โลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง สานพลังประชาราษฎร์ ร่วมสร้างชาติให้ยั่งยืน

วัน: 20 มิถุนายน 2024

“สันติ” รมช.สธ.จับมือ พม.เปิดตัวแพลตฟอร์มประเมินสุขภาพเพื่อคนพิการ นำร่อง 40 รพ.ทั่วประเทศเข้าถึงระบบสาธารณสุขลดภาระค่าเดินทาง

,

“สันติ” รมช.สธ.จับมือ พม.เปิดตัวแพลตฟอร์มประเมินสุขภาพเพื่อคนพิการ
นำร่อง 40 รพ.ทั่วประเทศเข้าถึงระบบสาธารณสุขลดภาระค่าเดินทาง

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 67 ที่โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเปิดตัวแพลตฟอร์มสำหรับการตรวจประเมินและออกเอกสารรับรองความพิการ แบบอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้โครงการพัฒนาระบบบริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One Stop Service) พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายกระทรวงสาธารณสุข ด้านคนพิการ” ว่ากระทรวงสาธารณสุขมีภารกิจสำคัญในการดูแลสุขภาพของประชาชน ทุกกลุ่มวัย รวมไปถึงกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ เช่น ผู้พิการ ได้แก่ กลุ่มคนป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดความพิการ ที่จำเป็นต้องได้รับการป้องกันโรคและภัยสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความพิการ กลุ่มคนป่วยที่เกิดความพิการแล้ว ซึ่งต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพกลุ่มคนพิการที่เจ็บป่วย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับและเข้าถึงบริการสุขภาพที่รวดเร็วและมีคุณภาพ “คนพิการจำเป็นต้องได้รับ การประเมินและขึ้นทะเบียนคนพิการ”

กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดให้มีศูนย์บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จในโรงพยาบาลตั้งแต่ ปี 2563 โดยมีพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำจังหวัด มาร่วมให้บริการ รับคำร้องขอมีบัตรและออกบัตรคนพิการ ณ โรงพยาบาล และให้บริการส่งต่อ เพื่อรับการฟื้นฟูสมรรถภาพ การรับอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ ส่งต่อทางการศึกษา การประกอบอาชีพ ตามความเหมาะสม จนถึงปัจจุบันแม้ว่าประเทศไทยจะมีศูนย์บริการดังกล่าวแล้วอย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง แต่ด้วยข้อจำกัด หลายประการยังทำให้การให้บริการแบบเบ็ดเสร็จไม่สามารถดำเนินการได้ครอบคลุมทุกโรงพยาบาล ซึ่งส่งผลให้คนพิการมีความยากลำบากในการเข้าถึง การขึ้นทะเบียนคนพิการ

การพัฒนาแพลตฟอร์ม “การตรวจประเมินและออกเอกสารรับรอง ความพิการแบบอิเล็กทรอนิกส์” ให้เชื่อมโยงกับ “ระบบคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ” ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ภายใต้ระบบอิเล็กทรอนิกส์คนพิการ จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการ ให้สามารถเข้ารับการประเมินวินิจฉัยความพิการจากแพทย์วันใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องรอวันที่พัฒนาสังคมจังหวัดเข้ามาให้บริการที่โรงพยาบาล และไม่จำเป็นต้องถือเอกสารไปยื่นที่ศาลากลางจังหวัดด้วยตนเอง เนื่องจากระบบข้อมูลที่เชื่อมโยงระหว่างสองกระทรวง จะทำให้คนพิการสามารถเข้าถึงการมีบัตรประจำตัวคนพิการได้อย่างสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ช่วยลดขั้นตอน ระยะเวลาการเดินทาง และค่าใช้จ่าย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมโรงพยาบาลนำร่อง 40 แห่งทั่วประเทศ เพื่อทดลองการใช้งานระบบและจะขยายผลไปยังโรงพยาบาลรัฐแห่งอื่นๆ ต่อไป

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 20 มิถุนายน 2567

“สส.บุญยิ่ง” ขอ กระทรวงศึกษาฯ เร่งกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้ผลิตเยาวชนคุณภาพ ชี้ นโยบายยกเลิก- ยุบโรงเรียน ควรดูข้อมูลเป็นราย ๆ พร้อมคำนึงถึงความเหลื่อมล้ำ

