โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

หมวดหมู่: ข่าวกิจกรรม

“2 สส. นราธิวาส พปชร.เตรียมพร้อมรับมือหากเกิดน้ำท่วมหนัก อ.สุไหงโก – ลก ซ้ำรอยปี 65 ลั่น เพราะความห่วงใย มันรอไม่ได้

,

“2 สส. นราธิวาส พปชร.เตรียมพร้อมรับมือหากเกิดน้ำท่วมหนัก อ.สุไหงโก – ลก ซ้ำรอยปี 65 ลั่น เพราะความห่วงใย มันรอไม่ได้

นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ สส.นราธิวาส เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการทำบุญอุมเราะห์ ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ตนได้เดินทางกลับประเทศไทยทันที และรีบลงพื้นที่ร่วมกับ นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส เขต 2 พร้อมด้วย นายอำเภอสุไหงโก-ลก,ผอ.ชลประทาน,รองผู้การนราธิวาส และผู้กำกับ สภ.สุไหงโก-ลก เพื่อสังเกตุการณ์ระดับนํ้าในเขตพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก บ้านมูโนะ และเทศบาลตำบลบูเก๊ะตา เนื่องจากขณะนี้มีปริมาณน้ำฝนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากที่ฝนตกหนักมาหลายวัน

นายสัมพันธ์ กล่าวต่อว่า ในช่วงปลายเดือน พ.ย.ไปจนถึง ธ.ค.ของทุกปี พื้นที่หลายจังหวัดในภาคใต้จะต้องเผชิญกับมรสุมฝนตกกระหน่ำอย่างหนัก อย่างเมื่อตอนปี 65 ที่ผ่านมา ในอำเภอสุไหงโก-ลก มีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนกว่า 5,000 ครัวเรือน จำนวนประมาณ 20,000 คน ในปีนั้นน้ำท่วมบริเวณตลาดมูโนะเต็มพื้นที่หลังจากที่พนังกั้นน้ำเก่า ริมฝั่งแม่น้ำโก-ลกแตก ทำให้กระแสน้ำได้ท่วมเพิ่มสูงขึ้น และขยายวงกว้าง รวมทั้งกระแสน้ำไหลแรงและเชี่ยว บางจุดมีระดับน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร

“หากเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ พื้นที่จังหวัดนราธิวาส เป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมสูงมาก ถือเป็นความเสียหายอย่างหนักต่อพี่น้องประชาชน อีกทั้งพื้นที่แห่งนี้น้ำมีความเชี่ยวกราก ส่งผลทำให้ตลิ่งชำรุดและเกิดความเสียหาย ดังนั้น เราจึงต้องเฝ้าระวังเหตุอุทกภัย และเตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเร่งด่วน ในยามเกิดเหตุ โดยขณะนี้ก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเฝ้าสังเกตุการณ์ และเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนแล้ว เพราะความห่วงใย..มันรอไม่ได้ ”นายสัมพันธ์ กล่าว

ด้านนายอามิทร์ กล่าวว่า การลงพื้นที่วันนี้เพื่อรับฟังและบรรยายสรุปเรื่องปริมาณน้ำ รวมถึงแผนรับมือของกรมชลประทาน และการป้องกันน้ำท่วม แบริเออชั่วคราว ที่บ้านตันหยงมะลิ เพื่อการป้องกันน้ำเข้าท่วม ในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโกลก จากการที่ได้ดูและสำรวจ เบื้องต้นเชื่อว่าปีนี้มาตรการทางเทศบาลเมืองสุไหงโกลก ได้มีมาตรการป้องกันไว้อย่างรัดกุม และเชื่อว่าเราน่าจะผ่านวิกฤตน้ำท่วมในปีนี้ไปได้

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 22 พฤศจิกายน 2566

พล.ต.อ. พัชรวาท รองนายกฯ และ รมว.ทส. สั่งกรมทรัพย์สร้างความเชื่อมั่นปชช. หลังเกิดแผ่นดินไหวในภาคเหนือ เร่งศึกษานำเทคโนโลยีทันสมัยแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงภัย

,

พล.ต.อ. พัชรวาท รองนายกฯ และ รมว.ทส. สั่งกรมทรัพย์สร้างความเชื่อมั่นปชช.
หลังเกิดแผ่นดินไหวในภาคเหนือ เร่งศึกษานำเทคโนโลยีทันสมัยแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงภัย

