โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

วัน: 21 มิถุนายน 2024

“รมช. อรรถกร” ยอมรับงบกระทรวงเกษตรฯ 1.2 แสนล้านบาทไม่เพียงต่อปัญหาพี่น้องเกษตรกร เผยงบ 70% เป็นงบลงทุนพัฒนาโครงการ ย้ำต้องเร่งทำงานในพื้นที่ รับฟังปัญหาเกษตรกรมากขึ้น

,

“รมช. อรรถกร” ยอมรับงบกระทรวงเกษตรฯ 1.2 แสนล้านบาทไม่เพียงต่อปัญหาพี่น้องเกษตรกร
เผยงบ 70% เป็นงบลงทุนพัฒนาโครงการ ย้ำต้องเร่งทำงานในพื้นที่ รับฟังปัญหาเกษตรกรมากขึ้น

วันนี้ (21 มิ.ย. 67) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่สอง สมัยวิสามัญเป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ในวาระแรก นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา พลังประชารัฐ(พปชร.)ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวชี้แจงงบประมาณของกระทรวงเกษตรฯว่า เราได้เงินงบประมาณมากกว่า 120,000 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณของกระทรวงเกษตรนั้น กว่า 70% จะเป็นงบลงทุนเป็นส่วนใหญ่

นายอรรถกร กล่าวต่อว่า เรามีโอกาสได้ไปลงพื้นที่ในทั่วภูมิภาคในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จะเห็นว่าเงินจำนวนนี้มันไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกร เมื่อกลับมาประชุมที่สภา ในวาระพิจารณางบประมาณในครั้งนี้ยิ่งเด่นชัด เนื่องจากตนได้พบเพื่อนสมาชิกจากจังหวัดต่างๆก็มาพูดคุยถึงความต้องการงบประมาณในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่มากมาย

“การจัดสรรงบประมาณอาจจะยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งระบบในการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร แต่ว่าเราในฐานะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เราจะทำงานให้ละเอียดขึ้น จะต้องทำงานให้ถึงลูกถึงคนยิ่งขึ้น เราจะต้องลงพื้นที่เพื่อไปคลุกคลีกับพี่น้องประชาชน พี่น้องเกษตรกร เพื่อรับฟังปัญหาจากพี่น้องเกษตรกร ด้วยสองตา สองหู และสมองของพวกเรา เพื่อที่จะชดเชยในเรื่องของการได้รับงบประมาณที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งระบบ” นายอรรถกร กล่าว

นายอรรถกร กล่าวต่อว่า ในเรื่องของพื้นที่เผาไหม้ ที่มาจากพื้นที่ทางการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาอยู่ก็ตาม แต่ข้อมูลอ้างอิงจากข้อมูลดาวเทียมของจิสด้าระบุชัดเจนว่า ความร้อนในปีนี้ลดลง ถ้าเทียบกับปีที่แล้ว 10% ซึ่งนโยบายเป้าหมายในการลดจุดความร้อนของกระทรวงเกษตรฯเรามีแนวทางในการทำงานชัดเจน โดยกระทรวงเกษตรฯได้ประกาศไว้ใน IGNITE THAILAND ว่า เราจะใช้แนวทาง 3R Model ลดปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร คือ

1.Re-Habit : เปลี่ยนพฤติกรรม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืช เป็นการปลูกแบบไม่เผา ภายใต้มาตรฐาน GAP PM 2.5 Free โดยการนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยในการเก็บเกี่ยว
2.Replace with High value crops : เปลี่ยนชนิดพืช ปรับเปลี่ยนชนิดและวิถีการปลูกพืชบนพื้นที่สูง จากพืชไร่เป็นไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชเศรษฐกิจแบบผสมผสานที่มีมูลค่าสูง
3.Replace with Alternate crop : เปลี่ยนเป็นพืชทางเลือก ปรับเปลี่ยนชนิดและวิธีการปลูกพืชบนพื้นราบ โดยเน้นการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจแและเป็นประโยชน์ต่อดิน

