“ธีระชัย” และ “มล.กรกสิวัฒน์” ชี้ ปัญหาราคาก๊าซหุงต้มตราบาปของนายกฯ ประยุทธ์ ที่ต้องมีการปรับโครงสร้างทั้งระบบ
วันนี้ (2 พ.ค.66) ที่พรรคพลังประชารัฐ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ที่ปรึกษากรรมการนโยบายพรรค และ มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมาการนโยบายเศรษฐกิจของพรรค แถลงข่าวความเห็นส่วนตัว ประเด็น “การปรับโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้ม”
มล.กรกสิวัฒน์ กล่าวถึง ก๊าซหุงต้มเป็นทรัพยากรพลังงานของชาติที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติกลางอ่าวไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพียงพอใช้สำหรับครัวเรือนไทย (โดย ปี 2565 โรงแยกก๊าซผลิตก๊าซหุงต้ม 3 ล้านตัน ขณะที่ครัวเรือนใช้เพียง 2 ล้านตัน เท่านั้น)
รัฐบาลในอดีตจึงกำหนดให้ครัวเรือนเป็นผู้ได้สิทธิใช้ก๊าซหุงต้มที่ผลิตจากก๊าซอ่าวไทยก่อนเป็นอันดับแรก โดยกำหนดราคาขายประชาชนได้ถูกกว่าตลาดโลกเพราะมีต้นทุนการผลิตต่ำ ขณะที่โรงแยกก๊าซเองก็ยังมีกำไรมาโดยตลอด
ในปี 2551 มีผู้แก้กฎด้วยการออกมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้บริษัทปิโตรเคมีเพียงบางกลุ่มมีสิทธิ์ใช้ก๊าซอ่าวไทยตัดหน้าประชาชน ก๊าซหุงต้มจะถูกส่งทางท่อจากโรงแยกก๊าซไปยังโรงปิโตรเคมีโดยตรง ทำให้ก๊าซหุงต้มจากอ่าวไทยที่มีอยู่ไม่เพียงพอสำหรับครัวเรือน เป็นการผลักคนไทยให้เป็นผู้แบกรับราคาก๊าซจากแหล่งอื่นที่มีราคาสูง คือ 1) จากขบวนการกลั่นน้ำมันดิบ และ 2) นำเข้าก๊าซหุงต้มสำเร็จรูปจากต่างประเทศ ที่มีราคาสูงสุดเพราะมีค่าโสหุ้ยในการนำเข้า
การสลับให้บริษัทปิโตรเคมีเข้ามาตัดหน้าครัวเรือนนั้น ทำให้คนไทยเดือดร้อนมาจนทุกวันนี้ เป็นเวลานาน 15 ปี โดยอ้างเหตุผลว่า ก๊าซหุงต้มเป็นเหมือนไม้สัก ควรเอาไปทำผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี แต่ราคาที่ปิโตรเคมีจ่ายกลับต่ำกว่าตลาดโลกมาก เรียกได้ว่า ซื้อไม้สักในราคาเศษไม้ ขณะเดียวกันก็ผลักคนไทยไปใช้ก๊าซจากแหล่งอื่นที่แพงกว่า
เรื่องนี้ มีการเตรียมชงผ่าน “คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช)” ในสมัยที่คุณสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี และมาสำเร็จผลในสมัยรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เพียง 2 เดือน หลังจากคุณสมัครพ้นจากตำแหน่ง นับเป็นวิบากกรรมของคนไทยที่ก๊าซหุงต้มที่ผลิตจากอ่าวไทยกลายเป็นผลประโยชน์ของกลุ่มทุนพลังงาน
นายธีระชัย กล่าวต่อว่า น่าเสียดาย ที่นายกฯ ประยุทธ์ นอกจากไม่ได้มีการแก้กติกากลับคืนให้คนไทยได้ใช้ก๊าซจากอ่าวไทยก่อนแล้ว ยังได้มีการเพิ่มตราบาปให้แก่ประชาชน ซ้ำเติมความเดือดร้อนอีกด้วย
วิธีการซ้ำเติม ก็คือมีการปรับสูตรกำหนดราคาก๊าซสำหรับครัวเรือน โดยสมมติว่า โรงกลั่นไทยและโรงแยกก๊าซไปตั้งอยู่ในประเทศซาอุฯ โดยให้บวกค่านำเข้า ค่าประกันภัย และค่าโสหุ้ยในการนำเข้า ทั้งที่ไม่ค่าใช้จ่ายเหล่านี้อยู่จริง
มีผลให้เกิดผลกำไรเพิ่มขึ้นทันทีต่อกลุ่มทุนพลังงานอย่างเป็นกอรปเป็นกำโดยไม่ต้องแข่งขัน อันเป็นก๊าซซึ่งราคาแพงที่สุด ครัวเรือนก็ย่อมเดือดร้อน ราคาก๊าซขายปลีกพุ่งสูงขึ้นทะลุ 400 บาทต่อถัง ในบางช่วงเวลาขึ้นไปเกินกว่า 500 บาทต่อถัง แต่ใช้กองทุนน้ำมันจำนวนหลายหมื่นล้านมาปกปิดปัญหาไว้ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เคยล่วงรู้เลย