สืบเนื่องจากแผ่นดินไหวสองครั้งที่รับรู้ได้ในประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 เวลา 08.37 น.เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.4 เกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนเชียงตุง มีจุดเหนือศูนย์เกิดอยู่บริเวณรัฐฉาน ประเทศเมียนมาและมีแผ่นดินไหวตามจำนวน 34 ครั้ง แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ สุโขทัย ลำปาง ลำพูน น่าน พะเยา อุตรดิตถ์ แม่ฮ่องสอน อุดรธานี ขอนแก่น สกลนคร นนทบุรีและอาคารสูงในกรุงเทพฯ รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว มีอาคารแตกร้าวในพื้นที่จังหวัดเชียงราย น่านเชียงใหม่ และสกลนคร และต่อมาในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2566 เวลา 03.07 น. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.0 มีจุดเหนือศูนย์เกิดอยู่บริเวณตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน แต่ไม่มีรายงานความเสียหายโดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งสองครั้ง ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความห่วงใยในความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ จึงได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรธรณีเร่งทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวและข้อปฏิบัติตนให้ปลอดภัย เพื่อลดความตระหนกของพี่น้องประชาชนให้มีความสบายใจในการอยู่อาศัยในพื้นที่ และเร่งรัดให้กรมทรัพยากรธรณีดำเนินการสำรวจศึกษา และติดตั้งเครื่องมือวัดแผ่นดินไหว พร้อมทั้งนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการจัดทำแผนที่แสดงภัยพิบัติแผ่นดินไหว และแผนที่แสดงจุดปลอดภัยสำหรับเป็นจุดรวมพลชั่วคราวและอพยพกรณีที่เกิดแผ่นดินไหว จัดทำแผนการซักซ้อมอพยพภัยแผ่นดินไหวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนประสานงานกับกรมโยธาธิการและผังเมืองให้นำแผนที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหว ไปใช้ประกอบการจัดทำ “กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564”

กรมทรัพยากรธรณีได้ศึกษารอยเลื่อนมีพลัง กำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวเพื่อใช้ในการบริหารจัดการภัยพิบัติและลดผลกระทบ ประเทศไทยมีกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังทั้งหมด 16 กลุ่มรอยเลื่อน พาดผ่าน 23 จังหวัด โดยรอยเลื่อนมีพลังและพื้นที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่สำคัญส่วนใหญ่ที่สามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดกลางที่ประชาชนรู้สึกได้ วางตัวอยู่ในภาคเหนือ เช่น กลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน กลุ่มรอยเลื่อนแม่ลาว กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา และกลุ่มรอยเลื่อนพะเยา ภาคตะวันตก อาทิ กลุ่มรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ และกลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และภาคใต้ ประกอบด้วย กลุ่มรอยเลื่อนระนอง และกลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ได้นิ่งนอนใจและมีความห่วงใยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรธรณี ดำเนินการดังต่อไปนี้

  • ติดตามข้อมูลผลกระทบจากแผ่นดินไหว พร้อมส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจ ตรวจสอบ และประเมินผลกระทบในพื้นที่ พร้อมให้คำแนะนำแก่ประชาชน และจัดทำรายงานสถานการณ์แผ่นดินไหวด่วนเสนอ ผู้บริหาร ทธ. ทส. เผยแพร่สู่เครือข่ายภาคประชาชน และสื่อมวลชนให้ทราบข้อเท็จจริง และแนะนำแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องในการรับมือ
  • มอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวของกรมทรัพยากรธรณี ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอดจนขี้แจงถึงสาเหตุและวิธีปฏิบัติตนเกี่ยวกับแผ่นดินไหวให้กับประชาชนได้เข้าใจ เพื่อสร้างการรับรู้และลดความตื่นตระหนก
  • สั่งการให้กรมทรัพยากรธรณี นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการตรวจวัดแผ่นดินไหว และติดตามการเกิดแผ่นดินไหวตาม (aftershock) เพื่อแจ้งข่าวให้กับประชาชนทราบสถานการณ์

ทั้งนี้ ได้มีข้อแนะนำให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหว ดังนี้

  • ตรวจสอบว่าพื้นที่อยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติแผ่นดินไหวระดับใด หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงสูง ต้องก่อสร้างอาคารให้แข็งแรงสามารถต้านแรงแผ่นดินไหว ตามมาตรฐานของกรมโยธาฯ และดูแลอาคารให้อยู่ในสภาพดี มั่นคงแข็งแรง
  • ศึกษาความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหว ศึกษาแผนปฏิบัติการและการซักซ้อมอพยพหนีภัยแผ่นดินไหว เข้าร่วมการซักซ้อม และหากเผชิญเหตุแผ่นดินไหวให้ปฏิบัติตนอย่างมีสติตามที่ได้รับข้อแนะนำจากกรมทรัพยากรธรณี
  • หากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ให้ติดตามข่าวสารจากทางราชการ กรมทรัพยากรธรณี กรมอุตุนิยมวิทยา และศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ อย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะได้รับการยืนยันว่าปลอดภัย จึงกลับเข้าไปยังอาคารบ้านเรือนได้

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรธรณีได้เร่งดำเนินการตามข้อสั่งการอย่างเร่งด่วนในการทำความเข้าใจกับประชาชน โดยจัดทำเอกสารเผยแพร่ในการสร้างความรู้ความเข้าใจ และเผยแพร่ผ่านทางช่องทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ของกรมทรัพยากรธรณีทั้งทางเว็บไซต์ www.dmr.go.th และเฟซบุ๊ค กรมทรัพยากรธรณี ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางสื่อสารมวลชน พร้อมทั้งได้ดำเนินการการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหวผ่านทาง Facebook Live กรมทรัพยากรธรณี ในรายการ “ธรณีชวนคุย ตอน แผ่นดินไหวเชียงตุง ว้าวุ่นถึงสกลนคร :อยู่ในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหวอย่างไรให้ปลอดภัย” เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและขอเอกสารเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัยกรมทรัพยากรธรณี หมายเลขโทรศัพท์ 02 621 9500

“อยู่ในพื้นที่เสี่ยงธรณีพิบัติภัย ทำอย่างไรให้ปลอดภัย อย่างยั่งยืน”