นายอรรถกร กล่าวต่อว่า กระทรวงเกษตรฯกำลังร่างมาตรฐานใหม่ขึ้นมาให้ครอบคลุมถึงเรื่องของการลดการเผาลงไปด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงของการรับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชน และเชื่อว่าหลังจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชนแล้วจะนำเข้าสู่คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าทางการเกษตรต่อไป

ในส่วนประเด็นที่เพื่อน สส.มีความห่วงใยถึงปัญหาที่ว่ามีการถ่ายโอนภารกิจต่าง ๆ จากกระทรวงเกษตรกรไปยังท้องถิ่น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้ทราบปัญหาเป็นอย่างดี และเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อน กระทรวงเกษตรกรฯได้เรียกหัวหน้าหน่วยราชการทั้ง 22 หน่วยงานของกระทรวงเกษตรกรฯเข้ามาพูดคุยเรื่องนี้ โดยเน้นไปที่กรมชลประทาน และกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งมีภารกิจที่ถ่ายโอนไปเยอะ ให้ไปทำข้อมูลในในส่วนของโครงการที่มีความจำเป็นที่จะต้องซ่อมแซมแก้ไขอย่างเร่งด่วนเข้ามา และเราก็จะทำงานร่วมกับท้องถิ่น ในการที่จะเป็นคล้ายๆกับผู้แนะนำให้ท้องถิ่นที่ไม่มีศักยภาพเพียงพอในการซ่อมแซม หรือว่าไม่มีงบประมาณทำการขอเงินจากรัฐบาลต่อไป

นายอรรถกร กล่าวต่อถึง โครงการก่อสร้างแหล่งน้ำในนอกเขตชลประทาน หรือ บ่อจิ๋ว จำนวน 23,000 บ่อ โดยมีการกำหนดความลึกไว้ที่ 2.1 เมตร ตนต้องนำเรียนว่าจริงๆ แล้ว กำหนดความลึกของกรมพัฒนาที่ดินอยู่ที่ 3-5 5 เมตรแต่ตรงนี้ถ้ากรมพัฒนาที่ดินลงไปช่วยเหลือในการสนับสนุนการขุดบ่อจิ๋ว ต่ำกว่า 3 เมตรก็ได้ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ของเกษตรกรแต่มาตรฐานที่ปริมาตรของความจุอยู่ที่ 1,260 ลูกบาศก์เมตร และขอเรียนเพิ่มเติมว่า 20 ปีที่ผ่านมา กรมพัฒนาที่ดินได้ทำการปฏิบัติการขุดบ่อไปแล้ว 723,380 บ่อ ซึ่งสามารถเก็บกักน้ำได้ 911,459 ลูกบาศก์เมตร โดยต้องยอมรับเนื่องจากบ่อมีขนาดไม่ใหญ่มาก หากนำไปเทียบกับอ่างเก็บน้ำใหญ่ ๆ มันมีโอกาสที่บ่อเก็บน้ำเหล่านี้จะตื้นเขินอยู่แล้ว แต่กระทรวงเกษตรฯ จะลงไปดูในเรื่องของบ่อที่ขุดมานาน เพื่อที่จะพัฒนาระบบเก็บน้ำของเกษตรกรต่อไป

นายอรรถกร ยังกล่าวต่อถึงเหตุน้ำท่วมที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯร่วมกับรัฐบาลได้เดินหน้าเยียวยาพี่น้องเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของด้านพืชผล เราได้เยียวยาเกษตรกรไปทั้งหมด 764 ราย เป็นเงินมูลค่า 5.47 ล้านบาท ด้านประมง 419 ราย 1.74 ล้านบาท ด้านปศุสัตว์ 447 ราย มีการประสานหน่วยงานเพื่อที่จะเยียวยา คิดเป็นเงินเกือบ 30 ล้านบาท ในเรื่องของประเด็นทุเรียนไม่ออกดอกนั้น ปัญหาหลักของทุเรียนในการที่จะออกดอกออกผลเยอะ ๆ ก็คือ ทุเรียนเป็นพืชที่ต้องการน้ำ ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นน้ำต้นทุน หรือว่าน้ำสำรอง เป็นสิ่งที่กระทรวงเกษตรฯ โดยเฉพาะกรมชลประทานให้ความสำคัญเป็นอย่างดี

