โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

หมวดหมู่: กิจกรรม ส.ส. ไพบูลย์ นิติตะวัน

“ธีระชัย” จี้แจกเงินหมื่นหวังเกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ แต่จะเป็นแค่ลมโชย

,

อดีต รมว.คลัง ชี้ รัฐบาลแจกเงินหมื่นผ่านดิจิทัลวอลเล็ต หวังกระตุ้นให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ สุดท้ายจะเป็นแค่ลมโชย เนื่องจากไม่ได้หาแหล่งเงินใหม่ แต่ไปดึงเงินจาก ธ.ก.ส.และงบประมาณปี 67-68 มาใช้ ทำให้จีดีพีที่จะเติบโตผ่านการใช้จ่ายตามปกติหายไป เปรียบร่างกายต้องการเลือด แต่ใช้วิธีสูบเลือดที่มีอยู่เดิมออกมาแล้วสูบเข้าไปใหม่

วันนี้ (22 เม.ย.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala – – ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในหัวข้อ ไม่ใช่พายุหมุนแค่ลมโชย มีรายละเอียดดังนี้

รัฐบาลประกาศว่า การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต จะสร้างพายุหมุน จะกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่
ถามว่า โฆษณาไว้อย่างไร?
ตอบว่า
1. รัฐบาลคุยว่า การแจกเงินดิจิทัล 560,000 ล้านบาท จะช่วยกระตุ้นจีดีพีปี 2567 ให้ขยายตัวได้ถึง 5% (จากครรลองปกติ 3%) จะเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจหลายรอบ

ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงว่า จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 3-4%
เม็ดเงิน 560,000 ล้านบาท จะหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ 2-3 รอบ ก่อให้เกิดมูลค่าถึง 1.5 ล้านล้านบาท

2. คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย ประเมินว่า โครงการนี้จะสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจ และกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในเวลาอันรวดเร็ว
คาดคะเนว่าเงินจากดิจิทัลวอลเล็ตจะเข้าไปหมุนในระบบเศรษฐกิจเฉลี่ย 3.7 รอบ หากคิดจากยอดเงินของโครงการที่ 5 แสนล้านบาท จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 2 ล้านล้านบาทเป็นอย่างน้อย

3. นักวิชาการผู้นำกลุ่มริเริ่มโครงการบอกว่า “การหมุน จะเกิดขึ้นหลายรอบ ผมคำนวณ 4-5 รอบ และจะเก็บภาษี แวต ได้ตามที่คำนวณในคลิป แต่ที่สำคัญคือ มันไม่ได้หยุดในไตรมาสเดียว มันจะเกิดการหมุนหลายรอบข้ามเวลามากกว่าสี่ไตรมาส Q4/67 ….Q4/68..”

ถามว่า แหล่งเงินสำหรับโครงการจะมาจากไหน?

ตอบว่า
เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, กฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง, ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, เผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ เฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ร่วมแถลงรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต

ลวรณ ในฐานะปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวชี้แจงถึงรายละเอียดว่า รัฐบาลดำเนินตามกฎหมายทุกประการ โดยใช้แหล่งเงินที่มาจากงบประมาณทั้ง 500,000 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และ 2568 แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

1. เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท ซึ่งได้มีการขยายงบประมาณในปี 2568 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

2. เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จากการดำเนินการโครงการจากหน่วยงานของรัฐ 172,300 ล้านบาท โดยใช้มาตรา 28 และมอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เป็นผู้ดูแลประชาชนในกลุ่มที่เป็นเกษตรกรจำนวน 27 ล้านคน

3. งบการบริหารจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท

ผมขอบอกว่า ผลการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่จะเปลี่ยนจากพายุหมุน ไปเป็นลมโชย ก็เนื่องจากการใช้แหล่งเงินจาก ธ.ก.ส. และจากงบประมาณปี 2567

ถามว่า เหตุใดการใช้ 2 แหล่งเงินนี้จะเปลี่ยนจากพายุหมุน ไปเป็นลมโชย?