นโยบายนี้ จึงเป็นการเพิ่มตราบาปให้แก่ครัวเรือนหนักขึ้น โดยต้องให้ประชาชนช่วยเหลือกันเอง โดยผู้ใช้น้ำมันช่วยเหลือผู้ใช้ก๊าซหุงต้ม การแก้ปัญหาแบบนี้ จึงมีผลเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนพลังงาน ผมจึงเรียกเล่นๆ ว่า “เฉือนเนื้อคนจน ไปแปะให้คนรวย”
ทั้งนี้ การเปลี่ยนไปยึดโยงกับราคาก๊าซในประเทศซาอุดีอาระเบีย ดำเนินการเป็น 3 ขั้นตอน
ขั้นตอนที่หนึ่ง ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2557 (ครั้งที่ 147) วันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม 2557 โดยพลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี เป็นรัฐมนตรีพลังงาน ยกเลิกเพดานที่คุมราคาก๊าซหุงต้มสำหรับครัวเรือน ซึ่งเดิมกำหนดไว้ 333 ดอลล่าร์ต่อตัน หรือ 10 บาทต่อกิโลกรัม
ขั้นตอนที่สอง ในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับรองลงมา) ครั้งที่ 5/2558 (ครั้งที่ 5) วันพุธที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2558 นายณรงค์ชัย อัครเศรณี เป็นรัฐมนตรีพลังงาน เป็นประธานคณะกรรมการ ขึ้นราคาก๊าซหุงต้มเป็น 498 ดอลล่าร์ต่อตัน หรือ 17 บาทต่อกิโลกรัม หรือขึ้นราคารวดเดียว 70%
ขั้นตอนที่สาม ในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ครั้งที่ 21/2559 (ครั้งที่ 33) เมื่อวันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม 2559 โดยพลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีพลังงาน เป็นประธานคณะกรรมการ กำหนดให้คนไทยซื้อก๊าซที่ผลิตในประเทศไทยด้วยราคานำเข้าจากซาอุฯ บวกค่าโสหุ้ยเทียม ทั้งค่าขนส่ง ค่านำเข้า ค่าประกัน และค่าสูญเสียระหว่างขนส่งจากซาอุฯ
ตราบาปและมรดกสีดำที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนนี้ ยังคงฝังลึกและดำรงอยู่อย่างมั่นคงอยู่จนถึงวันนี้
แนวทางแก้ปัญหาก๊าซหุงต้มมีดังนี้
1. ยกเลิกการอ้างอิงราคาสมมติว่า โรงแยกก๊าซ และโรงกลั่นไทยตั้งอยู่ในประเทศซาอุดิอาระเบีย เพราะไม่เป็นความจริง เป็นการสร้างภาระให้ประชาชนเกินสมควร สร้างกำไรให้เอกชนอย่างไม่เหมาะสม ไม่เป็นธรรมต่อประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากร
แต่เปลี่ยนไปใช้วิธีกำหนดเพดานแทน โดยใช้ตัวเลขที่ภาคเอกชนมีกำไรพอเหมาะคุ้มกับการลงทุน
2. ยกเลิกมติ กพช ที่ 3/2551 ที่ให้สิทธิพิเศษแก่บริษัทปิโตรเคมีเพียงบางกลุ่มในการซื้อก๊าซหุงต้มจากอ่าวไทยตัดหน้าประชาชน อันเป็นการคืนสิทธิ ที่ประชาชนมีอยู่แต่เดิมในทรัพยากรให้แก่ประชาชน ก๊าซหุงต้มส่วนที่เหลือขายให้แก่บริษัทปิโตรเคมี และภาคธุรกิจในราคาตลาดโลก
เป็นการสร้างความเป็นธรรมต่อประชาชน และต่อธุรกิจด้วยกันเองอย่างเท่าเทียม เพราะที่ผ่านมามีเพียงปิโตรเคมีกลุ่มเดียวที่ได้รับประโยชน์
3. จัดตั้งองค์กรจัดการทรัพยากรพลังงาน
ให้เป็นผู้มีสิทธิรับซื้อก๊าซที่ผลิตจากอ่าวไทย สิทธิรับซื้อก๊าซที่ผลิตในประเทศเป็นเอกสิทธิของประชาชน จึงต้องให้องค์กรฯ เป็นผู้ทำหน้าที่แทนปวงชนชาวไทย ซึ่งจะมีผลให้ค่าไฟ และค่าก๊าซลดลงได้อย่างถาวร จะช่วยลดต้นทุนการผลิตและการดำรงชีวิตของประชาชน
เพียง 3 มาตรการนี้ จะสามารถปรับโครงสร้างราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มอย่างยั่งยืน เพราะมีผลต่อเนื่องไปในระยะยาว โดยไม่ต้องใช้งบประมาณของรัฐบาล ไม่ต้องเพิ่มหนี้สาธารณะ และไม่ต้องเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันเพื่อไปชดเชยแก่ผู้ใช้ก๊าซหุงต้มอีกต่อไป
ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 2 พฤษภาคม 2566