“ผมยกตัวอย่างในปี 2568 งบประมาณของกรมชลประทาน จะมีโครงการอ่างเก็บน้ำคลองพระวาใหญ่ จังหวัดจันทบุรี หลักๆก็คือจะเป็นสถานีสูบน้ำพร้อมระบบสูบน้ำ ท่านก็สามารถใช้ระบบน้ำตรงนี้ ส่งน้ำไปยังสวนทุเรียนในบริเวณใกล้เคียงได้ นี่คือสิ่งที่กระทรวงเกษตรฯให้ความสำคัญในการเพิ่มมูลค่าทางการเกษตรให้กับพี่น้องเกษตรกร“นายอรรถกร กล่าว

ส่วนความเป็นห่วงในเรื่องของการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ในปี 2567 เกษตรกรได้เข้าร่วมโครงการนี้ผ่านกรมการข้าว และกรมส่งเสริมเกษตรกรมากกว่า 10,000 ครัวเรือน แต่ส่วนใหญ่พื้นที่จะอยู่ในเขตตะวันตก เช่น จังหวัดสุพรรณบุรี ชัยนาทสิงห์บุรี ราชบุรี และกาญจนบุรีในบางส่วน แต่ว่าในปีจ 68 ก็มีแผนที่จะขยายไปในพื้นที่ต่างๆมากขึ้น อย่างน้อยให้ครบ 400,000 ไร่ เพื่อที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรได้รับเงินจากการทำคาร์บอนเครดิตด้วย

ด้านนายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ สส.ชัยภูมิ เขต 7พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ที่ให้ความเป็นห่วงประชาชนที่ต้องการได้รับเงินชดเชยจากโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำน้ำชี ตนยืนยันว่ากระทรวงเกษตรฯจะทำเรื่องนี้ให้เสร็จภายในปี 69 ที่อ่างเก็บน้ำลำน้ำชี หมายความว่าปลายปี 68 รัฐบาลสามารถชดเชยในส่วนที่พี่น้องจะต้องย้ายออกได้แล้ว

นายอรรถกร ยังกล่าวถึงปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำที่ สส.หลายคนพูดถึงนั้น ตนยืนยันว่า ราคาสินค้าทางการเกษตรเกือบทุกตัวปรับตัวสูงขึ้นในปีที่ผ่านมา และเรายังเชื่อมั่นแนวทางการทำเกษตรที่มีความแม่นยำ และทำเกษตรที่สามารถได้ในราคาสูง ๆ เราจะดำเนินการต่อไป

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 21 มิถุนายน 2567

‘รมว.ธรรมนัส’ เผยจัดสรรงบปี 68 ย้ำแก้ปัญหาภาคเกษตรตรงจุดภายใต้งบจำกัด มุ่งสร้างความเข้มแข็งสินค้าเกษตรเตรียมเปิดตลาดส่งออกโคเนื้อเข้าซาอุฯครั้งแรก

,

‘รมว.ธรรมนัส’ เผยจัดสรรงบปี 68 ย้ำแก้ปัญหาภาคเกษตรตรงจุดภายใต้งบจำกัด
มุ่งสร้างความเข้มแข็งสินค้าเกษตรเตรียมเปิดตลาดส่งออกโคเนื้อเข้าซาอุฯครั้งแรก