ตอบว่า บรรดาผู้ที่แถลงข่าวควรคำนึงถึงปัจจัยเศรษฐกิจต่อไปนี้

หนึ่ง วิธีก่อพายุหมุนจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อรัฐบาลกู้หนี้สาธารณะ เพราะเป็นการหาเงินใหม่เข้ามาเติมเข้าไปในเศรษฐกิจ แต่เงินจาก 2 แหล่งนี้ไม่ใช่เงินใหม่

สอง เมื่อรัฐบาลให้ ธ.ก.ส.ใช้เงินเพื่อดิจิทัลวอลเล็ต นอกจากผิดกฎหมายเพราะอยู่นอกขอบวัตถุประสงค์แล้ว ยังเป็นเงินจำนวนสูงมาก จะเป็นอุปสรรคต่อการที่ ธ.ก.ส. จะให้กู้ตามครรลองปกติ

ตัวเลขจีดีพีปกติ ประมาณ 3% นั้น ส่วนหนึ่งหนุนจากการที่ ธ.ก.ส.ให้กู้ตามครรลองปกติ

ดังนั้น เมื่อรัฐบาลเบียดบังเงินนี้ เอาไปใช้เพื่อการอื่นซึ่งทำให้ ธ.ก.ส. ไม่สามารถให้กู้ได้ตามเดิม ตัวเลขจีดีพีย่อมจะต้องลดลง ต้องหักทอนออกจากพายุหมุน

พายุหมุนจึงกลายเป็นลมโชย

สาม การบริหารงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ให้ได้เงินจำนวน 175,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนมหาศาลนั้น ย่อมต้องชะลอการใช้จ่ายด้านอื่น

รายจ่ายประจำปี 2567 ที่เป็นเงินเดือนและสวัสดิการข้าราชการ รวมถึงบรรดาค่าใช้จ่ายประจำ นั้น เดิมผู้รับเงินก็จะเอาไปใช้จ่าย ซึ่งจะหนุนจีดีพีตามแนวโน้มปกติ 3%

เมื่อรัฐบาลเบียดบังเอาไป ตัวเลขจีดีพีย่อมจะต้องลดลง ต้องหักทอนออกจากพายุหมุน

รายจ่ายประจำปี 2567 ที่เป็นโครงการลงทุน เดิมผู้รับเงินก็จะเอาไปใช้จ่าย ซึ่งจะหนุนจีดีพีตามแนวโน้มปกติ 3% แต่นอกเหนือจากนั้น การลงทุนจะเพิ่มความสามารถในการหารายได้ของประเทศในอนาคต

เมื่อรัฐบาลเบียดบังเอาไป ตัวเลขจีดีพีย่อมจะต้องลดลง ต้องหักทอนออกจากพายุหมุน แต่ที่สำคัญคือ จะกระทบความสามารถในการหารายได้ของประเทศไปในอนาคตอีกด้วย

พายุหมุนจึงกลายเป็นลมโชย

ทฤษฎีสูบออกสูบเข้า
ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ให้ตัวอย่างอธิบายแบบภาษาชาวบ้าน

รัฐบาลบอกว่าเศรษฐกิจไทยเหมือนคนไข้ขาดเลือด ต้องเอาเลือดสูบเข้าร่างกาย แต่เลือดที่จะสูบเข้านี้ ไม่ได้มาจากไหน

เป็นเลือดที่รัฐบาลสูบออกไปจากคนไข้นั้นเอง

สูบเข้าสูบออกนั้น ไม่สามารถเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่

วันที่ 22 เมษายน 2567

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ

ที่มา : https://mgronline.com/politics/detail/9670000034895
วันที่ : 22 เมษายน 2567

‘ไพบูลย์’ ยื่นผู้ตรวจฯชงศาล รธน.คว่ำ MOU 2544 ปกป้องทรัพยากรทะเล 20 ล้านล.