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 21 พฤศจิกายน 2566

“พล.ต.อ.พัชรวาท”กำชับกรมอุทยาน-ป่าไม้-ทรัพยากรทางทะเล ดูแลความปลอดภัย-จัดสถานที่เหมาะสม”รับท่องเที่ยวไฮซีซั่น”

,

“พล.ต.อ.พัชรวาท”กำชับกรมอุทยาน-ป่าไม้-ทรัพยากรทางทะเล
ดูแลความปลอดภัย-จัดสถานที่เหมาะสม”รับท่องเที่ยวไฮซีซั่น”

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงมาตรการเตรียมรองรับนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาวนี้ว่า ขณะนี้ได้เข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน ในแต่ละปีจะมีปริมาณนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก จึงได้กำชับไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะหัวหน้าอุทยานให้เตรียมความพร้อมเรื่องสถานที่ การดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว ที่พักสะอาด ลานกางเต้นท์เป็นระเบียบ ขณะเดียวกันในช่วงวันหยุดยาวคาดว่าจะมีปริมาณนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ได้เน้นย้ำการบริหารจัดการเพื่อจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับพื้นที่ นักท่องเที่ยวได้สัมผัสแห่งความสุข ไม่อยากให้เกิดภาพความความแออัด ให้ท่องเที่ยวอย่างความสะดวก ปลอดภัย ขณะเดียวได้เน้นย้ำให้เข้มงวดเรื่องห้ามนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปที่พักเขตอุทยาน และให้มีการกำจัดขยะ เพื่อให้เป็นการท่องเที่ยวควบคู่กับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสม

“รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้ความสำคัญเรื่องการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ และดึงเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ดังนั้นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เป็นกระทรวงที่สามารถสร้างเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงาม ก็อยากให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัส และเกิดความประทับใจหลังจากเดินทางกลับ”

สำหรับอุทยานแห่งชาติที่อยากแนะนำให้เดินทางไปในช่วงฤดูหนาว โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้คัดเลือกที่สุดแหล่งท่องเที่ยวโดดเด่นมีทั้งทางบกและทางทะเล อาทิ ศาลาดุสิตาอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง, จุดชมวิวยอดดอยผ้าห่มปกอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก, โมโกจูอุทยานแห่งชาติแม่วงก์, สันหนอกวัว อุทยานแห่งชาติเขาแหลม, หุบเขาแห่งดอกไม้ หรือพญาเสือโคร่งภูลมโล อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า,ป่าเปลี่ยนสีอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว, เกาะแปดอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันและหาดท้ายเหมือง อุทยานแห่งชาติเขาลําปี – หาดท้ายเหมือง เป็นต้น

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 21 พฤศจิกายน 2566

“สันติ” รมช.สธ. ถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร

,

“สันติ” รมช.สธ. ถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2566 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ให้กับวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร เขตบางกอกใหญ่ กทม. นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราขทานผ้าพระกฐินในปีนี้ โดยมีข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ (สส.) จ.เพชรบูรณ์ ประกอบด้วย นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ น.ส.พิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ นายบุญชัย กิตติธาราทรัพย์ นายวรโชติ สุคนธ์ขจร นายอัคร ทองใจสด ตลอดจนประชาชนเข้าร่วมพิธี

ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้บวงสรวงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด ถวายภัตตาหารอพลแด่พระสงฆ์-สามเณร ทั้งพระอาราม จากนั้นประกอบพิธีถวายผ้ากฐินพระราชทาน เสร็จพิธีได้มอบทุนการศึกษาแก่โรงเรียนวัดหงส์รัตนาราม และเยี่ยมพบปะประชาชน ก่อนเดินทางกลับ

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 20 พฤศจิกายน 2566

”วรโชติ“สส.เพชรบูรณ์ ลงพื้นที่ร่วม สส.วันเพ็ญ สำรวจอ่างเก็บน้ำห้วยจั๊กจั่น เตรียมขยายอ่างบรรจุน้ำ ชงเข้างบปี 68 เพื่อให้เกษตรกรมน้ำใช้ โดยไม่ต้องพึ่งแต่น้ำฝน

,

”วรโชติ“สส.เพชรบูรณ์ ลงพื้นที่ร่วม สส.วันเพ็ญ สำรวจอ่างเก็บน้ำห้วยจั๊กจั่น เตรียมขยายอ่างบรรจุน้ำ ชงเข้างบปี 68 เพื่อให้เกษตรกรมน้ำใช้ โดยไม่ต้องพึ่งแต่น้ำฝน

นายวรโชติ สุคนธ์ขจร สส.เพชรบูรณ์ เขต 4 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) กล่าวว่า ตนและ ท่านวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ สส.เพชรบูรณ์ เขต 5 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) พร้อมด้วย นายธนาวุฒิ สินประเสริฐ สมาชิกสภาจังหวัด(สจ.),ผอ.กรมชลประทานที่ 10 ลพบุรี ลงพื้นที่ตำบลบ่อไทย อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อสำรวจอ่างเก็บน้ำห้วยจั๊กจั่น เพื่อนำโครงการเพิ่มความจุน้ำเข้าแผนปีงบประมาณ 2568 และโครงการขุดลอกคลองปู่เจ้าพร้อมสะพาน​ ฝายกั้นน้ำ และฝายระบายน้ำให้เชื่อมโยงกับโครงฝายกุดขนวน เพื่อให้เกิดประโยชน์ ​และแก้ปัญหา​น้ำท่วมให้กับ​พี่น้อง​เกษตรกร​