วันนี้ (21 มิ.ย. 67) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่สอง สมัยวิสามัญเป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ชี้แจงว่า งบประมาณของกระทรวงเพื่อดูแลประชากรทั้งสิ้น 30 ล้านคน แต่ได้งบประมาณ 125,882.1283 ล้านบาท ภายใต้ข้อข้อกำจัด ของบประมาณแผ่นดิน ซึ่งต้องยอมรับว่าเรามีงบประมาณเท่านี้ จึงต้องแบ่งคัดสรร ต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด และต้องดูภาพปัญหาเกษตรกรส่วนใหญ่คืออะไร เพื่อนำปัญหาที่พบ มาวางแผน ในการจัดงบประมาณ แต่ด้วยกรอบระยะเวลา ไม่สามารถใส่ในแผนของหน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องน้ำได้ กรมชลประทานถือเป็นหน่วยงานภาคปฏิบัติ ในการนำนโยบายการบริหารจัดการน้ำไปพัฒนาโครงการพื้นที่ ซึ่งประเทศไทยมีพื้นที่เพียง 60.29 ล้านไร่ ที่เหมาะสมกับการเป็นพื้นที่ชลประทาน

ร้อยเอกธรรมนัส กล่าวว่า ดังนั้นการแก้ปัญหาได้ทันท่วงทีกับยุคสมัย ต้องแก้ไขท่ีกฎหมายก่อน เพื่อให้เข้ากับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจึงต้องแบ่งเกษตรกรเป็นกลุ่ม ๆ จะใส่ไปแบบเหมารวมหรือตัดเสื้อโหลไม่ได้เด็ดขาด พี่น้องเกษตรกรที่มีความเข้มแข็งต้องส่งเสริมให้สร้างสินค้าการเกษตรที่มีคุณภาพ และส่งเสริมการส่งออกโดยไม่ต้องพึ่งพาภาครัฐ รัฐจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในเรื่องการส่งออก ส่วนเกษตรกรที่มีความเข้มแข็งปานกลาง ก็จะเน้นการส่งเสริมใช้นวัตกรรมการแปรรูป และต้องมีตลาดที่นำสินค้าไปขาย และต้องยอมรับว่า ความแปรปรวนทางสภาพอากาศ ส่งผลต่อเกษตรกรกลุ่มเปราะบาง ต้องจำแนกกลุ่มนี้ออก และไปส่งเสริมให้ฟื้นฟูทำการเกษตรในระดับกลางให้ได้

ภาคการเกษตรมีปัญหามากมายที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลายาวนาน รัฐบาลที่แล้วพยายามแก้ไข แต่แก้ไม่ได้ โดยรัฐบาลนี้ใช้เวลาไม่กี่เดือนก็สามารถปรับราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้นได้ ราคาข้าวก็ดีขึ้น ราคายางพาราก็ดีขึ้น ซึ่งเป็นความหวังของคนไทย

ร้อยเอกธรรมนัส ระบุว่า ส่วนการส่งออกโคเนื้อไปประเทศซาอุดีอาระเบีย นับเป็นความสำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยตอบรับการนำเข้าโคเนื้อไปได้ ซึ่งกำลังหารือว่าส่งทางเรือ จะต้องมีขั้นตอนอะไรบ้าง ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายแล้ว และตนเองก็มีกำหนดการเดินทางไปที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อไปบันทึกข้อตกลงในเรื่องนี้ ซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือน เราจะสามารถส่งโคมีชีวิตไปยังประเทศตะวันออกกลาง โดยเริ่มต้นที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย รวมถึงมีการขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้านเกี่ยวกับโคเนื้อ ทั้งเวียดนาม มาเลเซีย ลาว และกัมพูชา โดยได้รับความร่วมมือจากกรมศุลกากร ให้ขยายเวลาในการเปิดด่านเพื่อส่งสินค้า

สำหรับงบประมาณในการจัดซื้อวัคซีนที่ใช้ในภาคปศุสัตว์มี 2 ประเภท คือ เชื้อเป็น กับเชื้อตาย ที่เราจัดตั้งการของบประมาณที่ซื้อวัคซีนเชื้อเป็นจากต่างประเทศขอไป 5 ล้านโดส แต่ได้รับเพียง 2 ล้านกว่าโดส เมื่อเห็นว่างบประมาณมีจำนวนจำกัด เราก็น้อมรับ เพื่อทำให้สัตว์ปลอดโรค และขณะนี้เรากำลังพัฒนาวัคซีนแบบเชื้อเป็นในประเทศ