,

‘ไพบูลย์’ ยื่นผู้ตรวจฯ ชงศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด ‘MOU 2544’ ทำขัดรัฐธรรมนูญ ใช้บังคับไม่ได้ เป็นโมฆะทั้งฉบับตั้งแต่แรก ยันต้องปกป้องอธิปไตยทะเลไทยกว่า 16 ล้านไร่ ผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติกว่า 20 ล้านล้านบาท

เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2567 ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นนักกฏหมาย ยื่นคำร้องในฐานะบุคคลหนึ่งของปวงชนชาวไทยที่มีสิทธิในเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยและผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติของไทยในทะเลอ่าวไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 3 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 25 และ มาตรา 43 (2) ซึ่งผู้ร้องได้ถูกละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญโดยตรงและอาจจะได้รับความเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องมาจากการถูกละเมิดสิทธิ และการถูกละเมิดสิทธินั้นยังคงมีอยู่จากการกระทำของกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ผู้ถูกร้องที่ 1 และ กระทรวงการต่างประเทศ ผู้ถูกร้องที่ 2 ในการนำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน

ต่อไปในคำร้องเรียกว่า “MOU 2544” ผู้ถูกร้องทั้งสองใช้เป็นเครื่องมือมาดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยในพื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร (16 ล้านไร่) และแบ่งผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติในทะเลของไทยมูลค่า 20 ล้านล้านบาทให้แก่กัมพูชา ทั้งที่ พื้นที่ตาม “MOU 2544” เป็นเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลและผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติของไทยในทะเลทั้งหมดตามแผนที่แนวเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทยแนบท้ายประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทยที่กำหนดแนวเขตขึ้นตรงตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982

ผู้ร้องได้พบข้อกฎหมายว่า “MOU 2544” มีสถานะเป็นหนังสือสัญญามีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ตามบรรทัดฐานคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2542 , คำวินิจฉัยที่ 33/2543 และคำวินิจฉัยที่ 6-7/2551 และปรากฎหลักฐานว่าผู้ถูกร้องทั้งสองได้ยอมรับว่า “MOU 2544” มีสถานะเป็นหนังสือสัญญาหรือสนธิสัญญา ที่ต้องเสนอรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ

แต่ปรากฎว่า “MOU 2544” ได้กระทำขึ้นโดยไม่ได้ขอความเห็นชอบจากรัฐสภาไทย จึงมีผลให้“MOU 2544” เป็นบทบัญญัติใดหรือการกระทำใดที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 5 และมีผลให้ “MOU 2544” ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตั้งแต่เริ่มแรก (void ab intio) และมีผลในทางกฎหมายไม่ผูกพันรัฐภาคีทั้งสอง ตามหลักการเรื่อง “ความไม่สมบูรณ์แห่งสนธิสัญญา” (Invalidity of Treaties) ซึ่งบัญญัติไว้ในอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฏหมายสนธิสัญญา ค.ศ.1969

ทั้งนี้ ผู้ร้องเห็นว่าหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า “MOU 2544” เป็นหนังสือสัญญาที่กระทำการโดยไม่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา จึงเป็นบทบัญญัติใดหรือการกระทำใดที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตั้งแต่เริ่มแรก และไม่ผูกพันไทย จะเป็นประโยชน์ต่อไทย หากมีข้อพิพาทเรื่อง เขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยไปสู่ศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ เพราะทำให้ฝ่ายกัมพูชาไม่อาจกล่าวอ้าง “MOU 2544” เป็นหลักฐานว่าไทยยอมรับว่าบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

และจะทำให้เขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยพื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร (16 ล้านไร่) และผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติ มูลค่า 20 ล้านล้านบาทของไทยในทะเลอ่าวไทยเป็นของไทยทั้งหมดตามกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นต้นว่า อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 หากฝ่ายกัมพูชาโต้แย้งเป็นข้อพิพาทในเรื่องเขตอธิปไตยทางทะเลของไทย ผู้ร้องเห็นว่าเพื่อให้ได้ข้อยุติระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธีและรวดเร็ว และจะเป็นประโยชน์กับไทยมากกว่า

