ทั้งโครงสร้าง-ระบบ ดึงทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมทุกมิติเพื่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ เศรษฐกิจ ยั่งยืน

วันที่ 27 กันยายน 2566 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวง ทส. ได้พบปะประธานคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด นายบัณฑูร เศรษฐศิโรจน์ โดยมี นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ และผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมผู้บริหาร ทส. เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นมิติภาพรวม ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ เศรษฐกิจ เพื่อลดปัญหาเชิงระบบและโครงสร้าง ทั้งด้านข้อจำกัดในการบริหารงานของภาครัฐ ด้านปัญหาเศรษฐกิจ ความยากจนและเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากร และด้านปัญหาการกำกับระบบตลาดเสรี

การประชุมหารือ ได้พิจารณาข้อเสนอแนะแนวทางการบริหารจัดการ 7 ข้อ ได้แก่ ด้านการระบบ Big Data เพื่อการบริหารจัดการแก้ไขปัญหา PM2.5 ด้านการมีหน่วยงาน กลไกประสานและดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เป็นกลไกทำงานต่อเนื่อง ด้านการทำงานประสานเชื่อมโยงกับกระทรวง และคณะกรรมการตามกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้วิเคราะห์และปรับปรุงแนวทางแก้ปัญหา PM2.5 จากอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่มีอยู่ ด้านการสร้างระบบและเครือข่ายการทำงานกับภาคเอกชน และภาควิชาการ ด้านระบบงบประมาณเพื่อการป้องกัน เผชิญเหตุ และฟื้นฟู เยียวยา ทั้งในระยะเร่งด่วน เป็นการจัดสรรงบกลาง งบลงทุนภาคเอกชน และเงินกู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และในระยะเร่งรัด มีงบบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนการทำงานตามแผนแม่บทและแผนปฏิบัติด้านฝุ่นอย่างมีประสิทธิภาพ ด้านการแก้ไข ปรับปรุง กฎระเบียบ ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ด้านการสื่อสารสาธารณะทุกช่องทาง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ส่งเสริมความร่วมมือ ลดความสับสนของข้อมูลฝุ่น PM2.5 และปรับลดพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่เป็นสาเหตุของ PM2.5

นอกจากนั้นยังมี 5 ข้อเสนอต่อการจัดการปัญหารายสาขาตามแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ทั้งภาคเกษตรกรรม กรณีข้าวโพด นาข้าว และอ้อย ภาคคมนาคมขนส่ง และฝุ่นควันข้ามแดน โดย ทส. มุ่งเป้าจัดการที่เป็นพื้นที่ไฟไหม้มากที่สุดในปี 2566 ไม่ให้เกิดไฟที่ลักลอบเผาในป่า สนับสนุนการขับเคลื่อนร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด พร้อมดึงทุกภาคส่วนร่วมแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา PM2.5 แบบ Win-Win และ Quick Win ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะยาวและเกิดความยั่งยืน โดย ทส.จะได้เร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดผลและขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 28 กันยายน 2566

”อนุรัตน์“ขอ ก.สาธารณสุข อนุมัติงบประมาณ ปรับปรุงอาคาร รพ.จุน และโรงบำบัดน้ำเสียให้เพียงพอในการรองรับ ปชช.กว่า 7 ตำบล

,

”อนุรัตน์“ขอ ก.สาธารณสุข อนุมัติงบประมาณ ปรับปรุงอาคาร รพ.จุน และโรงบำบัดน้ำเสียให้เพียงพอในการรองรับ ปชช.กว่า 7 ตำบล