นายวรโชติ กล่าวต่อว่า จังหวัดเพชรบูรณ์มีพื้นที่อยู่ในลุ่มน้ำถึง 5 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำโขง แต่จะมีส่วนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักมากที่สุดถึงร้อยละ 70 ของจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีแม่น้ำป่าสักที่ไหลผ่านพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ยาวประมาณ 350 กิโลเมตร ซึ่งที่ผ่านมาจังหวัดเพชรบูรณ์ เผชิญทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม โดยพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม จะอยู่สองฝั่งของแม่น้ำป่าสัก แบ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมปานกลาง และเสี่ยงสูง ส่วนพื้นที่เผชิญภัยแล้ง มักพื้นที่ลาดชัน และภูเขาสูง โดยร้อยละ 60 ของพื้นที่ ถือว่ามีปัญหาภัยแล้งระดับต่ำ และอีกร้อยละ 35 มีปัญหาภัยแล้งระดับปานกลาง ที่เหลือเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งระดับสูง

“ประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำทั้งเพื่ออุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตร ซึ่งถ้าสามารถขยายอ่างเก็บน้ำห้วยจั๊กจั่นได้สำเร็จ จะช่วยให้ราษฎรในตำบลนี้และใกล้เคียงมีน้ำทำการเกษตรและน้ำอุปโภคบริโภคด้วย จะได้ไม่ต้องเสี่ยงทำสวน ทำไร่ โดยอาศัยน้ำฝนเพียงพออย่างเดียว“

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 20 พฤศจิกายน 2566

“พล.ต.อ.พัชรวาท”ชวนลอยกระทงรักษ์โลก ใช้วัสดุธรรมชาติร่วมสืบสานประเพณีไทย

,

“พล.ต.อ.พัชรวาท”ชวนลอยกระทงรักษ์โลก
ใช้วัสดุธรรมชาติร่วมสืบสานประเพณีไทย

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า สำหรับเทศกาลลอยกระทงที่จะมาถึงนี้ อยากเชิญชวนพี่น้องชาวไทย และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มาร่วมสืบสานประเพณีไทยในแบบรักษ์โลก รักประเพณีไทย ร่วมการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยการประดิษฐ์กระทงจากวัสดุธรรมชาติ ย่อยสลายได้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ใบตอง กาบกล้วย กระทงขนมปัง เป็นต้น ไม่ตกแต่งกระทงด้วยวัสดุที่อาจเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ เช่น ลวดเย็บกระดาษ ตะปู กากเพชร เป็นต้น
นอกจากนี้อยากเชิญชวนให้ลอยกระทงร่วมกัน 1 ครอบครัว 1 กระทง หรือไปกับเพื่อนเป็นกลุ่มก็สามารถลอยร่วมกันได้ หรือจะร่วมลอยกระทงออนไลน์ ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดปริมาณขยะกระทง ลดโลกเดือด อีกทั้งประหยัดเงินในกระเป๋า
นอกจากนี้อยากขอความร่วมมือพ่อค้าแม่ค้าที่ทำกระทงจำหน่าย ขอให้งดใช้โฟม และหันมาทำกระทงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้ง่าย ซึ่งที่ผ่านมา ถือว่ามีความตื่นตัวในเรื่องอนุรักษ์ธรรมชาติและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ปีนี้ก็อยากให้ยึดหลักการเดียวกัน
การลอยกระทง ถือเป็นประเพณีที่คนไทยมีขึ้นเพื่อระลึกถึงคุณค่าของสายน้ำ และขอขมาต่อพระแม่คงคา จึงต้องร่วมกันรักษาประเพณีดั้งเดิมนี้ไว้ ควบคู่ไปกับการร่วมกันรักษาคุณภาพของแหล่งน้ำ ทั้งแม่น้ำ คู คลอง หนอง บึง โดยในแต่ละปีพบว่าภายหลังจากวันลอยกระทงจะพบขยะกระทงตกค้างตามแหล่งน้ำสาธารณะต่างๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องใช้พลังงานและทรัพยากรเพื่อจัดการ

ดังนั้นหากเป็นไปได้อยากเชิญชวนประชาชนร่วมกันลอยในจุดที่เป็นบึง หรือบ่อน้ำแทนแม่น้ำขนาดใหญ่เพื่อง่ายต่อการจัดเก็บกระทง อย่างไรก็ตาม คาดหวังปีนี้ประชาชนจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในลดจำนวนขยะจากกระทงให้ลดน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา”

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 20 พฤศจิกายน 2566

”กระแสร์“สานต่องาน“พล.อ.ประวิตร“พัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยน้ำโมง แก้ไขปัญหาอุทกภัย เพิ่มศักยภาพกักเก็บน้ำให้เกษตรกรไว้ใช้ในหน้าแล้ง

,

”กระแสร์“สานต่องาน“พล.อ.ประวิตร“พัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยน้ำโมง แก้ไขปัญหาอุทกภัย เพิ่มศักยภาพกักเก็บน้ำให้เกษตรกรไว้ใช้ในหน้าแล้ง

