“รมช.สันติ ” สานความร่วมมือเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 11
ส่งเสริมนวัตกรรมพัฒนาสมุนไพรสร้างมูลค่าดูแลสุขภาพด้วยยาพื้นถิ่น
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2567 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.ไพวัน แก้วปะเสิด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข สปป.ลาว เป็นประธานเปิดการประชุมเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 11 ภายใต้แนวคิด “การเอาชนะวิกฤตโรคระบาดโควิด – 19 ด้วยภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ดั้งเดิม” ระหว่างวันที่ 12-14 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรมรอยัลนาคาราและคอนเวนชั่นฮอล์หนองคาย จ.หนองคาย
มีผู้ร่วมประชุม ทั้งจากหมอพื้นบ้าน นักวิชาการ ผู้ประกอบการ และสถาบันการศึกษา และผู้แทนจากประเทศสมาชิก 6 ประเทศ ประกอบด้วย กัมพูชา จีน สปป.ลาว เมียนม่า เวียดนาม และไทย เพื่อเชื่อมโยงการแพทย์พื้นบ้านกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้ ส่งเสริมความร่วมมือ และเสริมสร้างรากฐานภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน โดยการอาศัยภูมิปัญญาร่วมกันของภูมิภาคนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพยุคใหม่อย่างสร้างสรรค มีสุขภาพที่ดีขึ้นสำหรับทุกคนในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
นายสันติ กล่าวว่า ลุ่มแม่น้ำโขง เป็นภูมิศาสตร์ลุ่มน้ำที่กว้างใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ 6 ประเทศ มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่จำนวนมาก และบางชาติพันธุ์มีความสัมพันธ์ร่วมกันในด้านประวัติศาสตร์ความเป็นมา ภาษา ประเพณี และวัฒนธรรม รวมทั้งการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ชาติพันธุ์ที่ยังคงมีบทบาทในการดูแลสุขภาพ การป้องกัน และรักษาโรคในชุมชน นับเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ด้านการรักษาพื้นบ้าน อันเก่าแก่ยาวนาน ตลอดจนเป็นแหล่งกำเนิดของวัฒนธรรมอันหลากหลาย ชุมชนต่าง ๆ ได้อาศัยภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ในการรักษาโรค และส่งเสริมสุขภาพ
“ปัจจุบันองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) และรัฐบาลหลายแห่งทั่วโลก รวมถึงประเทศจากภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขง ได้ตระหนักถึงการนำภูมิปัญญาการแพทย์ดั้งเดิมและการแพทย์พื้นบ้านมาใช้ดูแลสุขภาพประชาชน โดยองค์การอนามัยโลกได้มีการวางแผนยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์ดั้งเดิม (WHO Traditional Medicine Strategy) ขึ้น
เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาการแพทย์ดั้งเดิมและการแพทย์เสริมของโลก” นายสันติ กล่าว
นายสันติ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยและประเทศที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงอยู่ในเขตร้อนชื้นที่มีความเหมาะสมในการปลูกพืชสมุนไพร ที่เป็นยาสามัญประจำบ้าน โดยเฉพาะประเทศไทยยาสมุนไพรเกือบทุกประเภทเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 600 ปี และยังรักษาต่อยอดสมุนไพรเหล่านี้เพื่อนำมารักษาควบคู่กับวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ และที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขมีหน่วยงานในการวิจัยถึงศักยภาพเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับประทานยาเหล่านี้เป็นอาหารในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเป็นการสร้างเสริมเศรษฐกิจให้กับประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงทั้ง 6 ได้ด้วย
“ที่ผ่านมาได้มีการวิจัยสมุนไพรมาระดับหนึ่งแล้วพบว่า สมุนไพรชนิดหนึ่งเมื่อนำไปปลูกในดินแต่ละแห่ง ซึ่งสภาพดินไม่เหมือนกัน ส่งผลให้ประสิทธิภาพและรสชาติจะแตกต่างกัน หากมีความร่วมมือกับ สปป.ลาว ในการส่งเสริมวิจัยทำให้สมุนไพรเป็นอาหารได้โดยมีสรรพคุณเป็นยาเพื่อนำมาสร้างเสริมสุขภาพและสร้างเสริมนวัตกรรมของสมุนไพรให้เจริญก้าวหน้า เพื่อให้ประชาชนที่รับประทาน วันนี้จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่ 6 ประเทศไทย ได้จับมือร่วมกันพัฒนาพืชสมุนไพรและนวัตกรรมที่จะเกิดประโยชร์ต่อพี่น้องประชาชน โดยเมื่อทำการวิจัยและจัดทำเป็นรูปแล่มแจกจ่ายทุกครัวเรือน” นายสันติ กล่าว
ทั้งนี้ภายในงานมีกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การนำเสนอผลงานและการอภิปราย การสาธิตภูมิปัญญาของหมอพื้นบ้านเด่น (Show case) การศึกษาดูงานเส้นทางท่องเที่ยวสุขภาพและผลิตภัณฑ์สมุนไพรในราชอาณาจักรไทย และสวนพฤกษศาสตร์ใน สปป.ลาว ตลอดจนการประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการและด้านการคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์ดั้้งเดิมและพันธุกรรมพืชสมุนไพร เพื่อจัดทำแผนการดำเนินงานร่วมกันของประเทศลุ่มน้ำโขง ซึ่งจะทำให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือและระบบข้อมูลสำคัญในการพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ อาทิ ฐานข้อมูลหมอพื้้นบ้านกว่า 50,000 คน และตำรับยาแผนไทย/พื้นบ้าน กว่า 250,000 ตำรับ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการดูแลสุขภาพ สร้างเศรษฐกิจและรายได้ให้กับประชากรลุ่มน้ำโขงในอนาคต
ที่มา: ทีมประชาสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ
วันที่: 14 มิถุนายน 2567