,

“สส.บุญยิ่ง” ขอ กระทรวงศึกษาฯ เร่งกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้ผลิตเยาวชนคุณภาพ ชี้ นโยบายยกเลิก- ยุบโรงเรียน ควรดูข้อมูลเป็นราย ๆ พร้อมคำนึงถึงความเหลื่อมล้ำ

วันนี้ (19 มิ.ย. 67) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่สอง สมัยวิสามัญเป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ในวาระแรก นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา สส.ราชบุรี เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)อภิปรายว่า ช่วงที่ผ่านมาถึงตนได้ลงพื้นที่และพบปัญหาความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษา
ในกลุ่มเยาวชนพื้นที่ห่างไกลในหลาย ๆ พื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณตะเข็บชายแดน เนื่องจากปัจจุบันนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการมีการยุบโรงเรียนในหลาย ๆ แห่งที่มีนักเรียนไม่เพียงพอกับการจัดสรรงบประมาณ ส่งผลให้เกิดภาระกับเด็กและเยาวชน ในการหาสถานที่ศึกษาแห่งใหม่ หลายๆแห่งอยู่ห่างไกลจากบ้านมาก จึงเป็นการเพิ่มภาระให้กับครอบครัวที่มีฐานะยากลาํบาก

นางบุญยิ่ง กล่าวต่อว่า ปัจจุบันโรงเรียนต่างๆต้องอาศัยการช่วยเหลือกันของพี่น้องในหมู่บ้าน ด้วยการจัดผ้าป่าเพื่อการศึกษา ระหว่างวัด โรงเรียน ผู้ปกครอง และประชาชน อีกทั้งยังขอความอนุเคราะห์จาก อบจ.ในจังหวัดนั้น ๆ และ หลายๆ อปท.ในตำบล เพื่อจ้างครูท้องถิ่นที่เรียนจบแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการบรรจุ มาบรรเทาปัญหาการขาดแคลนครู โดยครูจะได้รับค่าตอบแทน อยู่ที่ 6,000 และ 9,000 บาท หรือสูงสุดก็คือ 12,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่เหมาะสม จึงขอให้กระทรวงศึกษาธิการ เข้ามาช่วยเหลือดูแลในเรื่องนี้ โดยเร่งผลิตบุคลากรครูให้เพียงพอ เพื่อแก้ปัญหาครูขาดแคลนในโรงเรียน พร้อมทั้งเพิ่มอุปกรณ์เทคโนโลยีในการเรียนการสอน

“ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ต้องแก้ปัญหาด้วยการกระจายอำนาจ เพื่อการศึกษาสู่ท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สามารถผลิตเยาวชนที่มีคุณภาพในอนาคตต่อไป รองรับการพัฒนาหมู่บ้าน จังหวัด ประเทศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นางบุญยิ่ง กล่าว

นางบุญยิ่ง กล่าวต่อว่า ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กกับคุณภาพผู้เรียนที่เราต้องการ พบว่า ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก กับคุณภาพผู้เรียน ที่เราต้องการพบว่า โรงเรียนขนาดเล็กราว 15,000 โรงเรียนในอนาคตอาจะจะมีเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะเดียวกันอาจถูกยุบไปในที่สุด เนื่องด้วยอัตราการเกิดของประชากรลดลง รวมถึง ฃการอพยพเคลื่อนย้ายของ ประชากรวัยเรียนที่ย้ายติดตามผู้ปกครองไปรับจ้างทำงานต่างถิ่น ที่สำคัญคือ ค่านิยมของผู้ปกครองส่งลูกหลานไปเรียนในเมือง หรือโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียง และความพร้อม รวมไปถึงโรงเรียนเอกชน จึงทำให้โรงเรียนหลายแห่งถูกลดระดับกลายเป็นโรงเรียนขนาดเล็กในที่สุด

นางบุญยิ่ง ยังกล่าวต่อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ทำให้ใจหาย และเศร้าใจ โรงเรียนที่ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ศึกษามาจนถึงรุ่นปัจจุบัน อยู่คู่กับชุมชนมาอย่างยาวนานต้องมาปิดตัวลง เพราะไม่มีนักเรียนหรือผู้ปกครองไม่ส่งบุตรหลานมาเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ ที่สร้างมาจากหยาดเหงื่อ แรงงานภายในชุมชน จนเป็น “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน ทั้งนี้โรงเรียนขนาดเล็กไม่ได้เป็นเพียงสถานศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นรากฐานของชุมชนอีกด้วย การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กมีต้นทุนสูง ทั้งด้านวัสดุ อุปกรณ์เทคโนโลยี ปัญหาการขาดแคลนผู้บริหาร จำนวนครูไม่ครบชั้นเรียน ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนไม่เท่าเทียมกับโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ได้