วันนี้(18 พ.ย.)นายกระแสร์ ตระกูลพรพงศ์ สส.หนองคาย เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)กล่าวว่า ตนได้ต้อนรับท่านวิเชียร ศิริสุวรรณคูหา ผอ.สำนักทรัพยากรน้ำที่ 3 อุดรธานี พร้อมคณะที่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบทรัพยากรน้ำในพื้นที่ตำบลคอกช้าง และตำบลบ้านฝาง โดยมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และ สจ. ในพื้นที่ให้ความร่วมมือ เพื่อที่จะได้พัฒนาให้กับชุมชนในพื้นที่ในการใช้ประโยชน์

นายกระแสร์ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)ขณะนั้น ได้มอบหมายให้กรมชลประทานดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย พร้อมทั้งเตรียมแผนรับมือฝนทิ้งช่วง ป้องกันการขาดแคลนน้ำ และแผนรับมือน้ำท่วม โดยกำชับให้บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ประชาชนสามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ทั้งในด้านอุปโภค บริโภค เกษตรกรรม รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่

”ขณะนี้โครงการดังกล่าวกำลังดำเนินการ โดยมีแผนหลักการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยน้ำโมง ได้จัดทำแผนปฏิบัติการเป็นแผนระยะสั้นและระยะยาว เพื่อบรรเทาภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำและบรรเทาปัญหาอุทกภัย ซึ่งในอนาคตเมื่อโครงการสำเร็จจะช่วยเสริมเรื่องคุณภาพชีวิตชาวหนองคายที่อยู่ปลายลำน้ำโมงให้ดีมากยิ่งขึ้น ที่มีอยู่ปัจจุบันก็ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่อยู่แล้ว หากมีการพัฒนาศักยภาพการเก็บกักน้ำ มีช่องทางระบาย การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมก็จะช่วยประชาชนได้ดีขึ้น ประชาชนประกอบอาชีพการเกษตรเป็นหลัก มิติการใช้น้ำมีความจำเป็นอย่างมาก การบริหารจัดการน้ำในห้วงของน้ำที่มีเหลือ ไว้ใช้ในหน้าแล้ง กรณีการสูบน้ำโขงเข้ามาในพื้นที่เพื่อช่วยให้พี่น้องมีทรัพยากร มีเครื่องมือในการประกอบอาชีพมากยิ่งขึ้น“นายกระแสร์ กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 30 ตุลาคม 2566

“สันติ รมช.สธ.” มอบนโยบาย สรพ.เพื่อขับเคลื่อนสู่องค์กรหลักยกระดับระบบบริหารสุขภาพไทยเข้มแข็ง

,

“สันติ รมช.สธ.” ตรวจติดตามภารกิจกรมอนามัย เร่งส่งเสริมการมีบุตร ดันให้บรรจุเป็นวาระแห่งชาติ

มุ่งสร้างความเชื่อมั่น รักษามาตฐานรพ.-บุคลากร เทคโนโลยีเพื่อบริการประชาชน

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) พร้อมตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของ สรพ.ในการพัฒนาระบบบริหารสุขภาพของประเทศ ณ ห้องประชุมร่มไม้-สายธาร ชั้น 5 อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข

นายสันติ กล่าวว่า ปัจจุบันการเข้าถึงบริการของประชาชน มีความหลากหลาย ทั้งระบบบริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ รวมถึงความก้าวหน้าทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ทำให้ระบบบริการสุขภาพในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนไปจากในอดีต ดังนั้นการยกระกับมาตรฐานและกระบวนการต่าง ๆ จำเป็นต้องมีการพัฒนาเพื่อให้ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงที่ท้าทาย ซึ่งที่ผ่านมาได้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ สรพ. ในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย ให้มีคุณภาพและปลอดภัยสำหรับประชาชน เชื่อมั่นว่ามาตรฐานและการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยพัฒนาระบบบริการสุขภาพภายใต้ข้อจำกัดของทรัพยากรบุคคล ภาระงาน และความคาดหวังของพี่น้องประชาชนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการรับบริการ

“มีโอกาสร่วมงานกับ สรพ. ครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2566 ซึ่งเป็น “วันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก” โดยได้มอบประกาศนียบัตรแก่สถานพยาบาล ที่เข้าร่วมโครงการ 3P Safety Hospital ปี 2566 ซึ่งเป็นสถานพยาบาลที่มุ่งเน้น พัฒนาความปลอดภัย ในระบบบริการให้กับผู้ป่วย บุคลากร และประชาชน รวมถึงได้มีโอกาสสื่อสารเจตนาและความตั้งใจที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนงานของกระทรวงสาธารณสุขในด้านต่าง ๆโดยเฉพาะเรื่องทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงการผลักดัน “ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากรและประชาชน” ในระยะที่ 2 ถึงแม้ สรพ. จะมีบุคลากรไม่มาก แต่เป็นองค์กรที่มีศักยภาพ เนื่องจากมีผู้นำและทีมงานที่ มีความรู้ ความสามารถ ตั้งแต่ประธานกรรมการ กรรมการสถาบัน ผู้อำนวยการ และบุคลากรทุกคน” นายสันติ กล่าว