นายอนุรัตน์ ตันบรรจง สส.เขต 2 จังหวัดพะเยา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)กล่าวหารือในที่ประชุมสภาว่า ตนของบประมาณ สนับสนุนก่อสร้างโรงพยาบาลอำเภอจุน เพราะโรงพยาบาลอำเภอจุน ได้รับผิดชอบผู้ป่วยทั้งหมด 7 ตำบล ซึ่งโรงพยาบาลจุนนั้น ก่อตั้งในปี 2525 เป็นโรงพยาบาล 10 เตียง จากนั้นปี 2533 ได้ขยายเป็น 30 เตียง และปัจจุบันนี้โรงพยาบาลจุน สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 52 เตียง มีแพทย์ 8 อัตราหัตถกรรม ทันตแพทย์ 6 อัตรา เภสัชสกร 7 อัตรา และ พยาบาล 53 อัตรา จากสถิติการรับผู้ป่วยนอกรับต่อปี 119,382 คน/ปี ผู้ป่วยภายใน2,392 คน/ปี และแผนกทันตกรรม 23,374 คน/ปี จะเห็นได้ว่าจากสัดส่วนของผู้ป่วย ตัวอาคารของโรงพยาบาลนั้น ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ ดังนั้นจึงทำให้เกิดปัญหาผู้ป่วยที่อยู่ในอำเภอจุน ต้องไปใช้บริการโรงพยาบาลในตัวจังหวัดพะเยา อำเภอเชียงม่วน อำเภอปง หรืออำเภอเชียงคำ

“ผมในฐานะที่วันนี้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผมเองเกิดมาไม่มีบ้านอยู่ ผมเติบโตในโรงพยาบาลจุน แค่เพียงว่าโชคดีมีแม่เป็นแพทย์ ตั้งแต่ปี 2526 ถึงปี 2539 ได้เห็นปัญหาต่างๆ และปัญหาในโรงพยาบาลจุน ยังมีปัญหาเรื่องน้ำเสีย เพราะระบบบำบัดในโรงพยาบาลจุนนั้น เก่าเต็มที ผ่านมา 40 กว่าปี ไม่มีงบประมาณในการสนับสนุนโรงบำบัดน้ำเสียให้แก่ประชาชนเลย“นายอนุรัตน์ กล่าว

นอกจากนี้ระบบไฟฟ้าในอาคารมีปัญหาติด ๆ ดับ ๆ ถ้าไฟดับ ก็ไม่มีสำรองไฟให้กับโรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยทั้งในและนอกโรงพยาบาลลำบากเป็นอย่างยิ่งขอ จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุขขอจัดสรรงบประมาณ เพื่อสร้างอาคารโรงพยาบาลจุน เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการอย่างทั่วถึง

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 27 กันยายน 2566

ปลื้มวอลเลย์บอลหญิงชนะโปแลนด์ รอบคัดเลือก !!!พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐและประธานโอลิมปิคไทยแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โชว์ทำผัดซีอิ้ว เตรียมทำเลี้ยงต้อนรับทีมชาติทั้งทีม

,

ปลื้มวอลเลย์บอลหญิงชนะโปแลนด์ รอบคัดเลือก !!!พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐและประธานโอลิมปิคไทยแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โชว์ทำผัดซีอิ้วเตรียมทำเลี้ยงต้อนรับทีมชาติทั้งทีม

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐและประธานโอลิมปิคไทยแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ อารมณ์ดี หลัง วอลเลย์บอลทีมสาวไทย ตบชนะ ทีมวอลเลย์บอลหญิงโปแลนด์ 3 ต่อ 2 เซต ในการแข่งขันวอลเลย์บอลรอบคัดเลือกโอลิมปิค 2023 ที่ประเทศโปแลนด์ โดย พลเอกประวิตร ได้เฝ้าติดตามเชียร์ทีมชาติไทยในทุกแมตช์การแข่งขัน โดยในวันนี้ พลเอกประวิตรได้ใช้เวลาว่าง ตอนเที่ยงผัดซีอิ้วเลี้ยงลูกน้อง คนใกล้ชิดที่มูลนิธิป่ารอยต่อในยามว่างจากภารกิจงาน โดย พลเอกประวิตรลงมือปรุงผัดซีอิ้ว รสเลิศบรรจงผัดด้วยเครื่องปรุง ตามสูตร มีหมูหมักรสชาติดี ทำเป็นอาหารกลางวันให้คนใกล้ชิดและลูกน้อง โดยกล่าวกับคนใกล้ชิดว่า วันนี้จะติดตามเชียร์ทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยในการแข่งขันกับทีมชาติ สโลวิเนียในช่วงค่ำให้ได้รับชัยชนะ และหากทีมวอลเลย์บอลทีมสาวไทยเดินทางกลับมาจะทำผัดซีอิ้วเลี้ยงทั้งทีม

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 22 กันยายน 2566