ส่วนจำนวนโคผู้เลี้ยงโคนมลดลงเกิดจากปัญหาโรคปากเปื่อยเท้าเปื่อย ทำให้พี่น้องเกษตรกรกลุ่มที่ยังไม่แข็งแรง ล้มเลิก เนื่องจากการติดเชื้อเหล่านี้ เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งเราจะต้องกำจัดปัญหาเหล่านี้ให้สิ้นซาก

“เราจะสร้างความเข้มแข็งโดยเพิ่มรายได้ภายในปี 70 ให้เป็น 3 เท่า ตามที่รัฐบาลได้วางเป้าเอาไว้ ภายใต้รัฐบาลที่ขับเคลื่อน และภายใต้การตรวจสอบของฝ่ายค้านเป็นสิ่งที่ทำให้เราต้องทำงานแบบไตร่ตรองให้ดี ทำงานให้จริงจัง ใส่ใจต่อพี่น้องเกษตรกร” ร้อยเอกธรรมนัส กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 21 มิถุนายน 2567

“สส.อัครแสนคีรี” ขอบคุณ “รมว.ธรรมนัส-รมช.อรรถกร” หลังค่าชดเชยโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำน้ำชี ถูกบรรจุในงบ 68 ตามที่รับปากชาวชัยภูมิ

,

“สส.อัครแสนคีรี” ขอบคุณ “รมว.ธรรมนัส-รมช.อรรถกร” หลังค่าชดเชยโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำน้ำชี ถูกบรรจุในงบ 68 ตามที่รับปากชาวชัยภูมิ

วันนี้ (21 มิ.ย. 67) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่สอง สมัยวิสามัญเป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ในวาระแรก นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ สส.ชัยภูมิ เขต 7พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)กล่าวอภิปรายถึงงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การทำงาน ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ

โดยจากวันนั้นที่รัฐมนตรีทั้ง 2 ท่าน ได้ลงพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อติดตามโครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชี ที่มีพี่น้องประชาชนเดือดร้อนจากการที่ยังไม่ได้รับค่าชดเชยจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีกว่า 1000 ราย ได้มาทวงถามความชัดเจนจากท่านรัฐมนตรี ซึ่งรอคอยค่าชดเชยมาเกือบ 5 ปีแล้ว ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัส ได้พูดคุยกับชาวบ้านถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและรับปากกับประชาชนว่าจะแก้ปัญหาให้

“วันนี้งบชดเชยที่ดินที่ ร.อ.ธรรมนัส รับปากประชาชนเอาไว้ ได้บรรจุในเล่มงบประมาณเป็นวงเงิน 1,000 ล้านบาทเป็นที่เรียบร้อย ถึงแม้ยังไม่ครอบคลุมวงเงินทั้งหมด แต่การกระทำของ ร.อ.ธรรมนัส และนายอรรถกร ถือว่าเป็นที่ประจักษ์สายตาชาวชัยภูมิว่า ท่านพูดจริงทำจริง ชนทุกปัญหาไม่ทิ้งพี่น้องประชาชน”

นายอัครแสนคีรี กล่าวต่อว่า ในวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา ร.อ.ธรรมนัส และนายอรรถกร ได้ลงพื้นที่อำเภอคอนสวรรค์ ซึ่งเป็นอำเภอรับน้ำด่านสุดท้ายในจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งตนและผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ ได้นำเสนอโครงการพัฒนาลำน้ำก่ำ ตลอดสายซึ่งจะเร่งระบายน้ำ ลงแม่น้ำชี และทำให้พี่น้องมีน้ำใช้ในฤดูแล้ง ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัส ได้สั่งการให้ชลประทานดำเนินการทันที และเพียงหนึ่งอาทิตย์ถัดมา เครื่องจักรของกรมชลประทานก็ได้เข้าไปในพื้นที่ เพื่อไปเริ่มทำงาน ซึ่งพี่น้องคอนสวรรค์ต่างพูดเป็นเสียงเดียวว่า ตั้งแต่เกิดมา เพิ่งเคยเห็นผู้นำในรัฐบาล ที่เด็ดขาด พูดจริงทำจริงขนาดนี้