ทั้งนี้ เชื่อว่าสรพ. จะประสบความสำเร็จ ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามภารกิจที่กำหนดไว้ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สรพ. ซึ่งกำหนดให้ สรพ. เป็นหลักประกันให้พี่น้องประชาชนได้รับการบริการด้านสาธารณสุข ที่มีคุณภาพไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน ด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินคุณภาพของการให้บริการตลอดจนการพัฒนาระบบการให้บริการด้านสาธารณสุข ที่จะยกระดับมาตรฐานและคุณภาพในการให้บริการของสถานพยาบาล เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านสาธารณสุขที่ดี และมีคุณภาพ

“ผมเป็นประชาชนคนหนึ่งใช้บริการโรงพยาบาลต่างๆ ได้เห็นถึงคุณภาพหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทน์ไทย ตลอดจนบุคลากรที่ดูแลเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันนั้น ทราบว่ามีสถาบันรับรองคุณภาพที่กำกับดูแลโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ให้มีมาตรฐานสากล และความปลอดภัย ทำให้โรงพยาบาลทั่วประเทศมีคุณภาพเป็นที่น่าเชื่อถือ สร้างความมั่นใจจากชาวต่างประเทศทั่วโลก” นายสันติ กล่าว

นอกจากนี้ยัวได้รับทราบว่า ผู้ป่วยที่อยู่ต่างประเทศ มีความตั้งใจที่จะมารักษากับแพทย์ในโรงพยาบาลของประเทศไทย เนื่องจากเขามีความเชื่อมั่น จึงฝากกับสถาบัน สรพ.ว่า เราต้องรักษามาตฐานในการตรวจสอบคุณภาพโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงการตรวจสอบดูแลให้เทคโนโลยีในการรักษาพยาบาลนั้นมีความทันสมัยต่อไป

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 18 พฤศจิกายน 2566

“ส.ส.ไผ่ ลิกค์“เชื่อเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ทางแก้บ่อนพนันเถื่อน ดึงเงินใต้ดินเข้าระบบพัฒนาประเทศ

,

“ส.ส.ไผ่ ลิกค์“เชื่อเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ทางแก้บ่อนพนันเถื่อน ดึงเงินใต้ดินเข้าระบบพัฒนาประเทศ

นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตั้งสถานกาสิโนและการพนันพื้นบ้านให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อสร้างรายได้และเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ กล่าวว่า เมื่อครั้งหนึ่งวันที่เราเคยมีหวยบนดิน ถ้าจำได้หวยใต้ดินตายหมด และถ้าวันหนึ่งมีบ่อนถูกกฎหมาย ย่อมจะไม่เห็นบ่อนผิดกฎหมายแน่นอน
เพราะเชื่อว่า ไม่มีใครอยากจะวิ่งหนีตำรวจ แนวคิดนี้เกิดจากการนำปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรม มาแก้ให้ถูกต้องให้

นายไผ่ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการหาเงินเข้าประเทศจากการตั้งกาสิโนนั้น ก็เพราะว่าประเทศไทยเราอยู่ได้เพราะการท่องเที่ยวเป็นหลัก อย่างเช่นชาวจีน ถ้าเขาอยากเล่นพนัน ก็อาจจะต้องไปชายแดนพม่า ลาวกัมพูชา แต่ปรากฏว่า ของประเทศสภาพภูมิประเทศสวยงามกว่าทุกที่ แต่ไม่มีกาสิโน นอกจากนี้ ถ้าเราไปสำรวจชายแดน จะพบว่า คนที่ไปเล่นคือคนไทย แล้วเราจะปล่อยให้เงินออกนอกประเทศเช่นนี้หรือ

“ปัญหาที่หลายฝ่ายกังวลว่า เยาวชนจะเข้าไปเล่นการพนันนั้น มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เด็กจะไปเล่นกาสิโนเพราะระบบกาสิโนตามที่ผมได้ศึกษามาอย่างที่ประเทศสิงคโปร์ คนที่จะเข้าไปเล่นต้องกรอกเอกสารมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปมาก ถ้าคนที่อายุไม่ถึง เขาจะบอกเลยว่า เขาไม่ให้เล่น เพราะต้องลงทะเบียนให้เรียบร้อยแล้วเขาจะจำกัดเวลาด้วย กำจัดเงินด้วย เราทำได้หลายรูปแบบ แต่บ่อนเถื่อนที่อยู่รายล้อมลูกหลานเรา จำกัดอะไรได้หรือไม่ ผมเชื่อว่า ถ้ามีสิ่งที่ถูกต้อง ผมว่ามันจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า”นายไผ่ กล่าว

นายไผ่ กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่ตนมาศึกษาแนวคิดการตั้งกาสิโนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ก็เพราะไม่อยากให้มีส่วย ตนมองว่าทมันทำให้เกิดระบบผู้มีอิทธิพลขึ้น และเรายังเอาเงินไปให้คนอื่น คนที่ไม่ได้เอามาพัฒนาบ้านเมืองของเรา ประเทศอื่นเขามีกาสิโนกันมา 50 ปีแล้ว เราเดินช้ากว่าคนอื่น แต่ของเราตนเชื่อว่าดีกว่าเยอะ ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว และวัฒนธรรม