ผู้ร้องเห็นว่าไทยควรเป็นฝ่ายนำคดีข้อพิพาทในเขตอธิปไตยทางทะเลฟ้องต่อศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ (International Tribunal for the Law of the Sea: ITLOS) ตั้งอยู่ที่นครฮัมบรูกส์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งเป็นกลไกตุลาการอิสระของสหประชาชาติ มีอำนาจตัดสินข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 ประกอบด้วยผู้พิพากษาจากประเทศต่าง ๆ ทั้งหมด 21 ท่าน ซึ่งปัจจุบันมีผู้พิพากษาที่เป็นชาวไทย 1 ท่าน

อาศัยเหตุดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ผู้ร้องยื่นคำร้องนี้ต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 213 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของ ศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง มาตรา 47 และ มาตรา 48 และขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาส่งคำร้องของผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า “MOU 2544” มีสถานะเป็นหนังสือสัญญา เมื่อกระทำการโดยไม่ได้ขอความเห็นชอบจากรัฐสภาไทย “MOU 2544” จึงเป็นบทบัญญัติหรือการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มีผลตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตั้งแต่เริ่มแรกไม่ผูกพันไทยแต่ประการใด แต่ผู้ถูกร้องทั้ง 2 กลับนำมาใช้เป็นเครื่องมือดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลและผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติในทะเลของไทยให้แก่กัมพูชา

การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองจึงเป็นการกระทำละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของผู้ร้อง จึงขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดวินิจฉัยและมีคำสั่งให้บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544) หรือ MOU 2544 เป็นหนังสือสัญญาที่กระทำการโดยไม่ได้ขอความเห็นชอบของรัฐสภา จึงเป็นบทบัญญัติใดหรือการกระทำใดที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตั้งแต่เริ่มแรก และ ขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำในการนำ “MOU 2544” มาใช้เป็นเครื่องมือดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยและแบ่งผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติทางทะเลของไทยให้แก่กัมพูชา

ผู้ร้องขอเรียนว่า หากผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วมีมติยื่นคำร้องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ร้องขอเป็นผู้ร้องที่ 2 ร่วมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อผู้ร้องจะมีสิทธิในฐานะคู่ความนำเสนอพยานหลักฐานเพิ่มเติมต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่หากผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติไม่ยื่นคำร้องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่ยื่นคำร้องนี้ภายในเวลา 60 วันนับแต่วันที่รับคำร้อง ผู้ร้องขอใช้สิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 48 วรรคสอง

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/politics/1121660
วันที่ : 10 เมษายน 2557

ส.ส. ไพบูลย์ รองหัวหน้า พปชร. ให้การต้อนรับ
เอกราชฑูตเกาหลี

,

ส.ส. ไพบูลย์ รองหัวหน้า พปชร.ให้การต้อนรับเอกราชฑูตเกาหลี แลกเปลี่ยนมุมมอง-กระชับ
ความสัมพันธ์ระดับประเทศ

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้า
พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และ ดร. จักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส. กรุงเทพฯ เขต 30 กรรมการบริหารพรรค และประธานภาค ส.ส. กทม พปชร. ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ การต่างประเทศ
ร่วมให้การต้อนรับ นายคิม เช พง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้าพบเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระดับรัฐบาลและรัฐสภาของทั้ง 2 ประเทศ
พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมองเพื่อนำไปสู่ความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ระดับประเทศ

#ไพบูลย์นิติตะวัน
#รองหัวหน้าพปชร
#พลังประชารัฐ
#พปชร

ที่มา : facebook.com/PPRPThailand/
เมื่อวันที่ : 11 ธันวาคม 2564