“คำถามคือ เราจะทำอย่างไรให้โรงเรียนอยู่คู่กับชุมชนตลอดไปดิฉัน ขอเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้จัดสรรงบประมาณ ค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาจากรัฐบาลให้เพียงพอ และพอเพียง และจัดสรรครู ให้เพียงพอสามารถจัดการเรียนรู้ได้ครอบคลุม และไม่หนักเกินกำลังของครู เพราะวันนี้โรงเรียนขนาดเล็กขาดแคลนครูกว่า 80% และควรจัดสรรเครือข่าย อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและอุปกรณ์ให้เสถียร ครอบคลุมทุกชั้นเรียนเพื่อเป็นการสร้างสื่อการเรียนรู้และ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงการจัดสรรสื่อ วัสดุอุปกรณ์ การเรียนการสอนให้นักเรียนทุกคน เพื่อสนับสนุนการทำงานของครู และจัดสรรเจ้าหน้าที่ธุรการ ให้กับโรงเรียนขนาดเล็ก ทุกๆ โรงเรียน เพื่อลดภาระงานของครู”นางบุญยิ่ง กล่าว

นางบุญยิ่ง กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องจะยุบ จะรวม หรือเลิกโรงเรียนนั้นขอให้พิจารณาถึงความเหลื่อมล้ำที่จะเกิดขึ้น ให้ดูข้อมูลเป็นรายโรงเรียน รายพื้นที่ และความสามารถของชุมชนเป็นหลัก แต่ที่สุดแล้ว การบริหารจัดการ คือ การคงอยู่ของโรงเรียน ซึ่งเป็นสถาบันหลัก ของชุมชนเป็นสำคัญ ตนเห็นด้วยในภาพรวมกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2568 ฉบับนี้ แต่ขอฝากคณะกรรมาธิการว่า การกระจายอำนาจทางการศึกษา สู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการกระจายอำนาจการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ

“ดิฉันมีข้อคิดเห็นเชิงเปรียบเทียบถึง พ.ร.บ.การกระจายอำนาจ ปี 2542 มีการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น ทั้ง อบจ. อบต.เทศบาล 20 กว่าปีที่ผ่านมา มีการพัฒนาคุณภาพของท้องถิ่นในทุกมิติ เพราะทำเพื่อลูกหลาน เพื่อท้องถิ่น อย่างแท้จริง เราเริ่มเห็นถนนคอนกรีตในหมู่บ้าน เรามีประปาหมู่บ้าน บ้านเรามีการขยายถนน มีการขยายแนวเขตไฟฟ้าให้เข้าถึงชุมชน ได้มากขึ้นและดีขึ้น ท้องถิ่นมีโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีศักยภาพสร้างเด็ก และเยาวชนให้มีความโดดเด่นเฉพาะทางหลายด้าน เช่น โรงเรียนกีฬา โรงเรียนดนตรี ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ ผ่านมา 20 กว่าปี มีการกระจายอำนาจบ้าง ขอคืนอำนาจบ้างสลับปรับเปลี่ยนบ่อยมาก เช่น ให้จัดทำหลักสูตรได้เอง ต่อมา ให้จัดทำเอง เฉพาะหลักสูตรท้องถิ่น ให้มีคณะกรรมการสถานศึกษา ที่นับว่าดีมาก อย่างไรก็ตาม ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ยังไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ไม่ตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นได้” นางบุญยิ่ง กล่าว

นางบุญยิ่ง กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนขอเสนอความเห็นต่อกระทรวงศึกษาธิการว่า การปฏิรูปการศึกษา ควรกระจายอำนาจให้สถานศึกษา ทั้งด้านบุคลากร งบประมาณ บริหารทั่วไป และอื่นๆกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน ว่าจะให้เกิดอะไรกับผู้เรียนนโยบายไม่เปลี่ยนแปลงง่าย เหมือนปัจจุบัน พร้อมทั้งเร่งดำเนินการผลักดันให้มีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่เพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยมุ่งเน้นให้มีการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาตามบริบทของพื้นที่ดิฉันเชื่อมั่นว่า การกระจายอำนาจทางการศึกษาจะเป็นแนวทางที่ดี ต่อการจัดการศึกษาให้กับลูกหลานไทยต่อไป

ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 20 มิถุนายน 2567