เมื่อถามถึงปัญหาการพนันออนไลน์ นายไผ่ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ การพนันออนไลน์สูบเงินลูกหลานเราไปมหาศาล แต่ปัญหานี้ถ้าเราทำถูกต้อง มีขั้นตอน มีการกรอกอายุ เหมือนตอนที่ตนไปเที่ยวอังกฤษ เวลาเราจะไปกดเข้าเว็บไซต์ที่เป็นการพนันออนไลน์ ทำไม่ได้เลย แต่สิ่งนี้คงต้องร่วมมือกับภาครัฐด้วย แล้วต้องเอาจริงเอาจัง เพราะวันนี้มันระบาดไปทั่วแล้ว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 17 พฤศจิกายน 2566

“รมว.ธรรมนัส” ถก สภาอุตฯตั้งกรอ.เกษตร เดินสู่เป้าหมาย ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้เกษตรกรไทย

,

“รมว.ธรรมนัส” ถก สภาอุตฯตั้งกรอ.เกษตร เดินสู่เป้าหมาย ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้เกษตรกรไทย

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประชุมหารือร่วมระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นำโดยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อหารือแนวทางการจัดตั้งคณะกรรมการความร่วมมือภาครัฐและเอกชนด้านการเกษตร (กรอ.กษ.) ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลและยกระดับภาคการเกษตรไทยให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนเป็นกำลังสำคัญ จึงมีแนวทางการจัดตั้งคณะกรรมการความร่วมมือภาครัฐและเอกชนด้านการเกษตร (กรอ.กษ.) โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยถือเป็นกลไกที่มีบทบาทสำคัญอย่างมาก ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปสินค้าเกษตร วันนี้จึงได้เชิญสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อหารือและเข้าร่วมในคณะ กรอ.กษ. โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการประสานหารือร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ที่ผ่านมา
สำหรับประเด็นสำคัญที่ร่วมหารือกันในครั้งนี้ นอกจากแนวทางการจัดตั้งคณะ กรอ.กษ. ร่วมกันแล้ว กระทรวงเกษตรฯ ยังได้หารือร่วมในประเด็นการส่งเสริมอาชีพให้กับแรงงานเกษตรที่เดินทางกลับจากอิสราเอล ซึ่งได้มีการลงนาม MOU ร่วมกันเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงแรงงาน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีเกษตรจากแรงงานอิสราเอล สู่การพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ อันเป็นการพัฒนาแรงงานเกษตรให้พร้อมเข้าสู่การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมเกษตร หรือมีทักษะในการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร ยกระดับภาคการเกษตรด้วยความรู้ ประสบการณ์ และความชำนาญของแรงงานที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่จากรัฐอิสราเอล ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกหน่วยงานจะร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งในขณะนี้
“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เชื่อมั่นว่าความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในคณะ กรอ.กษ. ชุดนี้ จะเป็นอีกพลังที่เข้มแข็งในการพัฒนาความร่วมมือด้านการเกษตร ตลอดจนสนับสนุนนโยบายรัฐบาลให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้โดยใช้ ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้วางเป้าหมายเพื่อยกระดับภาคเกษตร และช่วยเหลือเกษตรกรไทย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือการแก้ไขปัญหา การพัฒนา ตลอดจนการส่งเสริมอาชีพ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้กับแรงงานเกษตรที่เดินทางกลับจากอิสราเอลในขณะนี้ ตลอดจนการเสริมศักยภาพเกษตรกรและยกระดับสินค้าเกษตรมูลค่าสูง เพื่อให้เกษตรกรกินดีอยู่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมั่นคง” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว
โอกาสนี้ ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีความพร้อมและยินดีให้ความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใน กรอ.กษ. นอกจากนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยังได้เสนอ 4 แนวทางเพื่อยกระดับภาคการเกษตรไทยร่วมกัน ได้แก่ 1) ยกระดับวัตถุดิบการเกษตร ใช้มาตรฐานของไทย เช่น GAP และส่งเสริมการสร้างผู้ตรวจประเมินในระบบ Supplier Audit

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 16 พฤศจิกายน 2566

“จักรัตน์”ปธ.กมธ.จัดการน้ำฯเร่งเดินหน้าพิจารณา“แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี”เชิญ หลายหน่วยงายที่เกี่ยวข้องชี้แจง ชี้ ควรมีแนวทางจัดการน้ำในสถานการณ์ต่าง ๆ

,

“จักรัตน์”ปธ.กมธ.จัดการน้ำฯเร่งเดินหน้าพิจารณา“แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี”เชิญ หลายหน่วยงายที่เกี่ยวข้องชี้แจง ชี้ ควรมีแนวทางจัดการน้ำในสถานการณ์ต่าง ๆ

นายจักรัตน์ พั้วช่วย สส.จังหวัดเพชรบูรณ์ เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)ในฐานะประธานคณะกรรมมาธิการ(กมธ.)บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สภาผู้แทนราษฎร เปิดผยว่า ถึงแม้จะอยู่ในช่วงปิดสมัยการประชุมสภาผู้แทนราษฏร ทางคณะกรรมาธิการยังเดินหน้าทำงาน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำที่ถือเป็นเรื่องสำคัญให้กับประชาชน โดยได้พิจารณาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทย และมีการเชิญกรมเจ้าท่า,กรมโยธาธิการและผังเมือง,กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น,การประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิภาค มาให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2563 – 2580)และผลการดำเนินงานที่ผ่านมา โครงสร้าง หน้าที่ อำนาจ และงบประมาณของหน่วยงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สถานการณ์น้ำในปัจจุบันและการคาดการณ์สถานการณ์น้ำในปี 2567 ปัญหาและอุปสรรค

