“สส.จำลอง” น้อมรับ 4 ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ฝาก กมธ.ปลูกจิตสำนึกร่วมมือกันหาก รธน.ถูกฉีกอีก เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย วอน อย่าก้าวล่วงแตะหมวด 1,2
วันนี้ (18 มิ.ย. 67) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ เป็นพิเศษ มีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ…. โดยมีผู้เสนอร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว รวม 4 ฉบับ คือ ฉบับของคณะรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคภูมิใจไทย
นายจำลอง ภูนวนทา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กาฬสินธุ์ เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)อภิปรายว่า ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ว่า การทำประชามติมีมาหลายยุคหลายสมัย การเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ประมุขนั้นใน รัฐธรรมนูญต้องออกมาเพื่อประชาชน โดยประชาชน และทำเพื่อ ประชาชนการทำประชามติทุกครั้งที่ตนได้สัมผัส รัฐธรรมนูญปี 2540 , 2550 , 2560 ถามว่า เราทำไปแล้วได้อะไร
นายจำลอง กล่าวต่อว่า ตนไม่คัดค้าน ยอมรับเสียงข้างมาก ให้ความเคารพ แต่เราทำแล้วได้อะไร ถึงวันหนึ่งมีรัฐธรรมนูญออกมา เสร็จก็ฉีกแล้ว ฉีกเล่า นี่คือความคิดเห็นส่วนตัวในฐานะเป็นนักรัฐศาสตร์ อ่านกฎหมายได้ ดูกฎหมายเป็น สรรพสิ่งเกี่ยวกับบริบทของรัฐธรรมนูญไทยนั้นจะมาจากประชาชน หรือมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยผ่านความเห็นชอบจากสภาอันทรงเกรียติแห่งนี้ จะวิเศษ วิโสแค่ไหนก็ตาม โดยส่วนตัวตนมองว่า ความสำคัญที่สุดของการแก้ไขรัฐธรรมนูญไทยและการทำประชามติ ตนอยากฝากถึงกรรมาธิการที่จะมีขึ้น ว่า ท่านจะใส่ข้อมูลหรือใส่องค์ความรู้ตรงไหนลงไปให้ประชาชนได้เข้าใจว่า เจตจำนงร่วมที่มอบให้กับบริบทของสังคมไทยไปนั้นจะไม่ถูกฉีก และเราจะยอมรับ“
“เราจะป้องกันเจตจำนงร่วมที่มอบให้กับสังคมไทยไปอย่างไร เช่น มีการฉีกรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น ผู้ที่ออกเสียงประชามติจะแสดงท่าทีอย่างไรกับการกระทำนั้น นี่คือเรื่องสำคัญที่สุดของการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญที่ออกมามันผ่านประชามติมาเกือบทุกฉบับ แต่ก็ถูกฉีก จึงเกิดคำถามว่า เรามีความสำคัญอย่างไรต้องทำประชามติ ผมไม่ขัดแย้ง ไม่ขัดข้อง ที่จะน้อมรับเสียงข้างมาก และไม่ขัดแย้งว่า ไม่เห็นด้วย ผมยอมรับทั้ง 4 ร่าง โดยเฉพาะของอาจารย์ชูศักดิ์” นายจำลอง กล่าว
นายจำลอง กล่าวต่อว่า ประเทศไทยปกครองด้วยสถาบันหลักของชาติจะต้องไม่ถูกแตะ โดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งตนให้ความเคารพและศรัทธามาตั้งแต่เกิด เพราะฉะนั้นตนอยากจะฝากคณะกรรมาธิการ ได้โปรดอย่าเสี่ยงไปแตะต้องในหมวด 1 และ 2 เพราะประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว แบ่งแยกไม่ได้
บริบทของสังคมไทยที่ผ่านมาขาดจิตสำนึก ตนจึงอยากจะให้ผู้ที่รับผิดชอบในการกล่อมเกลาบุคลากรของชาติก็คือ กระทรวงศึกษาธิการ ก่อนที่จะทำประชามติ ควรจะต้องสร้างให้เด็กและเยาวชนมีจิตสำนึก ไม่ก้าวร้าว เคารพสิทธิของผู้อื่น รวมถึงน้อมรับฟังความเห็นของคนอื่น ดังนั้น เราควรจะสร้างจิตสำนึกให้ผู้ออกเสียงประชามติว่า หากแก้รัฐธรรมนูญแล้วมีการฉีกรัฐธรรมนูญ เราต้องออกมาต่อสู้ ไม่มีการฉีกรัฐธรรมนูญ”
ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 18 มิถุนายน 2567