นายอัครแสนคีรี กล่าวต่อว่า อีกหนึ่งโครงการที่ตนและพี่น้องอำเภอแก้งคร้อ ครสวรรค์ พากันผลักดันก็คือโครงการอ่างเก็บน้ำช่องสามหมอ ซึ่งถือเป็นโครงการในตำนานก็ว่าได้ โดยภายหลังที่ตนได้อภิปรายในสภาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 67 ที่ผ่านมา ทางท่านอธิบดีกรมชลประธาน ได้แถลงออกข่าว ว่า กรมชลประทานจะพัฒนาอ่างเก็บน้ำช่องสามหมอ ตรงนี้ก็ต้องขอชื่นชมไปยังท่านอธิบดีชูชาติ และคณะผู้บริหารกรมชลประธาน ที่ใส่ใจปัญหาพี่น้องประชาชน ซึ่งหลังจากท่านแถลงข่าวแล้ว กรมชลประธานโดยสำนักก่อสร้างกลางก็ได้พากันออกพื้นที่ ลงไปประชาพิจารณ์กับชาวบ้าน ซึ่งได้ผลตอบรับ เห็นชอบอย่างล้นหลาม

“ผมก็ขอฝากกรมชลประทานให้ช่วยนำโครงการ อ่างเก็บน้ำช่องสามหมอเข้าแผน Thai Water Plan และ จัดสรรงบเหลือจ่าย และงบประมาณแผ่นดินใน พ.ร.บ งบประมาณ ปี 69 ที่จะถึงในอนาคตอันใกล้ เพื่อดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำช่องสามหมอให้ด้วย”

นายอัครแสนคีรี กล่าวต่อว่า ภายใต้ยุคการบริหารงานของรัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ร.อ.ธรรมนัส และนายอรรถกร การบริหารกรมชลประทาน โดยท่าน อธิบดีชูชาติ ท่านรองรองอธิบดี สุริยะพล จังหวัดชัยภูมิ จะมีอ่างเก็บน้ำ เพิ่มขึ้นอีก 6 อ่าง ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของจังหวัดชัยภูมิ และจะตอกย้ำถึงชื่อของจังหวัด ซึ่งหมายถึงภูมิศาสตร์ของผู้ที่ได้รับชัยชนะ ผลงานชิ้นโบว์แดงของกระทรวงเกษตรฯที่เปลี่ยนชีวิตเกษตรกรก็คือ นโยบายเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร ซึ่งต้องยอมรับว่าพูดกันมากี่สมัยแล้วก็ทำไม่ได้ แต่ยุคนี้เปลี่ยนมือได้แล้ว และทำได้จริงในยุคท่าน ร.อ.ธรรมนัส และนายอรรถกร และ เลขาฯ ส.ป.ก.วิณะโรจน์

“พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิมีความพึงพอใจเป็นอย่างมากในนโยบายดังกล่าว และหากดูจากสถิติแล้ว ในปัจจุบันจังหวัดชัยภูมิมีการลงทะเบียนเปลี่ยนสปก ป็นโฉนดเพื่อการเกษตรมากที่สุดในประเทศ ซึ่งต้องชื่นชมสองหน่วย ก็คือ ส.ป.ก. และที่ขาดไม่ได้ก็คือองค์การบริหารส่วนจังหวัดส่วนจังหวัดชัยภูมิ ที่สนับสนุนกำลังคน ลงไปช่วย ส.ป.ก.เพราะขาดแคลนบุคลากร การร่วมมือระหว่างหน่วยงานกระทรวง และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ในรูปแบบดังกล่าว ถือว่า เป็นโมเดลที่ดีที่น่าผลักดันในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ ผมอยากฝากถึง สส. ให้ช่วยสนับสนุน พ.ร.บ.งบประมาณ 68 ให้ผ่านสภาฯด้วย” นายอัครแสนคีรี กล่าว

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 21 มิถุนายน 2567