นายจักรัตน์ กล่าวต่อว่า จากการพิจารณาคณะกรรมาธิการเห็นว่า ควรมีแนวทางการขุดลอกคลองให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันถนนทรุด นอกจากนี้การกำจัดผักตบขวาในแม่น้ำลำคลองควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกันเพื่อให้เกิดความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และควรจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการถ่ายโอนภารกิจด้านแหล่งน้ำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเหมาะสม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรหาแนวทางป้องกันการสูญเสียน้ำในการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ

นอกจากนี้ กรรมาธิการยังได้เชิญสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ,กรมชลประทานกรมทรัพยากรน้ำ,กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)ซึ่งจาการประชุมร่วมกัน เห็นว่า การบริหารจัดการน้ำมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ควรกำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำต่อสถานการณ์ต่าง ๆไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งและอุทกภัย และในส่วนของการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ควรให้ประชาชนในพื้นที่เกษตรกรรมมีส่วนร่วม นอกจากนี้ ยังพบว่ามีอีกหลายพื้นที่ที่ยังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่อใช้ในการอุปโภคและบริโภค กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นหน่วยงานหนึ่งที่สามารถจัดการปัญหาดังกล่าวได้ตามแนวภารกิจของหน่วยงาน ในส่วนพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีการปล่อยน้ำเสียนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีแนวทางการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 16 พฤศจิกายน 2566

“รมว.ธรรมนัส” สตาร์ทกิจกรรมการกำจัดวัชพืชและผักตบชวา 17 จุดทั่วประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพลุ่มน้ำ เสริมศักยภาพส่งน้ำหนุนอุปโภคบริโภค ภาคเกษตร ให้ปชช.

,

“รมว.ธรรมนัส” สตาร์ทกิจกรรมการกำจัดวัชพืชและผักตบชวา 17 จุดทั่วประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพลุ่มน้ำ เสริมศักยภาพส่งน้ำหนุนอุปโภคบริโภค ภาคเกษตร ให้ปชช.

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน Kick Off กิจกรรมการกำจัดวัชพืชและผักตบชวา ในแม่น้ำลำคลองสายหลัก และกิจกรรมจิตอาสาพัฒนา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” ณ บริเวณคลองระพีพัฒน์แยกตก วัดลำพระยา ตำบลวังจุฬา อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอีก 16 จุดทั่วประเทศ ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ พะเยา อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร อุดรธานี ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี นครราชสีมา ชลบุรี ลพบุรี ชัยนาท กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สงขลา และนราธิวาส โดยบูรณาการความร่วมมือจากทุกส่วนราชการและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ประชาชนจิตอาสา รวมถึงกำลังพลจิตอาสาของกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่ เพื่อพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และการส่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตรอย่างเต็มศักยภาพในพื้นที่
ทั้งนี้ ผักตบชวาเป็นพืชที่มีการแพร่พันธุ์และเติบโตอย่างรวดเร็วในแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วประเทศ ซึ่งมีทั้งหมด 20 ลุ่มน้ำหลัก และ 359 ลุ่มน้ำสาขา ความยาวลำน้ำธรรมชาติประมาณ 522,455.73 กม. กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน มีคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำที่เชื่อมโยงกับลำน้ำธรรมชาติ รวมทั้งทางน้ำธรรมชาติที่ประกาศเป็นทางน้ำชลประทานตาม พรบ.ชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 มาตรา 5 และมาตรา 8 ซึ่งเป็นทางน้ำที่อยู่ในความดูแล รวมทั้งสิ้นจำนวน 10,004 สาย ความยาวประมาณ 59,412.03 กม. คิดเป็นร้อยละ 11.37 ของลำน้ำธรรมชาติทั้งหมด จึงได้เร่งดำเนินการกำจัดวัชพืชและผักตบชวา โดยในระยะแรกนี้ จะดำเนินการพร้อมกัน 17 จุดทั่วประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 8,000 คน และมีเป้าหมายในการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชในไตรมาสแรกรวมประมาณ 546,000 ตัน ทั้งนี้ ผลการปฏิบัติงานในปี 2566 ที่ผ่านมา กรมชลประทานได้ดำเนินการกำจัดวัชพืชกว่า 5,633,079 ตัน รวมพื้นที่กว่า 34,252 ไร่
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานโครงการจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. ตามแนวพระราชดำริ “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” เพื่อให้ประชาชนมีความสมัครสมานสามัคคี มีความสุข และประเทศชาติมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน โดยเน้นการทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของทุกภาคส่วน โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เพื่อพัฒนาพื้นที่ด้านแหล่งน้ำในการใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรและความสุขต่อประชาชนและชุมชนส่วนรวมอย่างถาวร นอกจากนี้ ยังช่วยเสริมสร้างให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ และตระหนักรู้เกี่ยวกับบทบาทความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ถูกต้อง เกิดความรู้สึกเคารพ รัก เทิดทูน และร่วมปกป้องสถาบันหลักของประเทศชาติ อันประกอบด้วยสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ให้ดำรงอยู่คู่กับสังคมไทยต่อไป

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 16 พฤศจิกายน 2566